ที่ผ่านมาทุกคนยกมือโหวตไปในทางเดียวกันหมด แต่ต่อไปนี้จะมีคนที่ยกมือไปในทางตรงกันข้าม จะมีผู้อภิปรายหรือแสดงความเห็นไปในทางที่ สว.เขาคิดกันจริงๆ แต่จะมากหรือน้อยแค่ไหน ยังประเมินไม่ได้ต้องขอเข้าไปดูก่อน ที่ก็อาจจะมีจำนวนมากก็ได้ แต่อาจจะไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง...ถึงแม้คุณจะเข้ามาแบบมีคนสั่งคุณได้ แต่คุณจะไม่ฟังเสียงข้างนอกเลยหรือ แล้วคุณจะอยู่ได้ยังไง 5 ปี หากคนในพื้นที่ จังหวัดของคุณ ตัวคุณเอง คุณยังไม่ฟังเสียงพวกเขา ตรงนี้ก็เป็นความท้าทายของ สว.แต่ละคนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ ว่าเอาเข้าจริงแล้วตกลงคุณเป็น สว.ของใคร
การทำงานของสมาชิกวุฒิสภาชุดล่าสุด ที่เรียกกันว่า "สว. 2567" กำลังจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากนี้
คาดหมายกันว่า การนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือก "ประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาอีก 2 คน" อาจเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้าก็ได้ หลัง สว.ทยอยไปรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภากันเกือบครบหมดแล้ว โดยจะมีการรายงานตัววันสุดท้ายจันทร์ที่ 15 ก.ค.นี้
และหนึ่งใน สว.ชุดปัจจุบันที่สังคมรู้จักกันดีก็คือ "อังคณา นีละไพจิตร สว.จากกลุ่มภาคประชาสังคมฯ" ที่ก่อนหน้านี้มีบทบาทสำคัญทั้งทางการเมือง สังคม สิทธิมนุษยชน เช่น เป็นอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550, เคยได้รับรางวัลแมกไซไซ (พ.ศ. 2562) และล่าสุดก่อนจะมาเป็น สว. ทำงานกับสหประชาชาติ ในฐานะคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ โดยเป็นผู้แทนจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นต้น
"อังคณา-สว.จากกลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์" เล่าถึงการสมัครเข้ารับเลือกเป็น สว. 2567 ว่า เริ่มเลยไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะลงสมัครคัดเลือกเป็น สว.ในครั้งนี้ โดยก่อนหน้านี้ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ โดยเป็นคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ เป็นตัวแทนจากเอเชีย-แปซิฟิก โดยได้รับการโหวตจากสภาสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ ให้เข้าทำหน้าที่ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเข้าสู่การเมือง
...จนเมื่อจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดรับสมัครคัดเลือกเป็น สว. ตอนนั้นมีความรู้สึกคับข้องใจ เพราะเป็นคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง แต่ก็มีความรู้สึกว่าอาจไม่ได้คนที่มาทำหน้าที่ สว.ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของเรา เพราะเราไม่ได้เลือก แล้วถามว่าคุณจะมาในฐานะอะไร ก็เป็นผู้แทนของคนจำนวนหนึ่งที่เลือกคุณเข้ามา คนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป แล้วมีเงิน 2,500 บาท แล้วมายื่นลงสมัคร สว.
ช่วงนั้นยอมรับว่า ส่วนตัวเราเองก็เป็นช่วงที่ต้องตัดสินใจ แต่ก็อยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเลือก สว. ก็เลยตัดสินใจลงสมัครคัดเลือกเป็น สว. เพราะอย่างน้อยที่สุดเมื่อยื่นสมัคร ตัวเราเองก็ได้ใช้สิทธิ์เลือกคนที่เราเห็นว่าเขามีคุณสมบัติที่จะเข้าไปเป็น สว.ได้
“อังคณา” เล่าต่อไปว่า พอเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือก สว.ที่เริ่มจากระดับอำเภอไปสู่ระดับจังหวัด ตอนนั้นเพื่อนๆ ที่รู้จักกันที่ลงสมัครด้วยก็เริ่มค่อยๆ หายไปทีละรอบ คนที่เราเห็นว่าเขาทำงานจริงแต่ละด้าน ชื่อไม่ผ่านการคัดเลือกไปเกือบหมด อย่างตอนที่เลือกระดับจังหวัด ตัวเราเองที่ลงสมัครในภาคประชาสังคม ซึ่งมีผู้สมัครประมาณ 70 คน โดยรอบที่เลือกกันเอง ตัวเราเองก็ไม่ได้คะแนนเยอะ แต่ก็ได้คะแนนมาในอันดับสูงสุดของกลุ่มภาคประชาสังคมของกรุงเทพมหานคร โดยมีน้องอีกคนที่รู้จักกันก็เข้ามาอันดับ 2 ของระดับจังหวัด ซึ่งก็มีคนที่ทำงานด้านภาคประชาสังคมหลายคนที่มีชื่อเสียงก็ไม่ผ่านการคัดเลือก เพราะจะเข้ามาได้แค่จังหวัดละสองคนใน 20 กลุ่ม ที่ปรากฏว่าเพื่อนๆ คนที่รู้จักกันที่ไปสมัครกลุ่มอื่นๆ ด้วยก็ตกกันไปหลายคน เช่นกลุ่มผู้พิการ อาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ (อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ก็ไม่ผ่านการคัดเลือก โดยพบว่าจากผลการคัดเลือกรอบสุดท้ายระดับประเทศ 200 ชื่อ ไม่มีตัวแทนของกลุ่มผู้พิการเข้ามาเป็น สว.เลย
ตอนที่เห็นเพื่อนๆ คนรู้จักกันไม่ผ่านการคัดเลือกในระดับจังหวัด พอผ่านการคัดเลือกจากระดับจังหวัด กำลังจะมีการคัดเลือกระดับประเทศ ยิ่งทำให้เรามุ่งมั่นมากขึ้นว่าอยากเข้าไปทำหน้าที่เป็น สว. เพราะอยากเข้าไปทำงานแทนคนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่เขาไม่ผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัด เพราะเราคิดว่าเรามีศักยภาพที่จะทำหน้าที่ในการเป็น สว.ได้ ซึ่งพอมีชื่อผ่านการคัดเลือกเป็น สว.รอบสุดท้าย 200 ชื่อ และไม่กี่วันต่อมาได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติทันที เพราะเขาค่อนข้างเข้มงวดว่า ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง รวมถึงเขาไม่อนุญาตให้เราทำงานในประเทศไทย เพื่อป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
ขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดข้องยุบ สว.เหลือแค่สภาเดี่ยว
สำหรับความตั้งใจในการเข้าไปเป็น สว.ต่อจากนี้ "อังคณา-สว. 2567 และอดีตสมาชิกสภาร่าง รธน.ปี 2550" กล่าวว่า สิ่งที่อยากเข้าไปขับเคลื่อนก็คือ "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" เพราะตัวเราเองเห็นมาตลอดว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 มีปัญหา เพราะตอนประกาศใช้ รธน.ปี 2560 ช่วงนั้น ทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งพอมีการประกาศใช้ รธน. เราเห็นเลยว่า กสม.ทำอะไรได้น้อยมาก อย่างเรื่อง "สิทธิของผู้สูงอายุ" ที่ควรได้รับค่าตอบแทนจากรัฐ แต่รัฐธรรมนูญกลับเขียนว่า "ต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ" ทั้งที่จริงมันเป็นสิทธิที่ควรได้รับ ทุกคนควรได้รับ รัฐบาลควรรณรงค์ให้ผู้สูงอายุที่เขามีรายได้เพียงพอ เช่นเป็นอดีตข้าราชการมีบำนาญ คุณก็อาจสละสิทธิ์ดังกล่าวเข้ากองทุนฯ เพื่อไปช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากไร้
...หรือเรื่อง "สิทธิชุมชน" ก็จะพบว่า รธน.ปี 2540 กับรธน.ปี 2550 มีการเขียนถึงเรื่องสิทธิชุมชน-ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม แต่ รธน.ปี 2560 ตัดคำว่าท้องถิ่นกับท้องถิ่นดั้งเดิมออก จนกลายเป็นว่าคนที่อยู่ในชุมชนมาก่อนจะมีสิทธิ์เท่ากับคนที่้ย้ายเข้าไปอยู่ในชุมชนใหม่ในทุกพื้นที่ เช่นสมมุติใครย้ายเข้าไปอยู่ในชุมชนที่ใดสักแห่งสัก 3 ปี ก็ถือว่าเป็นคนของชุมชน เขามีสิทธิ์ที่จะใช้ทรัพยากรของชุมชน แล้วพอทรัพยากรในชุมชนหมด ก็ย้ายออกไป แล้วคนที่อยู่มาดั้งเดิม หรือคนที่ครอบครัวบรรพบุรุษอยู่กันมาในชุมชนเป็นร้อยปีจะเป็นอย่างไร
สิ่งที่กล่าวข้างต้นคือตัวอย่าง หลายๆ เรื่องในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เราเห็นตั้งแต่ตอนเป็น กสม.เลยว่ามันไม่ได้ มันไม่สอดคล้องกับการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็ทำให้มีความมุ่งมั่นมาตลอดว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องทำก็คือรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในฐานะสว.อิสระ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่า สว.อิสระจะมีมากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่ประเมินดูก็คิดว่าคงมี สว.อิสระไม่มาก
-หากมีการทำประชามติผ่านแล้วมีการแก้ไข รธน. ยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ คิดว่าที่มาของวุฒิสภาควรเป็นอย่างไร และถึงเวลาหรือยังกับที่มีคนเสนอแนวคิดให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว ไม่ต้องมี สว.?
หากพูดถึงในกลุ่มภูมิภาค บอกได้เลยว่ารัฐบาลในประเทศกลุ่มภูมิภาคบ้านเราไม่เคยไว้ใจประชาชน ก็เลยทำให้ในภูมิภาคส่วนใหญ่จะใช้ระบบสองสภา และหากไปดูสมาชิกวุฒิสภาในประเทศอื่นเช่นสหรัฐอเมริกา จะพบว่า สว.ของเขาได้รับการยอมรับสูง ได้รับการยกย่องสูง ถูกมองว่ามีความสามารถมาก
จริงๆ แล้วเรื่องนี้คงต้องกลับมาดูใหม่ แล้วยิ่งพอมาคัดเลือก สว. (สว. 2567) ด้วยระบบที่ใช้กัน ซึ่งสาเหตุที่เราเข้าไป ก็เพราะเราไม่ชอบวิธีการ วันนี้ก็มีเสียงสะท้อนมาเยอะว่า ระบบที่มาของ สว.แบบนี้มันควรจะเปลี่ยน ซึ่งส่วนตัวก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้วหาก สว.ส่วนมากเห็นด้วย รวมถึง สส.ด้วย เราเปลี่ยนเป็นระบบการเลือกตั้ง สว.จะดีกว่า บนหลักคือหากเสียงส่วนมากคิดว่ายังควรจะให้มี วุฒิสภา โดยอาจเปลี่ยนระบบที่มาของ สว.ให้มีความกว้างขวางมากขึ้น คือยังคงให้ที่มาของ สว.มาจากการเลือกตั้งทั่วไป แต่อาจจะให้มีสัดส่วน สว.สัก 50 ที่นั่งสำหรับกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่เขาอาจไม่ได้เป็นที่รู้จัก แต่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้มีตัวแทนเป็น สว. หรืออาจเขียนว่าในกลุ่มผู้ลงสมัคร สว.ต้องมีสัดส่วนของกลุ่มคนเปราะบาง เช่นกลุ่มผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ สัดส่วนของกลุ่มสตรี ลักษณะแบบนี้ที่เข้ามาสมัครเป็น สว.ด้วย แต่ก็รับประกันไม่ได้ว่าเขาจะได้รับเลือก เพราะมันป่วยการจริงๆ ที่เราจะมานั่งวิพากษ์วิจารณ์กัน เช่นระบบมันไม่ดี มีการพบว่าผู้สมัครมีการเขียนโพยกันมา แต่เมื่อระบบ-กติกาเขียนออกมาแบบนี้ มันก็ทำให้ต้องเป็นแบบนี้
เพราะฉะนั้นก็มาเปลี่ยนกติกาการเลือก สว.ใหม่กัน เหมือนอย่างสมัยที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พอมีการร่าง รธน.ฉบับใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เราก็ถือว่าเราพ้นวาระการรักษาการ จนกว่าจะมี กสม.ชุดใหม่เข้ามาแทนซึ่งก็ควรเป็นลักษณะเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น หากสุดท้ายถ้าไม่สามารถยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับได้ ก็ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยแก้ไขเรื่องระบบที่มาของ สว. โดยเขียนให้ที่มาของ สว.ยึดโยงกับประชาชนจริงๆ พอทำเสร็จก็ให้เลือกตั้ง สว.กันใหม่เลย โดยสว.ชุดปัจจุบันที่เข้ามาก็ทำหน้าที่แค่รักษาการ จนกว่าจะมีสว.ชุดใหม่ แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่คิดว่าควรมีสภาเดียว คือไม่ต้องมี สว.แล้ว ก็แก้รัฐธรรมนูญโดยโละหมวดเกี่ยวกับวุฒิสภาออกไป
...การที่ในภูมิภาคนี้รวมถึงประเทศไทย ยังคงมีวุฒิสภา ก็เพราะผู้มีอำนาจ ผู้กุมอำนาจ ฝ่ายความมั่นคง ไม่เคยไว้วางใจประชาชน ไม่ไว้ใจคนที่ประชาชนเลือกมา เขาจึงให้มีอีกสภาหนึ่งเหมือนกับให้มากรองอีกชั้นหนึ่ง มาทำให้ช้า อันนี้อาจจะเป็นแท็กติก ซึ่งจริงๆ ถ้าเราปรับปรุงทำให้พลเมืองของเรามีคุณภาพมากขึ้น ให้เข้าใจเรื่องสิทธิพลเมือง ความสำคัญของการมีผู้แทนราษฎร ซึ่งผู้แทนราษฎรไม่ใช่ว่าประชาชนเลือกเขาแล้ว ก็ปล่อยให้เขาคิดเอง ทำได้แค่คอยนั่งฟังเขาทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่แบบนั้น แต่ประชาชนยังคงมีสิทธิ์ในการเมืองภาคพลเมือง มีอะไรที่ไม่เห็นด้วยก็ออกมาชุมนุมได้ตามสิทธิ์ที่มีอยู่ อันนี้ก็อยู่ที่การดีไซน์
ส่วนตัวไม่ได้ปิดประตูกับการที่จะให้มีระบบสองสภา หรืออาจให้มีแค่สภาเดียว ก็ยังเป็นทางเลือกอยู่ แต่ว่าขอให้เลือกคนที่มีคุณภาพเข้าไปทำงาน อย่างน้อยสักเกินครึ่งก็ยังดี
-เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สว.ส่วนใหญ่เป็น สว.สีน้ำเงิน ประชาชนจะคาดหวังกับการทำงานของ สว.ชุดใหม่ได้หรือไม่ การทำงานของ สว.จะเป็นอิสระได้จริงหรือไม่?
อาจจะพูดในส่วนที่เป็นความเห็นส่วนตัวได้เต็มที่ เพราะเราเข้ามาแบบอิสระ ส่วน สว.ที่เคยเป็นอดีต สส.สอบตก หรือเคยสังกัดพรรคการเมือง อันนี้เราคาดเดาได้ยาก เพราะอย่างตอนที่เลือก สว.เข้ามา เราเองก็ทำการบ้านไปก่อน โดยดูว่าผู้สมัครแต่ละคนมีใครบ้าง เราก็รู้ว่าหลายคนเคยเป็นอดีตผู้สมัคร สส. เคยเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งตอนที่มีการเลือก สว.เราเข้าไปอยู่ในคูหา โดยเฉพาะรอบสุดท้ายของการเลือกระดับประเทศที่เป็นการเลือกไขว้ เราจะเห็นเลยว่า บางคนได้คะแนนสูงลิ่วเลย ในกลุ่มที่พรรคนี้ สีนี้ ทำไมถึงคะแนนสูงลิ่ว ขณะที่เราเองกว่าจะได้คะแนนมาหนึ่งขีด (หนึ่งคะแนน) รอนานมากเลย
อย่างที่บอกข้างต้น ในรอบการเลือกระดับจังหวัดที่เราลงที่กรุงเทพมหานคร ตอนเลือกกันเองเราได้คะแนนมา 12 คะแนน ที่เป็นคะแนนสูงสุดของกลุ่มภาคประชาสังคม แต่พอเข้ามาในกลุ่มใหญ่เราก็ยังได้คะแนนสูงสุด คือ 22 คะแนน โดยอันดับ 8 กับอันดับ 9 ได้ 22 คะแนนเท่ากัน แล้วพอคนที่ 10 ในกลุ่ม ก็ได้ 20 คะแนน ก็ห่างกัน 2 คะแนน ซึ่งถามว่า ยี่สิบกว่าคะแนนที่เราได้มา มาจากประชาชนหรือไม่ ก็ยังไม่ใช่ ก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเป็นผู้แทนของประชาชนอะไรก็ได้ คือตัวเองก็ยังตะขวิดตะขวงใจ ที่จะบอกว่าเราเป็นผู้แทนของประชาชน แต่ก็คิดว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ทุกคนก็เหมือนกันว่าในการทำงานเป็น สว.จะยืนอยู่ข้างไหน คุณอิงหลักการหรือผลประโยชน์ของใครเป็นที่ตั้ง
คิดว่าการโหวตของ สว.ในช่วงแรกๆ เช่น 2-3 ครั้งแรก การโหวตเลือกประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา ก็น่าจะพอมองออกได้ แต่ก็อย่าลืมว่า สว.ทุกคนเรื่องเงินเดือน ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ สว.ได้มาจากภาษีประชาชน เราต้องตอบคำถามประชาชน ตรงนี้สำคัญมากว่าจะได้รับการยอมรับหรือไม่ สิ่งนี้มีค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทองที่เป็นค่าตอบแทนเสียอีก
-คิดว่าการที่ สว.ยังไม่ทันได้เริ่มทำงาน ก็ถูกปักป้ายแล้วว่าเป็น สว.สีต่างๆ สีน้ำเงิน สีส้ม สีแดง จะทำให้การทำงานเป็นอย่างไร?
อันที่จริง ข้อสงสัยอาจเกิดจากการที่มีบางคนได้คะแนนมากเช่น 70 คะแนน แต่บางคนกลับได้น้อย อย่างเราเองวันโหวตเลือก สว.ระดับประเทศ ตอนช่วงนับคะแนน เราก็ยังเดินไปแซวๆ บางคนเขาว่าพี่จะกลับบ้านแล้ว น้องได้เป็น สว.หรือไม่ เขาก็ยังบอกกลับมาว่าพี่ได้แน่ อันดับ 8 หรือไม่ก็อันดับ 9 บอกว่าเราได้แน่ เราก็ยังบอกขอบใจนะ เหลือไว้ให้บ้าง อะไรแบบนี้ แต่มันก็เป็นไปตามที่เขาบอกจริงๆ ก็คือ อันดับ 1-7 เป็นของคนที่ได้คะแนนสูงมาก วันนั้นเราก็เห็นบางกลุ่มเขาทะเลาะกันเลย วันนั้นเราก็ไปตั้งแต่ 9 โมงถึงตี 4 ก็เห็นเลยบางกลุ่ม เขาก็มาโหวตโดยใส่เสื้อสีเดียวกันหมด เราก็ลองเข้าไปคุยว่า หากได้รับเลือกเข้าไปเป็น สว. คิดว่าคำถามประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเขียนอย่างไร ปรากฏว่าเขาลุกขึ้นเลย ไม่คุยกับเราเลย ก็ปลีกตัวไปคุยกับคนที่มาด้วยกันตามเดิม จนเราก็มาคิดว่าหรือว่าเราไปถามอะไรซึ่งเขาไม่รู้ว่าควรต้องตอบอย่างไรหรือไม่ ซึ่งต่อไปเมื่อเขาเข้าไปทำหน้าที่เป็น สว. เขาจะเลี่ยงไม่ตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้
-สว.บางส่วนก็ถูกมองว่าอยู่ในขั้วสีต่างๆ แล้วส่วนตัวเป็น สว.สีอะไร?
ก็บอกตรงๆ ว่า อย่างสมัยทำงานเป็นกรรมการสิทธิฯ เราก็เป็นกรรมการสิทธิฯ เสียงข้างน้อยตลอด เราไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ที่อยากทำอะไรก็ได้ทำ อยากขออะไรก็ได้ ซึ่งตรงนี้ เราก็อาจต้องกลับไปอยู่จุดเดิม (เสียงข้างน้อย) แต่เราก็ยังไม่รู้ว่า เราจะอยู่ในกลุ่มที่มีเสียงมากหรือเสียงน้อยแค่ไหน เราอาจจะเสียงดังเวลาอยู่ข้างนอก แต่เวลาอยู่ข้างในเสียงของเราอาจไม่มีคนฟังเลยก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกไปถึง สว.ด้วยกันก็คือ เวลาที่ประชาชนเดือดร้อน เวลาที่เขามาร้องเรียนกับ สว. ประชาชนเขาต้องการพึ่งพา เพราะฉะนั้นการยืนเคียงข้างประชาชน การช่วยเหลือประชาชน มันจะพิสูจน์ได้เองว่าตัวคุณเอง มีคุณค่าพอที่จะเรียกตัวเองว่าเป็น สว.หรือไม่ แม้ว่าเราจะมาด้วยวิธีการเลือกวิธีใดก็ตาม แต่ตัวเราเองก็ยังคงยืนยันในจุดยืนเดิมว่า เมื่อเข้าไปทำหน้าที่เป็น สว. ก็จะทำงานให้เต็มที่ ไม่ได้หวั่นเกรงกับอะไรต่อมิอะไรที่อาจจะเข้ามา
ได้คุยกับบางคนที่อายุยังไม่มาก เขาก็เล่าให้ฟังว่ามีคนโทรศัพท์มา ก็มีแบบสัญญาว่าจะให้อะไรแบบนี้ ตัวเลขอาจจะเป็นแบบเงินเดือนเพิ่มเติม มีอะไรแบบนี้ เขาก็มีพูดให้ฟัง อันนี้เท็จจริงก็แล้วแต่ แต่เราก็รับฟัง แล้วก็คนที่แบบบอกว่าผมก็อยู่กับพวกคุณนี้แหละ แล้วเราจะเสนอคนนี้เป็นรองประธานวุฒิสภา เราก็แบบอ้าวมาจากไหน คนนี้เราไม่เคยรู้จักเลยด้วยซ้ำไป ที่เข้าใจก็คือ ก็มีคนที่แบบพยายามจะรวมกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ เพื่อที่จะไปต่อรองขอรับตำแหน่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะมาเอาชื่อเราไปรวมอยู่ด้วย เพราะรู้สึกมีความพยายามรวบรวม...
ได้ยินเรื่องเล่า สภาสูงเคลื่อนไหว ล็อบบี้ สว.ตั้งกลุ่มต่อรองการเมือง
-ตั้งแต่มีการประกาศรายชื่อคนที่ผ่านเข้ารอบได้เป็น สว. 200 รายชื่อ ก็เริ่มมีข่าวเรื่องการล็อบบี้อะไรต่างๆ เช่นการล็อบบี้เลือกประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการชุดสำคัญๆ ส่วนตัวมีใครมาติดต่อล็อบบี้อะไรหรือไม่?
ไม่มีเลย แต่ว่าได้คุยกับบางคนที่อายุยังไม่มาก เขาก็เล่าให้ฟังว่ามีคนโทรศัพท์มา ก็มีแบบสัญญาว่าจะให้อะไรแบบนี้ ตัวเลขอาจจะเป็นแบบเงินเดือนเพิ่มเติม มีอะไรแบบนี้ เขาก็มีพูดให้ฟัง อันนี้เท็จจริงก็แล้วแต่ แต่เราก็รับฟัง แล้วก็คนที่แบบบอกว่าผมก็อยู่กับพวกคุณนี้แหละ แล้วเราจะเสนอคนนี้เป็นรองประธานวุฒิสภา เราก็แบบอ้าวมาจากไหน คนนี้เราไม่เคยรู้จักเลยด้วยซ้ำไป
ที่เข้าใจก็คือ ก็จะมีคนที่แบบพยายามจะรวมกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ เพื่อที่จะไปต่อรองขอรับตำแหน่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะมาเอาชื่อเราไปรวมอยู่ด้วย เพราะรู้สึกมีความพยายามรวบรวม และเท่าที่ทราบก็มีบางคนที่เขาติดเข้าไปอยู่ในหลายกลุ่ม แล้วบอกว่ากลุ่มตัวเองมีอยู่ 30 คน เพราะฉะนั้นต้องได้หนึ่งตำแหน่ง อะไรแบบนี้ ตรงนี้ก็ได้ยินอยู่ แต่ว่าจริงหรือไม่จริงก็ไม่ทราบ แต่ที่ได้ยินกับตัวเองก็คือ ก็มีคนมาพูดว่า มีคนที่อยากจะมาอยู่กลุ่มกับเรา แล้วเราจะเสนอเขาเป็นรองประธานวุฒิสภา พอได้ยิน เราก็คิดว่าเขาเป็นใครหรือ ไม่เคยเห็นหน้าเลย ไม่เคยได้ยินเสียง แล้วอยู่ดีๆ จะมาอะไรได้ยังไง ก็มีอยู่ แต่ก็ไม่ได้มีใครมาคุยกับเรา คิดว่าทุกคนก็ระมัดระวัง เพราะหากว่าพบมีการไปปรากฏตัวอยู่ด้วยกัน ทุกคนก็ระมัดระวัง แต่ก็จะเหมือนมีแบบ มีตัวแทนที่คอยเข้ามา แล้วก็บอกว่าผมมีพวกอยู่อีก 2-3 คน แล้วมาพูดว่าคนนี้เหมาะสมมากเลยควรได้เป็นรองประธานวุฒิสภา ควรเสนอชื่อ อะไรแบบนี้ ก็ลักษณะแบบนี้มีอยู่
-ส่วนตัวคิดว่า คนที่จะมาเป็นประธานวุฒิสภา ควรมีคุณสมบัติอย่างไร อย่างที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่าอาจจะเป็นอดีตทหารระดับสูง ยศพลเอก คิดว่าคนเป็นประธานวุฒิสภาควรเป็นอย่างไร ต้องมีความรู้ด้านกฎหมายหรือไม่?
โดยส่วนตัวมองว่า คนที่จะมาทำหน้าที่เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติควรเป็นพลเรือน ซึ่งบางทีวิสัยทัศน์ของคนที่เคยอยู่ในหน่วยงานด้านความมั่นคง อาจจะเคยชินกับการออกคำสั่ง เพราะฉะนั้นส่วนตัวมองว่าประธานวุฒิสภาควรเป็นพลเรือน มีความยืดหยุ่น และเมื่อนั่งในตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว มีความเป็นกลาง เป็นธรรม ไม่ลำเอียง
และโดยส่วนตัวก็ตั้งใจว่า หนึ่งในสามตำแหน่งที่จะเลือกกัน (ประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาอีกสองคน) มีความจำเป็นที่ต้องมีผู้หญิงเข้าไปด้วย เพราะเรื่องของสัดส่วนทางเพศมีความสำคัญมาก ซึ่งในอดีตก็เคยมีรองประธานสภาฯ ที่เป็นผู้หญิงอยู่ แล้วก็หายไปนาน อย่างล่าสุดตอนที่มีการเลือกรองประธานสภาฯ ครั้งล่าสุด เราก็ลุ้นอยู่ว่าจะมีเสนอผู้หญิงหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ไม่มี สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในเวทีโลก เวทีต่างประเทศ ทุกคนจะถามหาสัดส่วนของนักการเมืองหญิงในประเทศไทย ซึ่งตัวเลขยังต่ำอยู่สำหรับผู้หญิงที่เข้าไปสู่แวดวงการเมือง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าจะเป็นความสง่างาม ความเท่าเทียม เป็นการเปิดโอกาสที่ดี ถ้าหากว่าหนึ่งในสามตำแหน่งจะเป็นผู้หญิง ที่เสนอไม่ใช่ว่าจะเสนอตัวเอง แต่เป็น สว.ผู้หญิงคนใดก็ได้ ที่มีความสามารถจะทำหน้าที่ประธานหรือรองประธานวุฒิสภาได้ เพราะคนที่ผ่านมาจนถึงตรงนี้ได้ ทุกคนต้องมีความสามารถเท่าๆ กัน รวมถึงประสบการณ์ที่เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนวุฒิการศึกษาก็สำคัญ แต่วุฒิการศึกษาไม่ใช่ข้อจำกัดที่จะทำให้ความสามารถของคนน้อยกว่ากัน
-เมื่อ สว.ไปรายงานตัวและรอการเรียกประชุมวุฒิสภานัดแรก เพื่อเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา แล้วก็ตามด้วยตำแหน่งในคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา ก็คงเกิดข่าวเรื่องการล็อบบี้อะไรต่างๆ หากเกิดข่าวแบบนี้ขึ้นมาจะมีผลอะไรกับ สว.หรือไม่?
ตัวเราเองก็ไม่เคยเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เคยเข้าไปเป็นกรรมาธิการของสภาฯ หลายชุด พอเข้าไปก็เห็นเลย เช่นมีการเสนอให้คนไปรับตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมาธิการแบบเป็นแพ็กเกจ เช่นเสนอให้ใครเป็นประธานกรรมาธิการ รองประธานใคร โฆษกคณะกรรมาธิการคือใคร ก็คงเป็นวัฒนธรรมที่มีการคุยกันมาก่อนจะเสนอ ส่วนเสียงอิสระที่จะเสนอบ้าง อย่างเราก็เคยเสนอ แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงเสียงเดียว แต่ก็คิดว่ามันก็อาจมีวิธีการที่คุยกันมาก่อนเพื่อจะได้ไม่ต้องมานั่งดีเบตถกเถียงกัน ซึ่งที่เห็นเหตุผลที่คนอยากเป็นประธานคณะกรรมาธิการ ก็เช่นมีห้องส่วนตัว หรือเบี้ยประชุมกรรมาธิการก็อาจได้มากกว่า มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
ในฐานะที่ก่อนหน้านี้ก็เคยเข้าไปช่วยงานกรรมาธิการของรัฐสภา ก็เห็นได้เลยว่าบางช่วง สส.หรือ สว.งานยุ่งมาก แต่คนนอกที่เข้าไปเป็นกรรมาธิการสามารถช่วยงานกรรมาธิการได้มากกว่า เพราะฉะนั้นคนที่จะมาเสนอตัวเป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ขอให้เป็นคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านจริงๆ จะทำให้การทำงานเกิดประโยชน์สูงสุด อย่าคิดถึงแต่เรื่องโควตาอย่างเดียวจนไม่มองถึงศักยภาพและความสามารถ
-เรื่องสำคัญที่หลายคนจับตามอง สว.ก็คือ การโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบคนไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระต่างๆ ในฐานะเคยเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนด้วย คิดว่าการโหวตของ สว.ชุดปัจจุบันควรต้องมีจุดยืนอย่างไร และหากมีการให้โหวตตามโผ มีการล็อบบี้ให้โหวต จะมีจุดยืนอย่างไร?
ตอนที่เข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก่อนหน้านี้ ตอนนั้นเราได้รับเสียงโหวตเห็นชอบด้วยคะแนนสูงสุดให้เข้าไปเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วต่อมามีการเลือก กสม.อีก ก็พบว่าคนที่สมัครเป็น กสม.บางคนเขาได้คะแนนในการโหวตของ สว.น้อยมาก เช่นบางคนได้แค่หลักสิบ จากเสียงโหวตของสมาชิกที่มีร่วม 200 กว่าคน มันเหมือนกับว่าคนคนนั้นไม่มีคุณค่าอะไรเลย หรืออย่างเร็วๆ นี้ที่คนที่ถูกเสนอชื่อเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ ปรากฏว่าเสียงโหวตออกมาไม่เห็นชอบให้เป็นประธานศาลปกครองฯ ก็มองว่าในเรื่องรายงานผลการตรวจสอบประวัติของคณะกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้งขึ้น แล้วมีการทำรายงานผลการตรวจสอบออกมาโดยเป็นรายงาน "ลับ"
พบว่าเคยมีคนที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติบางคน แต่ สว.โหวตไม่เห็นชอบ โดยได้คะแนนเสียงเห็นชอบน้อยมาก เขาเคยไปยื่นเรื่องผ่านคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ เพื่ออยากขอดูรายงานลับดังกล่าวว่าตัวเขาเองมีอะไรไม่ดี ทำไมถึงได้คะแนนเสียงโหวตเห็นชอบน้อยมาก ก็ปรากฏว่าไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลในรายงานดังกล่าวด้วยเหตุผลว่าเป็นรายงานลับ ก็คิดว่าอยากเสนอหลังจากนี้ว่า ในขั้นตอนการตรวจสอบประวัติบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้ไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระต่างๆ เราไม่ควรทำให้เป็นเอกสารลับ แต่ควรเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ โดยอย่างน้อยหากเจ้าตัว (บุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้วุฒิสภาโหวต) ต้องการขอดูรายงานดังกล่าวก็ไม่ควรปิดบัง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเขาโดยตรง ดังนั้น เขาจึงควรมีสิทธิ์ได้รับรู้ว่า คนที่ไปให้ข้อมูลเช่นบอกว่าเขาไม่สุจริต มันจริงหรือไม่จริง เพราะเจ้าตัวไม่มีโอกาสได้แก้ตัว เพราะเวลาที่คณะกรรมาธิการสอบประวัติฯ ของวุฒิสภา ตรวจสอบประวัติคนที่ถูกเสนอชื่อ ก็จะมีการทำหนังสือสอบถามไปหลายหน่วยงาน และให้คนส่งข้อมูลประวัติของบุคคลนั้นมาให้กรรมาธิการฯ โดยที่บุคคลที่ถูกเสนอชื่อก็ไม่รู้ได้ว่า มีใครส่งข้อมูลไปให้กรรมาธิการฯ และข้อมูลดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ และกรรมาธิการฯ เชื่อตามนั้น เชื่อเพราะอะไร แม้ตอนช่วงก่อนสรุปรายงาน กรรมาธิการจะมีการเชิญบุคคลที่ถูกเสนอชื่อไปสอบถามในประเด็นที่มีการร้องเรียนก็ตาม เพราะอย่างน้อยหากมีการร้องเรียนในประเด็นต่างๆ ก็ควรให้บุคคลนั้นได้ทราบ มันควร "ลับ" สำหรับสาธารณะ แต่ไม่ควร "ลับ" สำหรับตัวบุคคล
-การที่มี สว.บางสีคุมเสียงข้างมาก มีเสียง สว.ในมือเกินกึ่งหนึ่ง ตรงนี้จะมีผลอะไรหรือไม่ เพราะบางคนที่ได้รับเลือกจากกรรมการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ แล้วส่งชื่อมาให้วุฒิสภาโหวต แต่ถ้าฝ่ายการเมืองไม่อยากให้คนนั้นไปเป็นองค์กรอิสระ เขาจะไปสั่งให้ สว.โหวตไม่เห็นชอบก็ได้?
ก็เป็นสิ่งที่เรากังวลอยู่ เพราะเวลาที่จะมีการประชุม สว.เพื่อโหวตองค์กรอิสระ ก็เป็นการประชุมลับ แล้วเอกสารการตรวจสอบประวัติก็เป็นเอกสารลับ ซึ่งคนนอกจะไม่รู้เลยว่าเป็นอย่างไร ส่วนตัวก็ตั้งใจว่าถ้าเป็นไปได้ ไม่อยากให้เป็นการประชุมลับ เพราะอย่างน้อยประชาชนควรจะได้รู้ เช่น บุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานศาลปกครองสูงสุด ทำไมถึงไม่ได้รับเสียงเห็นชอบ เขามีปัญหาอะไร แล้วถามว่าบุคคลนั้นยังเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดอยู่หรือไม่ วันนี้ก็ยังเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดอยู่ แล้วทำไมถึงขึ้นไปในตำแหน่งสูงสุดไม่ได้ เราเองก็อยากรู้ ประชาชนทั่วไปก็อยากรู้
-ในช่วง 5 ปีของ สว.ชุดปัจจุบัน ก็จะได้โหวตเห็นชอบองค์กรอิสระ องค์กรศาลต่างๆ หลายครั้ง การที่ สว.มีอำนาจเยอะตรงนี้คนก็จับตามองมาก?
ก็มีหลายองค์กรเช่น กสม., ป.ป.ช., คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น การที่มีอำนาจเยอะ แต่เวลาที่คุณโหวตไม่เห็นชอบ บางทีคนก็สงสัยว่า คนที่ไม่ผ่านเขาทำผิดอะไร อย่างที่บอกทำไมคนที่ถูกเสนอชื่อเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด ทำไมไม่ได้รับความเห็นชอบ เราก็อยากรู้สาเหตุ อย่างไปค้นใน google ก็ยังไม่เห็นเลยว่าเขาทำผิดร้ายแรงอะไร
ลั่นได้เวลาเปลี่ยนแปลงสภาสูง
-บทบาทของ สว.ในการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารคือรัฐบาล ประชาชนคาดหวังกับ สว.ชุดนี้ได้หรือไม่?
เอาง่ายๆ ที่ผ่านมาทุกคนยกมือโหวตไปในทางเดียวกันหมด แต่ต่อไปนี้จะมีคนที่ยกมือไปในทางตรงกันข้าม จะมีผู้อภิปรายหรือแสดงความเห็นไปในทางที่ สว.เขาคิดกันจริงๆ แต่จะมากหรือน้อยแค่ไหน อันนี้ยังประเมินไม่ได้ต้องขอเข้าไปดูก่อน ที่ก็อาจจะมีจำนวนมากก็ได้ แต่อาจจะไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่นการเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลแบบไม่ลงมติ ที่อาจมีเสียงไม่มากพอจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างน้อยจะมีคนที่มีความคิดเห็นเป็นอิสระ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้น
สิ่งหนึ่งที่ประชาชนสามารถช่วยเราได้ก็คือ ขอให้ประชาชนติดตามการทำงานของ สว.แต่ละคน ขอให้คิดว่าสว.แต่ละคนเขาก็มาจากเงินภาษีของเรา เราต้องดูว่าเขาทำอะไรบ้าง แล้วก็ให้ความเห็น วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน เสียงข้างนอกก็จะมีความหมาย
เพราะถึงแม้คุณจะเข้ามาแบบมีคนสั่งคุณได้ก็แล้วแต่ แต่คุณจะไม่ฟังเสียงข้างนอกเลยหรือ จะไม่ฟังเสียงคนในพื้นที่บ้านคุณเลยหรือ แล้วคุณจะอยู่ได้ยังไง 5 ปี หากคนในพื้นที่-จังหวัดของคุณ ตัวคุณเอง คุณยังไม่ฟังเสียงพวกเขา ตรงนี้ก็เป็นความท้าทายของ สว.แต่ละคนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ เพราะเอาเข้าจริงแล้วตกลงคุณเป็น สว.ของใคร
-ที่ผ่านมาก็มี สว.บางชุดถูกตั้งฉายา เช่น สภาชิน สภาผัวเมีย เกรงไหมว่าสำหรับ สว.ชุดนี้ ที่เมื่อเข้าไปทำงานแล้วอาจจะถูกฝ่ายการเมืองจากบางพรรคการเมือง สามารถคอนโทรลเสียง สว.ได้เกือบหมด เข้าไปครอบงำ เข้าไปแทรกแซงได้?
ถ้าเป็นพรรคการเมืองอย่างที่มีข่าวลือจริง มันก็จะมีผลไปถึงสภาผู้แทนราษฎรด้วย ทำนองว่าอาจมีเสียง สส.ในสภาฯ น้อย แต่คุณจะมีเสียงในวุฒิสภาเยอะ แล้วอาจเกิดกรณีเช่น กฎหมายที่มีการเสนอแก้ไขแล้วผ่านสภาฯ มาแล้ว พอส่งไปที่วุฒิสภา ทาง สว.กลับไปแก้ไขร่างของสภาฯ โดยแก้ไขให้กลับไปมีเนื้อหาเหมือนเดิม คิดว่ามันก็อาจจะมีในลักษณะแบบนี้ แต่ว่าเอาจริงๆ แล้วก็ต้องดูว่าคนที่เข้าไปจะยืนยันในหลักการแค่ไหน
เพราะถ้าสมมุติว่าหากปล่อยให้มีการชี้นำ เหมือนกับการโหวตครั้งสุดท้าย (โหวตไขว้เลือก สว.ระดับประเทศ) ที่คะแนนออกมาแบบเป๊ะ เป็นขั้น ขึ้นมาสูงเลย ก็จะถูกตั้งคำถามว่าคุณไม่เคยคิดอะไรกันเลยหรือ ซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าคุณจะเป็นนักการเมือง หรือคนที่มีบารมี คุณก็ต้องตระหนักว่า ตรงนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนจริงๆ
เพราะฉะนั้นในเรื่องของระบบวุฒิสภา ที่ถือว่าเป็นสภาสูงที่มีหน้าที่กลั่นกรอง ปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่สภาฯ ส่งมา ความเป็นสภาผู้ใหญ่ที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ สิ่งสำคัญก็คือความซื่อสัตย์ ความตรงไปตรงมา แต่ถ้าคุณคิดจะใช้อำนาจครอบงำตามอำเภอใจ ก็คิดว่าคุณ ที่หมายถึงนอมินีที่เข้าไปนั่งทั้งหลายต้องยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ สุดท้ายทุกคนต้องพิสูจน์ตัวเอง ไม่มีใครจะมาคอยอุ้มพยุงใครไปได้ ปกป้องใครไปได้ และ สว.เองสามารถถูกตรวจสอบได้ อย่างคนที่เข้ามาเป็น สว.สำหรับตัวเราเองก็ยังมองบวก อย่างที่มีการเสนอข่าวกันว่าบางคนมีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยว คนขับรถ หรืออาชีพอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเมื่อทุกคนเข้ามาแล้ว ทุกคนต้องพิสูจน์ว่าตัวเองเหมาะที่จะเป็นผู้แทนของประชาชนจริงๆ หรือไม่ ซึ่งเรื่องของอาชีพ การงาน วุฒิการศึกษา บางทีเข้าไปแล้วจะรู้เลยว่าไม่มีประโยชน์ เพราะอาจไม่ได้ใช้ แต่ความจริงใจ ความสุจริตใจ ประสบการณ์คือสิ่งสำคัญ
เพราะอย่างเช่นเรื่องของกฎหมาย เป็นสิ่งที่เรียนรู้กันได้ อย่าง สว. 1 คนจะมีผู้ช่วย สว., ที่ปรึกษาได้ 7 คน ก็ตั้งคนดีๆ เข้ามา อย่าไปคิดแต่ว่าจะต้องมีการตอบแทน เอาพรรคพวกเข้ามา เอาคนในครอบครัวเข้ามา เพราะสุดท้าย คนที่จะช่วยคุณจริงๆ จะไม่มี แล้วสุดท้ายคุณจะไม่สามารถที่จะโดดเด่นขึ้นมาในการทำหน้าที่ได้ ก็ฝากทุกคนด้วยว่าตรงนี้ก็ต้องระมัดระวัง เพราะบางทีการเอาพวกพ้องหรือคนในครอบครัวตั้งเข้ามา จะเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ที่ต้องระมัดระวัง.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บทบาท“รัฐมนตรีมหาดไทย”..ที่ควรชื่นชม ในวิกฤตการณ์ภัยธรรมชาติ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา วิกฤตธรรมชาติจากน้ำป่าไหลบ่าท่วมทับชุมชนเมือง ที่แพร่กระจายไปทั่วประเทศ เป็นดัชนีความจริงที่บ่งชี้ถึงสภาพธรรมชาติที่อ่อนแอ ไร้ความสมดุล
'ชูศักดิ์' อ้อนทุกพรรค-ทุกฝ่าย หาทางออก หลังสว.รื้อร่างประชามติฉบับสส.
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี สมาชิกวุฒิสภา(สว.)คว่ำร่
ไม่กล้าบินเดี่ยว! 'ภูมิธรรม' เผยต้องคุยหัวหน้าพรรคการเมือง ชำเรารธน.ทั้งฉบับ ไปในทิศทางเดียวกัน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักน
สภาสีน้ำเงินหักสส. 167เสียงแก้ประชามติ2ชั้น ซัดชำเรารธน.เพื่อตัวเอง
เสียงสภาสีน้ำเงินท่วมท้น 167 เสียงเห็นชอบให้แก้ กม.ประชามติแบบ 2 ชั้นเหมือนเดิม
สว. 167 เสียง ลงมติเห็นชอบใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ทำประชามติแก้รธน.
ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มีพล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร เป็นประธานกมธ.ฯ พิจารณาเสร็จแล้ว
‘ดร.อานนท์’ เล่าเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
การเมืองจะเข้าแทรกแซงกิจการตำรวจมากเกินไปหรือไม่ ลำดับอาวุโส จะข้ามกันอย่างนี้ใช่หรือไม่