น้ำท่วมทางตอนเหนือของเมียนมาทำให้ผู้คนหลายพันติดอยู่ในบ้าน ขาดแคลนทั้งไฟฟ้าและถูกตัดขาดการสื่อสาร อุตุนิยมวิทยาเตือนจะมีฝนตกหนักมากขึ้นอีก
ผู้คนเดินผ่านระดับน้ำสูงที่ท่วมถนนในเมืองมิตจีนาของรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือของเมียนมา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม (Photo by AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า หลังจากฝนตกหนักมาหลายวันในเมืองมิตจีนาของรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือของเมียนมา ระดับน้ำในแม่น้ำอิรวดีได้เพิ่มสูงขึ้นเหนือ "ระดับอันตราย" และกลายเป็นน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่
ภาพจากสื่อท้องถิ่นเผยให้เห็นอาคารบ้านเรือนต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วม และผู้คนกำลังเดินลุยน้ำสูงระดับคอ โดยแบกข้าวของของตนไว้เหนือศีรษะ
"น้ำขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากติดอยู่ในบ้านของพวกเขา" ชาวเมืองมิตจีนากล่าวกับเอเอฟพี และเสริมว่าเครือข่ายไฟฟ้าและโทรศัพท์ขัดข้องตั้งแต่วันอาทิตย์
"มีการขาดแคลนเชื้อเพลิงในเมือง และเจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงผู้คนด้วยเรือยนต์" ชาวเมืองฯกล่าว
มีรายงานว่า ผู้คนหลายพันคนในพื้นที่น้ำท่วมติดอยู่บริเวณชั้นสองของบ้าน และทำได้แค่รอการเข้าถึงของทีมกู้ภัย ขณะที่ระดับน้ำลดลงเล็กน้อยเมื่อเช้าวันอังคาร แต่ฝนยังคงตกอยู่
ล่าสุด สำนักงานอุตุนิยมวิทยาเมียนมาเตือนว่าจะมีฝนตกหนักมากขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และระดับน้ำในแม่น้ำอิรวดีอาจสูงขึ้นระหว่าง 1.8 เมตร - 3 เมตร ในช่วง 10 วันแรกของเดือนกรกฎาคม
ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ดินถล่มถือเป็นอันตรายร้ายแรงสำหรับคนงานอพยพหลายพันคนที่เดินทางไปรัฐกะฉิ่นเพื่อขุดหาแร่ธาตุและโลหะมีค่าจากภูเขา
เมื่อเดือนที่แล้ว ดินถล่มที่เหมืองแรร์เอิร์ธ (Rare Earth) คร่าชีวิตผู้คนไป 5 ราย และมีผู้สูญหายอีกอย่างน้อย 7 คน
น้ำท่วมครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่เมียนมาถูกปกคลุมด้วยคลื่นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 48 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่
โดยทั่วไปแล้ว ฤดูฝนจะทำให้ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดฝนตกหนักหลายเดือนซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์เป็นต้นเหตุ ทำให้รูปแบบของสภาพอากาศมีลักษณะรุนแรงขึ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ปชน.' ชงข้อเสนอรัฐบาล ประชุมโลกร้อน 'COP29' เร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero
'ปชน.' ชงข้อเสนอ รัฐบาล ในการประชุมโลกร้อน 'COP29' แนะเร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ให้เป็นรูปธรรม-ดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีหน้า