ไบเดนออกทัวร์ไอร์แลนด์ เพื่อรำลึกถึงความหลังและรากเหง้า

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เดินทางเยือนสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งความหลังของตนเอง พร้อมผลักดันการแยกตัวจากสหราชอาณาจักร

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจที่ Ulster University ในกรุงเบลฟาสต์ ระหว่างการเยือนประเทศไอร์แลนด์เหนือ เมื่อวันที่ 12 เมษายน (Photo by Jim WATSON / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 12 เมษายน 2566 กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เดินทางเยือนสาธารณรัฐไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ เป็นเวลา 4 วัน เพื่อร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เมื่อ 25 ปีก่อน

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ วัย 80 ปี ซึ่งมีรากเหง้าชาวไอริช เดินทางด้วยแอร์ฟอซวันถึงสาธารณรัฐไอร์แลนด์ และได้รับการต้อนรับจากนายกรัฐมนตรีลีโอ วาแรดการ์

ไบเดนกล่าวเรียกไอร์แลนด์อย่างลึกซึ้งว่าเป็น "ส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณของฉัน" และเขามีกำหนดเดินทางไปยังบ้านเกิดของบรรพบุรุษในศตวรรษที่ 19 ของเขาด้วย

นอกจากนี้ เขาจะเข้าพบไมเคิล ฮิกกินส์ ประธานาธิบดีของไอร์แลนด์ และปราศรัยในที่ประชุมรัฐสภาของไอร์แลนด์ ก่อนจะเดินทางกลับบ้านในช่วงดึกของวันศุกร์

แม้ว่าการเยือนดินแดนไอริชของเขาจะเกี่ยวข้องกับความทรงจำส่วนตัว แต่ไบเดนกล่าวว่า เขาจริงจังกับการเดินทางครั้งนี้เป็นอย่างมาก

เขากล่าวว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ "การรักษาสันติภาพ" ในไอร์แลนด์เหนือ ภายหลัง 25 ปีแห่งข้อตกลงสันติภาพครั้งสำคัญซึ่งยุติความรุนแรงทางนิกายที่ร้ายแรงกว่าสามทศวรรษเหนือการปกครองของอังกฤษ

ไบเดนมีโอกาสเดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ที่วิทยาเขตใหม่ของมหาวิทยาลัย Ulster ในกรุงเบลฟาสต์ของไอร์แลนด์เหนือ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของสันติภาพและการลงทุนที่ยั่งยืน

ผู้นำสหรัฐฯกล่าวถึง "ความเป็นไปได้ที่ไร้ขีดจำกัด" สำหรับการลงทุนและการเติบโตที่เสนอในไอร์แลนด์เหนือเมื่อ 25 ปีก่อนภายใต้ข้อตกลงสันติภาพกรุงเบลฟาสต์/กู้ด ฟรายเดย์ (Belfast/Good Friday Agreement)

ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือเคยเกิดสงครามกลางเมืองอย่างรุนแรง จากความต้องการที่ต่างกันระหว่างกลุ่มที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร กับกลุ่มที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของไอร์แลนด์ และท้ายที่สุดทุกอย่างก็ยุติด้วยการทำข้อตกลงสันติภาพกรุงเบลฟาสต์ จนถึงปัจจุบันซึ่งครบรอบปีที่ 25 

ที่ไอร์แลนด์เหนือ ประธานาธิบดีไบเดนได้พบกับนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ของอังกฤษ และได้กล่าวว่าความสัมพันธ์ของสหราชอาณาจักรกับสหรัฐอเมริกา "อยู่ในเกณฑ์ที่ดี" และได้พบปะกับผู้นำทางการเมืองท้องถิ่นอีกหลายคน

ไบเดนได้รับการต่อต้านจากกลุ่มการเมืองในไอร์แลนด์เหนือบางส่วนที่เชื่อว่าเขาฝักใฝ่อังกฤษและไม่จริงใจที่จะผลักดันการแยกตัวของไอร์แลนด์เหนือออกจากสหราชอาณาจักรจริงๆ

การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ สร้างความลำบากให้ประเทศอื่นๆในสหราชอาณาจักรต้องเลือกว่าจะอยู่ฝั่งสหภาพยุโรปต่อไปหรือเดินตามอังกฤษ ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางไหนล้วนสร้างปัญหาให้กับประเทศเล็กๆอย่างไอร์แลนด์เหนือ.

เพิ่มเพื่อน