เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๑)

 

อย่างที่เคยเขียนไปในที่ต่างๆว่า ประเทศไทยเรา มีการทำรัฐประหารติดอันดับโลก โดยในศตวรรษที่ยี่สิบ เรามาเป็นอันดับสอง และในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดเราตกอันดับมาเป็นอันดับสาม ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรายังครองแชมป์อันดับหนึ่งอยู่  แต่ในบริบทการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราถือเป็นประเทศที่ไม่มีผู้นำทางการเมืองที่ครองอำนาจยาวนานเท่าประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้ กัมพูชามาเป็นอันดับหนึ่งคือ นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ส่วนประเทศอื่นๆนั้นก็ยาวนานกว่าบ้านเรา ดังนั้น การทำรัฐประหารมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ผลในมุมกลับคือ เราไม่มีผู้นำเผด็จการครองอำนาจยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการที่มาจากรัฐประหาร และครองอำนาจโดยไม่ให้มีการเลือกตั้ง หรือให้มีเลือกตั้ง แต่อยู่ในระบอบสังคมนิยมที่ผู้นำปกครองภายใต้ระบบพรรคการเมืองเดียว หรือไม่ได้เป็นสังคมนิยม แต่ปกครองในแบบอำนาจนิยม ที่แม้ว่าจะมีพรรคการเมืองอื่นแข่งขันในการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกริดรอนเสรีภาพจนไม่สามารถต่อสู้กับพรรคการเมืองหลักของผู้นำได้              

ซึ่งระบอบการปกครองแบบที่มีเลือกตั้ง แต่พรรคอื่นไม่มีทางท้าทายได้เลย เพราะอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่ตัดสิทธิ์ต่างๆของคู่แข่ง นักวิชาการฝรั่งเขาได้บัญญัติศัพท์เฉพาะขึ้นมาเรียกว่า “competitive authoritarian regime” ถ้าจะแปลไทยก็คือ ระบอบอำนาจนิยมที่เปิดให้มีการแข่งขันในการเลือกตั้ง  ซึ่งการเลือกตั้งที่มีนั้น ก็เป็นการเลือกตั้งแบบงั้นๆ พอเป็นพิธีให้นานาชาติได้เห็นว่ามีการเลือกตั้งแล้วนะ ซึ่งการทำให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งแบบงั้นๆ ขอไปที ฝรั่งเขาเรียกว่า “to rig election” แปลว่า โกง-ทุจริตการเลือกตั้งก็ได้ หรือทำให้การเลือกตั้งไม่เสรีและเป็นธรรมก็ได้

ส่วน competitive authoritarian regime นั้น นักวิชาการที่บัญญัติศัพท์มีสองคนร่วมกันคิด คือ สตีเวน เลวิตสกี้  (Steven Levitsky) และ ลูคัน เอ. เวย์ (Lucan A. Way)  คนแรกเป็นศาสตราจารย์ ภาควิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชี่ยวชาญเรื่องลาตินอเมริกามากๆ ส่วนคนหลังเป็นศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตรอนโต เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตยและระบอบอำนาจนิยมในประเทศกำลังพัฒนาและรัสเซียสมัยยังเป็นสหภาพโซเวียต

แม้การเมืองบ้านเราจะเว้นวรรครัฐประหารมาได้ 8 ปี (พ.ศ. 2557-2565) แต่การเว้นวรรคไป 8 ปีก็ไม่ได้จะแปลว่า จะไม่มีอีกแล้ว แต่ผู้เขียนเชื่อว่า เงื่อนไขที่จะเกิดรัฐประหารในอนาคตมีน้อยเต็มที เพราะอะไรหรือ ? คงต้องเขียนอธิบายแยกไปโดยเฉพาะ ดังนั้น จึงขอเว้นวรรคไว้ก่อน

มีคำอธิบายแบบง่ายๆที่ว่าเว้นวรรค 8 ปีไม่ได้แปลว่าจะไม่มีรัฐประหารอีกแล้ว โดยดูจากสถิติของช่วงเวลาที่เกิดรัฐประหาร  นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2557 เป็นเวลา ๘๒ ปี  ได้เกิดการทำรัฐประหารในการเมืองไทยรวมทั้งสิ้น ๑๓/+/-  ครั้ง ที่ใส่เครื่องหมาย +/-  เพราะการนับว่าปรากฏการณ์ทางการเมืองใดเป็นการทำรัฐประหารก็มีเกณฑ์ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง  อย่างเช่นในกรณีของศาสตราจารย์ ดร. สุจิต บุญบงการ ถือว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2475  เป็นการทำรัฐประหารด้วย  หรือในกรณีที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476  อาจารย์ สุจิตไม่ถือว่าเป็นการทำรัฐประหาร เพราะสาระสำคัญของเกณฑ์ของการทำรัฐประหารอยู่ที่การแทรกแซงทางการเมืองของทหาร หรือในกรณีรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์และรัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491  ที่คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม  จะถือเป็นการทำรัฐประหารสองครั้งที่แยกจากกันหรือถือรวมเป็นครั้งเดียว                                           

หากคิดในแง่ของค่าเฉลี่ยแล้ว จะพบว่ามีการทำรัฐประหารเกิดขึ้น 1 ครั้งในทุกๆ 6 ปี   ขณะเดียวกัน ในรอบ 82 ปีมีการเลือกตั้งทั่วไป (การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ทั้งสิ้น 27/+/- ครั้ง ที่ใส่เครื่องหมาย +/- เพราะในการเลือกตั้งทั่วไปทั้งสิ้น 27 ครั้ง มีอยู่ 2 ครั้งที่ไม่สามารถนำไปสู่การเปิดประชุมสภาและจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้ นั่นคือ การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ และการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อคิดเฉลี่ยแล้วมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น 1 ครั้งในทุกๆ 3 ปี   และหากพิจารณาการเปลี่ยนรัฐบาลในรอบ 82 ปี จะพบว่า มีการเปลี่ยนรัฐบาลโดยการเลือกตั้ง 27 ครั้ง และการเปลี่ยนรัฐบาลโดยรัฐประหาร 13 ครั้ง นับเป็นอัตราส่วนครึ่งต่อครึ่งหรือเท่าๆกัน  ถือว่าการเปลี่ยนรัฐบาลในการเมืองไทยมีความเบี่ยงเบนจากบรรทัดฐานประชาธิปไตยร้อยละห้าสิบ แต่ถ้าพิจารณาจากความถี่ของการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้น  จะพบว่า ในช่วงรอบ 25  ปีแรก (2475-2500)  มีการทำรัฐประหารถี่ที่สุดนั่นคือ 7 ครั้ง  และอีกรอบ 25  ปีต่อมา (2500-2525) ลดลงเหลือ ๓ ครั้ง  และรอบ 25  ปีที่สาม (2525-2550)  ลดลงเหลือ 2 ครั้ง   และในช่วงล่าสุดในเวลา ๗ ปี (2550-2557) ได้เกิดขึ้นไปแล้ว 1 ครั้ง   

หากประเมินตามสถิติเบื้องต้นนี้ อาจทำให้ประมาณการณ์ได้ว่า การทำรัฐประหารจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จากการเมืองไทย แต่หากพิจารณาลงไประดับที่ลึกขึ้นกว่าตัวเลขที่ปรากฏ  จะพบว่ามีปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาในการทำความเข้าใจความถี่ในการทำรัฐประหารในแต่ละรอบ 25 ปีข้างต้นด้วย

กล่าวคือ จากตัวเลขที่ปรากฏข้างต้น จะพบว่าในรอบ 25  ปีแรกมีการทำรัฐประหารถี่ที่สุดนั่นคือ 7 ครั้ง การเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น 10 ครั้ง   ในรอบ 25 ปีที่สองที่มีการทำรัฐประหารลดลงเหลือ 3 ครั้ง มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น 5 ครั้ง  ในรอบ 25 ปีที่สามที่มีการทำรัฐประหารลดลงเหลือ 2 ครั้ง มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น 11 ครั้ง (และถูกวินิจฉัยให้โมฆะ 1 ครั้ง) ในรอบสุดท้ายคือ 7 ปีที่มีการทำรัฐประหารไปแล้ว 1 ครั้ง มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น 2 ครั้ง (และถูกวินิจฉัยให้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 1 ครั้ง) และหากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ของการทำรัฐประหารกับการเลือกตั้งทั่วไปในช่วง 50  ปีแรก  จะพบว่า หากมีการเลือกตั้งทั่วไปบ่อยครั้ง ก็จะมีโอกาสเกิดรัฐประหารบ่อยครั้งตามไปด้วย และในทางกลับกัน หากมีการเลือกตั้งทั่วไปน้อยครั้ง รัฐประหารก็จะเกิดขึ้นน้อยครั้งลงตามไปด้วย 

นอกจากนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบช่วงเวลาโดยรวมของนายกรัฐมนตรีที่มาจากมติสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง กับ  นายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐประหาร โดยไม่นับนายกรัฐมนตรีคนแรก นั่นคือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา   จะพบว่าช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมาจากมติสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในระยะเวลารวม 40 ปี  และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้ผ่านจากการรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ได้รับมติจากสภาผู้แทนราษฎร 8 ปี (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) นอกนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการทำรัฐประหารหรือไม่ก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากสถานการณ์พิเศษ  กล่าวได้ว่า  ครึ่งหนึ่งของแปดสิบสองปีของประชาธิปไตยไทย  จำนวนนายกรัฐมนตรีไทยครึ่งหนึ่งไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานทั่วไปของประชาธิปไตย

สภาพการณ์ดังกล่าวนี้ถือเป็นสภาพการณ์ที่เบี่ยงเบนในอัตราที่มีนัยสำคัญ โดยเฉพาะถ้าเทียบกับประเทศอาร์เจนตินาที่เคยเป็นประเทศที่มีการทำรัฐประหารสูงในศตวรรษที่ยี่สิบดังที่ได้กล่าวไปแล้ว กล่าวคือ ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1930-1976ือาร์เจนตินามีรัฐประหารเกิดขึ้น 6 ครั้ง ได้แก่ รัฐประหาร ค.ศ. 1930, 1943, 1955, 1962, 1966 และ 1976                                            

ส่วนประเทศไทยมีสถิติทำรัฐประหารในศตวรรษที่ยี่สิบใกล้เคียงกันในระหว่าง พ.ศ. 2443-2553  โดยเริ่มต้นเกิดรัฐประหารหลัง พ.ศ. 2475 เป็นจำนวน 7 ครั้ง

นายพลโฮเซ่ เฟลิกซ์ อูริบูรู ผู้ทำรัฐประหารครั้งแรกในอาร์เจนตินา

นายพลจอร์จ ราฟาเอล วิเดลล่า ผู้ทำรัฐประหารครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2519

แต่ในกรณีของอาร์เจนตินาหลังจาก ค.ศ. 1976 เป็นต้นมา ปลอดจากการทำรัฐประหาร แม้ว่าจะมีความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองก็ตาม   แต่ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อิทธิพลทหารในอาร์เจนตินาถดถอยลงก็คือ การที่รัฐบาลทหารได้นำประเทศไปสู่ความพ่ายแพ้ต่ออังกฤษในสงครามฟอล์คแลนด์ในปี ค.ศ. 1982  ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบระยะเวลาของการเกิดและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของสองประเทศนี้ จะพบว่า อาร์เจนตินาได้พัฒนาประชาธิปไตยมาก่อนประเทศไทยเป็นเวลาถึง  71 ปี อีกทั้งประเทศอาร์เจนตินาเคยเป็นประเทศที่อยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจที่ติดอันดับต้นๆ ของโลกมาก่อนด้วย                                             

อย่างไรก็ตาม  หากมองในภาพรวมแล้ว จะพบแนวโน้มที่รัฐประหารไทยจะลดน้อยลงดังที่ได้แสดงให้เห็นไปข้างต้น   และเมื่อพิจารณาช่วงระยะเวลาที่ปลอดรัฐประหารในการเมืองไทย เราจะพบว่ามีสามช่วง อันได้แก่ ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2501-2514, ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2520-2534.  และช่วงระหว่าง พ.ศ. 2535-2549 ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาทั้งสามนี้มีในระยะเวลาใกล้เคียงกัน นั่นคือ 13-14  ปี          

ในตอนหน้า จะได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ช่วงเวลาทั้งสามนี้ปลอดรัฐประหาร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 28)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (5): ชาวนา-ทาสในสวีเดน

ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงความโดดเด่นประการแรกในพัฒนาการทางการเมืองการปกครองของสวีเดน นั่นคือ สวีเดนเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ชาวนาไม่เคยตกเป็นทาสติดที่ดิน

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 27)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

อดีตรองอธิการบดี มธ. ห่วง ‘ภูมิธรรม’ คุมเหล่าทัพ ตัวเร่งรัฐประหารในอนาคตอันใกล้

การส่งคุณภูมิธรรมไปนั่งเป็นผู้บังคับบัญชาของกองทัพทั้ง 3 เหล่า เหมือนกับเป็นการบอกว่า อำนาจอยู่ที่ฉัน ฉันจะเลือกใครเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้

จับตา 'สหายใหญ่' นั่งรมว.กห. คลื่นใต้ในกองทัพ รัฐประหารครั้งต่อไป จะรุนแรง!

'เสธ.นิด' จับตา 'สหายใหญ่'นั่ง รมว.กห. คลื่นใต้น้ำรุนแรง หวั่นพรบ.ต้านการรัฐประหารเป็นอันตราย การรัฐประหารครั้งต่อไปจะรุนแรงและเสียเลือดเนื้อ แนะทำงานตามรัฐธรรมนูญ อย่าล้ำเส้นหรืออย่าทำตัวเป็นตัวควบคุม Regulator ก็แล้วกัน