“โมฆบุรุษ” .. ในสังคมปัจจุบัน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่ง กล่าวว่า.. “จตูหิ ภิกฺขเว ธมฺเมหิ สมนฺนาคโต ภิกฺขุ อาหุเนยฺโย โหติ” .. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ.. เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้บูชา เป็นเนื้อนาบุญของสัตว์โลกอย่างยอดเยี่ยม

ธรรม ๔ ประการนั้น ได้แก่

อาชวะ คือ ความซื่อตรง

ชวะ คือ ความเฉียบแหลม

ขันติ คือ ความอดทน

โสรัจจะ คือ ความเสงี่ยม..

โดยทรงแสดงเปรียบเทียบกับคุณสมบัติของม้าอาชาไนยว่า ประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ ประการ คือ ซื่อตรง ไม่โกง ไม่พยศ มีความว่องไว ไหวพริบ.. รู้ฟังคำสั่ง มีความอดทน ไม่หวั่นไหวต่อศัสตราอาวุธและอุปสรรคอันตรายต่างๆ...

ม้าซึ่งประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ ประการดังกล่าว จัดเป็น ม้าอาชาไนยมิ่งมงคล สมควรเลือกสรรเป็นพระราชพาหนะของพระราชามหากษัตริย์...

ในทางธรรมก็เช่นเดียวกัน เมื่อประกอบด้วยคุณธรรม ๔ ประการตามที่กล่าวมา ก็ย่อมนับเป็น บุรุษอาชาไนย .. เป็นนักธรรมชั้นเยี่ยมในพระพุทธศาสนา

สังคมในปัจจุบัน.. เริ่มขาดแคลนบุรุษอาชาไนย.. โดยข้อแรก คือ ขาดความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเอง.. สังคมประเทศชาติ.. และต่อธรรม.. จึงเห็นความโกลาหลไม่ลงตัวในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะมองไปด้านใด ย่อมพบแต่ความวุ่นวายจนยากจะฝากความเชื่อถือไว้...

ดังกรณี.. ธุรกิจสีเทาของกลุ่มคนต่างชาติ ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ที่มีการออกมาเปิดเผยของบุคคลท่านหนึ่ง.. จึงได้เห็นความสลับซับซ้อนโยงใย จนยากจะหาข้อยุติโดยธรรม.. แม้ว่าสังคมจะให้ความสนใจมากก็ตาม..

ทั้งนี้.. เพราะการขาดความซื่อตรงต่อกันและกัน ความซื่อตรงเป็นมูลรากของคุณธรรมความดี และความซื่อตรงต่อตนเองเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดแห่งความซื่อตรงทั้งมวล

สังคมที่เข้มแข็ง จึงต้องสร้างบุคลากรที่มีความซื่อตรงต่อตนเองเป็นสำคัญ เพราะเมื่อขาดความซื่อตรงต่อตนแล้ว จะชักนำให้คนอื่นขาดความซื่อตรงไปด้วย เรียกว่า ชั่วคนเดียวไม่พอ ต้องชักชวนให้คนอื่นชั่วด้วย เพื่อจะได้ไปกันได้...

ที่สำคัญยิ่ง.. ของบุคคลที่ขาดความซื่อตรงต่อตนเอง.. มักจะเอนเอียงหาเหตุผลเข้าข้างตนจน ไม่เคารพธรรม.. จึงมักเห็นคนประเภทนี้พูดธรรม.. เข้าข้างตน.. นำธรรมมาบำเรอตน

ความซื่อตรงต่อตนเอง.. จึงมีผลต่อความซื่อตรงต่อผู้อื่น ถือการปฏิบัติตรงไปตรงมาต่อกัน ไม่มีลับลมคมใน มีอัธยาศัย เปิดเผย เที่ยงตรง คงที่ทั้งกาย วาจา ใจ ..พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น ทำอย่างไร พูดอย่างนั้น.. บาลีว่า ยถาวาที.. ตถาการี.. ยถาการี.. ตถาวาที..

คนประเภทนี้.. จึงมักมีธรรมประจำใจ รู้จักวางใจเที่ยงตรงต่อธรรม เป็นคนน้อมธรรมเข้ามาหา.. หรือน้อมตนเข้าหาธรรม ไม่กดข่มธรรมะ

ความซื่อตรง.. จะไม่พูดอะไรพล่อยๆ ไม่ทำอะไรตามอำเภอใจ.. เพราะคำนึงถึงคุณธรรมความดีเป็นสำคัญ

ด้วยความซื่อตรงต้องมีสัจจะ เป็นคนมีความกตัญญูกตเวทีเป็นลำต้น มีความภักดีเป็นกิ่งก้านสาขา.. จึงมักจะเรียกรวมว่า มีความซื่อตรงจงรักภักดี..

คนเรา เมื่อมีสัจจะ.. ความกตัญญูกตเวทิตา ความจงรักภักดี.. แล้ว ก็ย่อมนับได้ว่าเป็นบัณฑิตที่ควรคบหา.. เป็นคนดีที่ควรสมาคม เพราะคนประเภทนี้ จิตใจจะใสสะอาด มีสติปัญญาความเฉียบแหลมประจำใจ.. ที่เรียกว่า ชวะ

คนที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม.. ย่อมอ่านสถานการณ์ต่างๆ ได้ถูกต้อง เตรียมพร้อมเผชิญเหตุ จึงมีความอดทนอดกลั้น.. ที่เรียกว่า ขันติ

ความอดทนอดกลั้น อดข่ม มีสติปัญญา จะรู้จักพิจารณาโดยแยบคาย.. ตรวจตรองหาเหตุผล สามารถคิดนึกให้กำลังใจตนเองได้ในทุกสถานการณ์ โดยไม่ต้องไปขอกำลังใจจากใครๆ เลย..

คนที่มี ขันติธรรม แสดงว่า ประกอบชีวิตอยู่กับกระแสสติปัญญา รู้จักพิจารณา แยกแยะ ดีชั่ว คุณประโยชน์ มิใช่ประโยชน์..

แม้จะถูกด่าว่าสบประมาท.. ก็จะน้อมนำมาพิจารณา เพื่อสร้างภูมิต้านทานในจิตใจ.. ด้วยความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องตรงธรรม... จึงคล้ายกับได้ลาภอันประเสริฐ เหมือนถูกชี้บอกขุมทรัพย์ให้เข้าไปแสวงหา

แทนที่จะโกรธเคือง กลับสบายใจต่อสิ่งที่ได้รับ.. เพราะรู้จัก แปลวิกฤต.. เป็นโอกาส แปลปัญหา.. เป็นปัญญา..

คนที่ซื่อตรงต่อตน.. ซื่อตรงต่อธรรม มีสติปัญญา จึงแผ่เมตตา ละความพยาบาทเบียดเบียน ความโกรธ ความเกลียดทั้งหลาย แปลงค่ายาพิษ กลับเป็นยาบำรุง.. เปลี่ยนอาวุธ เป็นดอกไม้.. ด้วยจิตใจที่ดำรงอยู่ใน ขันติธรรม จนเข้าถึง ตีติกขาขันติ ที่แปลว่า อดกลั้นทนทาน..

ยิ่งอดทนอดกลั้น จนเป็น ตบะเดชะ ยิ่งสุดยอดของขันติธรรม.. เหนือกว่า ตีติกขาขันติ เพราะอำนาจตบะเดชะ จะทำให้กระแสทำลายที่พุ่งเข้ามากระทบสงบหายไปเอง.. อัศจรรย์ยิ่ง

คนที่ฝึกฝนจิตดี.. มีขันติธรรมถึงขั้นตปขันติ จะทนได้ เฉยได้ สบายมาก ในทุกๆ เรื่องที่มากระทบใจ.. จึงสงบพอที่จะตรวจตราปัญหาเรื่องราวนั้นๆ ได้อย่างละเอียดลออ.. พร้อมที่จะแก้ไขปัญหานั้น ๆ ให้สิ้นไปได้ด้วย สติปัญญาและความเฉียบแหลม เพราะจิตใจที่ไม่กระเพื่อมไปตามกระแสโลกียะ.. ดุจแผ่นดินหรือเสาเขื่อนที่ไม่หวั่นไหวต่อแรงลม.. ฉันใด.. ก็ฉันนั้น...

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในเรื่องดังกล่าวว่า.. บุคคลใด มีจิตใจเสมอด้วยแผ่นดิน ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย มีความประพฤติคงที่ เหมือนเสาเขื่อน สามารถนั่งกับอยู่กับเรื่องนั้นๆ ได้ อย่างไม่ทุกข์ร้อนใจ เรียกได้ว่า.. มี อธิวาสนขันติ ที่แปลว่า ความอดทนจนทำเรื่องที่มากระทบให้อยู่ทับได้ ทนจนเรื่องร้ายให้กลายเป็นเรื่องดี

ที่สำคัญยิ่ง.. ในความซื่อตรง เฉียบแหลม มีความอดทนอดกลั้นถึงพร้อม.. ย่อมน้อมโน้มไปสู่ความเสงี่ยม ที่เรียกว่า โสรัจจะ..

ความเสงี่ยม ย่อมเกิดจาก เป็นผู้มีศีลด้วยดี เป็นผู้มีความยินดีด้วยดี.. สุสีลภาโว.. สุรตภาโว.. จึงแปลว่า โสรัจจะ.. ความเสงี่ยม

โสรัจจะ ย่อมคู่กับขันติ.. ด้วยโสรัจจะแต่งกายกับวาจา.. ส่วนขันติจะมีหน้าที่ .. แต่งใจ

ขันติ.. จึงต้องอาศัยโสรัจจะ.. จึงจะครบถ้วน สุจริต มั่นคง ทั้งกาย วาจา และใจ..

หาก.. ขันติ.. ขาดโสรัจจะ.. ก็จะกลายเป็น ขันแตกได้ง่าย..

ธรรมทั้ง ๒ ประการ คือ ขันติและโสรัจจะมีอยู่ในผู้ใด.. ผู้นั้นย่อมสง่างาม น่ามองดู...

พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า ผู้จะงามในพระธรรมวินัยของพระองค์ จึงต้องมีทั้ง ขันติและโสรัจจะ

สังคมในวันนี้ ขาดบุคคลที่ถึงพร้อมในขันติ และ โสรัจจะ จึงไม่สามารถสร้างความสมบูรณ์พร้อมในโภคทรัพย์อันมีอริยทรัพย์เป็นที่สุดได้

เพราะ.. ความเป็นคนที่ยากจนในคุณความดี.. เป็นคนที่จนใจ.. ในทุกสถานการณ์.. เพราะความไม่ซื่อตรงต่อตนเอง.. ต่อผู้อื่น.. และต่อธรรม.. จึงไม่มีธรรม.. ไม่สามารถปลูกอริยทรัพย์ขึ้นในจิตใจได้...

ความยากจนหรือความมั่งมีโภคทรัพย์ภายนอกนั้น จึงไม่ได้เป็นตัวชี้วัดใดๆ เลย ว่า.. ชีวิตจะอยู่เย็นสุขสบาย

ซึ่งหากเป็นความพอใจที่ไม่มีธรรม แม้ชีวิตที่มีความเพียบพร้อมด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ ตามกระแสโลก.. ก็จะเป็นชีวิตที่เป็นโมฆะทันที คือ เป็นชีวิตที่ว่างเปล่าจากความมีประโยชน์ที่แท้จริง.. ในฐานะสัตว์ที่สามารถพัฒนาให้จิตใจเข้าถึงความประเสริฐได้.. ที่เรียกกันในทางพุทธศาสนาว่า “โมฆบุรุษ”.

                   

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ

บูชาพระโอวาทปาติโมกข์ .. ณ เวฬุวันมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. กลับมาจาก งานมาฆบูชาโลก ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พร้อมกับติดเชื้อเป็นของแถม ด้วยมีไวรัสแพร่ระบาดในหมู่คณะที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสติดตามไปร่วมร้อยชีวิต

บนเส้นทางมหาปรินิพพาน “มัชฌิมาปฏิปทา สู่ อัปปมาทธรรม”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา.. บนเส้นทางมหาปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมสมัย มีปรากฏร่องรอยธรรมที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง

มาฆบูชาโลก ณ เวฬุวันมหาวิหาร ชมพูทวีป (พ.ศ.๒๕๖๗)

เจริญพรศรัทธาสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาระหว่าง ๒๒-๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปประกอบศาสนกิจอันสำคัญยิ่งในชมพูทวีป บนแผ่นดินเกิดพระพุทธศาสนา เนื่องใน วันมาฆบูชาโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็น “วันมาฆบูชาปูรณมี”

“มายาสาไถย..” ..ในสังคมปัจจุบัน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมมีประโยชน์ ๓ ระดับ ได้แก่