โดนัลด์ ทรัมป์เจรจาปัญหายูเครนกับนายกฯอังกฤษที่มาเยือน แต่ไม่ได้ข้อสรุปอะไรที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรับประกันความปลอดภัยของสหรัฐฯ ที่ยุโรปต้องการอย่างยิ่ง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ พบปะกับนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของอังกฤษ (ซ้าย) ที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ (Photo by Carl Court / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของอังกฤษ เดินทางเยือนทำเนียบขาวเพื่อหารือประเด็นยูเครนกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งดูเหมือนจะตัดขาดรัฐบาลเคียฟและหันไปเข้าข้างรัสเซีย
ในการแถลงข่าวร่วมกัน ผู้นำสหรัฐซึ่งสร้างความวิตกให้กับพันธมิตรยุโรปด้วยการเปลี่ยนจุดยืนอย่างกะทันหันต่อรัสเซีย กล่าวว่า มีความคืบหน้ามากมายในข้อตกลงยุติความขัดแย้งในยูเครน และการเจรจาอยู่ในขั้นตอนสำคัญที่อาจเกิดขึ้นเร็วๆนี้ หรือไม่ก็อีกนานเลย
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ผู้ดื้อดึงได้ลดความขัดแย้งกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนลง ด้วยการกล่าวว่า "ผมเคารพเขามาก" และแก้ตัวก่อนหน้านี้ที่เขาเคยพูดเหน็บแนมว่าผู้นำยูเครนเป็นเผด็จการ โดยแกล้งตีมึนว่าเขาไม่ได้พูดอย่างนั้นซะหน่อย
จากการหารือร่วมกัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ความหวังต่อนายกรัฐมนตรีอังกฤษในเรื่องข้อตกลงการค้าที่เป็นไปได้ ขณะที่ผู้นำอังกฤษเอาใจความรักที่ทรัมป์มีต่อราชวงศ์ด้วยการชักชวนให้เขาเยือนสหราชอาณาจักรตามคำเชิญของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3
แต่สำหรับประเด็นสำคัญด้านความมั่นคงที่อังกฤษและฝรั่งเศสต้องการให้สหรัฐส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังยูเครนในกรณีที่มีข้อตกลงกับรัสเซียเพื่อยุติสงคราม ทรัมป์ยังคงไม่ส่งสัญญาณตอบรับ
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาเปิดรับหลายสิ่งหลายอย่างในแง่ของการรับประกันความปลอดภัย แต่เขาต้องการให้มีข้อตกลงระหว่างรัสเซียและยูเครนเกิดขึ้นเสียก่อน
ทรัมป์แสดงความเชื่อมั่นว่าปูตินเป็นคนรักษาคำพูด และปฏิเสธคำเตือนของสตาร์เมอร์ที่ว่าการหยุดยิงโดยไม่มีสหรัฐเข้าไปสร้างเกราะกำบัง จะทำให้รัสเซียกลับมารุกรานยูเครนอีกครั้ง
สตาร์เมอร์เป็นผู้นำคนที่สองในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ไม่สามารถกล่อมสหรัฐให้ยอมสนับสนุนกองกำลังทหารเรื่องยูเครนได้ หลังจากที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสพยายามโน้มน้าวทรัมป์เมื่อต้นสัปดาห์เช่นกัน
ผู้นำอังกฤษพยายามแสดงให้เห็นว่าเขายินดีที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทในประเด็นยูเครน เพราะทรัมป์บ่ายเบี่ยงและเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในยุโรปมีส่วนร่วมในการป้องกันทวีปของตนมากขึ้น
"ผมชัดเจนว่าอังกฤษพร้อมที่จะส่งกองกำลังภาคพื้นดินและเครื่องบินรบเพื่อสนับสนุนข้อตกลง" สตาร์เมอร์กล่าว
ก่อนหน้านี้ อังกฤษเคยเรียกร้องให้สหรัฐสนับสนุนทั้งกำลังทหาร, ข่าวกรองทางอากาศ และดาวเทียม
แต่สตาร์เมอร์น่าจะกลับบ้านอย่างมีความสุขจากการพบปะกับทรัมป์ ซึ่งยกย่องเขาว่าเป็น "นักเจรจาชั้นยอด"
ทรัมป์เสนอโอกาสทำข้อตกลงการค้าหลังเบร็กซิตซึ่งจะช่วยให้สหราชอาณาจักรหลีกเลี่ยงภาษีที่เขาขู่ไว้กับประเทศอื่นๆ ในช่วงเริ่มต้นวาระที่สองของเขาได้
"เขาพยายามแล้ว เขากำลังทำงานหนัก ผมบอกคุณได้แค่นี้" ทรัมป์กล่าวพร้อมหัวเราะเมื่อถูกถามว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษโน้มน้าวให้เขาไม่เรียกเก็บภาษีหรือไม่
สตาร์เมอร์ยังได้ส่งมอบพระราชสาส์นจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่มีพระประสงค์เชิญทรัมป์ให้มาเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ
ประธานาธิบดีสหรัฐฯกล่าวว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติ และจะเดินทางไปเยือนพร้อมกับเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง
แต่ในเรื่องยูเครน โลกจะเฝ้าติดตามการพบกันของทรัมป์กับเซเลนสกีที่ทำเนียบขาวในวันศุกร์นี้อย่างใกล้ชิด
ผู้นำทั้งสองจะลงนามในข้อตกลงครั้งใหญ่ที่จะให้รัฐบาลวอชิงตันเข้าถึงแร่หายากของยูเครนโดยเฉพาะ ซึ่งทรัมป์เรียกร้องเพื่อเป็นการตอบแทนความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ที่จะมอบให้กับรัฐบาลเคียฟ และเซเลนสกีหวังว่าข้อตกลงดังกล่าวอาจทำให้สหรัฐรับประกันความปลอดภัยต่อประเทศของเขาไปโดยปริยาย
ทั้งนี้ การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่งเริ่มขึ้นหลังจากการโทรศัพท์พูดคุยระหว่างทรัมป์และปูตินเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงดำเนินต่อไป โดยที่ยูเครนยังคงถูกกีดกัน
ปูตินกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า การเจรจาเบื้องต้นทำให้มีความหวังอยู่บ้างในการแก้ไขปัญหา เช่น ความขัดแย้งในยูเครน
แต่รัสเซียยืนยันหนักแน่นว่า การคืนพื้นที่ของยูเครนที่ได้ผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียระหว่างการสู้รบนั้น ไม่สามารถต่อรองได้ แม้ทรัมป์เสนอความเป็นไปได้ของประเด็นดังกล่าวในฐานะส่วนหนึ่งของข้อตกลงสันติภาพในอนาคต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทรัมป์ซัดเซเลนสกี ว่าขัดขวางข้อตกลงกับรัสเซียด้วยข้อคิดเห็นเกี่ยวกับไครเมีย
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหาประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีว่าขัดขวางข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัสเซียและยูเครนผ่านจุดยืนของเขาเกี่