รัฐบาลเศรษฐา-เพื่อไทย ต้องเดินหน้า กระจายอำนาจ ปลดล็อก "รัฐรวมศูนย์"

ภาพใหญ่ทางการเมืองหลายบริบทกำลังขับเคลื่อนไปเช่น การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ -การเตรียมผลักดันนโยบายสำคัญๆของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้มีผลทางปฏิบัติเช่นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นต้น

            ขณะเดียวกันเรื่องหนึ่งที่สำคัญในทางการเมือง และบางฝ่ายเฝ้ารอดูท่าทีของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทย ก็คือ "การกระจายอำนาจ"

เพราะแม้ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ชูเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายเรือธงหลักในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเหมือนพรรคอื่นๆเช่น พรรคก้าวไกล แต่ก็น่าจับตาว่า สุดท้าย รัฐบาลเพื่อไทย จะให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายอำนาจมากน้อยแค่ไหน หลังที่ผ่านมาในยุครัฐบาลชุดที่แล้ว มีการมองกันว่า เรื่องการปฏิรูป-การกระจายอำนาจ ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญอย่างที่ควรจะเป็น

            มีเสียงเรียกร้องให้รํฐบาลเพื่อไทย ให้ความสำคัญและเอาจริงกับการกระจายอำนาจจาก "พงศ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นักการเมืองท้องถิ่นชื่อดัง -นายกเทศมนตรีนครยะลา-อดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และปัจจุบันยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน"โดยเขาย้ำว่า "ประเทศไทยวันนี้ ต้องมีการกระจายอำนาจ"

โดยให้เหตุผลถึงเรื่องนี้ไว้ว่า .... เพราะวันนี้ ปัญหาต่างๆ ของสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้นและการทำงานแก้ปัญหาต่างๆ ต้องทำงานให้ทันกับเวลา -ทันกับการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน ทรัพยากรต่างๆ ที่ประเทศมีอยู่ ซึ่งยังไม่ได้ใช้อรรถประโยชน์ให้เต็มที่ยังมีอยู่อีกมาก และไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ กลายเป็นว่าทุกอย่างไปรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางเกือบทั้งสิ้น

โดยเฉพาะในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนที่คสช.ทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ก็มีการอ้างเหตุผลในการทำรัฐประหารหลายเรื่องแต่เรื่องหนึ่งก็อ้างเหตุว่าเพราะที่ผ่านมามีการทุจริตและมีการพูดถึงเรื่องการปกครองท้องถิ่น จากนั้นก็มีการดึงกลไกต่างๆ ของท้องถิ่นไปรวมศูนย์ แสดงให้เห็นว่า mind set ของผู้นำตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ได้มองเรื่องเรื่อง"การกระจายอำนาจ"แต่มองจากวิถีของตัวเองโดยเฉพาะวิถีที่ทำให้ขึ้นมามีอำนาจแบบข้าราชการประจำ ทำให้ยุคนั้นทุกอย่างเลยต้องไปจบที่ระบบราชการ อีกทั้งด้วยความที่เป็นทหาร ทำให้ทุกอย่างต้องรวมศูนย์ไปที่ command อันเดียว ซึ่งมีความแตกต่างกัน เพราะการปกครองบริหารกองทัพกับการปกครองประเทศ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะกองทัพต้องเป็น single command แต่การปกครองประเทศ ประชาชนมีความหลากหลายมาก แต่ละชุมชน-เทศบาล ประชาชนที่อยู่คนละฝั่งถนน ยังมีความคิดที่แตกต่างกัน ดังนั้นรูปแบบการปกครองต้องตอบสนองประชาชนที่มีความแตกต่างกันได้อย่างตรงเป้าที่สุด และสิ่งสำคัญ ต้องทันเวลา-ประหยัดทรัพยากร ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีทางอื่น จึงต้องมีการกระจายอำนาจ

โดยเฉพาะวันนี้เรื่องท้องถิ่น หากดูในส่วนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง"เทศบาล"พบว่ากฎหมายที่ใช้ปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ก็ใช้มาร่วมเจ็ดสิบสองปี พรบ.เทศบาลฯ ยังเหมือนเดิมหมด โดยเป็นการเขียนขึ้นในสิ่งที่ต้องการให้ท้องถิ่นทำ เช่นอำนาจหน้าที่ โดยมีความแตกต่างกันของเทศบาลนคร-เทศบาลเมือง-เทศบาลตำบล ขณะเดียวกันในส่วนของท้องถิ่น ก็ยังมีพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2542 ที่เป็นหน่อเนื้อของรัฐธรรมนูญฉบับสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่บัญญัติให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น ซึ่งถึงตอนนี้ก็ใช้บังคับมาร่วมยี่สิบสี่ปี

จากกฎหมายสำคัญทั้งสองฉบับที่ผ่านมาบังคับใช้มานาน แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่กฎหมายหลักที่เขียนเรื่องอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นไว้ รวมถึงยังเป็นกฎหมายที่ให้หน่วยงานคอยควบคุมและตรวจสอบว่าเรื่องใดที่ท้องถิ่นทำได้ หรือทำไม่ได้ เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่กฎหมายหลักที่เกี่ยวกับท้องถิ่นบังคับใช้มานานหลายสิบปี มีผลทำให้การใช้อรรถประโยชน์ของทรัพยากรต่างๆ ต่ำมาก ไม่ได้ใช้เต็มศักยภาพ

ขณะเดียวกันการมองปัญหาตรงนี้ รัฐกลับไปมองว่าสิ่งที่จะทำให้รัฐโตได้ ไม่ได้เกิดจากตรงท้องถิ่น ภาครัฐก็เลยผุดโครงการต่างๆ เช่นโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะภาครัฐไปมองว่า ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มกับดักรายได้ปานกลาง จนไม่สามารถขึ้นไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ ก็เลยใช้วิธีอัดฉีดเงิน เข้าไปในพื้นที่ฐานเดิมอย่าง ชลบุรี-ระยอง ทั้งที่กลุ่มจังหวัดเหล่านี้ประชากรก็มีรายได้สูงอยู่แล้ว แต่ภาครัฐไปทำให้มีรายได้สูงขึ้นไปอีกเพราะมองว่าจะทำให้ภาพรวมของทั้งประเทศ พ้นขึ้นมาจากกลุ่มประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง พอคิดและทำแบบนี้ สุดท้าย ก็รวยกันแบบกระจุกแค่ 4-5 จังหวัด และมันถูกต้องหรือไม่ ที่เอาเงินภาษีของคนทั้งประเทศ ไปกระจุกอยู่ที่ 4-5 จังหวัด แต่ทำไม ไม่คิดว่า วันนี้มีหลายจังหวัดที่พร้อมจะเติบโต ไม่ไปส่งเสริมให้เขาเติบโตได้เต็มศักยภาพของเขา เพราะหากเขาเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ จะทำให้ลูกหลานของพวกเขาก็พร้อมจะกลับภูมิลำเนาของตัวเอง

เพราะวันนี้ ที่เห็นชัดก็คือ ประเทศไทยคือกรุงเทพฯ -กรุงเทพคือประเทศไทย แต่หากเราส่งเสริมให้มีการพัฒนาในแต่ละเมือง โดยใช้ต้นทุนของแต่ละเมืองที่มีอยู่ โดยมองภาพรวมของกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพดีอยู่แล้วสร้างยุทธศาสตร์ใหม่เข้าไป ให้เขาเติบโตได้เต็มศักยภาพของเขา ผมคิดว่า จะทำให้ไม่เกิดการกระจุกตัว และทำให้ลูกหลาน-คนหนุ่มสาวของคนในแต่ละพื้นที่ ก็อยากจะกลับไปใช้ชีวิตในภูมิลำเนาของตัวเองที่จะได้ทั้งความอบอุ่นและมีต้นทุนการดำเนินชีวิตที่ถูกลง

คนหนุ่มสาว สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีก็คือ "การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้น" พอพวกเขากลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด มันก็จะทำให้เมืองไปต่อ เติบโตได้ต่อไป มีการใช้ศักยภาพของเมืองนั้นๆได้เต็มที่ แต่ทุกวันนี้เราทำแทบไม่ได้เลย เพราะกลไกขับเคลื่อนทั้งหมด คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำนาจหน้าที่ยังเป็นเรื่องของสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่ก็คือ ถนนหนทาง อย่างที่เห็น ซึ่งยังไม่สามารถพาออกไปสู่เรื่องอื่นๆ เช่น การพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นได้ ที่จะสร้างความท้าทายให้คนหนุ่มสาวเกิดความรู้สึกอยากกลับบ้านเกิด เพราะเขาก็จะมองว่ากลับไปก็ไม่เห็นมีอะไร เทศบาลหรืออบจ. ก็ยังทำเหมือนเดิม เช่นสร้างถนน ซึ่งที่สร้างถนนเพราะเขาทำอย่างอื่นไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ให้ทำในกรอบ ก็เลยทำได้แค่ที่ทำได้ ก็เป็นปัญหาของประเทศ

ทั้งที่ทุกจังหวัดก็มีคนเก่งๆ ของแต่ละจังหวัด เราสามารถถึงพลังของคนเก่งๆ ในจังหวัดให้เขากลับไปสร้างบ้านสร้างเมืองของตัวเอง ก็หวังว่า รัฐบาลจะเห็นว่า วันนี้บ้านเมืองมันเปลี่ยน สถานการณ์โลกมันเปลี่ยน จึงถึงเวลาเรื่องกระจายอำนาจ เพราะหากทั้ง 77 จังหวัดแข่งกันทำงาน มันจะเกิดอะไรขึ้น ทุกวันนี้แทบไม่ได้แข่งกัน เพราะไม่มีอะไรจะแข่งเนื่องจากถูกบังคับให้ทำเท่ากัน ทำแต่ถนนหนทาง ก็ทำได้แค่นั้น หากใครไปคิดนอกกรอบ ก็อาจเจอหน่วยงานตรวจสอบเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งก็ไปว่าเขาไม่ได้ เพราะเขาตรวจตามระเบียบ ซึ่งนี้คือปัญหาประเทศ

-มีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลเพื่อไทยควรทำอะไรบ้าง ในเรื่องกระจายอำนาจต่อจากนี้?

ในใจผมคิดว่า รัฐบาลเศรษฐา ที่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มที่ เพราะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และฐานที่มาก็มาจากพรรคเพื่อไทย ที่มีฐานมาจากไทยรักไทย โดยสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ยุคนายกฯทักษิณ ชินวัตร ก็มีการกระจายอำนาจค่อนข้างเยอะ อย่างสมัยคุณทักษิณ เป็นนายกฯครั้งแรกหลังเลือกตั้งปี 2544 กลไกต่างๆ ในการทำงานของรัฐบาล ก็ให้ท้องถิ่นช่วยขับเคลื่อนทำงาน เช่น ลงทะเบียนคนจน ก็ให้เทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบ

 รวมถึงนโยบายอื่นๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน-หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ก็ให้แต่ละชุมชนในเทศบาลเป็นผู้ไปดำเนินการ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยใช้กลไกลท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อนคู่กับส่วนภูมิภาค ในลักษณะนโยบายเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน คือเศรษฐกิจโลกคู่ขนานกับเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ไปด้วยกัน  หรือ “ดูโอแทร็ก” เลยทำให้เศรษฐกิจยุคดังกล่าวเติบโตและท้องถิ่นก็มีรายได้เพิ่มขึ้น จนกระทั่ง ไม่เคยมีปรากฏการณ์ในรัฐบาลชุดไหนที่ท้องถิ่นเงินท่วม มีแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แค่ยุคเดียว

ยุครัฐบาลเศรษฐา รัฐบาลเพื่อไทย จุดเริ่มต้นในการกระจายอำนาจที่ทำได้ง่ายที่สุด ก็คือ ระเบียบต่างๆ ทั้งหมด ที่มาเป็นตัวกดทับการทำงานของท้องถิ่น ซึ่งแก้ได้ไม่ยาก เพราะใช้อำนาจรัฐมนตรีในการแก้ไขระเบียบ ก็ไปดูว่ามีระเบียบอะไรที่เป็นตัวกดทับ เช่นระเบียบการกันเงินสะสม ที่ต้องกันทุนสำรองไว้สิบห้าเปอร์เซ็นต์ แล้วยังต้องกันเงินเดือนสามเดือนและยังต้องกันเงินสิบเปอร์เซ็นต์ของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี หลายพื้นที่ เทศบาลมีเงินสะสมหลายร้อยล้านบาท แต่ด้วยระเบียบที่ให้กันเงินไว้แบบนี้ จนบางทีติดลบ และสุดท้าย ไม่สามารถนำมาใช้จ่ายในการแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ จนทำให้เกิดการสูญเสียในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ผมว่าระเบียบแบบนี้ต้องเอาออกไปก่อน คือผมเห็นด้วยกับการกันเงินสำรอง แต่ไม่ใช่มาให้กันเงินไว้จนท้องถิ่นทำอะไรไม่ได้ กันจนเหมือนกับจะไม่ให้นำเงินสะสมไปใช้ เป็นต้น หากมีการปลดล็อก ท้องถิ่นแต่ละแห่ง จะสามารถ จะสามารถสร้างศักยภาพของท้องถิ่นได้

ในส่วนของท้องถิ่นอย่าง"เทศบาล" วันนี้ควรต้องกลับไปดูกฎหมายการจัดตั้งเทศบาลฯ ที่ถึงตอนนี้ เรื่องของอำนาจหน้าที่ของเทศบาลที่เขียนไว้ในกฎหมายดังกล่าว ผ่านมาแล้วเจ็ดสิบปี ไม่มีเปลี่ยน ผมว่ามันถึงเวลาแล้วที่ต้องเคารพวิจารญาณของประชาชน วันนี้ไม่ควรไปกำหนดอำนาจหน้าที่ว่า เทศบาลเมือง เทศบาลนคร เทศบาลตำบล ต้องแตกต่างกัน ผมว่าควรให้สิทธิประชาชนเขาได้คิดเองเพราะประชาชนมีวิจารณญาณพอ และผู้บริหารเทศบาล เขาก็มีวิจารณญาณพอว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ เช่น คนอยู่เทศบาลตำบล จะไปคิดสร้างสนามบิน แบบนี้ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่ เห็นว่าไม่ควรต้องกำหนด แต่ให้เขียนเรื่องสิ่งที่ห้ามทำเช่นเรื่องที่จะกระทบกับความมั่นคงของประเทศ เช่นระบบทหาร ระบบเงินตราของประเทศ และระบบที่ต้องเป็นหนึ่งเดียวทั้งประเทศเช่น ระบบศาลยุติธรรม ก็ปลดล็อกแบบนี้เลย แล้วให้ท้องถิ่นทำได้ทุกเรื่อง หากปลดล็อกแบบนี้ได้ จะทำให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งจะเกิดการแข่งขันกัน และทำให้มีการสร้างนวัตกรรม ที่รัฐบาลกลาง บางครั้งอาจนำไปใช้ได้

ขณะเดียวกัน เราต้องทำหน้าที่ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ ได้กลับบ้านมาแสดงออกถึงศักยภาพของตัวเอง ก็คือการให้เทศบาลสามารถมี ระบบการเงินในระดับจุลภาค หรือ ไมโครไฟแนนซ์ (Micro-Finance) เช่นคนรุ่นใหม่ๆ ที่คิดนวัตกรรมเก่งๆ แต่ไม่มีทุนที่จะไปขอกู้เงินธนาคาร ไม่มีหลักทรัพย์ ก็ให้สามารถมาขอกู้จากเทศบาลได้ โดยให้นำไอเดียมานำเสนอ และเมื่อเขาทำโครงการเสร็จ เทศบาลสามารถไปร่วมทุนกับเขาได้ เพราะอย่างทุกวันนี้เราก็จะเห็นในโลกนี้มีคนรุ่นใหม่ๆ อายุแค่ 16 ปี ร่ำรวยเป็นพันล้านก็เยอะ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เยาวชนในพื้นที่ เกิดแรงบันดาลใจและทำให้รู้สึกว่าต้องพัฒนาตัวเอง ต้องแข่งขันกับตัวเองตลอดเวลา เพราะคงไม่มีหน่วยงานที่เหมาะสม ที่จะรู้ตั้งแต่ภูมิหลังของเยาวชน รู้แบล็คกราวด์-ความสามารถของแต่ละคนที่สามารถประเมินได้ และสิ่งสำคัญ เยาวชนเหล่านี้ เมื่อท้องถิ่นไปสนับสนุนเขา เขาก็จะเกิดความรู้สึกว่า นี้คือบ้านเกิดทำให้เขาจะกลับมาดูแลบ้านเกิดของตัวเองในอนาคตต่อไป เหมือนกับที่วันนี้เริ่มมีการพูดถึงเรื่อง homeland Tax คือผมอยู่ยะลา แต่ผมไปทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ผมสามารถระบุได้ว่า ภาษีที่เสียจะไปจ่ายให้ที่ยะลา

-คิดว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะทำเรื่องกระจายอำนาจหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย ก็ไม่ได้นำเสนอนโยบายกระจายอำนาจมากเท่าใดนัก?

ตอนหาเสียงที่ผ่านมา เพื่อไทย ก็พอพูดบ้างเรื่องกระจายอำนาจ แต่ว่ากลไกสำคัญคือกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลท้องถิ่น แต่กระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันก็อยู่ในความรับผิดชอบหลักของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่านโยบายของภูมิใจไทยเป็นอย่างไร แต่ในคณะกรรมการกระจายอำนาจ ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการฯ มันก็เลยเหลื่อมกันอยู่ จนไม่แน่ใจว่าสุดท้าย เรื่องกระจายอำนาจจะเกิดอย่างไร แต่ผมคิดว่าเรื่องกระจายอำนาจไม่ใช่เรื่องการหาเสียงอะไร แต่ผมว่ามันถึงเวลา เพราะไม่เช่นนั้น ประเทศไทยจะตามเพื่อนไม่ทัน เพราะวันนี้เหมือนประเทศไทยเดินไปแบบตัวคนเดียว แต่หากมีการกระจายอำนาจ ก็จะมีเพื่อนคือท้องถิ่น ช่วยกันพาเดินทั้งหมด ประเทศก็จะมีโอกาสมากขึ้น

-หากรัฐบาลเพื่อไทยอยู่สี่ปี แล้วไม่ขยับ ไม่ทำอะไรเลย เรื่องกระจายอำนาจ จะเสียโอกาสอย่างไร โดยเฉพาะท้องถิ่น?

จริงๆตลอดเวลาที่ผ่านมา ท้องถิ่นก็เสียโอกาสไปพอสมควร แต่ด้วยความที่ท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องคิดตลอดเวลา ในเรื่องของความรับผิดชอบต่อประชาชนของตัวเอง มันก็เลยทำให้ดูเหมือนกับว่าความเสียหายไม่ได้มาก แต่ผมว่าในอีกสี่ปี ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง มันคงจะหนัก

วันนี้เราเห็นจากการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา หรือเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา พบว่าอย่างผู้บริหารท้องถิ่น พวกนายกฯต่างๆ สอบตกเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์หรือตอนเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าหลายพรรคการเมืองเสนอโครงการใหญ่ๆ มากมาย ลดแหลกแจกแถม แต่ถึงวันเลือกตั้ง กลายเป็นว่าประชาชนไม่ได้ไปมองเรื่องเหล่านั้น แต่ประชาชนไปมองว่าจะทำอย่างไรให้สังคมทั้งระบบดีขึ้น เพราะเขาเชื่อว่าถ้าระบบดีขึ้น ตัวเขาก็จะดีขึ้นได้ด้วยจากระบบที่ดีขึ้น เหมือนกับร่มคันใหญ่ ใครอยู่ใต้ร่ม ก็ได้สิ่งที่ดีไปด้วย

วันนี้โจทย์รัฐบาลจะไปคิดแบบเดิมไม่ได้ คิดแบบเดิมคือไปคนเดียว แต่คิดแบบใหม่คือ ให้ทุกคนในระบบดีขึ้น มันต้องพาท้องถิ่นไปด้วยทั้งหมด นั่นคือการกระจายอำนาจ

วิพากษ์-เสนอแนะ

แนวคิด ผู้ว่าฯซีอีโอ  

-แต่เราก็ยังไม่เห็นสัญญาณเรื่องกระจายอำนาจจากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย อีกทั้งหากไปดูจากนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา ก็มีเรื่องผู้ว่าฯซีอีโอ ที่มองกันว่าเป็นแนวคิดแบบรวมศูนย์เข้าไปอีก?

วันนี้เรื่องผู้ว่าฯซีอีโอ เท่าที่ฟังมา หลายคนที่พูดกัน ผมว่าเขาก็ยังไม่ค่อยมีใครเข้าใจกันหมด วันนี้กลายเป็นว่า คำว่าผู้ว่าฯซีอีโอ คือไปดูว่าอำนาจส่วนกลางมีอะไร แล้วจะมอบหมายให้ผู้ว่าฯแต่ละพื้นที่ไปดู แต่จริงๆ แล้วผู้ว่าฯซีอีโอ สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร คือการเป็น  chief executive คือเป็นหัวหน้าหน่วยในการดึงทุกหน่วยงานในจังหวัดมาร่วมกันทำงาน ซึ่งอย่างในยุครัฐบาลนายทักษิณ ก็จะมีงบประมาณที่เรียกว่า เงินซีอีโอ ตอนนั้นถ้าจำตัวเลขไม่ผิด ก็ประมาณ 40 ล้านบาทต่อผู้ว่าฯซีอีโอหนึ่งคน เป็นงบประมาณสำหรับแก้ปัญหาฉุกเฉินในจังหวัด แต่พอมาวันนี้ปี 2566 ที่เวลาห่างจากตอนนั้นร่วมยี่สิบปี ผมว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ซีอีโอ แต่อยู่ที่ระบบการประเมิน

ในยุคนายกฯทักษิณ ชินวัตร ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นจุดแข็งก็คือ "ระบบการประเมินผลงานผู้ว่าฯ"ที่ตอนนั้นใช้หน่วยงานภายนอกเป็นผู้เก็บข้อมูลและทำการประเมิน โดยยุคนั้นใช้ TRIS หรือบริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นฯ ที่ทำหน้าที่ประเมินด้านต่างๆ เช่นสถาบันการเงิน มาประเมินการทำงานของผู้ว่าฯแต่ละมิติ

ผมถามว่าวันนี้ผู้ว่าฯ มีการประเมินอะไรบ้าง เพราะการแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการประเมิน ทั้งที่การประเมินควรขึ้นอยู่กับผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ เช่น คุณเป็นผู้ว่าฯจังหวัดนี้ ตัวเลขผลผลิตมวลรวมในจังหวัดของปีนี้ต้องขึ้นสิบเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ต้องลดน้อยลงสิบเปอร์เซ็นต์ -ตัวเลขผู้ติดยาเสพติดต้องลดน้อยลงสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วถามว่ามีแบบนี้หรือไม่  และหากผู้ว่าฯ ไม่ทำ ต้องรับผิดชอบกับใครหรือไม่ ก็ไม่มี แต่หากผู้บริหารท้องถิ่น รับปากประชาชนไว้ ตอนเลือกตั้งแล้วไม่ทำ รอบหน้าก็สอบตก ผู้ว่าฯซีอีโอ หากจะประเมิน ก็ควรประเมิน เพราะระบบวันนี้้ ไม่มีการประเมินผลการทำงานของผู้ว่าฯ มันไม่เหมือนกับคนที่มาจากระบบการเลือกตั้ง การประเมินของคนที่มาจากการเลือกตั้งก็คือเมื่อครบวาระสี่ปี

ความเห็นส่วนตัวผมมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีซีอีโอก็ได้ แต่ต้องมีระบบการประเมิน โดยระบบประเมินต้องยึดโยงกับข้อเท็จจริงในจังหวัด เพราะประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุด แต่วันนี้การแต่งตั้งโยกย้ายที่เกิดขึ้น มันไม่ได้ยึดโยงกับการประเมินเลย แต่อยู่ที่ขั้วอำนาจว่าจะส่งคนของตัวเองไปอยู่ที่ไหน ส่งใครไปอยู่ที่ไหนมากกว่า

-มีการมองว่ากระทรวงมหาดไทย คืออีกหนึ่งอุปสรรคของการกระจายอำนาจ?

เรื่อง"กระจายอำนาจ"มักจะไปยึดโยงกับสิ่งที่เรียกว่า อำนาจอยู่ที่ไหน งบประมาณไปอยู่ที่นั่น ก็เลยกลายเป็นว่า หากกระจายอำนาจไป งบประมาณก็จะหายไปด้วย แต่ถ้าอำนาจกับงบประมาณ มันไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกัน ซึ่งสิ่งที่แก้ไขได้ ก็คือ ระบบการประเมิน เพราะหากมีระบบการประเมินที่ดี งบประมาณไปอยู่ที่ไหนก็ตาม สุดท้าย ก็คือ ต้องทำงานให้ประชาชน

 และเราต้องยอมรับว่า mind -set บางคน คนเป็นผวจ.หลายคน พบว่าระหว่างมีอำนาจ ก็จะบอกว่าไม่เห็นด้วย(กระจายอำนาจ)แต่วันนี้อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยหลายคน พอเกษียณไปเขามาบอกผมว่าวันนี้เขาเห็นด้วยกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และหลายคนก็ออกมาเคลื่อนไหว ออกมาพูดเรื่องการกระจายอำนาจ เช่น นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ไปขึ้นเวทีท้องถิ่นบ่อยมาก ก็เป็นเรื่องที่แปลก ก็เหมือนกับเรื่องการศึกษาสมัยก่อน จะถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ไม่ยอมกัน แต่วันนี้หลายคนเกษียณไป ก็บอกว่าถึงเวลาต้องถ่ายโอนเรื่องการจัดการศึกษาให้กับท้องถิ่น

ประชาชนไม่พร้อม-ท้องถิ่นไม่พร้อม

ข้ออ้างฝ่ายขวางกั้น กระจายอำนาจ

-บางคนอาจมองว่า ไม่อยากให้กระจายอำนาจไปท้องถิ่นมาก เพราะประชาชนไม่พร้อม ท้องถิ่นยังไม่พร้อมหากมีการกระจายอำนาจ?

นั่นคือเหตุผลที่ง่ายที่สุดที่บางฝ่ายนำมากล่าวอ้าง ก็เหมือนคนชอบไปคิดกันเองว่า เด็ก เยาวชน ไม่รู้เรื่องอะไร แต่บางทีบางเรื่องผู้ใหญ่เองต่างหากที่ไม่รู้เรื่องมากกว่าเด็ก-เยาวชน ก็ไม่ได้ต่างกัน ก็เหมือนกับมาบอกว่าประชาชนไม่รู้เรื่อง แต่หารู้ไม่ว่า วันที่เขากาบัตรเลือกตั้ง มันสะท้อนวุฒิภาวะได้ชัดเจนว่าเขารู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง และในมุมหนึ่ง ประชาชนคือผู้กำกับติดตาม ผมยอมรับว่านายกฯ  ไม่ได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์แต่มันมีกระบวนการอยู่แล้ว หากทำงานสี่ปี แล้วไม่ดี คุณก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง คุณไม่มีสิทธิ์สร้างความเสียหายได้ต่อไป มันไม่เหมือนกับระบบราชการ ระบบราชการ หากคุณเกาะนายเป็น คุณสร้างความเสียหายได้จนถึงเกษียณ  

ส่วนเหตุผลที่ว่า ที่ไม่อยากกระจายอำนาจเพราะท้องถิ่นมีการทุจริตมากนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าการที่มีการร้องเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเยอะ มันสะท้อนว่าเราเป็นสังคมเปิด open society ที่คนเข้าถึงได้มาก ขณะเดียวกันท้องถิ่นมีเจ็ดพันกว่าแห่ง การที่มีการร้องเรียนมาก ก็คือสิ่งที่ดี เพราะเมื่อมีการร้องเรียนกันบ่อยๆ คนเป็นผู้บริหารท้องถิ่น หรือข้าราชการ ก็จะกลัวการทำผิด สุดท้าย เราก็จะได้ท้องถิ่นที่สะอาด แต่การที่ไม่มีเรื่องร้องเรียน ไม่ได้แสดงว่าโปร่งใส แต่อาจกำลังจะบอกอะไรบางอย่างได้หรือไม่ เช่น คุณห่างประชาชน เพราะถ้าประชาชนรู้สึกว่า ตรงนั้นเป็นของเขา ประชาชนก็จะตรวจสอบตลอดเวลา ถ้าเขามีความรู้สึกเป็นเจ้าของ แต่หน่วยงานไหนที่อยู่ห่างประชาชน ประชาชนอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องของเขา ประชาชนก็อาจรู้สึกไม่อยากมายุ่ง หรืออาจเพราะองค์กรนั้นเป็นองค์กรปิดหรือไม่

อย่างรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) แม้จะพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการถูกเข้าตรวจสอบมาก แต่ก็พบว่า ท้องถิ่นที่มีอยู่เจ็ดพันกว่าแห่ง ก็ผ่านการตรวจสอบจากสตง.ในอัตราที่สูงเช่นกัน ขณะเดียวกัน ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่มีจำนวนหน่วยงานที่น้อยกว่า แต่เปอร์เซ็นต์การตรวจผ่านต่ำกว่าท้องถิ่นมาก ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านเกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับตัวเลขสถิติของสำนักงานป.ป.ช. แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะถูกร้องเรียนมาก แต่มูลค่าวงเงินจะต่ำเท่าที่จำไม่ได้ก็ประมาณเจ็ดร้อยกว่าล้านบาท แต่ส่วนราชการอื่นก็หลักพันล้านบาท

ท้องถิ่นเตรียมขยับ วาระแก้รธน.

ดันปลดล็อก-กระจายอำนาจ

-ขณะนี้รัฐบาลก็มีการขยับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ขึ้นมาศึกษาเรื่องการทำประชามติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรงนี้หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องการปกครองท้องถิ่น กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการขยับอะไรหรือไม่?

ทางสมาคมสันนิบาตรเทศบาลฯได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อศึกษาติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นคณะทำงานที่ทำงานประสานร่วมกับสมาคมอบต.แห่งประเทศไทยและสมาคมอบจ.แห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน แต่สิ่งที่เราจะทำ คงเป็นแค่หมวดเดียว คือ หมวดว่าด้วยเรื่องท้องถิ่น เพื่อให้มีการปลดล็อกเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้กว้างมากขึ้น

ในอนาคตหากสุดท้ายมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจนนำมาสู่การมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทางกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็คงมีการคุยกัน เพื่อผลักดันให้มีตัวแทนของท้องถิ่นเข้าไปเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสิ่งที่เราคิดว่าเราอยู่ใกล้ประชาชน และเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการ อย่างเรื่องอำนาจหน้าที่ เท่าที่เราคุยกันก็คือ อยากให้มีการเปิดกว้าง ไม่มีการจำกัด และปลดล็อกเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง จากปัจจุบันที่ให้อยู่ได้ไม่เกินสองสมัย ซึ่งจริงๆ ไม่ควรต้องจำกัด แต่ให้ประชาชนตัดสินเองเพราะประชาชนเขารู้ว่าควรให้อยู่ต่อหรือไม่ควรให้อยู่ รวมถึงการให้ท้องถิ่น มีเครื่องมือที่เป็นอิสระมากขึ้นในการเข้าไปสร้างนวัตกรรมต่างๆ เช่นเรื่องการเงิน การร่วมทุนกับภาคเอกชนหรือสตาร์ทอัพต่างๆ ให้มากขึ้น ซึ่งวันนี้เราไม่มีสิ่งเหล่านี้

-สุดท้ายแล้วคาดหวังกับนายกฯเศรษฐา ทวีสินเรื่องการผลักดันให้มีการกระจายอำนาจหรือไม่ ?

ก็คาดหวัง เพราะก่อนหน้านี้ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ก็ชูจุดยืนเรื่องความเป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด ซึ่งการกระจายอำนาจก็คือการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งที่สุด ก็อยากให้ นายกฯ เศรษฐา เข้ามาดูเรื่องการกระจายอำนาจด้วย ก็หวังไว้ว่าหลังจากนี้ เมื่อทุกอย่างเข้าที่ นโยบายต่างๆ เริ่มออกมา ก็หวังว่าควรมีการศึกษาเรื่องการกระจายอำนาจออกมาอย่างจริงจัง ซึ่งพรรคเพื่อไทย ก่อนการเลือกตั้ง ผมก็ทราบมว่ามีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ไปให้ความเห็นเรื่องการกระจายอำนาจ ก็หวังว่าจะนำมาผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ และสร้างศักยภาพให้กับประเทศต่อไป

แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ศอ.บต. ต้องปรับยุทธศาสตร์

กรรมการพูดคุยสันติสุขฯ ยังจำเป็น       

หลังรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เข้าบริหารประเทศมาได้หนึ่งเดือนเศษ ภาพรวมสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส พบว่ายังไม่ค่อยเกิดเหตุรุนแรงอะไรมากนัก อย่างไรก็ตาม "พงศ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา"ให้มุมมองต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ว่า ปัจจุบัน

สถานการณ์ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มดีขึ้น โดยสิ่งที่จำเป็นสำหรับ 3 ชายแดนภาคใต้สำหรับตอนนี้คือการฟื้นฟู มันเหมือนกับประเทศหลังสงคราม ต้องมีการฟื้นฟูในทุกมิติ ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ เรื่องทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน

เพราะวันนี้ปัญหาก็คือ ประชาชนในพื้นที่ก็ยังยากจน อยู่ในอันดับท้ายๆ ของประเทศ รวมถึงเรื่องการศึกษา จึงเป็นสิ่งที่ผมคาดหวังไว้เพราะหากเราแก้ปัญหานี้ได้ ปัญหาในภาคใต้ก็จะได้รับการแก้ไขแบบยั่งยืน มันจะต้องเข้าไปในทุกมิติทั้งเรื่องระบบความยุติธรรม ระบบสาธารณูปโภค ระบบการสร้างการแข่งขันให้กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องครอบคลุมทั้งเรื่อง คน-การศึกษาและอีกหลายมิติ ควรเป็นเรื่องที่ต้องทำ

ส่วนบทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ก็คงต้องมาคิดใหม่ เพราะเราต้องยอมรับว่า ศอ.บต.แต่ละยุคสมัย ก็มีความแตกต่างกัน ศอ.บต.ก็อาจต้องปรับบทบาท ปรับยุทธศาสตร์ คือไปดูว่าจะทำอย่างไรให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสมรถนะในการแข่งขันทุกๆมิติ มากกว่าการไปแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่จะเป็นการไปแย่งงานจังหวัดทำ

-ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะทำให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาวะปกติ เช่นยกเลิกพรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯทั้งหมดในพื้นที่ ถอนกำลังทหารออกไปแล้วทำให้เหมือนปกติ?

จริงๆ แล้ว ผมมองว่าสถานการณ์ในพื้นที่ถือว่าค่อนข้างดี แต่บางคนก็อาจยังกังวลหากยกเลิกทั้งหมด เรื่องนี้ก็อาจพิจารณาเป็นรายพื้นที่ และสิ่งสำคัญคือการรุกทางการเมือง ที่ก็คือ การทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น และกระบวนการพูดคุยฯ ก็ต้องทำต่อไป ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องพูดคุยกันบางประเด็น เพราะสิ่งที่สำคัญ คือต้องมองว่าคนเหล่านั้นคือคนที่คิดแตกต่างกับเรา ก็ต้องสร้างความมั่นใจให้กับฝ่ายที่เห็นต่าง ต้องมีช่องทางในการต่อสาย และมีเจ้าภาพที่ชัดเจน แต่ว่าการพูดคุยก็ต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้มากกว่าเดิม จากอดีตที่เป็นภาพของตัวแทนกองทัพไปคุย ก็ต้องปรับให้มีภาพของตัวแทนประชาชนไปร่วมพูดคุย อย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ปัญหา มันไม่ได้มีวิธีการแก้ปัญหาอะไรที่สำเร็จรูป ดังนั้นก็ต้องคุยกัน เพื่อให้ตกผลึก ส่วนกำลังทหาร จริงๆ วันนี้ก็ใช้กำลังทหารในพื้นที่เกือบหมด ไม่ได้ใช้กำลังจากข้างนอก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่อเลื่อนประชามติ รอแก้กฎหมาย ร่างรธน.ฉบับใหม่ ต้องไม่จุดไฟความขัดแย้ง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา รับทราบ รายงานผลการดำเนินงานของ”คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ

บทธรรมดับโลกร้อน .. ที่นักปกครองต้องอ่าน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. โลกกำลังเข้าสู่ห้วงธรรมวิกฤต.. ที่มนุษยชาติประพฤติตนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ มีความโลภที่รุนแรงและราคะความกำหนัดที่ผิดธรรม .. เป็นส่วนใหญ่

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..