ออสเตรเลียพร้อมลงทุนเพิ่มในอาเซียน จับตาการผลิตเรือดำน้ำนิวเคลียร์

ออสเตรเลียเปิดเผยแผนเพิ่มการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมจัดสรรงบ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนการค้าในภูมิภาคที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ขณะอาเซียนพร้อมอ้าแขนต้อนรับกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีร่วมของพันธมิตร AUKUS

(จากซ้ายไปขวา) เกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียน, นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนาม, นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงของสิงคโปร์, นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา, นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย, นายกรัฐมนตรีแอนโธนี อัลบานีส ของออสเตรเลีย, นายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอน ของลาว, ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย, สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน, ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์, นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ของไทย และนายกรัฐมนตรีซานานา กุสเมา ของติมอร์-เลสเต ถ่ายภาพร่วมกันระหว่างการประชุมสุดยอดพิเศษอาเซียน-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 50 ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม (Photo by William WEST / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 5 มีนาคม 2567 กล่าวว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ (ASEAN-Australia Special Summit 2024) เริ่มอย่างเป็นทางการแล้วในนครเมลเบิร์น

ต่อหน้าผู้นำจาก 10 ชาติอาเซียน นายกรัฐมนตรีแอนโธนี อัลบานีส ของออสเตรเลียในฐานะเจ้าภาพ ประกาศนโยบายลงทุนเพิ่มในภูมิภาคนี้ โดยจัดสรรเงินทุนราว 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 46,600 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางการค้าที่กำลังฟื้นตัว

"รัฐบาลของเราตระหนักดีว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นจุดที่อนาคตของออสเตรเลียตั้งอยู่ มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ" อัลบานีสกล่าวในการประชุม

หลังจากเกิดข้อพิพาทหลายครั้ง ออสเตรเลียก็เริ่มมองหาการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจนอกประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่

สมาคมอาเซียนถูกมองว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใหม่โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็วและยั่งยืนมานานหลายปี

ด้วยการมีแหล่งแร่ธาตุสำคัญจำนวนมหาศาลและการบริโภคพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงพร้อมที่จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันพลังงานสะอาดทั่วโลก

แพ็คเกจการระดมทุนใหม่ของออสเตรเลียจะจัดหาเงินทุนเพื่อการส่งออกและเงินกู้ที่มุ่งเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานและโครงการพลังงานหมุนเวียนเป็นส่วนใหญ่

อัลบานีสกล่าวว่า นี่เป็นการยกระดับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียกับอาเซียนที่สำคัญที่สุดในหนึ่งชั่วอายุคน

ขณะที่บรรดาผู้นำต่างกระตือรือร้นที่จะมุ่งเน้นไปที่การค้าและโอกาสทางธุรกิจ แต่ก็มีการพูดคุยเบื้องต้นเรื่องความมั่นคงทางทะเลที่สั่นคลอนจากอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้

นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์กล่าวว่า ประเทศของเขายินดีต้อนรับกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลียทันทีที่เรือเหล่านี้เริ่มปฎิบัติการ

สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรให้คำมั่นที่จะช่วยเหลือออสเตรเลียสร้างกองเรือที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนร่วมเพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีนในภูมิภาค

แม้สมาชิกอาเซียนบางรายยังลังเลที่จะสนับสนุนสิ่งที่เรียกว่าสนธิสัญญาป้องกันประเทศ AUKUS แต่สิงคโปร์ อดีตอาณานิคมของอังกฤษ กลับให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

"ผมเคยพูดไปแล้ว และผมย้ำกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในการเยือนครั้งนี้ว่า เมื่อเรือดำน้ำใหม่ของออสเตรเลียพร้อม เราก็ยินดีต้อนรับพวกเขาให้เข้าจอดที่ฐานทัพเรือชางงี" ลี เซียนลุง กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคาร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกประเด็นสำคัญในวาระการประชุมสุดยอดครั้งนี้

แหล่งพลังงานหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่ออสเตรเลียก็ยังคงเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกก๊าซและถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีความกระตือรือร้นมากขึ้นที่จะหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติเป็นพลังงานทดแทน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

DAD ศึกษาปั้น “พลังงานสะอาด” เพิ่มทางเลือกป้อนศูนย์ราชการฯ

DAD เตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ “ก๊าซไฮโดรเจน” ผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ขยายผลจากพลังงานแสงอาทิตย์ หวังความคุ้มค่าในระยะยาว