'พรรคส้ม' เพ้อ รธน.ใหม่ ต้องชอบธรรม สะท้อนความคิด ความฝัน ความต้องการของทุกคน

'ไอติม’ จี้ ‘รัฐบาล’ กางโรดแมปให้ชัดได้ 'รัฐธรรมนูญฉบับใหม่' เมื่อไหร่ ทันเลือกตั้งรอบหน้าหรือไม่ เสนอแพ็กเกจแก้รายมาตรา ริบอำนาจศาลรธน.-องค์กรอิสระตีความมาตรฐานจริยธรรม

วันที่ 20 ก.ย. 2567 ที่ห้อง Smart Classroom ชั้น 7 อาคารเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดเสวนาโครงการเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “ทบทวนรัฐธรรมนูญ 2560 สู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ซึ่งมีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.), นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.), นายประภาส ปิ่นตบแต่ง สว., นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายจำนงค์ หนูพันธ์ุ อดีตประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ร่วมเสวนา และรศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยนายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าเส้นทางที่ 1 ที่เราต้องเดินแน่นอนคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด แต่จะเดินเส้นนี้อย่างเดียวคงไม่พอ เพราะกระบวนการบางอย่างต้องใช้เวลา แม้จะเร่งเร็วที่สุดไม่มีอุปสรรคอะไรเลยก็อาจจะใช้เวลา 1-2 ปี ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเดินเส้นทางที่ 2 คู่ขนานไปคือการแก้ไขรายมาตราในประเด็นที่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขบางปัญหาไปล่วงหน้าก่อน ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาบางร่างในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไม่สัปดาห์หน้าก็สัปดาห์ถัดไป ทั้งนี้ เกณฑ์ที่จะใช้วัดว่าเราแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จหรือไม่ มี 2 เกณฑ์คือความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและโดยเร็วที่สุด เพราะหากเราจะทำเพียงแค่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด โดยไม่สนใจเรื่องความชอบธรรม ตนคิดว่าก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยนั้น พรรคปชน.มองว่าต้องสะท้อนความคิด ความฝัน และความต้องการของคนทุกคน ซึ่งหากจะวางนิยามที่ทำให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยในเชิงรูปธรรมควรมี 3 องค์ประกอบ คือ 1.สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์, 2.คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ สสร.อาจจะตั้งขึ้นมานั้น ควรมีองค์ประกอบที่เป็นธรรมกับประชาชนและเป็นธรรมกับแต่ละฝ่ายทางการเมือง ซึ่งเมื่อตนไปดูโมเดลที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอไว้เมื่อปีที่แล้ว ก็มีความกังวลเล็กน้อยเพราะในจำนวน 47 คนนั้น 24 คนมาจาก สสร. แต่อีก 23 คนเป็นคนนอกที่มาสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แยกจากสส. และ สว. แต่เมื่อรวมโควตาของครม.กับสส.ฝ่ายรัฐบาลแล้วจะอยู่ที่ 14 คน ขณะที่โควตาของสส.พรรคฝ่ายค้าน อยู่ 4 คน และสว. 5 คน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่ไม่สมดุล

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับองค์ประกอบที่ 3.เมื่อ สสร.จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ควรนำร่างดังกล่าวไปทำประชามติ โดยไม่ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน เพราะ สว.ยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหากจะให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน ก็อาจจะเปิดช่องให้ตัวแทนที่อาจจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สามารถเข้ามาแทรกแซง ปรับแก้เนื้อหาบางประการได้ แม้อาจจะส่งมาที่รัฐสภาได้แต่ต้องไม่เปิดให้ลงมติ เพียงแค่เปิดให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายแล้วนำความเห็นนั้นบันทึกไว้ เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ประกอบตอนลงประชามติ ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลกางโรดแมปให้ชัดว่าการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่บอกว่าจะทำให้เร็วที่สุดนั้น จะได้เมื่อไหร่และทันการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับแพ็กเกจการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่พรรค ปชน.มองว่ามีความสำคัญ เร่งด่วน และเป็นไปได้จริง ซึ่งเราได้เดินหน้าแล้ว 2 แพ็กเกจ โดยแพ็กเกจแรกคือ การลบล้างผลพวงรัฐประหาร เพราะมองว่าฝ่ายการเมืองที่อาจจะเห็นต่างในบางเรื่องนั้น แต่คงเห็นตรงกันว่าไม่ควรมีรัฐประหารแล้ว โดยแบ่งเป็น 3 ร่างคือ การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติฉบับคสช. เพื่อคืนอำนาจในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์กลับไปที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและประชาชน, การทลายเกราะคุ้มกันคำสั่ง คสช. หรือการยกเลิกมาตรา 279, เติมพลังป้องกันรัฐประหาร คือการเพิ่มหมวดในการป้องกันการทำรัฐประหาร เช่น การเพิ่มสิทธิของประชาชนในการต่อต้านการรัฐประหาร, เพิ่มหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการไม่ทำตามผู้บัญคับบัญชาหากมีคำสั่งให้ไปยึดอำนาจ, การห้ามไม่ให้ศาลรับรองการรัฐประหาร

นายพริษฐ์ กล่าวว่า แพ็กเกจที่สองคือ การตีกรอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ โดยการตีกรอบอำนาจเรื่องของการยุบพรรคการเมือง ที่จะพยายามทำให้พรรคการเมืองยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นคือการทำให้พรรคการเมืองเกิดง่าย อยู่ได้ ตายยาก ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีส่วนสำคัญเกี่ยวกับพรรคการเมือง ส่วนการตีกรอบอำนาจเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละคนนิยามไม่เหมือนกัน แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กลับให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไปนิยามว่าอะไรคือมาตรฐานจริยธรรมและนำคำนิยามนั้นไปบังคับใช้กับทุกองค์กร รวมถึงให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระมีบทบาทหลักในการไตร่สวน วินิจฉัยว่าการกระทำอะไรที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม

“สิ่งที่เรากังวลคือการผูกขาดอำนาจมาตรฐานจริยธรรมในลักษณะนี้ ขณะที่การได้มาซึ่งองค์กรอิสระก็มีการตั้งคำถามว่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้จริงหรือไม่ และเป็นการไปเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้บทบัญญัติเหล่านี้ก่อให้เกิดการตีความกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน ไม่เป็นธรรม สุ่มเสี่ยงที่จะใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ เรื่องจริยธรรมจะถูกใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองโดยผู้มีอำนาจเดิมที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้” นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวถึงข้อเสนอของพรรคปชน. มี 4 ข้อ คือ 1.ต้องแยกกลไกการตรวจสอบจริยธรรมออกจากการตรวจสอบการทุจริต โดยให้การพูดถึงจริยธรรมเป็นการรับผิดชอบทางการเมือง แต่การตรวจสอบการทุจริตควรมีกลไกทางกฎหมาย, 2.การยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจผูกขาดการนิยามมาตรฐานจริยธรรม แต่พยายามให้แต่ละองค์กรกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของตนเองที่เหมาะกับการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กร, 3.ยกเลิกอำนาจที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีบทบาทหลักในการไตร่สวนและวินิจฉัยว่ากรณีไหนเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม และ 4.ปรับกระบวนการที่ประชาชนหรือสมาชิกรัฐสภาสามารถยื่นเรื่องร้องได้ หากเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ให้มีความรัดกุมมากขึ้น และลดบทบัญญัติที่ปัจจุบันมีการให้ดุลยพินิจของประธานสภาฯ ในการตัดสินใจว่าจะยื่นเรื่องต่อหรือไม่ แต่จะแก้ให้ประธานสภาฯ​ เป็นเพียงแค่คนส่งเรื่องเท่านั้น ทั้งนี้ การที่เราเสนอสองแพ็กเกจใหม่รอบนี้ เพราะมีสว.ใหม่เข้ามา และหวังผลว่าร่างเหล่านี้จะประสบความสำเร็จ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.ณัฏฐ์ มือกม.มหาชน ฟันเปรี้ยง 'ประชามติชั้นเดียว' เจอด่านหิน! เป้าแก้รธน.ทั้งฉบับไม่ง่าย

สืบเนื่องจากตามที่ร่างพระราชบัญญัติประชามติ ในการแก้ไขหลักการประชามติชั้นเดียว ไม่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา ทำให้ร่างดังกล่าวย้อนกลับมาพิจารณาของ สส.อีกครั้ง

'นิกร' หวั่นกม.ประชามติ ทำ 2 สภาฯแตกหัก เสนอทางสายกลาง ให้เสร็จทันปิดสมัยประชุม

นายนิกร จำนง กรรมาธิการ(กมธ.)ร่วมกัน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ…จากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่วุฒิสภา ยังไม่ส่งชื่อสว.ร่วม เป็นกมธ.ฯ

'วิสุทธิ์' ลั่นหากแก้รธน.ไม่ทันตามนโยบายหาเสียง ก็ไม่ใช่ความผิดเพื่อไทย ทำเต็มที่แล้ว

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์กรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ทันในรัฐบาลสมัยนี้ ตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียง ว่า วันนี้อย่าไปว่าอย่างนั้นเมื่อสว.เห็นต่างกับสส.

แกนนำคปท. ฟาดกลับ 'นิติสงคราม' ที่แท้จริงคือ การทำลายกระบวนการยุติธรรมของ'ทักษิณ'

นายพิชิต​ ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีที่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบพฤติการณ์ของพรรคเพื่อไทย และนายทักษิณ ชินวัตร ถูกมองว่าเป็นนิติสงคราม ว่า

พรรคประชาชนเซ็ง! รัฐมนตรีเบี้ยวตอบกระทู้ถามสด

'ปชน.' โวย 'รมต.' ไม่มาตอบกระทู้ ปม 'พลทหารเสียชีวิต' ด้าน 'วิโรจน์' ลั่นแทนที่ทหารจะเสียชีพเพื่อชาติ กลับเสียชีวิตจากการคลั่งอำนาจของผู้บังคับบัญชา 'ปกรณ์วุฒิ' มั่นใจรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญสภา

'อนุทิน' แจง 'ภูมิใจไทย' งดออกเสียงร่างพรบ.ประชามติ เพื่อส่งสัญญาณ

นายอนุทิน​ ชาญวีรกูล รองนายก​รัฐมนตรี​ และ​รมว.มหาดไทย​ ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงเหตุผลที่พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียงลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ