สรท. ชี้ส่งออกปี 67 ยังโต 1-2% แนะปรับค่าแรงต้องพิจาณาให้รอบด้าน

สรท. เชื่อมั่นส่งออกไทยยังเติบโตอย่างน้อย 1-2% ในปี 2567 ระบุการปรับค่าแรงต้องพิจารณาให้รอบด้านและกำหนดมาตรการช่วยเหลือภายใต้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง

7 พ.ค. 2567 – นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมีนาคม 2567 พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หดตัว 10.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 892,290 ล้านบาท หดตัว 6.6% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าหด 5.6%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 26,123.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 944,828 ล้านบาท ขยายตัว 10.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2567 ขาดดุลเท่ากับ 1,163.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 52,538 ล้านบาท

ส่วนภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – มีนาคมของปี 2567 พบว่าไทยส่งออกรวมมูลค่า 70,995.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหดตัว 0.2% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าขยายตัว 1.3%) และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,504,009 ล้านบาท ขยายตัว 4.2% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 75,470.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.8% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 2,692,023 ล้านบาท ขยายตัว 8.2% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – มีนาคม 2567 ขาดดุลเท่ากับ 4,475.2  ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 188,014 ล้านบาท

ทั้งนี้ สรท. คาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2567 คาดการณ์ส่งออกของไทยเติบโตที่ร้อยละ 1-2 (ณ เดือนมีนาคม 2567) โดยมีปัจจัยเฝ้าระวังสำคัญ ได้แก่ 1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การสู้รบระหว่างอิสราเอล-ฮามาสที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นในตะวันออกกลาง อาทิ อิหร่าน ส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม และกระทบต่อช่องแคบฮอร์มุสที่เป็นเส้นทางหลักของการขนส่งน้ำมันโลก 2. ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิต ประกอบด้วย 2.1 ค่าแรงขั้นต่ำ ที่ปรับตัวเป็น 400 บาท 2.2 ต้นทุนพลังงาน อาทิ น้ำมันและไฟฟ้า 2.3 อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงทรงตัวระดับสูง กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 คงดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.5 ต่อปี และ 2.4 ค่าระวางเรือ ปรับตัวสูงขึ้นทุกเส้นทาง 3. ปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร (ผลไม้ออกช้ากว่าฤดูกาลปกติ ยางพาราผลผลิตมีน้อยกว่าปกติ)

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญคือ ต้องสนับสนุนและช่วยเหลือให้ผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงสำคัญ ประกอบด้วย 1. ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรองรับความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงปลายปี และ 2. ความเสี่ยงการชำระเงินของคู่ค้า เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและความสามารถในการชำระเงินของคู่ค้า

นอกจากนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยมีความเห็นต่อเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า “การปรับค่าแรงต้องพิจารณาให้รอบด้านและกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง โดยพิจารณาถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวม” เนื่องจากมีข้อพิจารณาสำคัญประกอบด้วย 1. การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากัน 400 บาท ทั่วประเทศ ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นและใช้ทักษะไม่สูง อาทิ อาหาร เกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งไทยต้องแข่งขันกับสินค้าต้นทุนต่ำจากจีนและเวียดนามที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน

ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ จะทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก โดยเฉพาะต่อคู่แข่งสำคัญ 2. ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงาน (Productivity) จะก่อให้เกิดปัญหาต่อภาคการผลิต ขณะที่การจัดสรรงบประมาณเพื่อยกระดับผลิตภาพแรงงานน้อยกว่า 1% สะท้อนผลิตภาพที่เปราะบาง และ 3. การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจะกระทบอุตสาหกรรมเดิมหรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และ SMEs ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูงได้ในเวลาอันสั้น

พร้อมกันนี้ ระบุว่า รัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบริหารจัดต้นทุนการผลิตเพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก และมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ดังนี้ 1. ควรปรับค่าแรงและกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง (คณะกรรมการไตรภาคี) ในแต่ละพื้นที่ โดยต้องคำนึงถึงค่าครองชีพที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่และผลิตภาพของแรงงาน (Productivity) และต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวม

2.ขอให้พิจารณาปรับค่าแรงอย่างรอบคอบและปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป 3. การปรับค่าแรงต้องสอดคล้องกับฝีมือแรงงาน โดยรัฐต้องสนับสนุนเรื่อง Total Productivity และ Innovation skill ของแรงงานไทยให้ชัดเจน  และ 4. ควรตั้งกองทุนร่วมลงทุนกับบริษัทที่ต้องเสริมสภาพคล่องสำหรับจ้างแรงงานมีฝีมือมาปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้การแข่งขัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรอง ปลงอนิจจา ศก.กำลังแย่ คนไทยที่เจ็บไม่เคยจำ แถมขี้ลืม

นันทิวัฒน์ บอกเสียงโอดครวญทุกแห่งหน จะตายอยู่แล้ว เศรษฐกิจแย่ ตลาดเงียบ มีแต่คนขาย คนรุ่นใหม่เริ่มตาสว่าง