จันทรุปราคาเพ็ญเดือน12 เงาโลกบังจันทร์เกือบเต็มดวงนานสุดรอบ 581 ปี

ผู้คนในพื้นที่ส่วนมากของโลกจะได้ชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนพร้อมภาพพระจันทร์สีเลือดในวันศุกร์ โดยเงาโลกจะบดบังดวงจันทร์ราว 3 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งเป็นเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 1983

แฟ้มภาพ พระจันทร์สีแดงขณะเกิดจันทรุปราคาบางส่วนเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2564 เหนือท้องฟ้าเมืองโอ๊กแลนด์ของนิวซีแลนด์ (Getty Images)

รายงานเอเอฟพีเมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2564 กล่าวว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนครั้งนี้จะได้เห็นเงาโลกบดบังดวงจันทร์ถึง 99% โดยผู้คนที่อยู่ในภูมิภาคอเมริกาเหนือทั้งหมด และบางพื้นที่ของอเมริกาใต้เริ่มเห็นปรากฏการณ์นี้ตั้งแต่เวลา 13.02 น.วันศุกร์ของไทย และผู้คนแถบหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก, ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนืออาจได้เห็นปรากฏการณ์หลังจากนั้น

นักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศกล่าวว่า ดวงจันทร์จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงในเวลา 15.45 น.วันศุกร์ และจะมีสีแดงสดที่สุดเมื่อดวงจันทร์ถูกเงาโลกบดบังมากที่สุด 18 นาทีต่อมา

เว็บไซต์ของนาซากล่าวว่า ปรากฏการณ์พระจันทร์สีเลือดนี้เกิดจากการกระเจิงของแสง ที่คลื่นแสงสีฟ้าจากดวงอาทิตย์ซึ่งมีความยาวคลื่นสั้นกว่าจะกระจายไปกับอนุภาคในชั้นบรรยากาศโลก แต่คลื่นแสงสีแดงที่ยาวกว่าสามารถผ่านอนุภาคได้ ยิ่งชั้นบรรยากาศโลกมีฝุ่นหรือเมฆมากขึ้นระหว่างการเกิดคราส พระจันทร์ก็จะปรากฏให้เห็นเป็นสีแดงเข้มขึ้นตาม

นับตั้งแต่เงาโลกเริ่มบังดวงจันทร์ จนถึงเวลาที่โลกเคลื่อนผ่าน จะกินเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง 28 นาที ซึ่งนาซากล่าวว่า เป็นช่วงเวลาของการเกิดจันทรคราสบางส่วนนานที่สุดนับแต่ปี พ.ศ. 1983 และปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนที่จะยาวนานกว่านี้ต้องรอไปถึงปี พ.ศ. 3212

อย่างไรก็ดี นาซากล่าวว่า ผู้ที่อยากชมจันทรุปราคาจะมีโอกาสได้ชมจันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 8 พฤศจิกายนปีหน้า ซึ่งจะเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่กินเวลานานกว่านี้ด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สดร. เปิดภาพปรากฏการณ์ 'จันทรุปราคาบางส่วน'

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยภาพ “ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน” ช่วงเงามืดของโลกบังมากที่สุด เวลาประมาณ 03.14 น. ต่อเนื่องคืนวันที่ 29 ตุลาคม 2566 หรือเช้าวันออกพรรษา บันทึกภาพจากหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ

ชมเลย ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน เหนือฟ้าเมืองไทย

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ทำการไลฟ์สด ปรากฏการณ์ จันทรุปราคาบางส่วน เหนือฟ้าเมืองไทย ในช่วงเช้ามืด 29 ตุลาคม 2566 นี้!!