เมียนมาจำคุก 4 ปี 'อองซาน ซูจี' ยุต้านทหาร-แหกกฎคุมโควิด

แฟ้มภาพ ผู้ประท้วงชูภาพนางอองซาน ซูจี และสัญลักษณ์สามนิ้ว ขณะชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2564 (Getty Images)

ศาลพิเศษของเมียนมาตัดสินลงโทษจำคุกนางอองซาน ซูจี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือน รวม 4 ปี เมื่อวันจันทร์ จากความผิดฐานยุยงต่อต้านทหารและฝ่าฝืนกฎควบคุมโรคโควิด อดีตประธานาธิบดีก็โดนจำคุก 4 ปีข้อหาเดียวกัน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างคำกล่าวของซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลเมียนมา เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม 2564 ว่าศาลพิเศษที่กรุงเนปยีดอมีคำพิพากษาคดีของนางอองซาน ซูจี วัย 76 ปีแล้ว โดยนางถูกตัดสินจำคุก 2 ปี ในความผิดฐานยุยงต่อต้านทหาร และอีก 2 ปี ในความผิดฐานฝ่าฝืนกฎหมายภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19

ทางการเมียนมาห้ามสื่อเข้ารับฟังกระบวนการพิจารณาคดี และทนายความของนางซูจีไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับสื่อ

นับแต่โดนทหารก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นางซูจีโดนตั้งข้อหาหลายข้อหา ซึ่งรวมถึงการละเมิดกฎหมายความลับทางราชการ, คอร์รัปชัน และทุจริตการเลือกตั้ง คำพิพากษาเมื่อวันจันทร์เป็นเพียงคดีแรก และหากนางถูกตัดสินว่ามีความผิดในทุกข้อกล่าวหา ก็อาจถูกลงโทษจำคุกหลายสิบปี

นอกจากนางซูจี โฆษกรัฐบาลเมียนมายังเผยกับเอเอฟพีทางโทรศัพท์ด้วยว่า อดีตประธานาธิบดีวิน มยิน ซึ่งโดนควบคุมตัวภายหลังรัฐประหารเช่นกัน ก็ถูกตัดสินจำคุก 4 ปี ด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน อย่างไรก็ดี ทั้งสองจะยังไม่ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ

"พวกเขาจะเผชิญกับข้อหาอื่นๆ จากสถานที่ที่พวกเขาอยู่ในเวลานี้" โฆษกเมียนมากล่าว โดยหมายถึงสถานที่กักขังในกรุงเนปยีดอ แต่เขาไม่เผยรายละเอียดเพิ่มเติม

หลายสัปดาห์มานี้ คดีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซูจี ได้ข้อสรุปแล้วหลายคดี บางคนถูกตัดสินโทษรุนแรง โดยมีอดีตมุขมนตรี 1 รายโดนตัดสินจำคุก 75 ปีเมื่อเดือนที่แล้ว และคนสนิทของซูจีอีกคนถูกตัดสินจำคุก 20 ปี

องค์กรแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลออกแถลงการณ์ประณามคำพิพากษาของเมียนมาทันควัน โดยกล่าวว่า รัฐบาลทหารกำลังพยายามปิดกั้นเสรีภาพด้วยการตัดสินจำคุกนางซูจี

"คำตัดสินลงโทษนางอองซาน ซูจี อย่างรุนแรงด้วยข้อกล่าวหาปลอมๆ เหล่านี้ เป็นตัวอย่างล่าสุดของความมุ่งมั่นของทหารที่จะกำจัดฝ่ายค้านทั้งหมดและปิดกั้นเสรีภาพในเมียนมา" มิง ยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการด้านรณรงค์ประจำภูมิภาคนี้ของแอมเนสตี้ฯ กล่าว "การตัดสินที่ทุจริตและตลกของศาล เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการทำลายล้างของการลงโทษตามอำเภอใจ ที่มีผู้คนถูกฆ่าตายแล้วมากกว่า 1,300 คน และถูกจับกุมหลายพันคนนับแต่ทหารก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์

ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสของอินเตอร์เนชันแนลไครซิสกรุ๊ป กล่าวกับเอเอฟพีว่า การตัดสินลงโทษนางซูจีเป็นการแก้เผ็ดและการแสดงอำนาจโดยทหาร จะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจหากนางซูจีถูกส่งเข้าคุก โดยมีความเป็นไปได้มากกว่าที่นางจะรับโทษอยู่ที่บ้านหรือ "เกสต์เฮาส์" ของรัฐบาล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อองซาน ซูจี' ย้ายจากเรือนจำมากักบริเวณในบ้าน เหตุเสี่ยงเป็นโรคลมแดด

เมียนมาตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารมาตั้งแต่ปี 2021 และอองซาน ซูจี-อดีตหัวหน้ารัฐบาล เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสั