สหภาพยุโรปเปิดดีลกับ 'ตูนิเซีย' แก้ปัญหาผู้อพยพ

AFP

ตูนิเซีย เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับผู้อพยพจำนวนมากที่มุ่งหน้าไปยังยุโรป รัฐบาลอิตาลีต้องการยับยั้งปัญหานี้และกำลังเดินทางไปยังตูนิสพร้อมกับตัวแทนสหภาพยุโรป เพื่อเจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยครั้งใหม่

คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้สัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินสูงถึง 900 ล้านยูโรแก่ตูนิเซียที่กำลังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากจำนวนผู้อพยพในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สภาในบรัสเซลส์ยังหวังที่จะทำงานร่วมกับตูนิเซียเพื่อดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกับผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองและการผ่านแดนที่ผิดกฎหมาย

อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเยน-ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาที่เมืองตูนิส หลังจากเจรจากับประธานาธิบดีไคส์ ซาอิดของตูนิเซีย ว่าจะมีการจัดเตรียมเงินสนับสนุน 100 ล้านยูโรสำหรับปฏิบัติการค้นหา ช่วยเหลือ และส่งผู้อพยพกลับประเทศ ซึ่งนับเป็นเงินถึงสามเท่าของจำนวนเฉลี่ยที่บรัสเซลส์เคยสนับสนุนตูนิเซียเมื่อปีที่แล้ว

ในการพบปะครั้งนี้มีนายกรัฐมนตรีจิออร์เจีย เมโลนีของอิตาลี และนายกรัฐมนตรีมาร์ก รุตเตของเนเธอร์แลนด์เข้าร่วมประชุมหารือด้วย โดยเฉพาะเมโลนีได้ผลักดันข้อตกลงกับตูนิเซียมานานแล้ว เพื่อยับยั้งไม่ให้เรือของผู้อพยพซึ่งเดินทางออกจากตูนิเซียเดินทางไปยังภาคใต้ของอิตาลีเป็นจุดแรกก่อนเดินทางไปยังประเทศอื่นๆ ของยุโรป เธอเน้นชัดว่านั่นเป็น “ก้าวแรกที่สำคัญ”

Frontex หน่วยงานชายแดนของสหภาพยุโรป รายงานถึงตัวเลขผู้อพยพในสหภาพยุโรปผ่านทางตูนิเซียที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลเปิดเผยว่า ตูนิเซียกำลังมีปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงและคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพยุโรป เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ประชากรกำลังต่อสู้กับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และเริ่มขาดแคลนอาหาร รวมถึงอัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นด้วย ชาวตูนิเซียจำนวนมากมองไม่เห็นโอกาสใดๆ ประเทศของตนอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้นำทางการเมืองของประเทศไม่สามารถหาทางออกให้ได้ ดังนั้นชาวตูนิเซียจึงพากันนั่งเรือออกจากชายฝั่งบ้านเกิดของพวกเขาไปยังอิตาลี

นอกจากนั้นยังมีผู้อพยพจากประเทศอื่นๆ ในแอฟริกาที่รู้สึกกดดันให้ต้องตัดสินใจเดินทางออกจากตูนิเซีย นั่นเพราะความเป็นปรปักษ์และการเหยียดเชื้อชาติได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ประธานาธิบดีซาอิดประกาศใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นกับพวกเขา และกล่าวหาว่าพวกเขานำความรุนแรงและอาชญากรรมเข้าสู่ประเทศ นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้อพยพหลายคนต้องการหันหน้าไปพึ่งยุโรปโดยเร็ว

ผู้อพยพที่เดินทางผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังอิตาลีตั้งแต่ต้นปี ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากกระทรวงมหาดไทยของอิตาลีมีมากกว่า 53,800 คน ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วมีจำนวนเพียง 21,700 คน ข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ผู้อพยพส่วนใหญ่ที่ลงทะเบียนในอิตาลีนั้นมาจากตูนิเซีย

เพื่อให้ได้รับความร่วมือจากประเทศทางผ่าน นายกรัฐมนตรีจิออร์เจีย เมโลนีจึงยื่นข้อเสนอให้สหภาพยุโรปยอมให้เงินช่วยเหลือประเทศอย่างตูนิเซียอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อพยพเดินทางออกจากที่นั่นมุ่งหน้าไปยังอิตาลี และกระจัดกระจายไปยังประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ซึ่งคล้ายกันกับที่สหภาพยุโรปเคยเจรจาตกลงกับตุรเกียเมื่อปี 2016 ข้อตกลงระหว่างบรัสเซลส์กับอังการาในครั้งนั้นทำให้จำนวนผู้อพยพที่เดินทางเข้ายุโรปลดลงอย่างรวดเร็ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปานปรีย์' ปัดข่าว EU แบนเอกชนไทย หลังสื่อนอกรายงานทำธุรกิจกับรัสเซีย

'ปานปรีย์' ปัดข่าว EU แบน เอกชนไทยหลังสื่อต่างประเทศรายงานอ้างทำธุรกิจกับรัสเซีย ชี้ เป็นเรื่องระหว่างเอกชนไม่เกี่ยวรัฐบาล