ณัฐพงษ์ หน.พรรคประชาชน ฝ่ายอนุรักษนิยม อย่าระแวงเรา กับจุดยืน 'สถาบันฯ-แก้ 112'

ไม่ใช่คนที่อยู่แค่ในกรอบความคิดของคนในกลุ่มตัวเอง  ไม่เปิดรับฟังคนอื่น ยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเปิดกว้าง  พูดคุยกันได้ ก็ไม่อยากให้ระแวง...อยากจะให้ฟังเสียงของประชาชน คนส่วนใหญ่จริงๆ...ถ้าเสียงของคนส่วนใหญ่สะท้อนออกมาแบบหนึ่ง แต่กลุ่มคนที่ถืออำนาจต้องการอีกแบบหนึ่ง มันจะเกิดการชนกันระหว่างสองขั้วอำนาจ คือระหว่างอำนาจที่มาจากประชาชนที่เป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ กับอำนาจของคนไม่กี่คนที่ถือกลไกอำนาจรัฐ กลไกทุน สังคมมันจะไม่มีทางออก

บทบาทของ "พรรคประชาชน" พรรคการเมืองที่ขึ้นมารับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกล ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไป นับจากนี้ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

เพราะนอกจากแกนนำพรรคจะวางหมุดหมายทางการเมือง ที่การเลือกตั้งรอบหน้าตั้งเป้าไว้ว่าต้องการให้ได้ สส.อย่างน้อย 270 เสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว บทบาทต่อจากนี้ในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ในการตรวจสอบรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ "อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี" ก็น่าสนใจอย่างยิ่งว่า พรรคประชาชนจะทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน

"ไทยโพสต์" สัมภาษณ์พิเศษ "ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน" ถึงการขับเคลื่อนทางการเมืองของพรรคประชาชนทั้งในและนอกสภาฯ ซึ่งเขายังคงเชื่อมั่นว่าพรรคประชาชนจะเติบโตทางการเมืองได้อีก ยังมีโอกาสที่พรรคจะได้เสียงเกินกว่า  14 ล้านเสียงที่พรรคก้าวไกลเคยได้ตอนเลือกตั้งปี 2566

ก่อนอื่นเราถาม "เท้ง-ณัฐพงษ์" ถึงการเข้ามาสู่ถนนการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่ตอนนั้นอายุยังแค่ประมาณ 31-32 ปี โดยเขาเล่าเกร็ดประวัติชีวิตให้ฟังถึงความสนใจทางการเมืองว่า เริ่มตั้งแต่ช่วงสมัยเป็นนักศึกษาปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่ตอนนั้นเกิดรัฐประหารปี 2549 (คมช.) ช่วงนั้นอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ความเห็นส่วนใหญ่รอบตัวผมอาจไม่ค่อยตรงกับสิ่งที่เราเชื่อเท่าใดนัก เพราะผมคิดว่าการทำรัฐประหารไม่ใช่ทางออก เมื่อมีรัฐประหารปี 2549 เกิดขึ้น ทำให้หมดศรัทธากับการเมืองไทยไประดับหนึ่ง เพราะการทำรัฐประหารคือจุดที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วกระทบกับคนไทยทุกคน สิ่งนี้คล้ายๆ กับเป็นแผลในใจเราแบบหนึ่ง เพราะผมไม่เชื่อว่าในโลกยุคนี้สมัยนี้ ในช่วงที่ผมอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยจะมีการทำรัฐประหารเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย และยิ่งมาเกิดรัฐประหารอีกรอบปี 2557 (คสช.) ก็ยิ่งตอกย้ำมากขึ้นไปอีก

 ...ที่ผ่านมาครอบครัวโดยเฉพาะคุณพ่อผม มีความสนใจทางการเมืองมากที่สุดในครอบครัว ส่วนพี่น้องคนอื่นๆ ก็จะคล้ายๆ กับผม ส่วนมุมมองการเมืองไทยก่อนหน้าที่จะเข้ามาสู่ถนนการเมืองในการเลือกตั้งปี 2562 ก็มองว่าการเมืองไทยค่อนข้างชัดเจนว่ามีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกเป็นสองขั้ว ถ้าพูดในโทนของตัวผมเองก็ค่อนข้างได้รับอิทธิพลจากคุณพ่อ คือจะอยู่ในซีกฝั่งที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่า

...สำหรับตัวผมเอง ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจที่จะไปทำงานกับพรรคการเมืองใดเลย สนใจก็เพียงแต่การเป็นโหวตเตอร์ การติดตามนโยบาย สนใจแค่ว่าถ้ามีการเข้าคูหาวันเลือกตั้ง เราจะเลือกพรรคการเมืองใด แต่ไม่เคยสนใจว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ไปเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่เคยสนใจลักษณะดังกล่าว โดยเรื่องการเมืองก็ติดตามจากข่าวสารการเมือง แต่โดยส่วนตัวไม่ค่อยได้ไปร่วมกิจกรรมการเมืองเท่าใด

อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยส่วนตัวตอนนั้นมีความตั้งใจตลอดว่า หากประสบความสำเร็จในชีวิต อีกด้านหนึ่งก็อยากทำประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งพอมีพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้น ที่เขาบอกว่า "คนธรรมดาทำการเมืองได้ การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน" คนที่จะมาร่วมเป็นลูกพรรคกับพรรคอนาคตใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มการเมืองเดิม ไม่จำเป็นต้องมีครอบครัวเป็นนักการเมืองเดิมก็เข้ามาร่วมได้ ก็เลยเปิดประตูเราอีกโลกหนึ่งเข้ามา

เส้นทางการเมือง จากอนาคตใหม่-ก้าวไกล ก่อนเป็น หน.พรรคส้มแถวสาม 

เท้ง-ณัฐพงษ์" กล่าวต่อไปว่า เมื่อพรรคอนาคตใหม่ เปิดตัวขึ้นช่วงปี 2561-2562 ก็เป็นการเปิดประตูความคิดเราอีกด้านหนึ่ง เพราะสิ่งที่อดีต 3 แกนนำพรรคอนาคตใหม่ (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรณิการ์ วานิช) นำเสนอ ค่อนข้างตรงใจเราในเรื่องการอยากทำการเมืองไทยให้ดีขึ้น อนาคตใหม่จึงเป็นพรรคการเมืองแห่งแรกในชีวิตและในประวัติครอบครัวที่ได้เข้าไป เพราะครอบครัวผมไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาก่อน

...ตอนที่เข้าพรรคอนาคตใหม่ หลายคนเข้าใจไปว่าผมถูกชวนเข้ามาที่พรรคอนาคตใหม่ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะตอนตั้งพรรคอนาคตใหม่ก็เริ่มมีการเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคทางออนไลน์ ผมก็ยื่นใบสมัครออนไลน์เข้าไปที่พรรคอนาคตใหม่ แค่นั้นเลย แล้วเขาก็เรียกสัมภาษณ์

ตอนนั้นก็ไม่ได้บอกกับคนในครอบครัว มาบอกก็ตอนที่ต้องไปสัมภาษณ์ที่ตึกไทยซัมมิทฯ โดยสาเหตุที่ตอนแรกยังไม่บอกคนในครอบครัว เพราะตัวผมเองก็ไม่มั่นใจว่าจะได้รับการคัดเลือกจากใบสมัครที่ยื่นไปหรือไม่ เพราะเราก็คิดว่าคนที่จะลงสมัคร สส.ได้น่าจะ high profile มากกว่าเรา มี profile ดีกว่าเรา ตอนนั้นก็เลยไม่ได้บอกใคร ก็ยื่นใบสมัครไป โดยก็หวังลึกๆ เพราะตอนนั้นพรรคบอกว่าตัวผู้สมัครยังไม่ครบ 350 เขต (เลือกตั้งปี 2562 มี สส.เขต 350 เขต) ก็เลยอาสาไปเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรค  เพราะตอนนั้นระบบการเลือกตั้งเป็นระบบแบบบัตรใบเดียว  แต่ปรากฏว่าพรรคอนาคตใหม่ตอบรับและนัดให้เราไปสัมภาษณ์ที่ตึกไทยซัมมิทฯ ก็เลยเพิ่งบอกคุณพ่อกับภรรยาวันที่ไปสัมภาษณ์

ต่อมาพรรคอนาคตใหม่ประกาศให้เป็นผู้สมัคร สส.กรุงเทพมหานคร เขตบางแค ตอนหาเสียงลงเลือกตั้งก็เป็นผู้สมัครหน้าใหม่เช่นเดียวกับผู้สมัครเกือบทั้งพรรค เพราะตอนนั้นอนาคตใหม่ไม่มีอดีต สส.เลย รวมถึงแกนนำพรรคก็เป็นหน้าใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้เราชนะการเลือกตั้งมาได้ ผมคิดว่านอกจากการสื่อสารนโยบายที่ตอบโจทย์หลายคนแล้ว อีกเรื่องหนึ่งก็คือการลงพื้นที่อย่างหนัก

เมื่อถามถึงว่า ก่อนหน้ามาเล่นการเมืองเคยมีนักการเมืองที่ชื่นชอบบ้างหรือไม่ "ณัฐพงษ์-หัวหน้าพรรคประชาชน" กล่าวตอบว่า จริงๆ ดูตามพรรคมากกว่า อาจไม่ได้ยึดติดกับตัวบุคคล ก็เป็นคนที่อยู่ในโซนฝั่งประชาธิปไตย ก็ขอไม่พูดชื่อพรรค จะได้ไม่ไปพาดพิงอะไรเขา ซึ่งถ้าพูดถึงตัวบุคคลก็ต้องยอมรับตามข้อเท็จจริงว่า ก็เป็นอดีตแกนนำทุกคน ผมก็นับถือและเคารพ และรวมถึงเพื่อนร่วมพรรคในปัจจุบันที่ร่วมเดินทางกันมา

-ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชน ที่มาแทนพรรคก้าวไกล ก่อนหน้านี้คนก็มองกันทางการเมืองว่า ตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่มาถึงก้าวไกล เป็นพรรคการเมืองค่อนข้างสุดโต่ง?

ผมไม่คิดว่าเราเป็นพรรคการเมืองสุดโต่ง คิดว่าสิ่งที่พรรคเรานำเสนอเรื่องต่างๆ เป็นสิ่งปกติ ที่ควรจะต้องเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยสากล เพียงแต่ว่าบริบทบ้านเรายังมีอะไรอีกหลายอย่างที่อาจจะยังไม่ได้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

ผมยกตัวอย่างเช่น มีกลไกของรัฐบางอย่างที่สามารถมายุบพรรคการเมืองได้โดยง่าย ทั้งที่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง สิ่งที่พวกเรานำเสนอเป็นอะไรที่เรียบง่าย เข้าใจว่าหากมองอีกด้าน คนที่มีความเชื่ออีกด้าน เขาอาจมองว่าเราอยู่ห่างจากเขาเยอะ แต่ผมอยากทำความเข้าใจกับสังคม  อยากสื่อสารกับทุกคนว่า สิ่งที่เรานำเสนอเป็นเรื่องพื้นฐานมากที่ประชาธิปไตยสากลยอมรับกัน

-การที่ทั้งพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรคมาสองครั้ง เมื่อขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน คิดว่าจะต้องมีการถอดบทเรียน ต้องปรับยุทธศาสตร์อะไรหรือไม่ หรือจะเดินการเมืองไปแบบเดิม?

แน่นอนที่สุด เราต้องเรียนรู้และทำให้เราเติบโตไปอย่างสุขุมรอบคอบและมีความมั่นคงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารเรื่องของข้อกฎหมาย เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งตอนนี้เราต้องรอผลคำวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผลทำให้พรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค ตัวคำวินิจฉัยที่เป็นทางการที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการที่จะออกมากับคำวินิจฉัยตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านตอนนั่งอยู่ที่บัลลังก์ (7 สิงหาคม) อาจจะมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน ซึ่งตัวที่มีผลผูกพันจริงๆ คือตัวที่เป็นคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ ดังนั้นตอนนี้ผมจึงยังให้รายละเอียดอะไรไม่ได้มากว่า ในส่วนของนโยบายที่ถูกถามในหลายเวที เช่นเรื่องมาตรา 112 จะเดินต่อไปอย่างไร ก็คงต้องรอความชัดเจนจากคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการของศาลรัฐธรรมนูญ

ประการที่สอง เราเชื่อมั่นมาตลอดว่า "พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค" ณ ตอนนี้สิ่งที่ผมตอบได้คือเรื่องของ "หลักการของพรรค" แต่เนื้อหาวิธีการและรายละเอียด ผมตอบคนเดียวไม่ได้ ยังไงต้องผ่านการหารือในที่ประชุม สส. ต้องมีการซาวเสียงจากเพื่อนๆ ก่อนว่า วิธีการแบบไหนที่เราจะเดินต่อไปด้วยกัน

สำหรับนโยบายอื่นๆ ผมคิดว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน นอกจากเรื่อง 112 แล้ว ผมอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญและให้ความสนใจในเรื่องนโยบายอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการ "ทลายทุนผูกขาด",  "การปฏิรูปกองทัพ"

อย่างในสภาฯ เอง สส.ของพรรคก็มีการเสนอร่างกฎหมายสำคัญหลายเรื่อง เช่นเรื่องของการแข่งขันทางการค้า เรื่องของ พ.ร.บ.ล้มละลายของ สส.วรภพ วิริยะโรจน์ กับคณะ หรือร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ของนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ กับคณะ เป็นต้น รวมถึงยังมีอีกหลายร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ การปรับโครงสร้างการแข่งขันทางการค้า หรือการเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกคำสั่ง คสช. สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถผลักดันได้ในฐานะการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน

-ที่ผ่านมาตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่มาจนถึงก้าวไกล บทบาทหนึ่งที่หลายคนเห็นชัดเจนก็คือการตรวจสอบกองทัพ หน่วยงานความมั่นคง เช่นงบจัดซื้ออาวุธ การเสนอปฏิรูปกองทัพ การเสนอกฎหมายยกเลิกเกณฑ์ทหาร พอมาถึงยุคพรรคประชาชน ความเข้มข้นตรงนี้จะยังเหมือนเดิมหรือไม่?

คิดว่าหลักการสำคัญๆ ยังเหมือนเดิม และพอดีช่วงนี้เป็นช่วงจังหวะรอยต่อ แต่อย่างไรก็ตามจังหวะจะโคนในการนำเสนอ หรือการนำเสนอก็จะต้องมีการหารือกันภายในพรรคประชาชน ในที่ประชุม สส.ของพรรคประชาชน

-การขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน ก็คือยืนยันว่า ทุกอย่างยังเหมือนเดิมหมด ไม่มีการลดเพดาน ลดโทนอะไรลง?

ผมไม่อยากใช้คำว่าลดหรือไม่ลดเพดาน เนื่องจากคำว่าเพดานของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน สำหรับผมหากจะให้นิยามคำว่าเพดานชัดๆ ก็คือการรับรู้ร่วมกันว่าสิ่งใดเป็นปัญหาของประเทศ อย่างกรณีของมาตรา 112 เพดานของผมคือ ต้องยอมรับร่วมกันว่ากฎหมายนี้มีปัญหา แต่จะแก้ไขอย่างไร ด้วยวิธีการใด อย่างที่บอกข้างต้นคือ พรรคใหญ่กว่าคน พรรคใหญ่กว่าตัวผม วิธีการจะแก้อย่างไร ขอไปหารือในที่ประชุม สส.ของพรรคประชาชนก่อน

ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็คล้ายกัน คือเราดูกันที่หลักการ กองทัพยังมีปัญหาอย่างไร จำนวนนายพล สวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อยยังมีปัญหา หรือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ การกระจุกตัวของกลุ่มทุน การแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผมคิดว่าหากเรามองเห็นปัญหาร่วมกัน อันนี้คือสิ่งที่เราจะผลักดันต่อ

-การทำงานร่วมกันกับเลขาธิการพรรคประชาชน  คุณศรายุทธิ์ ใจหลัก แนวทางบทบาทจะเป็นอย่างไร?

ก็ได้คุยกันบ่อย และมีความชัดเจนตั้งแต่วันที่ออกไปแถลงวันที่ 9 ส.ค. และหลังจากวันนั้นเราก็มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง อย่างในที่ประชุม สส.ก็จะมีการพูดคุยกันเรื่อง "การปรับปรุงโครงสร้างพรรคใหม่" เราพยายามจะแยกงานระหว่างงานหลังบ้านกับงานหน้าบ้านออกจากกัน งานหลังบ้านอยู่กับคุณศรายุทธิ์ เลขาธิการพรรคไปเลย ส่วนงานหน้าบ้านก็เป็นบทบาทหน้าที่ของหัวหน้าพรรคคือตัวผม

สำหรับคุณศรายุทธิ์เขาเป็นรากแก้ว เป็นเสาหลักของพรรคมาตั้งแต่อนาคตใหม่จนมาถึงพรรคก้าวไกล และมาถึงพรรคประชาชนโดยตลอด ทำงานในฐานะผู้อำนวยการพรรค ดูแลทีมงานจังหวัด ดูเรื่องโครงสร้างพรรค เครือข่ายพรรคมาตลอด จึงเป็นคนที่รู้ระบบบริหารพรรคหลังบ้านดี สิ่งนี้คือจุดแข็งที่สำคัญของคุณศรายุทธิ์ และจะเป็นรากแก้ว เป็นเสาหลักที่จะทำให้พรรคประชาชนเดินต่อไปอย่างมั่นคง แม้จะถูกยุบมาจากพรรคก้าวไกล

ส่วนตัวผมเอง ผมมองว่าสิ่งที่เป็นจุดแข็งของผมที่ไม่แพ้ใครแน่นอน ก็คือเรื่องของ "หลักการ ความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมือง" ที่ผมเองตัดสินใจเข้าร่วมเส้นทางการเมืองตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ ก็เพราะเรื่องนี้ เรื่องนี้ก็ยืนยันได้ว่าจะมีการสานต่อ ส่วนจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่างจากผู้นำคนก่อนๆ หรือไม่ อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจ  คือผมมองว่าผมเป็นคนที่เปิดกว้าง พูดคุยได้กับทุกฝ่าย และไม่ใช่คนสุดโต่งแน่นอน คือยินดีพูดคุยและรับฟัง

เพียงแต่ว่าผมเชื่อในหลักการทางการเมืองที่ว่า วิธีการทำงานการเมืองที่ดีคือการแสวงหาจุดร่วม แต่สงวนจุดต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าเรายึดหลักตรงนี้ ประตูเปิดเสมอ ยังไงเรามีหน้าที่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะอยู่ขั้วเดียวกับเราหรืออยู่ขั้วตรงข้ามกับเรา ส่วนอะไรที่เราคิดว่าเป็น "จุดแตกต่าง" ที่เราคิดว่าเรารวมกันไม่ได้จริงๆ ก็ต้องสงวนไว้และเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน และให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน

-เท่าที่คิดเร็วๆ ตอนนี้ในการเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน คิดว่าจะผลักดันแนวคิดหรือนโยบายอะไรใหม่ๆ?

ประเด็นสำคัญตอนนี้คือการสานต่อแนวทางเดิมของพรรค ให้เติบโตไปข้างหน้าได้อย่างไม่สะดุดและเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

ยกตัวอย่างเช่น ยอดเงินบริจาคให้กับพรรคและยอดสมัครสมาชิกพรรคประชาชนที่เรามีการตั้งเป้าไว้ ก็เป็นเรื่องที่เราเตรียมความพร้อมไว้เป็นอย่างดี อันนี้คือเรื่องระยะสั้นที่สุด ส่วนระยะที่ถอยออกมาก็คือ เรื่องของสนามเลือกตั้งท้องถิ่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี และการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 ที่ผมคิดว่าจะเป็นก้าวแรกที่ เราจะต้องปักหมุดหมายในฐานะพรรคประชาชนให้ได้ ก่อนที่จะเดินไปสู่สนามเลือกตั้งอื่นๆ จนถึงการเลือกตั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2570 อันนี้คือแผนระยะกลาง

สำหรับแผนงานระยะยาวที่น่าจะต้องทำก็คือ เรื่องของการเตรียมทีม เตรียมนโยบายเพื่อไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ สส.ปี 2570 ที่เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าเราอยากได้เสียงจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ซึ่งพอถึงช่วงเวลาดังกล่าวพรรคต้องมีทั้งทีมงานและมีนโยบายต่างๆ รวมถึงข้อเสนอทางกฎหมายที่พร้อม เช่นหากชนะการเลือกตั้งขึ้นมาก็พร้อมจะเข้าไปดำเนินการต่อได้ทันที

ยังไม่ถึงจุดพีก พรรคประชาชน ยังมีคะแนนเพิ่มได้อีก

-จากที่พรรคก้าวไกลเคยได้คะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ 14 ล้านเสียง การเลือกตั้งรอบหน้าจะทำให้พรรคประชาชนได้เสียงมากกว่า 14 ล้านเสียงได้หรือไม่ เพราะคนมองกันว่าพรรคน่าจะเลยจุดพีกมาแล้ว?

ผมคิดว่ายังไม่ถึงจุดพีก ยังสามารถไปต่อได้ ตราบใดที่อำนาจสูงสุดยังไม่เป็นของประชาชน นโยบาย กฎระเบียบต่างๆ ในประเทศยังไม่ได้ตอบสนองต่อคนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการ หรือการกระจุกตัวของกลุ่มทุน ยังกระจุกตัวอยู่กับบางคน ที่อาศัยกฎระเบียบของรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง หรือว่าเรื่องของกองทัพที่อาจจะยังไม่ได้เป็นกองทัพที่ทันสมัย สิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหาเหล่านี้ ผมคิดว่าหากยังไม่ถูกแก้ไข ผมว่ายังไม่ถึงจุดพีกของพรรคประชาชนแน่นอน เพราะประชาชนยังไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการ

ผมเชื่อว่าวันหนึ่ง หากพรรคประชาชนชนะการเลือกตั้ง จนได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว แล้วเราเข้าไปแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แล้วเปลี่ยนประเทศไทยให้ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แก้ไขปัญหาที่ต้นตอจริงๆ ถึงวันนั้นจะเรียกว่าเป็นจุดพีกของพรรคประชาชน อันนี้ผมก็คิดว่าพอจะเป็นไปได้อยู่

-ตอนนี้คุยกันเดือนสิงหาคม 2567 หากประเมินกันคร่าวๆ คิดว่าเลือกตั้งรอบหน้า พรรคน่าจะได้ สส.สักกี่เสียง?

ถ้าจะตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ยังไง minimum ก็ต้องมี 270 เสียงขึ้นไป แต่หากจะถามว่าแยกเป็น สส.เขตกี่คน  สส.ปาร์ตี้ลิสต์จะได้สักประมาณเท่าใด ยังไงคงต้องขอดูบริบทและสถานการณ์การเมืองในอนาคตอีกทีหนึ่ง ตอบวันนี้ตอบล่วงหน้า 3 ปีคงเร็วเกินไปที่ตอบ

-ทำไมถึงคิดว่าจะทำได้ 270 เสียง?

มันเป็นอะไรที่มันเป็นขั้นต่ำที่เราต้องตั้งเป้าให้สูงขึ้น  เพราะในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 เราชนะการเลือกตั้งมา เป็นพรรคที่ได้เสียง สส.มาเป็นอันดับหนึ่ง ผมคิดว่ามันคงจะเป็นการตั้งเป้าหมายที่ไม่ดี ในฐานะผู้นำพรรคคนใหม่ที่จะบอกว่าเป้าหมายของเราคือเท่าเดิม การตั้งเป้าหมายในทุกองค์กร เราต้องตั้งเป้าหมายไปข้างหน้าอยู่แล้ว เพื่อที่เราจะได้พยายามไปให้ถึง

-แต่บริบทการเมืองอย่างตอนเลือกตั้งปี 2566 ก็มีเรื่องของกระแสเลือกเพื่อไม่ให้กลุ่ม 3 ป.สืบทอดอำนาจ ไม่เลือกพรรคของ 2 ลุง แต่ถ้าไปเลือกตั้งรอบหน้าเช่นเลือกปี 2570 บริบทจะไม่มีแบบนั้นแล้ว เป็นเรื่องของการเลือกตั้งสถานการณ์ปกติ คนก็มองว่าพรรคประชาชนไม่น่าจะได้คะแนนมากแบบเดิม?

ผมคิดว่ายังเป็นสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ รัฐบาลชุดนี้ ยอมรับตามข้อเท็จจริงว่า การโหวตนายกฯ อาศัยเสียงจากการประชุมร่วมรัฐสภา ที่เสียงโหวตของสมาชิกวุฒิสภายังมีส่วนสำคัญในการโหวตนายกฯ ที่ตอนนั้น สว.ยังมีอำนาจอยู่ภายใต้บทเฉพาะกาล ก็จะเห็นได้ว่าเสียงของ สว.ที่ไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง แต่กลับมามีส่วนร่วมในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี

เพราะฉะนั้น ถามผมว่าบริบทการเมืองในปัจจุบันปกติหรือไม่ ก็มองว่าไม่ปกติ และเป็นบริบทการเมืองที่ทำให้ประชาชนเห็นอะไรหลายอย่าง ซึ่งผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2570 จะเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้ประชาชนออกมาแสดงออกว่า เขาเห็นความไม่ปกติของบริบททางการเมืองในปัจจุบันอย่างไร

มุมมอง-ความเห็น ต่อขั้วอำนาจฝั่งอนุรักษนิยม

-มีนิยามคำว่าฝั่งอนุรักษนิยมอย่างไรบ้าง?

ถ้านิยามของผม ก็คิดว่าอาจจะเป็นกลุ่มที่เข้าถึง "อำนาจและผลประโยชน์" เดิมอยู่ ที่แน่นอนที่สุด กลุ่มคนเหล่านี้ก็น่าที่จะพยายามรักษาผลประโยชน์หรือฐานอำนาจเดิมไว้ แต่ว่าผมคิดว่าอย่างไรก็ตาม การต่อรองผลประโยชน์ระหว่างคนไม่กี่กลุ่ม กับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ มันต้องมีการต่อสู้ต่อรองกันโดยตลอดผ่านเวทีการเมือง

แต่บริบทการเมืองในปัจจุบัน มันค่อนข้างแสดงออกให้เห็นว่าประชาชนต้องการอะไร มันพิสูจน์ได้จากคะแนนเสียงของอดีตพรรคก้าวไกล ที่เราชนะการเลือกตั้งได้คะแนนมาอันดับหนึ่ง ทั้งที่ตัวผมเอง คนในพรรคเอง หรือแม้แต่หลายคนในประเทศนี้ก็ยังอาจไม่เชื่อด้วยซ้ำว่า คะแนนเสียงของอดีตพรรคก้าวไกลจะได้รับการสนับสนุนถึง 14 ล้านเสียง

แต่พอผลคะแนนของประชาชนออกมาแบบนี้ มันเปลี่ยนกรอบความเชื่อของทุกคนในประเทศใหม่ไปตลอดกาล มันเปลี่ยนกรอบความเชื่อว่า นี้คือเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการเข้ามาหาพรรคการเมือง ที่นำเสนอนโยบายแก้ไขปัญหาการเมืองเชิงโครงสร้างมีอยู่จริง และผมเชื่อว่าเจตจำนงแบบนี้มันจะเดินต่อ ถึงแม้จะถูกยุบกลายมาเป็นพรรคประชาชน แต่เจตจำนงนี้ก็ยังไม่หาย และมันจะถูกสะท้อนได้อย่างดังยิ่งขึ้นในการเลือกตั้งปี 2570 ด้วย

-กับกลุ่มคนในฝั่งอีลิต ฝ่ายอนุรักษนิยม ที่เขายังมีความระแวง ความไม่ไว้ใจมาตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่ จะบอกแนวทางที่พรรคประชาชนซึ่งมีคุณเป็นหัวหน้าพรรคจะเดินต่อไปกับพวกเขาอย่างไร?

ไม่อยากให้ระแวง ผมอยากให้พวกเขาเปิดใจรับฟัง อย่างจริงๆ ลองสืบประวัติผมย้อนหลังดูก็ได้ ผมไม่เคยปรากฏอยู่บนหน้าสื่อว่าเป็นแคนดิเดตที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของพรรคว่าจะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ผมเชื่อว่าการทำงานของผมตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ในฐานะผู้แทนราษฎร  ผมได้แสดงออกแล้วว่า ผมสามารถทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้  มีการผลักดันเรื่องการแก้ไขกฎหมายหลายอย่างที่ผมเองก็ทำงานร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ

เพราะฉะนั้นตรงนี้สบายใจได้ว่า ผมไม่ใช่คนที่อยู่แค่ในกรอบความคิดของคนในกลุ่มตัวเอง ไม่เปิดรับฟังคนอื่น ยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเปิดกว้าง พูดคุยกันได้ ก็ไม่อยากให้ระแวง

ประการที่สอง อยากจะให้ฟังเสียงของประชาชน คนส่วนใหญ่จริงๆ เพราะผมคิดว่าเราไม่น่าทำให้สังคมนี้เดินต่อไปได้ ถ้าเสียงของคนส่วนใหญ่สะท้อนออกมาแบบหนึ่ง แต่กลุ่มคนที่ถืออำนาจกลับต้องการอีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่ามันจะเกิดการชนกันระหว่างสองขั้วอำนาจ คือระหว่างอำนาจที่มาจากประชาชนที่เป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ กับอำนาจของคนไม่กี่คนที่ถือกลไกอำนาจรัฐ กลไกทุนอยู่ แล้วสังคมมันจะไม่มีทางออก

-หากมีคนจากฝั่งอนุรักษนิยมหรือฝ่ายกุมอำนาจรัฐ มาบอกว่าอยากให้พรรคประชาชนถอยสักหนึ่งก้าว สองก้าว แล้วทุกอย่างก็จะเดินไปได้ แต่อาจจะต้องเสียจุดยืนพรรคบ้าง ในฐานะหัวหน้าพรรคจะบอกตรงนี้อย่างไร?

ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องว่าการรักษาจุดยืนหรือไม่รักษาจุดยืนของพรรค ไม่อยากให้คิดว่าสิ่งที่พรรคประชาชนถอยไม่ได้ เพราะกลัวถอยแล้วพรรคจะเสียคะแนน ไม่ใช่เรื่องพวกนั้นเลย เนื่องจากว่าเราเองตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่มาจนถึงพรรคประชาชนในปัจจุบัน เราเติบโตมาได้เพราะได้รับการสนับสนุนของประชาชนทุกคน เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่เรา ต้องทำต่อก็คือ ฟังเสียงของประชาชนว่าเขาต้องการอะไร หากเขาสะท้อนเสียงออกมาอยู่ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นปัญหาของเขา มันก็เป็นหน้าที่ของพวกเราในฐานะพรรคการเมืองที่มาจากประชาชน ที่จะต้องผลักดันสิ่งเหล่านั้นต่อไป

การเจรจากันต่อจากนี้ ไม่ควรเป็นดีลลับหลังบ้าน 

-คิดว่าในอนาคตข้างหน้า การเมืองที่อาจจะยังต้องมีการพูดคุย มีดีลลับอะไรต่างๆ โดยคนที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นการเมืองแบบเก่า แล้วตัวคุณพร้อมที่จะเดินเข้าไปในการเมืองแบบนั้นหรือไม่?

ผมขออนุญาตไม่ใช่คำว่าดีล เพราะคำว่าดีลรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องการตกลงผลประโยชน์ ก็ขอใช้คำว่าการเจรจา ซึ่งมีการเจรจาได้ และการเจรจาทุกอย่างผมคิดว่าควรเจรจากันบนโต๊ะ ไม่ควรมีข้อเจรจาอะไรที่ไม่อยู่ในสายตาประชาชน  อันนี้ผมคิดว่าเป็นหลักการเบื้องต้น แต่แน่นอนที่สุดด้วยมารยาทในการเจรจา ก็เหมือนกันกับเวลาเราเจรจาทางการค้า เจรจาทางการทูต เรื่องบางอย่างถ้ามันเป็นประเด็นอ่อนไหวของแต่ละฝ่าย บางอย่างก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องมาสื่อสารในเวทีสาธารณะ แต่ว่าเราก็สามารถเปิดการเจรจาให้ทุกคนได้รับทราบว่ามีการพูดคุยกันวันไหน เมื่อใด แต่ว่าการแถลงข่าวมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งว่าผลของการเจรจาเป็นอย่างไร

ซึ่งกำลังจะบอกว่า อยากจะทำให้การเจรจากันต่อจากนี้ ไม่ควรเป็นดีลลับหลังบ้าน ปิดประตูคุยกัน แต่มันควรอยู่ในสายตาประชาชน แล้วก็พูดถึงผลของการเจรจาที่เป็นจุดยืนร่วมกันที่พอจะพูดได้

-ในการที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ มีแนวทางการตรวจสอบรัฐบาลอย่างไร ที่ผ่านมาหนึ่งปีคนก็วิจารณ์กันว่า พรรคก้าวไกลไม่ตรวจสอบรัฐบาลเข้มข้นเท่าที่ควร อย่างเรื่องกรณีทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่เห็นแตะ?

ผมคิดว่ามีประเด็นอีกหลายอย่างที่สามารถผลักดันได้  ยกตัวอย่างการประชุมสภาฯ ที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ. สำคัญๆ หลายฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ผมยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ที่พูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ การที่จะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการเรื่องของการขนส่งสาธารณะโดยท้องถิ่นเอง รวมถึงร่าง พ.ร.บ.อื่นๆ เช่นร่าง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย หรือร่างกฎหมายเพื่อให้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช.ก็สำคัญ ก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเราสามารถผลักดันได้  ในฐานะพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียง สส.มากเป็นอันดับหนึ่งในซีกฝ่ายค้านในปัจจุบัน นอกจากนี้ผมคิดว่าอาจจะขอใช้เวที กระทู้ถามสด ในฐานะที่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน หัวหน้าพรรคคนใหม่ จะขอตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

ส่วนเรื่องการตรวจสอบรัฐบาล การยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น เรื่องนี้จะให้พรรคประชาชนตอบเพียงพรรคเดียวคงไม่พอ ต้องให้เกียรติพรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคอื่นๆ ด้วย แต่แน่นอนที่สุด หากให้ตอบความเห็นส่วนตัวของผม ก็คิดว่าการจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลควรจะยื่นในจังหวะที่เรามีข้อมูลแน่นพอ มีประเด็นที่สำคัญจริงๆ ในการจะยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

- คือยืนยันว่ายุคพรรคประชาชนพร้อมจะตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำเพราะอยากถนอมน้ำใจกัน เพื่อรอไปจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันหลังเลือกตั้งหรือในอนาคต?

ผมว่าไม่หรอก ตอนนี้เราอยู่กันคนละโหมด เราทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันทุกคนมีความเป็นมืออาชีพพอ เพราะฉะนั้นอย่างที่ผมบอก หลังการเลือกตั้งครั้งหน้ามันจะมีการเจรจาอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ หรือว่าจะไม่เกิดขึ้น ขอให้ไปว่ากัน ขอให้รอดูบริบทสถานการณ์การเมือง ณ ตอนนั้น เพราะแต่ละพรรคก็ยังไม่ได้มีการนำเสนอนโยบายสำหรับการเลือกตั้งปี 2570 ซึ่งนโยบายการเลือกตั้งตอนปี 2570 จะเป็นเส้นแบ่งที่สำคัญ ว่าตกลงพรรคประชาชนจะสามารถร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับใครได้บ้างหรือว่าจะไม่ได้ ในกรณีที่เราไม่ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ การตอบตอนนี้จึงยังเร็วเกินไปที่จะตอบ

-เรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอเข้าสภาฯ ยังมีความเห็นที่หลากหลายกันอยู่ในเรื่องการนิรโทษกรรมคดี 112 คิดว่าจะขับเคลื่อนไปอย่างไร และเรื่องนี้จะสร้างความขัดแย้งหรือไม่?

ผมคิดว่าก็คล้ายๆ กับเรื่อง 112 ก็ยังคิดว่า ณ ตอนนี้ ขอรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิกพรรคก่อน ซึ่งเรื่องนี้ผมได้ตอบไปแล้วหลายเวที หากยังตอบอีกก็จะกลายเป็นว่า หัวหน้าพรรคไปกำหนดความคิดลูกพรรคได้ ซึ่งไม่จริง เพราะพรรคเรามีจุดยืนมาตลอดว่า พรรคใหญ่กว่าคน  ประชาชนใหญ่กว่าพรรค เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ผมก็ขอเวลาสักระยะไปรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนๆ สมาชิกภายในพรรคประชาชน ว่าวิธีการในการเดินต่อเราจะเดินไปอย่างไร

-ส่วนตัวเห็นด้วยหรือไม่กับการนิรโทษกรรมคดี 112?

โดยส่วนตัวผมยึดมั่นในเรื่องการแสดงออก และสิทธิเสรีภาพของประชาชน และไม่อยากให้รัฐใช้เครื่องมือกฎหมายไปฟ้องปิดปากประชาชน หรือคนที่โดนคดีอะไรต่างๆ แต่ต้องย้ำว่าวิธีการอย่างไรจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ภายใต้บริบทปัจจุบัน ก็ขอรับฟังลูกพรรคทุกคนก่อน

-คิดว่าก็มีประชาชนจำนวนหนึ่งอยากเห็นการเมืองเปลี่ยนแปลง อยากเลือกพรรคประชาชน แต่เขาอาจมีปมหรือสิ่งที่ค้างคาในใจ เรื่องจุดยืนพรรคเกี่ยวกับสถาบันฯ?

ผมคิดว่าถ้าจะพูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายว่าจะแก้ไขอย่างไร อย่างที่บอกว่าขอรอการหารือภายในพรรคว่าเพื่อน สส.หรือทีมงานหลังบ้านเขาคิดเห็นอย่างไร ว่าวิธีการแบบไหนเป็นวิธีการที่เหมาะสมของพรรคประชาชนในขณะนี้ ก็เป็นสิ่งที่อาจจะเป็นการตอบไปถึงคนกลุ่มนั้นที่ยังมีความกังวลในเรื่องนี้ ที่ขอให้รอความชัดเจน  ซึ่งผมมั่นใจว่าข้อเสนอที่เราจะนำเสนอในอนาคต น่าจะเป็นข้อเสนอที่ทุกฝ่ายรับฟังได้ 

พร้อมเป็นแคนดิเดตนายกฯ

-เลือกตั้งรอบหน้า พร้อมเป็นแคนดิเดตนายกฯหรือไม่?

หากถามตัวผม ณ ตอนนี้ ผมเชื่อมั่นว่าตัวผมในอีกสามปีต่อจากนี้ ผมจะมีความพร้อม แต่ถ้าถามตัวผม ณ ตอนนี้ ยังมีคุณสมบัติอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องพัฒนาตัวเองอีกมาก ก็ขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันติดตามและสนับสนุน ผมก็เป็นคนที่ยินดีรับฟัง อะไรที่คิดว่าผมยังทำได้ไม่ดีพอ ก็นำเสนอได้ ผมก็พร้อมจะปรับปรุงและพัฒนาตัวเอง

-พรรคประชาชนพร้อมทำงานร่วมกับทุกพรรคการเมือง จับมือกันได้กับทุกขั้วหรือไม่?

คำว่าจับมือก็ต้องระมัดระวังในการพูด หากพูดสั้นๆ ไป ก็อาจดูเหมือนว่าเราสลายจุดยืนเดิมเรา แต่อย่างที่ผมบอกจะจับมือหรือไม่จับมือกับใคร จะตั้งรัฐบาลหรือไม่ตั้งรัฐบาลกับใคร มันอยู่ที่สมการและผลการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่เกิดจากการนำเสนอนโยบายว่าการเลือกตั้งปี 2570 แต่ละพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายอย่างไร

 ถ้าเขานำเสนอนโยบายที่ปรับเปลี่ยน แล้วสามารถแสวงหาจุดร่วมกับจุดยืนของพรรคประชาชนได้ ผมก็คิดว่าไม่มีปัญหาที่เราจะมาเจรจาร่วมกัน แต่แน่นอนที่สุดอย่างที่บอกตอนต้น อะไรที่เป็นจุดแตกต่าง เขาเห็นแตกต่างจากเราจริงๆ ก็เคารพในข้อแตกต่าง

-ได้เห็นบทเรียนจากที่พรรคก้าวไกลเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ แค่คนเดียว ตอนเลือกตั้งปี 2566 แบบนี้เลือกตั้งที่จะมีขึ้น พรรคอาจจะเสนอครบทั้ง 3 คน?

ในส่วนนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องที่ผมน่าจะต้องบอกว่า พรรคใหญ่กว่าคน ตัวผมเอง แน่นอนที่สุดคนที่เป็นหัวหน้าพรรค ก็สมควรต้องเป็นแคนดิเดตนายกฯ อันดับหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่จนถึงพรรคประชาชน เราพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด  แต่ส่วนว่าจะส่งกี่คน ก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันภายในพรรคและคุยกันในอนาคต แต่ผมคิดว่าทุกคนที่ส่งชื่อไปก็ต้องเป็นตัวจริง มีคุณสมบัติเหมาะสมทุกคน

ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น ยุทธศาสตร์เอาชนะบ้านใหญ่ 

และสำหรับศึกเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะการเลือกตั้ง นายก อบจ.หลายจังหวัดที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ พรรคประชาชนหรือพรรคก้าวไกลเดิมเป็นอีกหนึ่งพรรคที่เริ่มเปิดตัวส่งผู้สมัครของพรรคอย่างเป็นทางการ เช่นที่ราชบุรี ซึ่งจะมีการเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 1 ก.ย.นี้

"ณัฐพงษ์-หน.พรรคประชาชน" กล่าวหลังเราถามถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ.ล็อตใหญ่ต้นปีหน้า 2568 โดยเขายืนยันว่า พรรคประชาชนจะส่งผู้สมัครในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ที่ก็น่าจะประมาณ 20 กว่าจังหวัด ส่วนหลังจากนี้จะมีจังหวัดไหนอีก นอกเหนือจากที่เคยเปิดตัวผู้สมัครไปก่อนหน้านี้ ขออนุญาตสงวนไว้ก่อนเพราะมีผลต่อจังหวะจะโคนทางการเมือง ที่ก็คาดหวังกับทุกจังหวัดที่เราส่งผู้สมัคร เพราะเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ที่เราคิดว่าสามารถช่วงชิงชัยชนะได้จริงๆ 

-ผลการเลือกนายก อบจ.ที่ผ่านมาหลายจังหวัด เห็นได้ชัดว่าการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติแตกต่างกัน ยังมีเรื่องของระบบอุปถัมภ์  ระบบบ้านใหญ่  แล้วพรรคประชาชนจะมีวิธีที่จะเอาชนะบ้านใหญ่อย่างไร?

ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการรณรงค์ให้ประชาชนออกไปแสดงพลัง ใช้อำนาจสูงสุดของเขาจริงๆ ผ่านคูหาเลือกตั้ง ถ้าเราอยากทำให้การเมืองดี ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันว่า ระบบอุปถัมภ์ ระบบนายทุนการเมือง มันควรต้องหมดไป ถามว่าประชาชนคนส่วนใหญ่ คนรากหญ้า ที่ไม่มีเงิน ไม่มีอำนาจรัฐอย่างอื่น อำนาจอย่างเดียวที่เขามี ที่จะเอาชนะอำนาจต่างๆ เหล่านี้ได้ ก็คืออำนาจของการเข้าคูหา อำนาจของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เราเอาชนะได้ ก็คือการที่เราต้องออกไปรณรงค์อย่างแข็งขัน ออกไปบอกประชาชนว่าต้องให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ผ่านมาที่เราเห็นผลคะแนนแตกต่างกัน ก็เพราะว่าตัวเลขสัดส่วน ระหว่างคนออกไปเลือกตั้งท้องถิ่นกับออกไปเลือกตั้งระดับประเทศแตกต่างกัน ระดับประเทศอาจจะสูงถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นหลายแห่ง โดยเฉพาะหากเป็นการเลือกตั้งระดับเล็กลงมาอย่าง เทศบาล-อบต.  พบว่าบางแห่งคนออกมาใช้สิทธิ์แค่ 40 เปอร์เซ็นต์ ที่น้อยเกินไป

ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของพรรคประชาชน ณ ตอนนี้ คือทำยังไงให้คนเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น ออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงที่บ้านเกิดของพวกเขา เพราะหากคนออกมาแสดงพลังมากพอ ผมเชื่อว่าเวทีการเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

สำหรับสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี ที่จะเลือกกันในวันที่ 1 ก.ย.นี้ หากดูจากตัวเลขผลการเลือกตั้งปี 2566 ที่แน่นอนว่าเป็นผลคะแนนจากการเลือกตั้งระดับประเทศ ผมคิดว่าเรามีแนวโน้มสูงที่เราจะชนะได้ แต่มันก็จะกลับมาโจทย์เดียวกัน อย่างราชบุรีจำนวนคนออกมาใช้สิทธิ์สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โจทย์เราตอนนี้คือทำยังไงให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี ออกมาเลือกทีมนายกฯ ที่พรรคส่ง มีสัดส่วนที่สูงใกล้เคียงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง สส. ถ้าทำได้ก็มีแนวโน้มอยู่

จบการสนทนาด้วยการที่ "ณัฐพงษ์-หน.พรรคประชาชน" กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากสื่อสารถึงประชาชนทุกคนว่า คำว่าพรรคประชาชน ไม่ได้หมายถึงว่าเราเป็นเจ้าของประชาชน แต่หมายถึงว่าประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของเรา เป็นเจ้านายเรา ถึงแม้ว่าพรรคประชาชนจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ถ้าเราชนะเลือกตั้งด้วยจำนวน สส.เท่าใด เราพร้อมที่จะรับใช้ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะโหวตหรือไม่ได้โหวตให้กับพรรคประชาชน นี้คือความตั้งใจของพรรคประชาชน และอยากสื่อสารถึงคนอีกกลุ่มหนึ่ง คนที่เป็นโหวตเตอร์ ผู้สนับสนุนพรรคมาตลอด ตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่มาจนถึงพรรคประชาชน ก็อย่าสั่นคลอน อย่ากังวล ผมคิดว่าอดีตแกนนำพรรคเขาได้ทำทุกอย่างมาด้วยความรอบคอบแล้ว แล้วก็

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก

แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง

'กมธ.ต่างประเทศ' ซัดรัฐบาลไร้น้ำยา ผ่าน 3 สัปดาห์ ไร้ข้อสรุป ปล่อยเมียนมาจับ 4 คนไทย

'กมธ.ต่างประเทศ' ผิดหวังทางการไทย ผ่าน 3 สัปดาห์ เมียนมาจับลูกเรือ 4 คน ยังไม่รู้น่านน้ำใคร จี้ 'นายกฯอิ๊งค์' สั่งการเชิงรุก ข้องใจมัวห่วงเสียผลประโยชน์คนบางกลุ่มหรือไม่

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

'เท้ง-ไหม' ชำแหละ 'นายกฯอิ๊งค์' เหมือนฝากงานรมต. มากกว่าแถลงผลงานรัฐบาล

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลงานรัฐบาลครบ 90 วัน เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

'เจ๊ไหม' จี้ถามปฏิรูปภาษี-ล้วงทุนสำรอง 'จุลพันธ์' ยก OECD ที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิกเป็นต้นแบบ!

'ศิริกัญญา' จี้ถาม 'ปฏิรูประบบภาษี' บอก ฟังแล้วเหนื่อยไม่มีเป้าหมาย 'จุลพันธ์' แย้งบอกเป็นแนวทางศึกษา ระบุ 'ไม่มีโจทย์ ไม่มีเป้า ไม่มีธง' แค่เดินหน้าไป เหน็บเอาใจยากพอสมควร