ปรับกลยุทธ์


ยืดเยื้อต่อเนื่องมาเป็นเวลาร่วมเดือน หลังจากประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย ประกาศปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน ที่อ้างว่าเป็นการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ เพื่อปลดปล่อยรัฐอิสระเหนือโดเนสต์และลูฮันสก์ซึ่งมีพลเมืองส่วนใหญ่ฝักใฝ่รัสเซีย โดยมีที่ตั้งอยู่ในแคว้นดอนบาสของยูเครน ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย  ทั้งนี้ ภูมิภาคโดเนสต์ เป็นพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยเหมืองแร่หลายแห่ง หนึ่งในเมืองสำคัญของภูมิภาคนี้คือสตาลิโน (Stalino) ซึ่งมีประชากรราว 2 ล้านคน อันเป็นเมืองศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และการถลุงเหล็กสำคัญ

ส่วนลูฮันสก์ หรือชื่อเดิมสมัยสหภาพโซเวียต โวโรชิลอฟกราด (Voroshilovgrad) เป็นเมืองที่มีประชากรรองลงมาจากสตาลิโน่ ประมาณ 1.5 ล้านคน ถือเป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญอีกแห่งของยูเครนที่อยู่ใกล้ทะเลดำ เป็นแหล่งของเหมืองถ่านหินจำนวนมหาศาล ทรัพยากรจากทั้งสองเมืองรัสเซียสามารถเชื่อมต่อผ่านไปยังไครเมียเพื่อใช้ประโยชน์ได้มากมาย พลเมืองในแคว้นดอนบาส ที่ส่วนใหญ่ใช้ภาษารัสเซียนั้นมีที่มาจากการที่แรงงานชาวรัสเซียจำนวนมากถูกส่งไปยังพื้นที่แห่งนี้หลังสงครามโลกครั้งที่สองตลอดช่วงการปกครองยุคโซเวียต 

นั่นทำให้กลุ่มประชาชนในยูเครนที่ฝักใฝ่รัสเซีย เริ่มเคลื่อนไหวก่อการต่อต้านรัฐบาลยูเครน สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ รัฐบาลท้องถิ่นเซวัสโตปอลซึ่งเสมือนเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของรัสเซีย จัดการลงประชามติแยกไครเมียเป็นรัฐอิสระ ผลลัพธ์คือ ประชาชนในไครเมียมากถึง 96.77% ลงคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นหนุนให้ไครเมียเป็นรัฐอิสระ  นั่นคือที่มาของเหตุผลการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซีย หลังจากการแสดงกำลังประชิดชายแดนยูเครนจำนวนหลักแสนในช่วงแรก อันเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางทหารที่เรียกกันว่า การแสดงกำลังข่มขู่และบีบบังคับให้ฝ่ายตรงข้ามหวั่นเกรงและยอมจำนนต่อความต้องการของฝ่ายตนในที่สุด

แต่หากเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะผู้นำยูเครนเชื่ออย่างสนิทใจว่า หากเกิดความขัดแย้งกับรัสเซียจนลุกลามไปสู่การใช้กำลังทหารแล้ว จะมีพันธมิตรอย่าง NATO สหภาพยุโรป รวมทั้งมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา เข้าให้การช่วยเหลือทางทหารอย่างเต็มรูปแบบอย่างดังที่ฝ่ายพันธมิตรพยายามส่งสัญญาณเพื่อสื่อสารไปถึงรัสเซียให้ยับยั้งชั่งใจในการใช้กำลังมาโดยตลอด รวมทั้งการสื่อสารให้รัสเซียรับรู้ว่าหากรัสเซียใช้กำลังทหารบุกยูเครน จะได้รับการตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการค้าต่อรัสเซียอย่างรุนแรงที่สุด ซึ่งนั่นล้วนเป็นปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้ามรัสเซียที่พยายามใช้กลยุทธ์อีกรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกกันว่า “การป้องปรามฝ่ายตรงข้ามให้ตัดสินใจไปในทิศทางที่ฝ่ายตนต้องการ”

ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว หากมองอีกแง่มุมหนึ่งจะเห็นได้ว่า ฝ่ายยูเครนโดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็ประเมินศักยภาพของรัสเซียต่ำเกินไป การกระทำด้วยมาตรการใดๆ ต่อรัสเซียภายใต้การนำของสหรัฐฯ จึงไม่ตอบสนองเป้าหมายตามที่คาดการณ์ไว้ ในทางตรงข้าม รัสเซียเองกลับกระตือรือร้นมากขึ้นในการแสวงหามาตรการตอบโต้ในทุกวิถีทางทั้งการโต้กลับทางเศรษฐกิจ การโต้กลับทางเวทีการเมืองระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศที่ให้คู่ค้าของรัสเซียใช้เงินสกุลของรัสเซียเท่านั้น รวมทั้งการตอบโต้ในรูปแบบเดียวกับที่ถูกกระทำจากฝ่ายตรงข้ามตลอดมาแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน

 โดยเฉพาะการโต้กลับในด้วยกลยุทธ์ทางทหารที่ทำให้ฝ่ายสหรัฐฯ และชาติตะวันตกต่างวิตกกังวลในกลยุทธ์ที่ฝ่ายรัสเซียถาโถมโต้กลับอย่างทันทีทันใด การรุกกลับตอบโต้เข้าใส่ด้วยท่าทีแข็งกร้าวดุดันของรัสเซีย หลังจากเริ่มยุทธการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซีย จึงเป็นการส่งสัญญาณให้ชาติตะวันตกได้ฉุกคิด การเปิดฉากรุกด้วยกำลังทหารในช่วงแรกๆ จึงเป็นการปฏิบัติการสายฟ้าแลบ ที่หลายคนไม่คิดว่าผู้นำรัสเซียจะกล้าตัดสินใจเช่นนี้  ด้วยการปฏิบัติการพิเศษทางทหารหนนี้ เป็นการเปิดฉากทำสงครามเต็มรูปแบบครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรป นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมทั้งยกระดับความเตรียมพร้อมที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามยูเครน หากชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซง

การปรับกลยุทธ์ทางทหารจากเดิมที่เป็นการใช้กลยุทธ์ข่มขู่แสดงกำลังทางทหารให้ยูเครนสยบยอม เมื่อไม่ได้ผล ในทางทหารรู้กันดีว่า จำต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับสถานการณ์สงครามที่เปลี่ยนแปลงไป และปูตินก็ปฏิบัติการโจมตีด้วยขีปนาวุธทำลายศักยภาพทางทหารของยูเครนให้ย่อยยับเมืองแล้วเมืองเล่า หากแต่ก็ได้รับการต้านทานทางทหารจากยูเครนภายใต้การสนับสนุนอย่างลับๆ ของชาติพันธมิตร จนยูเครนสามารถยืนหยัดต่อสู้ต้านทางการรุกของรัสเซียอย่างได้ผล กลายเป็นสงครามการรบที่ไม่จบลงง่ายๆ ในเร็ววัน ตามความมุ่งประสงค์ของฝ่ายรัสเซีย

ทำให้ฝ่ายรัสเซียต้องปรับกลยุทธ์เป็นการปิดล้อมเมืองสำคัญๆ ที่ในทางทหารเรียกกันว่า ภูมิประเทศสำคัญ (Key Terrain) หรือปมคมนาคมสำคัญทางทหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียทหารนักรบในกองทัพให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด หรือในทางทางทหารเรียกกันว่า การอนุรักษ์กำลังรบ ซึ่งเป็นการรักษาขวัญและกำลังใจในการรบของทหารในกองทัพอีกด้วย

ส่วนอีกด้านหนึ่งเมื่อฝ่ายยูเครนและพันธมิตรแสวงหาจุดแข็งและจุดอ่อน รวมทั้งโอกาสแห่งชัยชนะของฝ่ายตนได้ ก็ปรับกลยุทธ์จากการตั้งรับเหนียวแน่นในเมืองใหญ่เพื่อสกัดกั้นต้านตานการยึดครองของฝ่ายกองทัพรัสเซียอย่างเต็มกำลัง ด้วยความได้เปรียบของฝ่ายตั้งรับที่มีความชำนาญในภูมิประเทศสำคัญอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน รวมทั้งมีการเตรียมที่มั่นสกัดกั้นตามแนวทางเคลื่อนที่ของกองทัพรัสเซียที่ประมาณการไว้ จนทำให้กองทัพรัสเซียไม่สามารถเข้ายึดครองที่หมายเหมืองใหญ่ไว้ได้ตามแผนทั้งยังมีข่าวว่าได้รับการต้านทานจนเกิดการสูญเสียไม่ใช่น้อย กองทัพยูเครนและกองกำลังติดอาวุธจึงสามารถยับยั้งรัสเซียไว้ให้อยู่แต่รอบนอก หากแต่ว่าเมื่อเวลาเนิ่นนานไป ทรัพยากรสงครามทั้งหลายตลอดจนยุทธปัจจัยในการดำรงความต่อเนื่องการรบของฝ่ายยูเครนเริ่มลดน้อยถอยลง นั่นจึงทำให้ความเข้มแข็งในการต้านทาง ณ ที่มั่นรบ มีความอ่อนแอลงไปด้วยตามลำดับจากกลยุทธ์ปิดล้อมของกองทัพรัสเซีย

จนในเวลาต่อมา กองทัพยูเครนจึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการรบแบบกองโจร นั่นคือการสลายกำลังรบจากหน่วยใหญ่ๆ เป็นชุดย่อยๆ และพลิกพลิ้วไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า โดยไม่ตกเป็นเป้านิ่งให้กองทัพรัสเซียเลือกทำลายตามอำเภอใจหรือปิดล้อมให้อ่อนกำลังตามที่ตั้งใจ โดยกลยุทธ์การรบแบบกองโจรนี้ ย่อมผสมผสานกับการรบตามแบบ และกองโจรย่อมไม่ปรากฏตัวตน ซึ่งในทางทหารรู้กันดีว่า มีความยากในการตรวจพบเป้าหมายและแยกแยะเป้าหมาย โดยเฉพาะการแยกแยะระหว่างนักรบกับประชาชนมือเปล่า อย่างที่เวียดกงเคยใช้กลยุทธ์นี้อย่างได้ผลจนสามารถเอาชนะกองทัพอันเกรียงไกรอย่างสหรัฐอเมริกามาแล้วในสงครามเวียดนาม

การปฏิบัติการทางทหารเป็นศาสตร์และศิลป์ที่มีความลุ่มลึก พลิ้วไหวไปมาอย่างยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจ บนความเป็นความตายที่รออยู่ตรงหน้าจึงเป็นความซับซ้อนอันเหลือเชื่อ การรบที่ชิงไหวชิงพริบกันทุกวินาทีบนความเสี่ยงต่อชีวิตกองทหาร จำต้องปรับกลยุทธ์ไปมาอย่างไม่หยุดนิ่งในการปฏิบัติการทางทหารนั้น เปรียบเสมือนการแก้เกมในการต่อสู้ที่สถานการณ์การต่อสู้ย่อมมีการพลิกผันกันไปมา ซึ่งหากฝ่ายใดสามารถวิเคราะห์ ประมาณการ คาดการณ์มองภาพอนาคตได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมมีโอกาสในการปรับเปลี่ยนจังหวะก้าวในการรบ (Battle Rhythm) ให้สอดรับกับสภาพการรบในสมรภูมิจนได้เปรียบฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเป็นผล

ซึ่งนั่น คือความสามารถในการปรับกลยุทธ์ของผู้นำทางทหารตัวจริงที่ต้องอาศัยความรู้ทางทหารอันถ่องแท้และประสบการณ์ทางทหารอันโชกโชนเกินกว่าที่จะเรียนรู้ได้จากตำรา

เสือตัวที่ 7

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รทสช. ยกเครื่อง! ตั้งคณะทำงานหลายสาขา ปรับกลยุทธ์สื่อสาร ย้ำไม่ใช่รีแบรนด์พรรค

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พรรครทสช. เตรียมที่จะมีการปรับกลยุทธ์ในการสื่อสารให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพื่อสื่อสารไปยังประชาชนให้เข้าใจ

'ธนกร' เผยเตรียมปรับกลยุทธ์สู้เลือกตั้งให้ 'บิ๊กตู่' กับ 'รทสช.' เป็นหนึ่งเดียว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์การเมือง

หนุนเนื่องการรบ

กองทัพรัสเซียปิดล้อมเมืองสำคัญๆ โดยเฉพาะมาริอูโพล และถล่มเมืองของยูเครนด้วยอาวุธยิงระยะไกลนานาชนิด

สงครามข่าวสาร (Information Warfare)

การทำสงครามทางทหารนั้น เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์อันลุ่มลึก เกินกว่าที่นักวิชาการในแขนงวิชาอื่นๆ