เกิดอะไรขึ้น!? “เมื่อยอดกฐิน..โรงทาน เป็นใหญ่กว่าผ้ากฐิน”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... ฤดูกาลทอดกฐินในเดือนสุดท้ายของวสันตฤดู มีคุณค่ายิ่งต่อจิตวิญญาณของชาวพุทธ ที่มีความใส่ใจ พึงใจประกอบการกุศลในเขตพระพุทธศาสนา ด้วยการร่วมกันทอดผ้ากฐิน ถวายแด่คณะสงฆ์ตามวัดวาอารามต่างๆ ที่ศรัทธา พร้อมทั้งปัจจัยไทยธรรม ที่ให้ความสำคัญยิ่งไม่แพ้ผ้ากฐิน โดยเฉพาะ “เงินทอง” เพื่อบำรุงวัดวาอารามทั้งหลาย ที่กลายมาเป็นการเรียกขานว่า “ยอดกฐิน”

“ยอดกฐิน” กลายเป็นส่วนที่งอกออกมาจาก “ผ้ากฐิน” ที่ถูกแปลงรูปเป็น “ต้นกฐิน” ใช้แขวนดอกออกผลเป็นปัจจัยไทยธรรมไปโดยปริยาย

การยก “ต้นกฐิน” ที่ประดับประดาด้วย “เงินทอง” เข้าวัดเพื่อถวายพระสงฆ์.. กลายเป็นตำนานที่ปฏิบัติสืบมาของชาวพุทธในประเทศไทยทั่วทุกภาค ที่ชักนำกันไปสู่การ “เรี่ยไร” ในรูปของการ “บอกบุญ” แก่เพื่อนพ้องน้องพี่ญาติมิตรบริวารทั้งหลาย

ว่ากันว่า ... “เงินทอง” กลายเป็นเครื่องตัดสินในหมู่ชาวพุทธปัจจุบันว่า ใครควรได้รับเกียรติเป็น "ประธานถวายผ้ากฐิน" ในปีนั้นๆ..

จึงได้เห็นคหบดีผู้มีเกียรติ นักการเมืองผู้มากด้วยบารมี เศรษฐีมหาศาล พ่อค้าผู้มั่งคั่ง ผู้นำชุมชน ผู้ปกครองในท้องถิ่นนั้นๆ.. หรือข้าราชการผู้มียศตำแหน่งใหญ่.. ได้เป็น “ประธานถวายผ้ากฐิน” ประจำปี ในวัดวาอารามแห่งนั้น.. เพื่อจะได้นำไปสู่การรวบรวม.. “ปัจจัยเงินทอง” ให้ได้ยอดจำนวนมากที่สุด.. ยิ่งมีจำนวนมากกว่าใครๆ ยิ่งแสดงถึง ความเปล่งปลั่งของวาสนาบารมี.. ที่จะถูกกล่าวขานชื่นชมยินดีในแวดวงศรัทธาญาติโยม.. ตามียายมาทั้งหลาย..

“ความมากบารมี .. ร่ำรวยปัจจัยของประธานถวายผ้ากฐิน” จะชักนำไปสอดรับกับบารมีชื่อเสียงของ “พระเดชพระคุณเจ้าอาวาสทั้งหลาย” โดยเฉพาะพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง ที่ได้รับการเล่าขานว่ามีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหนือฟ้าเหนือบาดาล.. ที่ชาวบ้านพากันชื่นชม โดยมีบารมีที่มี ยอดกฐิน เป็นตัวชี้วัด จึงได้เห็นการสร้างต้นกฐินสูงเสียดฟ้าที่ประดับประดาไปด้วยเงินทองจำนวนมาก.. ดังที่เคยปรากฏต้นกฐินละเป็นล้านบาท หลายสิบต้น ยืนตระหง่านในท่ามกลางลานวัด.. ประกาศศักดาอันยิ่งใหญ่ของอำนาจเงินตรา.. ที่เหนือมนตราทั้งปวง ในท่ามกลางกระแสวัตถุนิยมที่ร้อนแรง

จึงได้เห็นการประกาศ “ยอดกฐิน” ในแต่ละวาระ.. ที่สะท้านสะเทือนถึงหัวใจตามียายมา.. คนข้างวัดหาเช้ากินค่ำ ทำไร่ทำนา มีเบี้ยเล็กเงินน้อยพอประทังชีวิต ที่ยากจะมีบารมีมากมาย เช่น ผู้มั่งคั่งทั้งหลาย.. จะทำได้เพียงแค่แคะกระปุก.. ควักออกจากกล่อง เพื่อร่วมต่อยอดกฐินที่กำลังพุ่งลิ่ว จากหลายหมื่น เป็นหลายแสน.. และเข้าสู่หลักล้าน... “แม้หลายๆ ล้านแล้ว ก็ยังไม่นิ่ง..” จากข้อความ.. ที่ได้ยินจากเสียงโฆษกประกาศ แข่งกับเสียงพูดคุยอึกทึกของญาติโยม ที่พากันพูดคุย สรรเสริญ ปลาบปลื้มใจที่ได้ร่วมบุญกับผู้มากบารมี เศรษฐีมหาศาล ที่เดินทางมาจากต่างเมืองเหล่านั้น

จึงเป็นที่มาของคำว่า “ยอดกฐินยังไม่สุด.. ยอดปัจจัยกฐินยังไม่นิ่ง..” ก่อนที่จะประกาศถวายสรุปสุดท้าย ยอดกฐินประจำปีแด่วัดวาอารามแห่งนั้น อันมีพระเกจิฯ ผู้มากไปด้วยบารมี นั่งหน้าชื่นตาบาน ตั้งใจ ตั้งหน้าตั้งตา รออนุโมทนายอดกฐิน.. ตัวเลขจำนวนเงินยอดสุดท้าย.. เพื่อประกาศเลขเด็ด ให้ชาวบ้านผู้นิยมเลขนำโชคได้รับทราบ เพื่อจะได้เป็นลาภลอยจากการเสี่ยงโชค.. อย่างที่กล่าวอ้างกันว่า.. “ปีที่แล้ว ยอดตัวเลขตรงเป้า แม่นจังเลย..”

นอกจากยอดกฐินที่บานสะพรั่งไปทั้งลานวัดแล้ว ยังมีโรงทานจำนวนมากมาย ที่ผู้มีศรัทธามาออกโรงทานเลี้ยงอาหารคาวหวาน ให้กับผู้มาร่วมงานบุญกุศลได้อิ่มหมีพีมันกันถ้วนหน้า

“โรงทาน” จึงเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดของ งานกฐินที่มากบารมีประจำปีนั้นอีกตัวหนึ่ง.. อันเป็นที่ชื่นชอบของทุกคน โดยเฉพาะชาวบ้านในท้องถิ่น ที่จะได้ลิ้มรสอาหารของคาวหวานดีๆ แปลกๆ ใหม่ๆ.. จากน้ำใจของบรรดาเจ้าภาพทั้งหลาย ตลอดจนถึงคณะศรัทธาของหลวงพ่อผู้มีชื่อเสียงแห่งวัดนั้นๆ..

ภาพหมู่ชนคราคร่ำเต็มลานวัด ที่รื่นเริงยินดีกับการมาทำบุญทอดกฐินในวัดแห่งนั้น จึงปรากฏให้เห็น ยิ่งผสมผสานกับการละเล่นที่นำเข้ามาประกอบการจัดงาน.. ยิ่งทำให้บรรยากาศในเขตบุญพระพุทธศาสนา ตลบอบอวลไปด้วยสีสันแห่งโลก.. จนหมู่ชนที่เดินทางมาประกอบการกุศลประจำปี ปล่อยจิตใจให้เตลิดเปิดเปิงไปในท่ามกลางมายาแห่งโลกธรรมเหล่านั้นด้วยความเพลิดเพลินยินดี..

นอกจาก ต้นกฐิน .. โรงทาน แล้ว ในท้องถิ่นหลายแห่ง.. จะมีการแห่ต้นกฐินเข้าวัดที่มาจากชุมชนต่างๆ.. เพื่อแสดงความเป็น “กฐินสามัคคี” .. ดังที่เรียกว่า “แห่ครัวตานเข้าวัด” โดยมีการตั้งขบวนร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน.. ผ่านย่านตลาด.. เพื่อมุ่งหน้าเข้าสู่วัดที่เป็น “ธรรมนียสถาน” อันควรแก่การที่ฝึกจิต อบรมใจ ยิ่งเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ยิ่งได้เห็นขบวนรถแห่เปิดเสียงเพลงกันดังลั่น ในขบวนบางศรัทธา ที่หลายครั้งมีกลิ่นแอลกอฮอล์ฟุ้งออกมา.. อันบ่งบอกถึงการละเล่นรื่นเริงในงานบุญประจำปีดังกล่าวของชาวบ้านในชุมชนย่านนั้น ที่รอคอยถวายกาลทาน ในการทอดผ้ากฐินจีวรถวายแด่คณะสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบไตรมาส

“ยอดกฐิน.. โรงทาน.. การละเล่น.. ขบวนแห่ครัวตาน” .. กลายเป็นเครื่องชี้วัดความยิ่งใหญ่อลังการ.. ของการทอดกฐินประจำปี.. ของวัดวาอาราม.. ที่แสดงถึงการมากบารมีของเจ้าภาพ.. และเจ้าอาวาส.. อย่างยากจะปฏิเสธ.

เรื่องดังกล่าว เสมือนพูดคุยกันเล่นๆ .. แต่แท้จริง เป็นเรื่องจริงในสังคมไทย.. ที่แสดงวิถีธรรม.. ของสังคมวิถีพุทธ.. ที่กำลังดำเนินไปสู่โลกียธรรม.. มากกว่ามุ่งสู่โลกุตรธรรม..

แม้จะมีผู้โต้เถียงว่า.. ไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าวมาไปทั้งหมด.. วัดวาอาราม.. ชาวบ้านที่ยังศรัทธามั่นคง ดำรงจิตซื่อตรงต่อพระธรรมวินัย ยังมีอยู่

แต่ก็ต้องยอมรับว่า.. ที่มีอยู่ในความถูกต้องนั้น น้อยนิดนัก หากเปรียบเทียบกับภาพส่วนใหญ่ ที่แพร่ระบาดในโลกที่ “ลัทธิวัตถุนิยม” เข้าไปมีอิทธิพลทั่ว ไม่เว้น แม้วัดป่า.. ที่เคยเคร่งครัดในพระธรรมวินัย.. ที่พากันเดินพาเหรดหลงทางตามไปด้วย

ดังที่ได้เห็นวัดป่าฯ บางแห่ง ประกาศแพร่ข้อความไปทั่วในสังคมดิจิทัลด้วยความยินดียิ่ง ว่า “บัดนี้ ยอดปัจจัยมีถึงจำนวนล้านบาท.. แต่ยอดยังไม่นิ่ง.. ยังมีส่งเข้ามาร่วมยอดกฐินอย่างต่อเนื่อง....” .. จึงไม่รู้จะ มุทิตา หรือ นิพพิทา ดี เมื่อได้รับทราบข้อความดังกล่าว

จึงไม่แปลกใจนัก หากวันนี้เราทั้งหลายจะได้เห็นความเจริญเติบโตของวัดป่า ที่ไม่แตกต่างไปจากวัดบ้าน.. “ยิ่งวัดป่า เริ่มร่ำรวยด้วยสมณศักดิ์พัดยศ..” อะไรๆ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป.. ไม่เหมือนเดิม..!!

เรื่องของเรื่อง.. ที่เป็นเรื่องราวหลั่งไหลกันไปตามกระแสโลก.. ก็ด้วยเพราะไม่สามารถหยุดยับยั้งกิเลสกันได้ จนปล่อยให้จิตใจไปติดกับดัก หลงเหยื่อ ที่ไม่ต่างไปจาก ปลา หนู นก กบ เขียด.. ทั้งนี้ ก็เพราะความไม่เข้าใจ.. ใน “กฎอิทัปปัจจยา” ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้และแสดงไว้ดีแล้ว จริงๆ..

การได้แต่ท่องๆ บ่นๆ กัน เพื่อสอนคนอื่นว่า “ธรรมทั้งหลาย มีความเป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา.. ต้องเป็นไปอย่างนี้.. จักไม่แปรเป็นอย่างอื่น..” .. จึงไม่ได้แสดงความจริงของ “ความรู้จริง” สมดังคำที่ท่านผู้รู้ชอบกล่าวกันว่า..

ผู้เรียนธรรม มีเยอะ  แต่ผู้รู้ธรรม มีน้อย

ผู้ปฏิบัติธรรม มีเยอะ  แต่ผู้เข้าถึงธรรม มีน้อย

ผู้กล่าวธรรม มีเยอะ..  แต่ผู้เข้าใจธรรม มีน้อย..

จึงเป็นธรรมดาที่ ยอดกฐิน.. โรงทาน.. แห่ครัวตาน จึงเป็นใหญ่ เหนือ "ผ้ากฐิน" .. จนลืมสิ้นพระธรรมวินัย อันควรแก่การเคารพบูชา ประพฤติปฏิบัติตาม.. ไม่แปลกใจเลยที่ได้เห็นภาพหมู่ชนแห่ไปสำนักพระพุทธพจน์ฯ กันมากขึ้น.. เอวัง สังฆา!!.

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า.. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะที่เข้าสู่วิกฤตการณ์โลกร้อน.. ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติปกติ (Climate Change) อันเป็นผลจากการกระทำของมนุษยชาติ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จึงได้ถือโอกาสคิดทำโครงการนำพระคืนสู่ป่า.. เพื่อศึกษาวงจรธรรมชาติของชีวิตที่เนื่องกับสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีความสมดุล (Nature Cycle in Balance)