พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

เราจะไปหวังว่าฝ่ายประชาธิปไตย เข้าไปแล้ว มันจะไม่มีงูเห่า ก็เป็นไปไม่ได้ ก็อาจจะมี แต่หากว่ามีฝ่ายสว.ประชาธิปไตยมากพอ หากจะมีแบบนั้น ก็ให้มันมีไป เพราะอย่างน้อยที่สุด หากฝ่ายประชาธิปไตยเข้าไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มันก็ยังดีกว่า ไม่ทำอะไรกันเลยแล้วก็ปล่อยให้ฝ่ายเขา เข้าไปยึดวุฒิสภาไว้ทั้งหมด หากเขายึดได้ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ...ถ้าเขายึดได้ทั้งสองสภา ก็เรียบร้อย ไม่มีอะไรเหลือ

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. .... ชุดใหม่ และทำให้หลังจากนี้ คาดว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 11 พ.ค. และประกาศกำหนดวันเลือกและวันรับสมัครในวันที่ 13 พ.ค. -กำหนดวันเลือก สว.ระดับอำเภอในวันที่ 9 มิ.ย. -กำหนดวันเลือก สว.ระดับจังหวัดในวันที่ 16 มิ.ย. และกำหนดวันเลือก สว. ระดับประเทศ 26 มิ.ย. และคาดว่าจะประกาศผลการเลือกส.ว.วันที่ 2 ก.ค.

โดยพบว่าตอนนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวของบุคคล-คณะบุคคล ที่เปิดตัวว่าจะลงสมัครสว.รอบนี้กันมากขึ้นตามลำดับ  และหนึ่งในบุคคลที่เปิดตัวจะลงสมัครสว.รอบนี้ด้วยคนหนึ่ง ที่มีประวัติการทำงานในด้านกฎหมาย-การเมือง-การทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติและการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ธรรมดา นั่นก็คือ "พนัส ทัศนียานนท์ อดีตอัยการและอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ฉบับ 2540, อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากการเลือกตั้งจังหวัดตากปี 2543, ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อม-ประเทศไทย"เป็นต้น

"พนัส-อดีตสว.ปี 2543"ย้ำว่าที่สนใจลงสมัครสว.ครั้งนี้ เพราะมี mission (ภารกิจ)หลักคือ ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะก่อนหน้านี้ เคยเป็นอดีตสมาชิกสภาร่างรธน.ปี 2540 ซึ่งตอนนั้น หวังให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างที่เรียกกัน ในความหมายที่ว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของบ้านเมือง แต่ปรากฏว่าพอร่างเสร็จแล้วประกาศใช้เป็นรธน.ปี 2540 มันไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะเมื่อมีการให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระต่างๆ รวมถึงการให้มีศาลรัฐธรรมนูญ ก็กลายเป็นเกิดมี "ตุลาการภิวัฒน์"ขึ้นมาแทน ซึ่งตุลาการภิวัฒน์หมายถึง รัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการเข้าไปแทรกแซง เข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยที่ตอนยกร่างรธน.ปี 2540 เราก็คิดว่ามันน่าจะมีความสมดุลพอสมควรอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าต่อมา กลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความขยายอำนาจของตัวเองออกไป

และต่อมาเมื่อมีการทำรัฐประหารปี 2549 ทางคณะรัฐประหาร(คมช.)ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วมีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ออกมา ซึ่งปรากฏว่าคณะกรรมการ่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มีตุลาการในเวลานั้นมาร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยหลายคน ก็ไปเพิ่มอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจากที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยก็พบว่า ในช่วงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็มีคำร้องคดีความต่างๆ ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ทางศาลก็ตีความกฎหมายในลักษณะขยายอำนาจของตัวเองออกไปเรื่อยๆ

จนเมื่อมีการรัฐประหารในปี 2557 แล้วเกิดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2560 ขึ้นมา ตอนนี้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็มีล้นเลยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จนศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบได้หมดเลยทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี รวมถึงกระทั่งศาลด้วยกันเอง ทั้งศาลยุติธรรม ศาลปกครอง เรียกว่าอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อออกมาแล้วก็ให้มีผลผูกพันทุกองค์กร รวมถึงองค์กรศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง คำตัดสินที่ออกมาจะไปขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาก่อนแล้วไม่ได้ ผลของมันก็คือว่าทำให้ผู้มีอำนาจสูงสุดในบ้านเมืองก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ มันไม่ใช่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 เพราะโดยแท้ที่จริงแล้ว มาตราอื่นๆในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในหมวดและมาตราที่ว่าด้วยเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ไปเขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุด โดยเฉพาะอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 201 ที่เขียนไว้ชัดเจนมากว่าให้ศาลเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา -คณะรัฐมนตรีและองค์กรอื่น รวมถึงศาลด้วย ได้ทั้งหมดเลย ซึ่งมันผิดหลักประชาธิปไตย เพราะโดยหลักแล้ว สามอำนาจอธิปไตยคือ ฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติและตุลาการ ต้องถ่วงดุลกันเพื่อให้เกิดสมดุล ไม่ใช้อำนาจใดอำนาจหนึ่งไปอยู่เหนืออำนาจอื่นทั้งหมดอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจอยู่ในเวลานี้

"จุดประสงค์ของผมในการลงสมัครสว.ก็คือเพื่อเข้าไปแก้ไขอำนาจตรงนี้ของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรอิสระ"

.... เพราะโดยหลักที่แท้จริงแล้ว รัฐสภาโดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีอำนาจสูงสุดมากกว่าศาลรัฐธรรมนูญ  เพราะเป็นตัวแทนของประชาชน ตัวแทนของราษฎร ที่เลือกเขาเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ สภาฯ คือผู้แทนของประชาชนในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ

-จากที่เคยเป็นสว.ปี 2543 มารอบนี้ที่จะลงสมัคร ดูจากกรอบกติกาการเลือกสว. คิดว่ากติกาการเลือกสว.ครั้งนี้ มีจุดอ่อน ตรงไหนอย่างไร  ทั้งในส่วนของการให้เลือกกันเองในสาขาอาชีพเดียวกันและการเลือกไขว้?

มันเป็นเรื่องที่ผิดหลักการประชาธิปไตย พูดกันตามตรง การให้คนที่อยากจะออกเสียงเลือกสว. จะต้องไปลงสมัครเข้ารับการคัดเลือกด้วย ผลมันก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ลงสมัครด้วย ก็ไม่ได้มีสิทธิ์อะไรเลย ก็ได้แค่คอยติดตามว่าที่ลงสมัครแล้วเลือกกันเอง สุดท้าย ใครจะได้รับเลือก แล้วพอสุดท้าย ออกมาได้ชื่อ 200 คนก็อ้างว่านี้คือตัวแทนของปวงชนชาวไทย ที่เขาได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรง แค่นี้มันก็ผิดหลักประชาธิปไตยแล้ว และการที่จะให้คนได้ใช้สิทธิ์ ก็ต้องเสียเงิน 2,500 บาทไปสมัคร มันก็เป็นการตัดสิทธิคนที่ไม่ได้เสียเงินที่ไม่ได้ไปสมัคร แต่หากเป็นการเลือกส.ส.ที่เป็นการเลือกตั้งโดยตรงหรือการเลือกสว.สมัยปี 2543 ที่ผมลงสมัคร(จังหวัดตาก) ประชาชนที่เขาไปออกเสียง เขาไม่ได้เสียเงินอะไร 

คนที่คิดค้นวิธีการเลือกแบบนี้ออกมา โดยอ้างว่าเป็นการทำให้สว.มีตัวแทนของกลุ่มหลากหลายอาชีพให้เข้าไปอยู่ในวุฒิสภา มันไม่จริง เพราะสุดท้าย ที่เลือกกันมายี่สิบกลุ่มอาชีพ แล้วก็มีการเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มอาชีพต่างๆ สุดท้ายที่ได้มา ก็ไม่รู้ว่ามีกลุ่มอาชีพไหนบ้างที่ได้มา มันก็ไม่ใช่ตัวแทนของทั้ง 20 กลุ่มอาชีพอยู่ดี สำหรับผลที่ออกมา

มันไม่ใช่แค่จุดอ่อน แต่มันเป็นเรื่องผิดหลักเลย แต่เหตุที่ผมลงสมัครด้วยในครั้งนี้ ก็เพราะคิดว่านี้คือหนทางเดียวเท่านั้นที่เปิดช่องอยู่ตอนนี้ที่จะทำให้หาทางเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ เพราะสว.ชุดที่จะเลือกกันเข้าไป ก็มีอำนาจหน้าที่เหมือนกับสว.ชุดที่กำลังจะหมดวาระเกือบทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียว คืออำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี  เมื่อมีอำนาจเหมือนกันหมดทุกอย่าง โดยอำนาจที่สำคัญที่สว.มีอยู่ที่เราเห็นกันก็คือ สว.มีอำนาจในการโหวตให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงตำแหน่งอื่นๆเช่น อัยการสูงสุด ประธานศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นอำนาจที่มีอยู่มาก

ดังนั้น พวกองค์กรอิสระ จะทำงานเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่การโหวตของวุฒิสภา หากวุฒิสภา ที่จะเข้าไป มีแต่พวกไม่นิยมประชาธิปไตย องค์กรอิสระ ก็ต้องออกมาในรูปแบบเดียวกัน ดังนั้น ถ้าจะให้องค์กรอิสระมีอยู่ต่อไป ก็ต้องให้วุฒิสภาเป็นประชาธิปไตย ก็จะทำให้องค์กรอิสระทั้งหลาย ก็จะเป็นประชาธิปไตยตามไปด้วย

-เริ่มมีเสียงแสดงความเป็นห่วงว่าการคัดเลือกสว.ที่จะมีขึ้น จะมีกระบวนการต่างๆ เช่นการสมยอมกัน การบล็อกโหวตกัน จะมีเครือข่ายพรรคการเมือง คนของบ้านใหญ่ทางการเมือง เครือข่ายนักการเมือง ส่งคนมาสมัครเป็นนอมินีเพื่อเข้าไปยึดวุฒิสภาไว้เป็นฐานการเมือง ?

หากว่าทางฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ไปลงสมัครกันเยอะๆ แล้วก็เลือกกันเองเข้าไป มันก็จะเกิดสภาวะการณ์แบบนั้นขึ้นมาแน่นอน เพราะบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลาย กลุ่มก้อนนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น เขาก็เห็นความสำคัญของ สว.ชุดใหม่ที่กำลังจะเข้าไปทำหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขาไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถ้าเขาเห็นว่ามันดีกับฝ่ายเขา ทางเขาก็ต้องพยายามเอาคนของตัวเองเข้าไปในวุฒิสภา ดังนั้น ถ้าสว.เป็นคนประเภทไหน ก็ทำให้องค์กรอิสระและรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเป็นแบบเดียวกัน

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมลงสมัครคัดเลือกเป็นสว. ก็คือเพื่อต้องการปลุกให้คนเห็นว่าบ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็ขอให้มาช่วยกันลงสมัครคัดเลือกเป็นสว.กันให้เยอะๆ มันจะได้มีผลในลักษณะที่ว่า ตอนเลือกสว.มันจะได้ทำให้ไม่สามารถมีการเข้ามาบล็อกโหวตการเลือกสว.ได้ เพราะถ้าบล็อกได้ ก็หมายถึงทางฝ่ายนี้ ไม่มีคนไปลงสมัครเท่าไหร่ เขาก็บล็อกได้ตั้งแต่ต้นทาง คือบล็อกได้ตั้งแต่ระดับอำเภอ เพราะระดับอำเภอ ก็มีหัวคะแนนของฝ่ายเขา มีฐานเสียงอยู่แล้วในพื้นที่ เขาก็เกณฑ์คนไปลงสมัคร ใครที่ไม่มีพรรคพวกไปลงสมัครด้วย สุดท้าย ก็จะแพ้ฝ่ายเขาหมด

อย่างผมเอง หากเขาเห็นว่า ตัวผมหากเข้าไปเป็นสว.แล้ว จะไปทำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้พวกเขาเดือดร้อน เขาต้องการให้รัฐธรรมนูญอยู่แบบนี้ต่อไป เขาก็ต้องหาทางจะมาบล็อกผมแน่นอน

-แบบนี้แสดงว่าที่คนเกรงกันว่าจะมีเครือข่ายนักการเมือง พรรคการเมือง เข้าไปลงสมัครสว.กันก็น่าจะจริง?

มันหนีไม่พ้น บ้านเรามันหนีไม่พ้น เรื่องอะไรที่บอกว่า ทำไม่ได้ ทำไม่ได้ อย่างที่คนร่างเขียนออกมา ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้หรอก สุดท้าย มันทำได้หมด พวกนักเลือกตั้งเขาเก่งจะตายไป เขาคำนวณตัวเลขออกมา เผลอๆ จะลงทุนน้อยกว่าการเลือกส.ส. ด้วยซ้ำไป

-ตอนสว.ยุคมาจากการเลือกตั้งครั้งแรกปี 2543 พบว่า ตอนแรก ก็มีความเป็นอิสระกันดี แต่อยู่ๆ ไป ก็เริ่มมีพรรคการเมือง นักการเมือง ดึงสว.ไปเป็นพวก เพื่อสร้างฐานเสียงในวุฒิสภา เกรงหรือไม่ว่า สว.ชุดใหม่ที่จะเข้าไปจะมีลักษณะแบบดังกล่าวเกิดขึ้น?

มันก็มีความเป็นไปได้ ของแบบนี้ เราจะไปรับประกันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าอย่างตอนนี้คนที่เราเห็น เป็นสายประชาธิปไตยจ๋า แต่แค่ข้ามคืน ก็อาจพลิกลิ้นเป็นอีกอย่างก็ได้ เมื่อไม่นานมานี้ เราก็เห็นกันอยู่ มันเปลี่ยนสี กันได้ทันทีทันควันอยู่แล้ว

 ดังนั้น เราจะไปหวังว่าฝ่ายประชาธิปไตย เข้าไปแล้ว มันจะไม่มีงูเห่า ก็เป็นไปไม่ได้ ก็อาจจะมี แต่หากว่ามีฝ่ายสว.ประชาธิปไตยมากพอ หากจะมีแบบนั้น ก็ให้มันมีไป เพราะอย่างน้อยที่สุด หากฝ่ายประชาธิปไตยเข้าไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มันก็ยังดีกว่า ไม่ทำอะไรกันเลยแล้วก็ปล่อยให้ฝ่ายเขา เข้าไปยึดวุฒิสภาไว้ทั้งหมด ลองคิดดูว่าหากเขายึดได้ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยฝ่ายที่เขาต้องการให้เป็นประชาธิปไตยแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ แต่เรามองดูแล้ว มันไม่ใช่ประชาธิปไตยเลย ถ้าเขายึดได้ทั้งสองสภา ก็เรียบร้อยเลย ไม่มีอะไรเหลือ

-ตอนยุคปี 2543 สว.ยุคนั้นถูกวิจารณ์เยอะ มีการให้ฉายาต่างๆ เช่น สภาชิน สภาผัวเมีย เพราะถูกมองว่าไม่เป็นอิสระ คอยรับใบสั่งต่างๆ ?

มันมีที่มาอยู่แล้วด้วย เพราะส่วนใหญ่ก็อาศัยฐานเสียงของส.ส. ก็ทำให้ เป็นคนของบ้านใหญ่ตั้งแต่ต้น ผมว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่ง สำหรับสว.รุ่นผมตอนนั้น

สำหรับเรื่องความเป็นกลางของสว.นั้น หากยึดหลักตรงนี้ ก็ฟังดูเป็นอุดมคติดี สำหรับเรื่องความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง แต่พอเข้าไปจริงๆ แล้ว อย่างสว.ชุดผม(สว.ปี 2543) ที่หากมันไม่อิสระจริงๆ ตั้งแต่ต้น เขามีสังกัดอยู่แล้ว และเขาเข้ามา เราจะหวังให้เขาเป็นอิสระได้อย่างไร ถูกหรือไม่ ซึ่งหากเราต้องการให้เป็นแบบนั้นจริงๆ ประชาชนต้องตามไปคุมการทำงานของสว.ด้วย คอยตรวจสอบการทำงานของสว.แบบเกาะติดเลย ไม่ให้คลาดสายตา ต้องทำแบบนั้น ฝ่ายภาคประชาสังคม ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของสว. ใครมีท่าทีจะออกนอกลู่นอกทาง ก็ต้องเอามาแฉกัน ก็จะเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด

"พนัส-อดีตสว."กล่าวอีกว่า สำหรับความสนใจ ความตื่นตัวของคนที่จะลงสมัครสว.จนถึงตอนนี้ ก็พบว่ามีความตื่นตัวกันพอสมควรเท่าที่ได้คุยกันกับคนที่รู้จักและสนใจจะลงสมัครคัดเลือกเป็นสว.

ผมเชื่อว่าจะมีคนที่สนใจและสมัครใจมาลงสมัคร โดยที่จริงๆ ตัวเขาก็ไม่ได้อยากจะเป็นสว.แต่เขามาลงสมัครเพื่อที่จะเข้าไปเลือกคนที่เขาต้องการให้ได้เข้าไปเป็นสว.มากกว่า ก็ภาวนาว่าอยากให้มีแบบนี้มากๆ เท่าที่เห็นก็พบว่าขณะนี้ คนมีความตื่นตัวค่อนข้างสูง

หากถึงตอนวันสมัคร แล้วมีคนมาสมัครเกินหนึ่งแสนคนขึ้นไป ผมก็คิดว่าน่าจะพอมีความหวังสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งหนึ่งแสนคนที่จะมาสมัคร แม้จะมีความหวังแต่ก็คงไม่ถึงกับร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถึงเวลา ก็อาจถูกเขาบล็อกได้อยู่เป็นบางส่วน มันก็อาจก้ำกึ่งด้วยซ้ำไป ถ้ายอดผู้สมัครขึ้นไปถึงหนึ่งแสนคน ฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะได้อย่างเก่ง ก็อาจครึ่งหนึ่ง (100 คน) แต่อาจไม่ถึงด้วยซ้ำไป แต่ถ้าขึ้นไปถึงสองแสนคน สามแสนคน ก็เรียกว่า ครั้งนี้มีสิทธิลุ้นสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เคาต์ดาวน์สว.5ปีอำลาเก้าอี้ จับตาเลือกตะลุมบอนรอบใหม่

เคาต์ดาวน์สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 11 พ.ค.นี้ บางคนบอกลากันทีชุดลากตั้ง ที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ให้กำเนิด และมาพร้อมกับอำนาจพิเศษที่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย

ถาม ‘ธนาธร’ ฮั้วกระบวนการเลือกตั้ง คือการสร้างประชาธิปไตยจริงหรือ?

ที่ประกาศว่าจะมาสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศไทย และประกาศว่าประเทศไทยต้องมีผู้นำที่ชื่อ ธนาธร เท่านั้นถึงจะเป็นประชาธิปไตย

ส่อเลื่อนประชามติ รอแก้กฎหมาย ร่างรธน.ฉบับใหม่ ต้องไม่จุดไฟความขัดแย้ง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา รับทราบ รายงานผลการดำเนินงานของ”คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ

บทธรรมดับโลกร้อน .. ที่นักปกครองต้องอ่าน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. โลกกำลังเข้าสู่ห้วงธรรมวิกฤต.. ที่มนุษยชาติประพฤติตนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ มีความโลภที่รุนแรงและราคะความกำหนัดที่ผิดธรรม .. เป็นส่วนใหญ่

เลขา กกต.โยนบาปรัฐธรรมนูญ! บอกการคัดเลือก สว.แก้ไขไม่ได้

'เลขา กกต.' มองคงแก้อะไรไม่ได้ แม้ถูกทักท้วง รูปแบบ’คัดเลือก สว. เหตุ รธน.กำหนดไว้ ชี้ไทม์ไลน์ ไม่เหมือน เลือกตั้ง สส. ยันมีมาตรการป้องกันการฮั้วทุกพื้นที่

หน้าที่และอำนาจของ สว. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยแพร่สาระน่ารู้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา 20 กลุ่มอาชีพร่วมใจ ขับเคลื่อนประเทศไทย ไปพร้อมกัน