ธรรมาภิบาลกับรายงานทางการเงิน

           ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านคงได้รับรู้ถึงข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการจัดทำรายงานทางการเงินที่ไม่ถูกต้องตามจริง เป็นการตกแต่งงบการเงินให้ผู้อื่นเข้าใจผิด จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย  รวมไปถึงการยักยอกเงินของบริษัทเข้าไปในบัญชีตนเอง  โดยผ่านช่องทางการทำธุรกรรมต่าง ๆ   เป็นต้น  และเมื่อมีการตรวจพบ สังคมมักจะมีคำถามกับผู้สอบบัญชีเป็นรายแรก กรรมการตรวจสอบและผู้ตรวจสอบภายใน จะเป็นรายต่อมา คำถามคือ ทำไมตรวจไม่พบหรืออย่างไร ปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นจนเกิดความเสียหายกับองค์กรมากมายปานนั้น

           ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกับกระบวนการจัดทำรายงานทางการเงินก่อน การจัดทำเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทเป็นเบื้องต้น เมื่อจัดทำเสร็จต้องส่งมอบให้ผู้สอบบัญชี ทำการตรวจสอบรับรองรายงานทางการเงินนั้น จนได้ความเห็นของผู้สอบบัญชีว่ารายงานทางการเงินนั้น ถูกต้องตามที่ควรหรือมีเงื่อนไขใดก็ตาม  งบการเงินหรือรายงานทางการเงินนั้นจะถูกส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบทำการสอบทาน ให้ความเห็นชอบ เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ จัดส่งตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

             ในกระบวนการจัดทำงบการเงินนี่เองที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัท หากสองฝ่ายนี้มีธรรมาภิบาลที่ดีย่อมจะนำมาซึ่งรายงานที่ถูกต้องครบถ้วนเชื่อถือได้  นั่นแปลว่าภายในองค์กรต้องมีแนวปฎิบัติที่ดีในการกำกับดูแลและการปฏิบัติงานทุกด้าน  มีการอบรม ให้ความรู้ เน้นการมีจริยธรรมคุณธรรมในการปฏิบัติงาน  จัดให้มีระบบการควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร มีระบบการป้องกันทุจริต ซึ่งระบบที่กล่าวนี้ต้องฝังไว้ในกระบวนการทำงานทุกด้านทุกคน   สิ่งเหล่กานี้จะนำมาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นจริง  นำไปสู่การบันทึกรายการทางบัญชีที่ถูกต้อง เมื่อออกมาเป็นรายงานทางการเงินก็จะถูกต้องเช่นกัน  กระบวนการที่กล่าวมานี้เป็นกระบวนการทำงานข้างในที่บุคคลภายนอกไม่อาจรับรู้ได้ ถึงความเข้มงวด ความใส่ใจ ในการทำมากน้อย แค่ไหน อย่างไร ฝ่ายบัญชีเอง เป็นผู้อยู่แนวหลัง ในการรับเอกสารหลักฐาน รายงานการทำธุรกรรมด้านต่าง ๆ  มาบันทึกรายการ หากข้อมูลที่ได้มาไม่ถูกต้อง  แม้ฝ่ายบัญชีจะรอบรู้ในการทำบัญชี สุดท้ายรายงานการเงินก็ยังไม่ถูกต้อง เชื่อถือไม่ได้  นี่คือจุดอ่อนของทุกองค์กร ที่มีระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง รวมถึงระบบการป้องกันทุจริตที่ไม่เข้มแข็งเพียงพอ   หรือแม้แต่มีระบบเพียงพอ แต่การกำกับดูแลการจัดทำรายงานทางการเงินของฝ่ายบัญชีไม่เข้มแข็ง ทำให้เกิดการตกแต่งงบการเงิน สุดท้ายงบการเงินก็เชื่อถือไม่ได้  การกำกับดูแลนี้ขึ้นกับเหล่าผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทที่ต้องมีการติดตาม ประเมินผลอยู่อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง ที่สำคัญต้องมีธรรมาภิบาลที่ดีด้วย

           หน้าที่ของผู้สอบบัญชีในการสอบทานรายไตรมาสหรือการตรวจสอบประจำปีนั้น มีมาตรฐานการสอบบัญชีบังคับให้ผู้สอบบัญชีทุกคนต้องปฏิบัติตาม  ซึ่งในระบบการตรวจสอบนอกจากมีระบบตรวจสอบตามมาตรฐาน มีจรรยาบรรณวิชาชีพที่ต้องรักษาอย่างเคร่งครัดแล้ว  ยังต้องมีการประเมินการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง รขององค์กร รวมถึงการสังเกตรายการทุจริตที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่องบการเงินด้วย

             เรื่องการสังเกตเกี่ยวกับการทุจริต    ยังมี มาตรา 89/25 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ระบุไว้ หากผู้สอบบัญชีพบพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด ผู้สอบบัญชี ต้องรายงานคณะกรรมการตรวจสอบ    ประเด็นความผิดที่สงสัย ก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับความผิดตามมาตราที่ระบุ จะขอนำเนื้อหามาตราดังกล่าวมาให้ท่านผู้อ่านรับทราบดังนี้

            มาตรา ๒๘๑/๒ กรรมการหรือผู้บริหาร ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วย ความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นใดได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัตืหน้าที่ และเป็นการทำโดยทุจริต

             มาตรา ๓๐๕ ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินหรือเอกสารใด ๆ อันพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึด อายัด รักษาไว้หรือสั่งให้ส่่ง เพื่อเป็นพยานหลักฐาน

             มาตรา ๓๐๖ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของ นิติบุคคลใด ดำเนินการโดยทุจริต หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอัน เป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ประชาชนผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ

             มาตรา ๓๐๘ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล  ครอบครองทรัพย์ซึ่งยังเป็นของนิติบุคคล หรือซึ่งนิติบุคคลเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต

            มาตรา ๓๐๙ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล เอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำ ลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซี่งทรัพย์สินอันนิติบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ดูแลหรือที่อยู่ในความครอบครองของนิติบุคคลนั้น   

            มาตรา ๓๑๐ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล รู้ว่า เจ้าหนี้ของนิติบุคคลดังกล่าว หรือเจ้าหนี้ของบุคคลอื่น ซึ่งจะใช้สิทธิของเจ้าหนี้บังคับการชำระหนี้ หรือใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องชำระหนี้ แต่ได้มีการ (๑) ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้ผู้อื่น  หรือ (๒) แกล้งให้นิติบุคคลนั้นเป็นหนี้ที่ไม่เป็นความจริง

             มาตรา ๓๑๑ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล กระทำการหรือไม่กระทำ การเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคล

           มาตรา ๓๑๒ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล กระทำ หรือยินยอมให้กระทำการดงัต่อไปนี้ (๑) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชีเอกสาร หรือหลักประกันของนิติบุคคลหรือที่เกี่ยวกับนิติบุคคล (๒) ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของนิติบุคคล หรือที่เกี่ยวกับ นิติบุคคล หรือ (๓) ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้องไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง กระทำ หรือยินยอมให้กระทำ เพื่อลวงให้นิติบุคคลดังกล่าวหรือผู้ถือหุ้น ขาดประโยชน์อันควรได้หรือลวงบุคคลใด ๆ

             ความผิดที่กฎหมายระบุไว้ในมาตราเหล่านี้ เป็นบทลงโทษที่มีทั้งปรับและจำคุก ซึ่งหากมีการกระทำใดๆ ดังกล่าวข้างต้นและผู้สอบบัญชีพบเห็นโดยมีหลักฐานสนับสนุนในเบื้องต้น ก็ต้องแจ้งกรรมการตรวจสอบเพื่อตรวจสอบต่อไป ก่อนจะแจ้งให้ ตลาดฯหรือก.ล.ต. ทราบภายในสามสิบวันตามกฎหมาย   ซึ่งล่าสุด ก.ล.ต. สั่งให้รายงานทันที่ไม่ต้องรอสามสิบวัน

             คราวนี้มาดูหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบบ้าง   ตามประกาศตามแบบ (บจ/ร 25-00) 307) เรื่อง แนวทางปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการตรวจสอบ (Best Practice Guidelines for Audit Committee)  ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2542 เป็นแนวทางที่ดีมาก .ซึ่งถ้าหากบริษัทจดทะเบียนฯ ได้นำแนวปฏิบัติที่ดีนี้ไปเป็นแนวทางในการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และจัดทำกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยที่  คณะกรรมการตรวจสอบเองก็เข้าใจในหน้าที่ความรับผิดชอบ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง  ก็จะทำให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี  มีประสิทธิภาพ ได้ประสิทธิผลอย่างแท้จริง  ก็สามารถลดทอนความเสี่ยงของการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ได้ แต่หากคณะกรรมการตรวจสอบไม่เข้าใจ หรือไม่เข้มแข็งในการทำหน้าที่ก็จะทำให้เกิดกรณีอื้อฉาว ๆ ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

          ประกาศดังกล่าวได้ระบุหน้าที่คณะกรรมการตรวจสอบไว้ 7 เรื่องหลัก ๆ และยังระบุความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบไว้อีก 10 เรื่อง  โดยจะขอสรุปย่อ ๆ ดังนี้

          หน้าที่ที่สําคัญของคณะกรรมการตรวจสอบ ได้แก่

  1. สอบทานให้บริษัทมีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเปิดเผยอย่างเพียงพอ   
  2. สอบทานให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายในที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิผล
  3. สอบทานการปฏิบัติของบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  ข้อกําหนดของตลาดหลักทรัพย์หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
  4. พิจารณาคัดเลือกและเสนอแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของบริษัท รวมถึงพิจารณาเสนอค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี
  5. พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทในกรณีที่เกิดรายการเกี่ยวโยงหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้มีความถูกต้องและครบถ้วน
  6. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายและคณะกรรมการตรวจสอบเห็นชอบด้วย
  7. จัดทํารายงานกิจกรรมของคณะกรรมการตรวจสอบโดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจําปีของบริษัท ซึ่งรายงานดังกล่าวลงนามโดยประธานกรรมการตรวจสอบ รายการดังกล่าวควรประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้
    1. ความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการจัดทําและการเปืดเผยข้อมูลในรายงานทางการเงินของบริษัทถึงความถูกต้องครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้
    1. ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของบริษัท
    1. เหตุผลที่เชื่อว่าผู้สอบบัญชีของบริษัทเหมาะสมที่จะได้รับการแต่งตั้งต่อไปอีกวาระหนึ่ง
    1. ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ข้อกําหนดรุปของตลาดหลักทรัพย์หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
    1. รายงานอื่นใดที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบ ภายใต้ขอบเขต หน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท”

                    ส่วนความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ ที่ระบุไว้ในประกาศดังกล่าว  สรุปโดยย่อมีดังนี้

(1) ขอคําอธิบายจากฝ่ายจัดการเกี่ยวกับผลแตกต่างที่สําคัญ ๆ ในงบการเงินระหว่างปีปัจจุบันกับปีก่อน ๆ สอบทานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร (Management’s Discussion and Analysis หรือ MD&A)

(2) สอบถามผู้สอบบัญชีถึงขอบเขตที่ผู้สอบบัญชีได้พิจารณาทบทวนบทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร

(3) ขอให้ฝ่ายจัดการและผู้สอบบัญชีรายงานกรณีมีปัญหาการรายงานทางการเงินที่สําคัญ  ที่ต้องปรึกษาหารือร่วมกันในระหว่างงวดบัญชี

(4) ประชุมเป็นการเฉพาะกับผู้สอบบัญชีเพื่อขอความเห็นจากผู้สอบบัญชีในเรื่องต่าง ๆ

(5) อาจให้ผู้สอบบัญชีประชุมกับคณะกรรมการบริษัททั้งคณะเพื่อหารือถึงประเด็นสําคัญ ๆ เกี่ยวกับงบการเงิน

(6) ขอคําอธิบายจากผู้บริหารและผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชีหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อาจมีผลต่องบการเงินของบริษัท

(7) หารือร่วมกับฝ่ายบริหารและผู้สอบบัญชีถึงเนื้อหาสําคัญ ๆ ของปัญหาที่หยิบยกขึ้นมาโดยนักกฎหมายเกี่ยวกับคดีความในศาล ภาระที่อาจเกิดขึ้นภายหน้า สิทธิเรียกร้องหรือการถูกประเมินใดๆ (Claims or Assessments)

(8) ทบทวนยอดการตั้งค่าใช้จ่ายค้างจ่ายทางบัญชี   การตั้งสํารอง หรือประมาณการที่มีอยู่โดยฝ่ายจัดการและเนื้อหาสําคัญที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสําคัญต่องบการเงิน

(9) ควรดูเกี่ยวกับปัญหาภาษีเงินได้ที่ยื่นต่อกรมสรรพากรว่าจะมีรายการสําคัญใด ๆ ที่อาจมีปัญหากับกรมสรรพากรและควรสอบถามเกี่ยวกับสถานภาพของการสํารองภาษีที่เกี่ยวข้อง

(10) พิจารณาทบทวนหนังสือรับรองจากฝ่ายจัดการของบริษัท (Management Representative Letter) ซึ่งได้ให้กับผู้สอบบัญชี

(11) การดําเนินการอื่นใดที่คณะกรรมการตรวจสอบเห็นสมควร”         

               นอกจากนี้คณะกรรมการตรวจสอบยังต้องปฏิบัติตาม มาตรา 89/25 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 กรณีได้รับรายงานจากผู้สอบบัญชีในประเด็นพฤติกรรมอันควรสงสัยว่าจะเกิดการกระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น    และเพื่อให้การทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบเข้มงวดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 สำนักงาน ก.ล.ต ได้มีหนังสือถึงกรรมการตรวจสอบ บริษัทจดทะเบียนไทยทุกบริษัท เป็นหนังสือที่ กลต.นร.(ว) 23/2566 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ กรรมการตรวจสอบ  เพื่อเน้นย้ำบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งมีส่วนสำคัญ ในการติดตามและดูแลให้บริษัทจดทะเบียนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยยึดประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ  โดยให้แนวปฏิบัติล่าสุดคือการที่กรรมการตรวจสอบต้องมีหน้าที่เพิ่มขึ้น การสอบทานต้องลงรายละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม   เพราะตามกฎเดิมกรรมการตรวจสอบก็สอบทาน กำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วตามกฎหมายกำหนด  แต่แนวปฏิบัติใหม่ที่เพิ่มเติมให้คณะกรรมการตรวจสอบดูรายละเอียดมากขึ้น  ทั้งนี้สำนักงาน กลต. คาดหวังให้กรรมการตรวจสอบต้องกำกับดูแลการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถป้องกันและยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ต่อบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรายงานพฤติการณ์อันควรสงสัยของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัทจดทะเบียนให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบโดยทันทีเมื่อได้รับแจ้งจากผู้สอบบัญชีซึ่งเป็นหน้าที่ตามมาตรา 89/25

              นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ตได้แนบแนวปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อป้องกันและป้องปรามพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสมของบริษัทจดทะเบียน  มาให้กับกรรมการตรวจสอบอีก 5 ข้อใหญ่ โดยแต่ละข้อมีข้อย่อยที่ต้องปฏิบัติตามอีกหลายข้อ นอกเหนือจากการปฏิบัติตามมาตรา 89/25 แล้ว  ต้องมีการดูแลระบบควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ เพียงพอ และเหมาะสม  ให้มีการเปิดเผยข้อมูลและการจัดทำรายงานทางการเงินที่เชื่อถือได้   มีการสอดส่องและติดตามการทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่มีมูลค่านัยสำคัญ (“MT”) และการทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน (“RPT”) ของบริษัทจดทะเบียน  ให้มีการติดตามการใช้เงินระดมทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้มีการเปิดเผยไว้   ซึ่งเห็นได้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลได้มีการกำกับดูแลการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบมากขึ้น

               จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด จะเห็นว่าตามกฎหมาย ตามระเบียบการกำกับดูแลกิจการที่ดี ล้วนแล้วแต่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน ให้คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ รวมถึงผู้สอบบัญชีต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือ ขึ้นอยู่กับการมีธรรมาภิบาลที่ดี การมีจริยธรรม จรรยาบรรณในการปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนให้มากสุด  จึงจะลดความเสียหายให้กับองค์กรได้เป็นอย่างดี  และความรับผิดชอบต่อรายงานทางการเงินที่แท้จริงคือ ผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทที่เป็นผู้จัดทำ  ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบ หรือผู้สอบบัญชี รับผิดชอบในการสอบทานและตรวจสอบการจัดทำเท่านั้น

พรรณี วรวุฒิจงสถิต
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
วันพุธที่ 9 ตุลาคม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก

แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรน้ำดีที่รอวันเติบโต

วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) หรือ องค์กรที่ประกอบธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม นับเป็นองค์กรประเภทหนึ่งที่มีบทบาทในนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ไปปฏิบัติอย่างแท้จริงได้ ในช่วงเวลา ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมา วิสาหกิจเพื่อสังคมในหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมพิสูจน์ให้เห็นว่า การประกอบธุรกิจขององค์กรสามารถช่วยเหลือสังคมได้จริง ตัวอย่างเช่น ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ในประเทศบังกลาเทศ

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

นโยบายและกฎหมายรัฐบาลดิจิทัล (ตอนที่ 1) : งานหลังบ้านที่ถูกมองข้าม 

ในปี 2562 และ 2565 รัฐบาลได้ออกกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับความเป็นรัฐบาลดิจิทัล 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการบริหารงานและให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล (พ.ศ. 2562) และ พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ (พ.ศ. 2565) กฎหมายทั้ง 2 ฉบับถูกออกแบบมาโดยเจตนาเพื่อให้กระตุ้นให้เกิดความเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างยิ่งยวด