อดีตนายกฯฮุน เซน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภากัมพูชา

อดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานวุฒิสภากัมพูชาเมื่อวันพุธ โดยจะเข้ารับหน้าที่สำคัญทางพิธีการ หลังส่งมอบอำนาจบริหารให้ลูกชายตั้งแต่ปีที่แล้ว

ฮุน เซน ในฐานะประธานวุฒิสภากัมพูชา กล่าวระหว่างการประชุมวุฒิสภาครั้งแรกในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 3 เมษายน (Photo by Handout / Cambodia Senate / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 3 เมษายน 2567 กล่าวว่า อดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในตำแหน่งประธานวุฒิสภา โดยจะทำหน้าที่สำคัญทางพิธีการของรัฐ

ฮุน เซนก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 หลังปกครองกัมพูชาด้วยความเด็ดขาดมาเกือบ 4 ทศวรรษ พร้อมส่งต่ออำนาจบริหารให้ฮุน มาเนต ลูกชายคนโต จากชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งระดับชาติที่จัดขึ้นโดยไม่มีพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วม

แม้ประกาศวางมือจากการปกครอง แต่ฮุนเซนแสดงออกเสมอว่าจะยังคงอยู่ในการเมืองกัมพูชาต่อไป

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) เพิ่งคว้าที่นั่งได้ 55 ที่นั่ง รวมทั้งตัวฮุนเซนด้วย จากทั้งหมด 58 ที่นั่งในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก โดยอีก 3 ที่นั่งเป็นของพรรคเขมรวิลล์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านกลุ่มเล็ก

อย่างไรก็ตาม จำนวนวุฒิสมาชิกในวุฒิสภามีทั้งหมด 62 คน โดย 58 คนมาจากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 125 คนและผู้บริหารท้องถิ่นมากกว่า 11,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของพรรคประชาชนกัมพูชา

ที่เหลืออีก 2 คน มาจากการแต่งตั้งของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี และอีก 2 คน มาจากการแต่งตั้งของรัฐสภา

พรรคประชาชนกัมพูชาระบุว่า พวกเขาจะเสนอชื่อฮุนเซนเป็นประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญที่จะทำหน้าที่ประมุขของประเทศในยามที่กษัตริย์เสด็จต่างประเทศ

ในวันพุธ สมาชิกวุฒิสภาลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ฮุนเซนดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา หลังจากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ทรงเสด็จมาเปิดการประชุมครั้งแรก

ฮุน เซนกล่าวขอบคุณวุฒิสมาชิก หลังการลงคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นซึ่งถือเป็นเกียรติสำหรับตัวเขา

"นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้นั่งบนเก้าอี้อันทรงเกียรติสูงสุดเช่นนี้" เขากล่าว และให้คำมั่นว่าเขาจะทำหน้าที่ส่งเสริมการทูตระหว่างประเทศของกัมพูชา เพื่อเป็นการสนับสนุนการทำงานของฝ่ายบริหาร

นักวิเคราะห์กล่าวว่า บทบาทใหม่ของฮุนเซนจะทำให้ตัวเขาสามารถยึดครองประเทศต่อไปได้อย่างสมบูรณ์

"วุฒิสภาไม่ใช่องค์กรทางการเมืองหรือนิติบัญญัติที่ทรงอำนาจ แต่มีบทบาททางพิธีการในฐานะสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สูงที่สุดของประเทศ" นักวิเคราะห์การเมืองชาวกัมพูชาคนหนึ่งกล่าวกับเอเอฟพี

เขากล่าวว่า เนื่องจากกษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินนอกราชอาณาจักรบ่อยครั้ง การที่ฮุนเซนรับบทบาทประธานวุฒิสภาของจึงมีความสำคัญและเป็นสัญลักษณ์อย่างยิ่ง

ขณะนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันมีเครือญาติของฮุนเซนอยู่ไม่น้อย เช่นเดียวกับลูกๆ หลายคนของพันธมิตรของเขาก็มีตำแหน่งบริหารระดับสูงเช่นกัน

สก อายสาน โฆษกพรรคประชาชนกัมพูชา ปฏิเสธกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ระบุว่า ครอบครัวของฮุนเซนกำลังครอบงำประเทศ และชี้ว่าความคิดแบบนั้นมาจากกลุ่มบุคคลที่เต็มไปด้วยความอิจฉา

หลังจากขึ้นสู่อำนาจในปี 2528 ฮุนเซนได้ฟื้นฟูประเทศจากสภาพพังทลายเพราะสงครามกลางเมืองและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ให้กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเติบโตได้

แต่นักวิจารณ์กล่าวว่า การปกครองประเทศของเขามีจุดบอดเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม, การติดสินบนทั่วทุกวงการ และการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองเกือบทั้งหมด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แพทองธาร' บอกดีมากๆ ไปเยือนกัมพูชา ใช้โมเดลการเมือง มาปรับใช้กับไทย

น.ส.แพทองธาร นางสาว แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนกัมพูชาว่า เป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

'อิ๊งค์' สุดปลื้มได้รับเกียรติสูงสุดจากสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยโพสต์รูปภาพพบปะสมเด็จฮุนเซนที่ปีะเทศกัมพูชา พร้อมข้อความระบุว่าพรรคเพื่อไทยได้รับเกียรติสูงสุดจากสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี

เพื่อไทยได้ครูดี! 'ฮุนเซน' แนะพรรคการเมืองจะประสบความสำเร็จได้ ต้องทำงานเพื่อประชาชน

ที่ประเทศกัมพูชา นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) นายดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรค และคณะกรรมการ

'อิ๊งค์' ยันไปกัมพูชาในฐานะหัวหน้าพรรค ยังไม่สรุปรายละเอียดหารือ 'ฮุนเซน'

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรค พท. ให้สัมภาษณ์ถึงกำหนดการที่จะเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชาเพื่อพบสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่า มีแพลนว่าจะเดินทางไปวันที่ 18-19 มี.ค. นี้ แต่แพลนโดยละเอียดยังไม่ได้ลง