เมื่อส่องดูความเคลื่อนไหวในการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่เป็นอภิมหาโปรเจ็กต์ของประเทศ มุ่งปรับตัวพัฒนาอุตสาหกรรมจากยุคอีสเทิร์นซีบอร์ดต่อยอดสร้างความก้าวหน้าใหม่อยู่อย่างมีนัยสำคัญกับเศรษฐกิจสังคมวันนี้นั้น มีข้อพิจารณาเกี่ยวกับการทำงานและยกระดับท้องถิ่นในพื้นที่พิเศษหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้คน-สังคมท้องถิ่นในพื้นที่ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา!
การเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น 3 จังหวัดเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เริ่มแต่ปี 2516 ตามแผนพัฒนาประเทศที่มุ่งเปลี่ยนภาคเกษตรกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรมที่สภาพเศรษฐกิจสังคม 3 จังหวัดและภาคตะวันออกช่วงปี 2519 ถึง 2521 เคยเป็นเมืองเกษตร-ผลไม้-ประมง-ค้าขาย-ท่องเที่ยว ที่ช่วงเวลานั้นกำลังขยายตัวสู่เศรษฐกิจเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว และตั้งแต่ปี 2524 ก็ถูกปรับสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐ โดยเฉพาะระยองและชลบุรี
การปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้น สร้างผลกระทบทางสังคม-เศรษฐกิจ-ทรัพยากรท้องถิ่นขึ้นมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อนในท้องถิ่น! เศรษฐกิจ-สังคมท้องถิ่นถูกรุกไล่-เบียดขับเป็นสังคมชายขอบ ฐานทรัพยากรชุมชนท้องถิ่นที่หล่อเลี้ยงผู้คนทุกกลุ่มในชุมชน กลุ่มเล็กกลุ่มน้อย-เกษตรกรรายย่อย-ประมงเรือเล็กในพื้นที่ถูกเบียดขับปิดกั้นจากแหล่งทำกินเดิม พื้นที่หลายแห่งก่อรูปขึ้นเป็นโรงงานอุตสาหกรรม-ปรับโครงสร้างขยายถนน-สร้างท่าเรือน้ำลึก โรงงาน-ศูนย์ธุรกิจการค้า-ชุมชนบ้านจัดสรรผุดขึ้นทั่ว ขยายชุมชนเปลี่ยนเป็นเมืองเล็ก-ใหญ่แทนชุมชนแบบเดิมตลอดแนวชายฝั่ง!
ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อปัญหา-ความขัดแย้งขึ้นมากมาย ลุกลามข้ามหมู่บ้าน-ตำบล-จังหวัดจนรับรู้ไปทั่วประเทศ! ความขัดแย้งเริ่มตั้งแต่ปีที่เตรียมการโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดต่อเนื่องตลอดมา จากปี 2512 เกิดกรณีการเวนคืนที่ดินโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ปี 2527 มีการเผชิญหน้ากันของเจ้าหน้าที่รัฐกับเกษตรกรกรณีปัญหามลภาวะจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปี 2530 หมู่บ้านประมงแหลมฉบังดื้อแพ่งจากการที่ถูกการท่าเรือไล่ที่ ปี 2532 เกิดความขัดแย้งมีการจับกุมผู้บุกรุกพื้นที่ในเขตแควระบบสียัต ปี 2534 นิคมอุตสาหกรรมมีน้ำไม่พอใช้ ปี 2535 เกิดความขัดแย้งกรณีระเบิดหินอุตสาหกรรมโม่หินบนเกาะสีชัง-และการรุกที่สาธารณะ ปี 2537 และปี 2538 เกิดความโกลาหลขัดแย้งแตกแยกกันหลายกรณี อาทิ ประเด็นเรื่องน้ำมันรั่วลงทะเลบริเวณชายหาดระยอง ผู้คนต่อต้านที่ตั้งโรงงานกากอุตสาหกรรมและที่ฝังกลบ หาดพัทยาน้ำเน่าเกินขีดความสามารถในการบำบัด มลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดสร้างผลกระทบชุมชน ปี 2540 และมีการต่อต้านแนวคิดถมทะเลเป็นวงกว้าง ฯลฯ กรณีความขัดแย้งโกลาหลที่ยกขึ้นมากล่าวนี้ ยังมีอีกหลากหลายกรณีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น! ล้วนเป็นผลรวมจากการขาดการบริหารจัดการที่ดีพอ-ขาดการสร้างการมีส่วนร่วม-ขาดการสร้างความเข้าใจ-จนถึงการขัดแย้งกันของการลงทุนในพื้นที่ ฯลฯ
ปัญหาดังกล่าวเหล่านี้เกิดจากวิธีคิด-แนวปฏิบัติจากการดำเนินโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นการทำงานแบบสั่งการจากบนลงล่าง สรุปภาพจากการใช้อำนาจของหน่วยงาน-ผู้บริหารองค์กร-และอำนาจรัฐดูถูกดูแคลนคนท้องถิ่น-สังคมท้องถิ่น มองว่าตัวเองเหนือกว่า! เป็นลักษณะการทำงานที่ไม่เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม ทั้งที่ผู้คน-ชุมชนและท้องถิ่นนั้นเป็นพื้นแผ่นดินแห่งชีวิต เป็นถิ่นกำเนิดและพักพิงของชีวิตที่เกิด และบางคนก็ฝังตัวอยู่กับวิถีชีวิตและชุมชนที่นั่นไปจนตาย!
ความขัดแย้งที่เกิดจากการทำงานที่มองไม่เห็นหัวชุมชน-เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ยึดประโยชน์ผลงานเป็นที่ตั้ง ยัดเหยียดโครงการที่ทึกทักเข้าใจเองว่าดีกว่า-เหนือกว่าคนท้องถิ่น ฯลฯ การทำงานเยี่ยงนี้ล้วนเป็นความน่ารังเกียจที่จุดชนวนความขัดแย้ง-สร้างความรุนแรงขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ กรณีการพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมมาบตาพุดกลายเป็นความขัดแย้งแบบตำนานยาวนานขึ้นนั้น เกิดจากการนำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ยัดลงไปในพื้นที่อย่างขาดการมีส่วนร่วมและการจัดการที่ดี ทำให้ความขัดแย้งนั้นกลายเป็นมหากาพย์ในความทรงจำของผู้คนและบ้านเมืองยาวนานหลายทศวรรษ! ส่งผลให้สังคมขาดความเชื่อถือไว้วางใจรัฐ และการดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ จนมักเกิดกรณีการต่อต้านขยายตัวไปทั่วประเทศ ที่ผู้คนท้องถิ่นและสังคมโดยรวมเข้าร่วมต่อต้านหลายกรณี อาทิ อภิมหาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียที่สมุทรปราการที่ต้องปิดโครงการไป-รัฐสูญเปล่านับหมื่นล้าน หรือการที่ผู้คนภาคใต้ที่ต่อต้านโครงการของรัฐหลายโครงการ ล้วนเกิดจากการคิดจากบนลงล่าง-ไม่เคารพรับฟังท้องถิ่น-ไม่เปิดพื้นที่สร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมทั้งสิ้น!
ถ้าพิจารณากรณีญี่ปุ่นที่ดำเนินโครงการขนาดใหญ่สร้างบ้านแปงเมืองโยโกฮามา โครงการมินาโตะ มิราอิ มุ่งเปลี่ยนเมืองล้าหลัง-หลับใหล-เป็นเหมือนเมืองร้างจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 2497 เมืองที่ไม่มีเศรษฐกิจของตัวเอง-ต้องพึ่งโตเกียวเป็นหลัก! โดยผู้นำ-ผู้บริหารท้องถิ่นโยโกฮามากับรัฐบาลจับมือขับเคลื่อนโครงการมินาโตะ มิราอิ เปลี่ยนโยโกฮามาเป็นมหานครน่าอยู่ เป็นแหล่งท่องเที่ยว-เมืองการค้า-วัฒนธรรม เริ่มจากการสร้างความเข้าใจกับผู้คนในสังคมชุมชนท้องถิ่นจนเข้าใจร่วมกัน และปั้นสร้างเศรษฐกิจโยโกฮามาขึ้นด้วยการลงทุนจากภายนอก มีการจัดวางพื้นที่แบบมีส่วนร่วมใช้เวลากว่า 10 ปี กำหนดสร้างแลนด์มาร์กขึ้นในปี 2536 และขยายตัวต่อเนื่องปรับสร้างพื้นที่เขตโกดังแดงยุคก่อนสงครามเปลี่ยนเป็นพื้นที่การค้าใหม่ปี 2542 เปิดรับการท่องเที่ยวเมื่อปี 2549 โดยเขตอยู่อาศัยมีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมแบบกรีนโยโกฮามา มีการจัดระบบระเบียบเมืองใหม่รับการเปลี่ยนแปลงให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน ปัจจุบันโยโกฮามาเป็นเมืองเศรษฐกิจท่องเที่ยวสำคัญรับนักท่องเที่ยวปีละ 90 ล้านคน มีผู้อยู่อาศัยราว 4 ล้านคน มีระบบระเบียบจัดการความปลอดภัย-สิ่งแวดล้อมสีเขียว สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนจากการเคารพคนท้องถิ่น-มีส่วนร่วม เกิดเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง-ยั่งยืน-ปลอดภัย-สิ่งแวดล้อมดี-คุณภาพชีวิตดีมาจนทุกวันนี้!
อย่าลืมว่าคนท้องถิ่นมีศักยภาพไม่แพ้คนนอกท้องถิ่นหรือคนในหน่วยงานที่รับผิดชอบ ที่เข้ามาทำงานกับสังคมท้องถิ่น! การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดได้จากการมีส่วนร่วม-มีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของในการสร้างความเจริญในชุมชนของพวกเขา ไม่มีใครต้องการทุนที่มุ่งกอบโกยใช้ช่องว่างของการลงทุนโดยไม่เห็นหัวคนในท้องถิ่น เชื่อเหอะ!!!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้