หนุนเนื่องการรบ

ทหารยูเครนเดินสำรวจสภาพความเสียหายใกล้กับศูนย์การค้าเรโทรวิลล์และอาคารบ้านเรือนของประชาชนในกรุงเคียฟเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 หลังจากโดนรัสเซียยิงปืนใหญ่ถล่มเมื่อคืนวันอาทิตย์ (Photo by ARIS MESSINIS / AFP)

กองทัพรัสเซียปิดล้อมเมืองสำคัญๆ โดยเฉพาะมาริอูโพล และถล่มเมืองของยูเครนด้วยอาวุธยิงระยะไกลนานาชนิด หลังจากยูเครนไม่ยอมรับข้อเสนอให้ยอมจำนนต่อกองทัพรัสเซีย ยุทธการรุกไล่ด้วยการปิดล้อมยูเครนของกองทัพรัสเซีย มหาอำนาจทางทหารชาติหนึ่งของโลกในขณะนี้ โดยเฉพาะการปิดล้อมเมืองใหญ่ๆ ที่อยู่รายล้อมเมืองหลวงของยูเครนที่กำลังกระชับวงล้อมเข้าไปทุกที สร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลต่อท่าทีของผู้นำยูเครน รวมทั้งกองทัพและประชาชนชาวยูเครน ตลอดทั้งประชาคมโลกให้เกิดความอ่อนล้า และไม่แน่ใจว่าสงครามครั้งนี้จะเดินไปถึงจุดไหนและเมื่อไร ท่าทีที่จะกดดันรัสเซียให้อ่อนกำลังลงและยอมเลิกราการบุกยูเครนลงของฝ่ายสหรัฐฯ และพันธมิตรนั้น เริมรับสัญญาณจากผู้นำรัสเซียว่าจะไม่เป็นผล เพราะท่าทีของผู้นำรัสเซียเองที่ไม่มีท่าทีโอนอ่อนผ่อนลงแต่อย่างใด หากแต่กลับมีความแข็งกร้าวและมุ่งมั่นมากขึ้นในการปฏิบัติการพิเศษทางทหารเพื่อปลดปล่อยรัฐโดเนสต์-ลูฮันสก์ อันเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคแคว้นดอนบาส ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวของประธานาธิบดีปูตินในการดำรงความมุ่งหมายปฏิบัติการพิเศษทางทหารหนนี้มีให้ประชาคมโลกได้แลเห็นกันมาอย่างต่อเนื่อง แม้ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมนี ได้หารือทางโทรศัพท์เป็นเวลากว่าชั่วโมง หากแต่ผู้นำรัสเซียไม่ได้แสดงความประสงค์ที่จะยุติสงครามในยูเครนแต่อย่างใด

ในขณะที่ชาติสมาชิก NATO และสหภาพยุโรป (EU) รวมทั้งมหาอำนาจทุกด้านอย่างสหรัฐฯ เอง ก็ทำได้แต่เพียงสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย โดยไม่กล้าผลีผลามส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยเหลือยูเครนโดยตรงแต่อย่างใด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวย้ำอีกครั้งเมื่อกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯ จะไม่ส่งกองกำลังทหารสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมรบในสงครามยูเครน เนื่องจากเกรงว่าความขัดแย้งจะลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นชนวนเหตุของสงครามโลกครั้งใหม่ที่ไม่อาจประเมินความสูญเสียได้ เพราะกองทัพรัสเซียมีอาวุธทำลายล้างสูงอย่างนิวเคลียร์ในครอบครองจำนวนมากที่สุดในโลก โดยผู้นำสหรัฐฯ กล่าวอย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะปกป้องดินแดนทุกตารางนิ้วของพันธมิตรนาโตอย่างสุดกำลัง ด้วยกองกำลังที่แข็งแกร่งและมีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว แต่จะไม่รบกับรัสเซียในสงครามที่ยูเครน เพราะการเผชิญหน้ากันโดยตรงระหว่าง NATO กับรัสเซียนั้น จพนำมาซึ่งมหาสงครามครั้งใหม่ของโลกที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

ทำให้ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ และพันธมิตรสหภาพยุโรป ทำได้เพียงการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันรัสเซียอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากแต่การกดดันทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และพันธมิตร ก็ไม่ทำให้รัสเซียอ่อนกำลังลงแต่อย่างใด เพราะรัสเซียเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศหนึ่งของโลก ทั้งยังมีทรัพยากรมากมายในการยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเองในระยะยาว รวมทั้งยังมีพันธมิตรยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้น ซึ่งจีนเองก็มีความห่างเหิรกับสหรัฐฯ มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน อันเป็นการตอกย้ำความไม่เป็นมิตรต่อจีนอย่างเห็นได้ชัดตลอดมา การร้องขอเชิงข่มขู่ของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนล่าสุด ในการปรามไม่ให้จีนเข้าสนับสนุนหรือช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย จึงถูกจีนเมินเฉย ทั้งกลับมีการโทรศัพท์พูดคุยระหว่างผู้นำจีนกับปูตินเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง แสดงถึงความแนบแน่นของจีนที่มีต่อรัสเซียอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งคำแถลงของประธานาธิบดีปูตินที่ย่ำว่า รัสเซียไม่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนใดๆ ในการปฏิบัติการพิเศษทางทหารครั้งนี้ เพราะรัสเซียเองก็มีทรัพยากรในทุกด้านอย่างมากมายและพร้อมจะยืนหยัดปฏิบัติการครั้งนี้ได้ในระยะยาวด้วยตนเอง ทั้งยังตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการแสดงออกอันเป็นการส่งสัญญาณว่าเป็นชาติที่ไม่เป็นมิตรต่อรัสเซียของทุกชาติที่แสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง อาทิ กรณีล่าสุดที่รัสเซียประกาศถอนตัวจากกระบวนการเจรจาสันติภาพสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กับญี่ปุ่น รวมถึงระงับโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่หมู่เกาะพิพาทคูริล เพื่อตอบโต้ที่ญี่ปุ่นใช้มาตรการคว่ำบาตรและแถลงการณ์ประณามมอสโกจากกรณียูเครน โดยอ้างว่าญี่ปุ่นแสดงจุดยืนไม่เป็นมิตรอย่างโจ่งแจ้ง และพยายามที่จะทำลายผลประโยชน์ของรัสเซีย และมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียอื่นๆ เริ่มส่งผลกระทบเชิงลบต่อชาติตะวันตกและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งกลับเข้าใส่สหรัฐฯ เองอย่างรุนแรง

ท่าทีเหล่านี้ ล้วนทำให้สายป่านความหนุนเนื่องในการรบ หรือที่รัสเซียเรียกว่าเป็นการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียนั้น มีความหนุนเนืองมากขึ้นๆ จนไม่อาจประเมินความอ่อนล้าของรัสเซียได้อย่างแท้จริง ยิ่งหากเปรียบเทียบสายป่านความหนุนเนื่องในการรบของยูเครน ที่แม้จะได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ จากสหรัฐฯ และพันธมิตร จะเห็นได้ว่ามีความต่างชั้นทางการหนุนเนื่องการรบอย่างมาก เพราะการสนับสนุนของสหรัฐฯ และพันธมิตรนั้น จะกระทำได้ยากลำบากมากกว่า ด้วยต้องระมัดระวังการเข้าไปติดบ่วงสงครามที่มีคู่สงครามยักษ์ใหญ่อย่างรัสเซียเป็นคู่ขัดแย้ง ในขณะที่ผู้นำรัสเซียก็ได้แสดงความมุ่งมั่นในการปิดล้อมให้ผู้นำยูเครนสงบยอมต่อเงื่อนไขที่จะให้รัสเซียยุติการปฏิบัติการพิเศษทางทหาร ด้วยการลงนามวางสถานะของประเทศยูเครนที่เป็นกลาง ซึ่งนั่นก็คือการแสดงเจตจำนงชัดเจนว่า จะไม่เข้าเป็นสมาชิกองค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) อีกต่อไป และยอมให้สถานะสาธารณะรัฐโดเนสต์-ลูฮันสก์ อันเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคแคว้นดอนบาสเป็นรัฐเอกราช โดยการใช้ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง คินซาล (KinZhal) อันเป็นอาวุธที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ ที่มีการใช้จริงเป็นครั้งแรกในสงคราม เพื่อโจมตีคลังอาวุธใต้ดินในยูเครนเป็นครั้งแรก หลังจากรัสเซียได้เปิดฉากบุกยูเครน

ยุทธการปิดล้อมของกองทัพรัสเซียที่กระทำต่อยูเครนเริ่มส่งผลให้ผู้นำยูเครนและกองกำลังพันธมิตรในทางลับของยูเครนทั้งการแอบส่งกำลังสนับสนุนยุทธปัจจัยสงครามเกิดความระส่ำสะสายมากขึ้นเป็นลำดับ การโจมตีด้วยอาวุธนานาชนิดเข้าใส่เมืองใหญ่สำคัญในการรุกคืบเข้าปิดล้อมเมืองหลวงของยูเครนเริ่มได้ผล พร้อมกับการบ่งบอกให้ประชาคมโลกได้แลเห็นว่ารัสเซียเอง ไม่ได้มุ่งหวังจะทำลายล้างยูเครนให้ราบคาบ เพียงแต่ต้องการให้ผู้นำยูเครนและกองทัพของเขา สงบยอมและวางอาวุธ ยอมทำตามเงื่อนไขที่รัสเซียต้องการ ด้วยท่าทีการเปิดทางระเบียงมนุษยธรรม ให้ประชาชนชาวยูเครนเดินทางออกนอกเมืองที่กำลังถูกปิดล้อมได้อย่างปลอดภัย ผ่านเส้นทางและยานพาหนะที่จัดเตรียมไว้ แถลงการณ์ของรัสเซีย ที่แจ้งให้กองทัพยูเครนในเมืองมาริอูโปล อันเป็นเมืองท่าสำคัญทางใต้ของยูเครน ยอมวางอาวุธ ภายในเวลาที่กำหนด เนื่องจากเล็งเห็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมในเมืองมาริอูโล ที่กำลังขาดทั้งน้ำ ไฟฟ้า อาหาร และยารักษาโรค ได้ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนชาวยูเครนและผู้ที่ยอมปฏิบัติตามยอมวางอาวุธ จะสามารถเดินทางออกนอกเมือง ได้อย่างปลอดภัย ผ่านทางระเบียงมนุษยธรรม ที่จัดเตรียมไว้ดังกล่าว พร้อมกับการรุกคืบอย่างช้าๆ แต่หนักหน่วง เพื่อปิดล้อมกดดันผู้นำยูเครนไปเรื่อยๆ ตามเวลาที่เดินไป อันเป็นการเพิ่มความบอบช้ำทั้งทางกายและจิตใจของผู้นำและกองทัพตลอดจนชาวยูเครนพร้อมพันธมิตรให้ตกต่ำลงเรื่อยๆ ในขณะที่ยูเครนก็ยังยืนหยัดต่อสู้อยู่ต่อไป หากแต่ว่าจะอีกนานแค่ไหน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เวลาในการสู้รบที่เคลื่อนไป ย่อมส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพในการทำสงคราม การเดินหน้าต่อสู้ระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ จากพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งอาจหมายรวมถึงชาติสมาชิก NATO บางส่วนที่ร่วมปฏิบัติการต่อสู้กับรัสเซียครั้งนี้ ทั้งการสนับสนุนกำลังรบอย่างลับๆ และยุทธปัจจัยสงคราม ควบคู่กับการกดดันทางเศรษฐกิจที่หมายจะบั่นทอนกำลังรบและศักยภาพของรัสเซียโดยรวม ในขณะที่รัสเซียก็ยังคงตอบโต้ทางเศรษฐกิจต่อฝ่ายตรงข้ามในทุกรูปแบบพร้อมกับการเร่งปฏิบัติการทางทหารอย่างรุนแรงต่อเนื่องมากขึ้น การทำสงครามที่ไม่สามารถจบได้ในเร็ววันซึ่งนักการทหารเรียกว่าสงครามยืดเยื้อนั้น ฝ่ายรุกย่อมต้องการเผด็จศึกให้ได้ในเร็ววัน ในขณะที่ฝ่ายตั้งรับซึ่งธรรมชาติแล้วจะมีศักย์สงครามน้อยกว่า ย่อมต้องอาศัยเวลาที่จะรบยืดเยื้อเพื่อรอการช่วยเหลือจากพันธมิตร ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องรบแบบยืดเยื้อ ในทางทหารรู้กันดีว่า การรบในลักษณะนี้ ฝ่ายใดมีสายป่านความหนุนเนื่องการรบยาวกว่ากัน ก็จะมีโอกาสยืนหยัดสู้รบได้อย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง และความหนุนเนื่องในการรบนั้น เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดของชัยชนะในสงคราม

เสือตัวที่ 7

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปรับกลยุทธ์

ยืดเยื้อต่อเนื่องมาเป็นเวลาร่วมเดือน หลังจากประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย ประกาศปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน ที่อ้างว่าเป็นการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ

สงครามข่าวสาร (Information Warfare)

การทำสงครามทางทหารนั้น เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์อันลุ่มลึก เกินกว่าที่นักวิชาการในแขนงวิชาอื่นๆ