45 ปี 6 ตุลาฯ: แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

ายพลเนวิน กับ การเป็นตัวแบบของทหารประชาธิปไตย (ในขณะนั้น +)

ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงนายทหารรุ่นหนุ่มหรือ “ยังเติร์กพม่า” ที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปประเทศตั้งแต่นายพลเนวินจัดตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2501 นายทหารหนุ่มเหล่านี้ถูกส่งไปลงในตำแหน่งหน้างานที่สำคัญๆในแต่ละกระทรวง รวมทั้งหน่วยงานของกองทัพเองด้วย รัฐบาลได้ขยายบทบาทของหน่วยงานของกองทัพบางหน่วยให้ดูแลสวัสดิการความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินพื้นฐานและที่อยู่อาศัย ตลอดจนจัดระเบียบและดูแลด้านสาธารณสุขด้วย                                   

อัลเบิร์ต ราเวนโฮลท์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เล่าถึงภูมิหลังความเป็นมาของเหล่าทหารหนุ่มเหล่านี้ไว้ในรายงานฉบับวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 ไว้ดังนี้                                              

สาเหตุที่นายทหารหนุ่มยี่สิบนายเป็นกำลังสำคัญในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ เพราะเขาเหล่านี้มองว่า พวกเขามีเป้าหมายและภารกิจพิเศษ นั่นคือ เป็น “กองทัพปฏิวัติ” (revolutionary army) ที่ทำหน้าที่ปกป้องรักษาประเทศชาติ                                                                                                                

การเกิดอุดมการณ์ความคิดดังกล่าวของนายทหารเหล่านี้ย้อนกลับไปในทศวรรษ 2473 อันเป็นช่วงเวลาที่พวกเขากำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง บริบทขณะนั้นได้ปลูกฝังและหล่อหลอมให้พวกเขามีอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างรุนแรง เรียกร้องเอกราช และมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูจารีตประเพณีโบราณของพม่าให้กลับฟื้นคืนมา หลังจากที่ถดถอยไปภายใต้อิทธิพลการปกครองของอังกฤษตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้า                     

อย่างไรก็ตาม ราเวนโฮลท์เห็นว่า อุดมการณ์ของพวกคนหนุ่มขณะนั้น ค่อนข้างจะสับสนปนเปอยู่ไม่น้อย  คือนอกจากพวกเขาสนใจศึกษาลัทธิสังคมนิยมแบบเฟเบียนแล้ว (Fabian socialism ซึ่งเป็นสังคมนิยมแนวปฏิรูปของอังกฤษ/ผู้เขียน) พวกเขายังชื่นชอบผู้นำอย่างฮิตเลอร์และมุสโสลินีอีกด้วย และต้องการสร้างชาติให้กลับมายิ่งใหญ่                                                                                                                        

ในปี พ.ศ. 2476 ได้เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษาพม่า และได้มีการจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า “Thakin” (แปลว่า เจ้านาย เป็นคำที่คนพม่าใช้กับชาวอังกฤษ คือ เรียกคนอังกฤษเป็นเจ้านาย) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสำคัญอย่างยิ่งในระดับชาติ ด้วยขณะนั้นอังกฤษได้เปิดโอกาสให้พม่าเริ่มมีการปกครองตัวเองเพื่อนำประชาชนพม่าให้เตรียมตัวในการใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงในเวลาต่อมา                                                

ต่อมา นักศึกษาเหล่านั้นได้เข้าเป็นทหาร และยังคงมุ่งมั่นในอุดมการณ์ที่ฟูมฟักมาตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย                                                                                                                                     

อย่างไรก็ตาม การรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายพลเนวินได้สิ้นสุดลงหลังจากที่เขาได้อยู่ในตำแหน่งเป็นเวลาได้เพียง 4 เดือน นายพลเนวินได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ด้วยเหตุผลที่ว่า เขาเห็นว่า ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ นั่นคือ จะต้องจัดการเลือกตั้งขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2502  เขาไม่สามารถที่จะจัดเตรียมการเลือกตั้งให้ลุล่วงไปได้อย่างสงบเรียบร้อย อีกทั้งเขาก็ไม่ยอมรับการต่อเวลาการเป็นรัฐบาลรักษาการต่อไปอีกหกเดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาสูงสุดที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้สำหรับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภา     

จากสถานการณ์ดังกล่าว สภาได้มีประชุมอภิปรายหาทางออกจากปัญหาดังกล่าวโดยการลงมติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยขยายเวลาที่แต่เดิมกำหนดไว้หกเดือนเป็นถึงปลายปี พ.ศ. 2503 จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญขยายเวลาให้กับรัฐบาลรักษาการ ทำให้นายพลเนวินสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญไปจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2503  แต่แม้ว่า นายพลเนวินจะมีเวลาอยู่ถึงปลายปี พ.ศ. 2503  แต่เขาสัญญาว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นไปตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2503                                

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2502 ราเวนโฮล์ทรายงานว่า หลังจากขยายเวลากำหนดการเลือกตั้งทั่วไปออกไป หลายคนอาจจะคิดว่า นายพลเนวินและบรรดานายทหารหนุ่มที่เป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ในขณะนั้น จะใช้เวลาที่มีอยู่ในการเตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง โดยคราวนี้จะได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  แต่ราเวนโฮลท์กลับไม่เห็นว่าทั้งนายพลเนวินและนายทหารหนุ่มจะมีทีท่าจะลงเล่นการเมืองแต่อย่างใด  จะมีก็แต่ทีท่าที่รัฐบาลแสดงความไม่พอใจที่สภาปฏิเสธร่างกฎหมายที่ทางรัฐบาลเสนอไปเพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมสหภาพแรงงาน กลุ่มการเมือง สื่อมวลชนและสำนักพิมพ์ต่างๆได้เข้มงวดมากขึ้น                                                                                                                    

อย่างไรก็ตาม ราเวนโฮลท์คาดการณ์ไว้ว่า แม้ว่านายทหารหนุ่มจะพ้นจากตำแหน่งในรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายน พ.ศ. 2503  พวกเขาก็น่าจะยังคงมีอิทธิพลในทางการเมืองอยู่ต่อไปและน่าจะมากขึ้นด้วย  เพราะสิ่งที่ประชาชนทั่วไปคิดอยู่ตลอดก็คือ บรรดานายทหารหนุ่มเหล่านี้จะคอยตรวจสอบนักการเมืองต่อไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชน  และประชาชนก็คาดหวังให้กองทัพคอยทำหน้าที่ตรวจสอบดูแลเหตุการณ์ต่างๆต่อไปด้วย จึงทำให้เกิดคำถามว่า ทหารจะยังคงรักษาความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อทหารต่อไปได้หรือไม่ ?                                                                                      

ราเวนโฮลท์ได้ตอบประเด็นนี้ไว้ว่า มันคงขึ้นอยู่กับว่า กองทัพจะยังคงมีเอกภาพและไม่คอร์รัปชั่นเสียเอง                                                                                                                                                    

การที่ทหารพม่าจะยังคงมีเอกภาพและไม่โกงกินเหมือนทหารในประเทศเพื่อนบ้าน—-ราเวนโฮลท์เอ่ยถึงทหารประเทศไทยและอินโดนีเซีย——ทหารพม่าจะต้องมีความเคร่งครัดมีวินัยและรักษาความซื่อสัตย์สุจริตของตนไว้ให้ได้  และจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเข้าข้างในความขัดแย้งทางการเมืองของนักการเมืองฝ่ายใดๆก็ตาม ที่มักจะหาโอกาสเอาประโยชน์จากการเข้าหาพวกทหาร  และการทำให้ทหารไม่อ่อนไหวไปกับผลประโยชน์ที่นักการเมืองเอามาล่อ ก็คือ กองทัพจะต้องพัฒนาปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของทหารให้ทัดเทียมกับกลุ่มชนชั้นนำอื่นๆในสังคมพม่า และที่สำคัญที่สุดก็คือ บรรดาผู้นำในกองทัพจะต้องศึกษาหาความรู้ให้ลึกซึ่งกว้างขวางเพื่อที่จะสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆของชาติได้อย่างเท่าทันและมีประสิทธิภาพ                                                                                                                                            

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากรายงานฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2502 ของราเวนโฮล์ท         ก็คือ นายพลเนวินจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเร็วขึ้นกว่าที่เขาได้ประกาศไว้ด้วยซ้ำ   กำหนดการเดิมคือเดือนเมษายน แต่เขาได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503  และเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนมากที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ด้วย  นอกจากนายพลเนวินจะได้รับความนิยมอย่างมากที่สามารถดูแลจัดการเลือกตั้งได้ผ่านได้อย่างสงบเรียบร้อย  เขาได้ยังได้ความนิยมชมชอบจากการที่รัฐบาลของเขาสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปมากในช่วงเวลาเพียงปีกว่าที่เขาเป็นรัฐบาล  แต่แน่นอนว่า ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รัฐบาลนายพลเนวินมีความเข้มงวดและปิดกั้นเสรีภาพพื้นฐานบางอย่างของประชาชน                                                                                      

                                    ข่าวการทำรัฐประหารของนายพลเนวิน พ.ศ. 2505

ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนั้น ก็เป็นไปตามที่ราเวนโฮลท์คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า นั่นคือ นายพลเนวินและบรรดานายทหารหนุ่มคู่ใจของเขาไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด  แต่ปล่อยให้นักการเมืองว่ากันไปเอง    ผลการเลือกตั้งคือ พรรค Clean AFPFL ของ อู นุได้ชัยชนะเหนือพรรค Stable AFPFL ของ คยออิน (Kyaw Nyein) และบะซเว (Ba Swe)  โดยพรรค Clean AFPFL ได้ 157 ที่นั่งจาก 250 ที่นั่ง                             

และหลังการเลือกตั้ง เมื่อ อู นุ จัดตั้งรัฐบาลพลเรือนพรรค Clean AFPFL ขึ้นมาได้แล้ว นายพลเนวินนายกรัฐมนตรีที่รักษาการมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2501 ก็ได้ส่งผ่านอำนาจทางการเมืองให้แก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยทันที                                                                                                                                    

ในช่วงเวลานั้น การขึ้นมารักษาการนายกรัฐมนตรีของนายพลเนวินเพื่อแก้ไขวิกฤตชาติและจัดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นและส่งมอบอำนาจทางการเมืองแก่รัฐบาลชุดใหม่โดยทันที ได้กลายเป็นตัวแบบสำคัญให้แก่ผู้นำของชาติต่างๆในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกกลาง ที่ผู้นำทหารจัดให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรม ไม่ยึดติดหลงในอำนาจ และลงจากอำนาจด้วยความสมัครใจ                                                                        

ชื่อเสียงของนายพลเนวินโด่งดังไปทั่วเอเชียและไกลไปถึงฝั่งอเมริกาและยุโรป ในฐานะของ ผู้นำทหารที่เป็นประชาธิปไตย  และที่น่าสนใจคือ คุณชัย ชิดชอบได้ตั้งชื่อลูกชายที่เกิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ว่า “เนวิน”  ซึ่งในเวลานั้น นายพลเนวินยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการด้วยซ้ำ !  หรือคุณชัยมาตั้งชื่อให้คุณเนวินทีหลัง ก็ไม่ทราบได้                                                                                  

แต่ชื่อเสียงของความเป็น “ทหารประชาธิปไตย” ของนายพลเนวินก็ได้จบสิ้นลง เพราะเพียงสองปีต่อมา เขาได้นำกองกำลังทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของ อู นุ  เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2505 แม้ว่าจะเกิดการประท้วงอย่างรุนแรงโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันนั้น  แต่ประชาชนพม่าโดยทั่วไปกลับยอมรับการทำรัฐประหารของนายพลเนวิน                                                       

เพราะในช่วงสองปีที่นักการเมืองบริหารประเทศ ประชาชนเห็นว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคอร์รัปชั่น และไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศได้ และกลับมีอัตราเกิดการอาชญากรรมเพิ่มขึ้น  ทหารในสายตาของประชาชนยังเป็นสถาบันที่มีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพความปลอดภัยของบ้านเมือง ซึ่งประชาชนถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดหลังจากที่พม่าได้ผ่านประสบการณ์ยุคอาณานิคมและสงครามโลกครั้งที่สอง                   

รัฐประหารของนายพลเนวินประสบความสำเร็จเพราะผลงานที่เขาทำไว้เมื่อสองปีก่อนสมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ   ครั้นจะบอกว่า เขาบริหารประเทศอย่างแข็งขันเอาจริงเอาจังจนได้ใจประชาชนเพื่อปูทางสู่การยึดอำนาจในเวลาต่อมา ก็ดูจะไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำนัก                                  

แต่จากนั้น นายพลเนวินก็ครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลาถึง 25 ปี !

(แหล่งอ้างอิง: Albert Ravenholt, Burma’s New Deal from the Army—Is It a Pattern for Asia ? June 25, 1959).                                                                                                

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 17: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 27 สิงหาคม 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า