นักการเมืองไม่ทำชั่ว...ไม่ต้องกลัวรัฐประหาร

นายกรัฐมนตรี 2 คนที่มาจากตระกูลชินวัตรต้องถูกยึดอำนาจจากการทำรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ทำให้นายใหญ่ของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นหมายเลข 1 ของตระกูลชินวัตรมีความประหวั่นพรั่นพรึงการทำรัฐประหารของทหารเป็นอย่างมาก จึงมีความพยายามที่จะสกัดกั้นการทำรัฐประหารของทหาร โดยพยายามให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม เพื่อให้นักการเมืองสามารถแทรกแซงการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ของนายพลในกองทัพ ความพยายามนี้มีมาตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา

ทวีสิน และต่อเนื่องมาถึงรัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการประกาศเรื่องนี้ออกมา ปฏิกิริยาของสังคมก็คือ ไม่เห็นด้วยที่นักการเมืองจะเข้าแทรกแซงกิจการของกองทัพ เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจะไม่เป็นผลดีกับประเทศชาติ ทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยออกมาชี้แจงว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้เป็นของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นของ สส.คนหนึ่งของพรรคเท่านั้น และให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปก่อน

ไม่ว่าแกนนำของพรรคเพื่อไทยจะพูดอย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย เพราะข้อความที่โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้มีโลโก้ของพรรคอยู่ที่มุมบนด้านขวาอย่างชัดเจน และการเสนอกฎหมายจะต้องมี สส.รับรองอย่างน้อย 25 คน ดังนั้นการนำเสนอ พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ต้องมี สส.ของพรรคอย่างน้อย 25 คนเห็นด้วย และรับรองการนำเสนอ พ.ร.บ.ดังกล่าว เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าวนี้ก็คือ การร่างกฎหมายใดๆ ที่มีเป้าหมายในการยับยั้งการทำรัฐประหาร เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หัวหน้าพรรคร่วมก็ออกมาพูดชัดเจนว่าจะเขียนกฎหมายไว้อย่างไรก็ไม่มีทางนำไปปฏิบัติได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการทำรัฐประหารก็จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เขียนไว้ก็ไม่มีความหมายอะไร และวิธีการที่จะยับยั้งการทำรัฐประหารที่ดีที่สุดก็คือ นักการเมืองต้องไม่ทำชั่ว ต้องไม่โกงบ้านโกงเมือง

ถ้าหากเราพิจารณาการทำรัฐประหาร 3 ครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย การวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ไม่ว่าจะเป็นการทำรัฐประหารในปี 2534 ปี 2549 และปี 2557 มีต้นตอมาจากการทำตัวชั่วร้ายของนักการเมืองทั้งสิ้น ในปี 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำรัฐประหารเพราะมีการโกงกินเป็นล่ำเป็นสันจนได้ชื่อว่าเป็น Buffet Cabinet คือ รัฐมนตรีหลายคนมีการโกงกินกันมหาศาล และยังมีเรื่องที่รัฐบาลพยายามเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งนายทหารในตำแหน่งสำคัญๆ

ในปี 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทำรัฐประหารเพราะรัฐบาลมีพฤติกรรมที่ชั่วร้าย 4 เรื่อง คือ 1) สร้างความแตกแยก 2) มีการโกงกิน 3) แทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระทำลายกระบวนการตรวจสอบ และ 4) จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนจำนวนมากรับไม่ได้ เกิดการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองที่มีชื่อว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีคนมาร่วมชุมนุมมากมาย และใช้เวลามากกว่า 100 วันในความพยายามที่จะขับไล่รัฐบาล มีความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงที่เรียกว่าแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยกระหว่างประชาชนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงที่มีความต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมเพราะทำผิดกฎหมายหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบสุดซอย ยกโทษให้คนที่ทำผิดทางการเมือง รวมเอาคนทุจริต คนฆ่าและทำร้ายคนอื่น คนเผาบ้านเผาเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2556 สาระของพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประชาชนรับไม่ได้ จึงรวมตัวกันชุมนุมต่อต้าน จำนวนคนร่วมชุมนุมหลายล้านคน เพราะมีการกระทำที่ผิดหลักจริยธรรม ขาดหลักธรรมาภิบาลของรัฐบาลหลายเรื่องนอกเหนือจากการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้แก่ การโกงโครงการจำนำข้าวที่ทำให้ประเทศเสียหายหลายแสนล้าน การโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรมเพื่อช่วยเหลือญาติพี่น้อง ในขณะที่มีการชุมนุมของคนหลายล้านคนที่ต่อต้านรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็มีการชุมนุมเช่นกัน ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลถูกทำร้าย มีคนตายหลายสิบคน และมีคนบาดเจ็บหลายร้อยคน และมีแนวโน้มว่าประชาชน 2 ฝ่ายอาจจะปะทะทำร้ายกัน คสช.จึงต้องทำรัฐประหารเพื่อยับยั้งการปะทะกันของประชาชน และกำจัดรัฐบาลที่หมดความชอบธรรม

แม้ว่าคำว่า “รัฐประหาร” อยู่โดดๆ จะเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบ หมายถึงการเข้าสู่อำนาจของกลุ่มคนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีลักษณะเป็นเผด็จการ แต่ถ้าหากมีการพิจารณาต้นตอของการทำรัฐประหารแต่ละครั้ง เราก็จะเห็นว่าการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นความจำเป็นเพื่อกำจัดนักการเมืองชั่ว นักการเมืองขี้โกง นักการเมืองที่เล่นพวก นักการเมืองที่ไม่เคารพกฎหมาย นักการเมืองที่ทำผิดรัฐธรรมนูญ นักการเมืองที่เอาเปรียบคนอื่น และบางกรณีการกระทำบางอย่างของพวกเขาเป็นการ “ขายชาติ” ดังนั้นเราจึงได้เห็นประชาชนจำนวนมากพึงพอใจการทำรัฐประหาร 3 ครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในปี 2534 ปี 2549 และปี 2557 มีการนำดอกไม้และอาหารมามอบให้ทหาร มาถ่ายรูปกับทหารที่รักษาความสงบในพื้นที่ต่างๆ เพราะพวกเขามองเห็นว่าการทำรัฐประหารทั้ง 3 ครั้งเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะไม่มีหนทางอื่นใดที่จะกำจัดนักการเมืองชั่วได้

ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่าถ้าหากนักการเมืองไม่ทำชั่ว ก็ไม่ต้องกลัวรัฐประหาร การออกกฎหมายป้องกันการทำรัฐประหารจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จะเขียนกฎหมายอย่างไรก็เขียนได้ แต่ในเชิงปฏิบัติ กฎหมายที่เขียนไว้ไม่สามารถป้องกันการทำรัฐประหารได้ การบริหารประเทศที่มีจริยธรรมตามหลักธรรมาภิบาลต่างหากที่สามารถยับยั้งการทำรัฐประหารได้ ถ้าหากนักการเมืองไม่ทำชั่ว แล้วทหารลุกขึ้นมาทำรัฐประหาร ประชาชนก็ไม่ยอมรับ ไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน แต่ถ้านักการเมืองชั่ว ประชาชนก็จะเห็นความจำเป็นและเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร ดังนั้นแค่นักการเมืองไม่ทำชั่ว ก็ไม่ต้องกลัวรัฐประหารหรอกนะ ง่ายแค่นี้ ทำได้ไหมล่ะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามไม่ถูกคน...สัปดนไหมล่ะ

ตั้งแต่มีการประกาศว่าแพทองธารคือ หนึ่งในรายชื่อที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลายคนเริ่มเป็นห่วงประเทศชาติ เพราะผู้ที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองก็พอจะอนุมานได้ว่า แ

เมื่อ'ธรรมชาติ'สำแดงเดช!!!

ไม่ใช่แค่ได้มีโอกาส หึ่มฮึม-ฮึ้มหึ่มม์ม์ม์ ตามลีลาบทเพลง “พอย่างเข้าเขตหน้าหนาว-ลมหนาวก็โชยพัดกระหน่ำ” ของท่านบรมครู คุณครู ล้วน ควันธรรม เท่านั้น แต่ต้องเรียกว่า...ถึงขั้น งั่กก์ก์ก์ๆๆ

นายพลเล็กสะดุด!

เหมือนจะครบ เหมือนจะจบแบบ "แฮปปี้เอนดิง" บัญชีแต่งตั้ง "นายพล" ล็อตสอง ตำแหน่งรองผู้บัญชาการ (รองผบช.) ถึงผู้บังคับการ (ผบก.) วาระจำประจำปี 2567

ส่งเสริมหรือเสื่อมเสีย

สำหรับ FC เพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น สส.ในพรรค หัวคะแนน ข้าราชการที่ได้ตำแหน่งเพราะทักษิณและตัวแทนทักษิณ นักธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากนโยบายและโครงการต่างๆ ของทักษิณ

บทเพลงสำหรับปีใหม่-ฟ้าใหม่

ปีพุทธศักราช 2568 หรือคริสต์ศักราช 2025 หรือ ปีงู ปีนี้...ไม่ว่าจะหมอดง หมอดู นักวิเคราะห์ นักวิแคะ ดูๆ ท่านออกจะเห็นไปในแนวเดียวกัน คือหนักไปทาง หนักหนา-สาหัส