รัฐบาลทหารเมียนมาอภัยโทษนักโทษการเมืองกว่า 2,000 คน

รัฐบาลทหารเมียนมาอภัยโทษนักโทษการเมืองมากกว่า 2,000 คน เนื่องในโอกาสวันหยุดทางพุทธศาสนา สร้างความดีใจทั้งน้ำตาให้กับตัวนักโทษและบรรดาญาติ พร้อมเสียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนอื่นๆ ที่ถูกคุมขังอีกหลายคน

บรรดาญาติและครอบครัวรวมตัวกันรอบรถบัสที่บรรทุกนักโทษซึ่งได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำอินเส่ง ในกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ภายหลังรัฐบาลทหารอภัยโทษนักโทษการเมืองกว่า 2,000 คน (Photo by AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่ารัฐบาลทหารของเมียนมาใช้โอกาสพิเศษเนื่องในวันหยุดทางพุทธศาสนา ทำการอภัยโทษและปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง 2,153 คนจากเรือนจำอินเส่ง ในกรุงย่างกุ้ง

กองทัพได้จับกุมผู้ประท้วงและนักเคลื่อนไหวหลายพันคนนับตั้งแต่การทำรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งยุติการปกครองระบอบประชาธิปไตยและทำให้ประเทศตกอยู่ในความวุ่นวายมาจนถึงปัจจุบัน

กลุ่มผู้ประท้วงและนักข่าวอยู่ในกลุ่มนักโทษการเมืองที่ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งถือเป็นเพียงเศษเสี้ยวของผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามของกองทัพ

ชาวเมียนมากว่า 100 คนมารวมตัวกันที่ด้านนอกเรือนจำ เพื่อเฝ้ารอการปล่อยตัวญาติพี่น้องและครอบครัวของตน

ทันทีที่รถเมล์สีเหลืองเคลื่อนตัวออกจากประตู ฝูงชนต่างยื้อแย่งชูป้ายกระดาษที่มีชื่อผู้ต้องหาไปตามหน้าต่างรถ เพื่อให้นักโทษรับรู้ถึงการรอคอยของบรรดาญาติและครอบครัว

เมื่อคนเหล่านั้นได้พบกันในที่สุด บรรยากาศนอกเรือนจำจึงเต็มไปด้วยน้ำตาและเสียงร้องไห้

ผู้ที่ได้รับการอภัยโทษถูกจำคุกตามมาตรา 505 (เอ) ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติโทษจำคุกสูงสุด 3 ปีต่อผู้ที่กระทำการใดๆ อันถือว่าบ่อนทำลายกองทัพ

กองทัพกล่าวว่า "การประกาศอภัยโทษในวันนี้เป็นไปเพื่อมนุษยธรรมและความสงบสุขของประชาชน" แต่หากผู้ที่ได้รับการอภัยโทษมีการกระทำความผิดซ้ำ จะต้องรับโทษเพิ่มเติมจากส่วนที่เหลือก่อนการอภัยโทษ

โดยทั่วไปแล้ว เมียนมาจะประกาศอภัยโทษให้กับนักโทษหลายพันคนเนื่องในวันหยุดประจำชาติหรือเทศกาลทางพุทธศาสนา

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า นอกจากเรือนจำอินเส่งในกรุงย่างกุ้งแล้ว นักโทษจากเรือนจำอื่นๆก็ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน

"แน่นอนว่าการปล่อยตัวนักโทษถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับบุคคลและครอบครัวของพวกเขา แต่สิ่งนี้ไม่ได้แสดงถึงการยอมรับความเห็นต่างของรัฐบาล" ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ จากอินเตอร์แนชันแนล ไครซิส กรุ๊ป (องค์กรไม่แสวงหากำไร) กล่าว

"ถึงแม้จะเป็นพิธีการปล่อยตัวนักโทษในวันสำคัญทางพุทธศาสนา แต่นักโทษการเมืองอีกหลายพันคนก็ยังคงถูกคุมขังเพราะต่อต้านรัฐบาล และการจับกุมคนเหล่านั้นยังคงดำเนินต่อไป" ฮอร์ซีย์ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ มีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 21,000 คน นับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางอองซาน ซูจี ในปี 2564 ตามการระบุของกลุ่มติดตามท้องถิ่น และปัจจุบันยังมีผู้ถูกคุมขังมากกว่า 17,800 คน และอองซาน ซูจีเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

ขณะที่ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 170 คนถูกจับกุมในเมียนมาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา.

เพิ่มเพื่อน