พายุไซโคลน 'โมคา' มุ่งหน้าสู่เมียนมาและบังกลาเทศ

เมียนมาและบังกลาเทศเร่งส่งกำลังอาสาสมัครหลายพันคนเฝ้าระวังและสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อรับมือการมาเยือนของพายุไซโคลน 'โมคา' ที่กำลังเข้าใกล้อ่าวเบงกอล

(Photo by Dibyangshu SARKAR/ AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า 'โมคา' พายุไซโคลนลูกแรกของปีนี้ กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอล คาดว่าจะขึ้นฝั่งในวันอาทิตย์บริเวณแนวชายแดนบังกลาเทศ-เมียนมา ตามรายงานของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย โดยพายุดังกล่าวมีกำลังลมแรงถึง 145 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง

สำนักงานฯคาดการณ์ว่า พายุจะทำให้เกิดคลื่นในทะเลสูงระหว่าง 1.5-2 เมตร บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ลุ่มต่ำ ซึ่งทางฝั่งบังกลาเทศเป็นที่ตั้งของค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาหลายแสนคน

อามาดุล ฮาเก ผู้อำนวยการโครงการเตรียมความพร้อมรับมือพายุไซโคลนของบังกลาเทศ กล่าวว่า พวกเขาส่งอาสาสมัคร 8,600 คนไปประจำการในเมืองชายทะเลคอกซ์ บาซาร์ และอาสาสมัครอีก 3,400 คนไปประจำการในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา

"นอกจากพื้นที่ชายฝั่งแล้ว เรายังกังวลอย่างมากกับผู้คนที่อาศัยอยู่บนเนินเขา เนื่องจากพายุไซโคลนจะทำให้เกิดฝนตกหนัก และอาจทำให้เกิดดินถล่มได้" ฮาเกบอกกับเอเอฟพี

ล่าสุดทางการบังคลาเทศสั่งห้ามไม่ให้เรือประมงเข้าไปในบริเวณพื้นที่ทะเลลึก

ขณะที่ทางการเมียนมาเริ่มมีการสั่งอพยพประชาชนในรัฐยะไข่ไปยังจังหวัดซิตตเว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับพายุ

พายุไซโคลน ซึ่งเทียบเท่ากับพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือหรือพายุไต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ มีความรุนแรงที่อาจก่ออันตรายถึงชีวิต และมักเกิดขึ้นเป็นประจำบริเวณชายฝั่งทางตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดียซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่หลายสิบล้านคน

บังกลาเทศถูกพายุใหญ่พัดถล่มครั้งล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนปี 2550 เมื่อพายุไซโคลนซิดร์พัดถล่มทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ คร่าชีวิตผู้คนกว่า 3,000 คน และสร้างความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

เมียนมาเองก็ถูกพายุไซโคลนนาร์กีสพัดถล่มในเดือนพฤษภาคมปี 2551 ทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายอย่างน้อย 138,000 คน และถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ยันดูแลผู้ลี้ภัยเมียนมาตามสิทธิ์ควรได้รับ พร้อมหนุนเจรจากันอย่างสันติสุข

นายกฯ ย้ำไทยให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน ยันดูแลผู้ลี้ภัยเมียนมาชายแดนตามสิทธิ์ควรได้รับ หนุนให้มีการพูดคุยและเจรจากัน อย่างสันติสุข