รัฐบาลทหารเมียนมาปฏิเสธคำขออดีตผู้นำกัมพูชาเข้าพบซูจี

รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาปฏิเสธคำขอของฮุน เซน อดีตผู้นำกัมพูชา ที่ต้องการเข้าพบกับอองซาน ซูจี ผู้นำประชาธิปไตยที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่รัฐประหารปี 2564

แฟ้มภาพ อดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา และอองซาน ซูจี เดินผ่านกองเกียรติยศในระหว่างการเยือนพระราชวังสันติภาพในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 (Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2567 กล่าวว่า อดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา แจ้งความจำนงต่อรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา เพื่อขอเข้าพบและพูดคุยกับนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่รัฐประหารปี 2564 แต่คำขอดังกล่าวถูกปฏิเสธ

อองซาน ซูจี ไม่ได้รับการพบเห็นอีกเลยนับตั้งแต่ทหารควบคุมตัวเธอ แม้ในขณะที่ต้องมาขึ้นศาลเพื่อรับการตัดสินโทษในหลายข้อหาก็ตาม

รัฐบาลเผด็จการทหารได้ปฏิเสธคำขอจำนวนมากของผู้นำและนักการทูตต่างประเทศเพื่อเข้าพบเจ้าของรางวัลโนเบลวัย 78 ปี ซึ่งมีรายงานว่าประสบปัญหาสุขภาพระหว่างถูกควบคุมตัวนานกว่า 3 ปี

เมื่อวันอังคาร ฮุน เซนซึ่งปกครองกัมพูชามาเกือบ 4 ทศวรรษก่อนจะก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว กล่าวว่า เขาได้ขอพบกับซูจี ระหว่างการสนทนาทางวิดีโอกับมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งต่อมาซอ มิน ทุง โฆษกรัฐบาลทหาร กล่าวผ่านสื่อของกองทัพเมียนมาต่อคำขอดังกล่าวว่า "ไม่มีเหตุผลที่จะอำนวยความสะดวกในขณะนี้"

"กองทัพกำลังเตรียมจัดการเลือกตั้งใหม่ตามคำสัญญาซึ่งล่าช้าจากกำหนดเดิมไปมาก เราจึงต้องการหลีกเลี่ยงเรื่องที่อาจทำให้ล่าช้าหรือขัดขวางกระบวนการดังกล่าวในอนาคต" ซอ มิน ทุง กล่าว

นับตั้งแต่ซูจีถูกคุมขัง การเผชิญหน้าเพียงครั้งเดียวของเธอกับทูตต่างประเทศเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เมื่อดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยในขณะนั้นกล่าวว่าเขาได้พบและพูดคุยกับซูจีนานกว่าหนึ่งชั่วโมง

ปัจจุบัน ซูจีกำลังรับโทษจำคุก 27 ปีที่ศาลรัฐบาลเผด็จการทหารพิจารณาความผิดของเธอในข้อหาที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามว่าเป็นกลอุบายที่จะปิดกั้นเธอออกจากการเมือง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้วซูจีถูกย้ายออกจากเรือนจำมากักบริเวณที่บ้านพัก เพื่อที่เธอจะได้ไม่ต้องเสี่ยงเป็นโรคลมแดด เนื่องจากอุณหภูมิในกรุงเนปยีดอสูงถึง 40 องศาเซลเซียส

ซอ มิน ทุงยังกล่าวถึงรายงานของสื่อไทยที่ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้พูดคุยกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่ปฏิบัติการตามแนวชายแดน โดยกลุ่มเหล่านั้นบางกลุ่มได้ให้ที่พักพิงและการฝึกทหารแก่ผู้ที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหาร และมีการปะทะกับกองทัพเป็นประจำ

"เราถือว่าการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายที่ทำลายผลประโยชน์ของเมียนมานั้นเป็นเรื่องไม่เหมาะสม" ซอ มิน ทุง กล่าว

ทั้งนี้เมื่อเดือนมีนาคม มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร ยอมรับว่าเมียนมาอาจไม่สามารถจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปทั่วประเทศได้ เนื่องจากบางพื้นที่ยังมีความไม่สงบอย่างต่อเนื่องและกองทัพยังไม่สามารถปราบปรามหรือทำข้อตกลงสงบศึกกับกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ได้ในเร็วๆนี้

ช่วงที่ผ่านมา กลุ่มกบฏชาติพันธุ์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในรัฐฉาน ได้เปิดฉากโจมตีกองทัพอย่างหนักและสามารถยึดพื้นที่ยุทธศาสตร์ได้หลายจุด ทำให้รัฐบาลทหารทุ่มเทกำลังในการรบพุ่งมากกว่าบริหารประเทศและการเมืองภาคประชาชน ท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติที่ต้องการให้กองทัพคืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่อง“โมเดล”ดับไฟเมียนมา “ทักษิณ”พลิกธุรกิจสีเทาเข้าระบบ

ระดับแกนนำ“พรรคเพื่อไทย”ออกอาการอ้ำอึ้ง ไม่รู้ไม่เห็นกรณี “ทักษิณ ชินวัตร” ไปคุยกับชนกลุ่มน้อยเมียนมา ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์เป็นต้นมา แต่สื่อตะวันตกต่างนำเสนอข่าวอย่างครึกโครม

'อองซาน ซูจี' ย้ายจากเรือนจำมากักบริเวณในบ้าน เหตุเสี่ยงเป็นโรคลมแดด

เมียนมาตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารมาตั้งแต่ปี 2021 และอองซาน ซูจี-อดีตหัวหน้ารัฐบาล เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสั

“เมืองเมียวดี”ถูกโจมตี ผลกระทบต่อชายแดนไทย?

สถานการณ์ในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ขณะนี้หลังกองกำลังผสม นำโดยกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-KNLA) ยึดฐานทหารพม่าได้ 3 ฐาน และในฐานบัญชาการมีการมอบตัวซึ่งกองกำลังผสมสามารถควบคุมเมืองเมียวดีได้ 90%