เรื่องลุงตู่ลงการเมือง ในปี พ.ศ. 2562 กับ พ.ศ. 2566 (ตอนที่ ๔)

 

จอมยุทธ์ศาสตร์แห่งพรรคเพื่อไทยมีวิธีคิดดังนี้ คือ                                                   

1.  เขาจะ “ไม่ fighting a losing war คือ ไม่ทนต่อสู้ในสงครามที่รู้ว่าจะมีจุดจบอยู่ที่ความพ่ายแพ้ หรือที่เห็นอยู่ทนโท่ว่าอย่างไรก็ต้องสูญเสีย”

2. หากเขารู้ว่าของที่ใช้อยู่จะไม่ได้ผล จะ “เอาของใหม่ที่ใหญ่กว่าไปล้างของเสียซึ่งเล็กกว่าด้วย”  

3.  เขาตระหนักดีว่า การ “เอาของใหม่ที่ใหญ่กว่าไปล้างของเสียซึ่งเล็กกว่าด้วย” เป็นการเสี่ยงที่สูง เพราะการเอาของใหม่ฯไปล้างของเสียที่เล็กกว่าที่มีอยู่เดิม นอกจากจะต้องเสียของเล็กนั้นแน่นอนแล้ว เพราะถูกล้างด้วยของใหม่  ของใหม่เองก็อาจจะเสียไปด้วย หากลงเอยไม่บรรลุเป้าหมาย

4. แม้ว่าเขาจะตระหนักดีว่าเสี่ยง แต่เขาเชื่อในหลัก “ยิ่งเสี่ยงสูง ผลตอบแทนย่อมยิ่งสูงตาม high risk high return”   ซึ่งนักธุรกิจที่กล้าเสี่ยงสูง ก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จสูงและหายนะ

5. การเสี่ยงในความคิดของเขา ไม่ใช่การสุ่มเสี่ยง แต่ “เป็นความเสี่ยงที่ได้ระมัดระวังตรวจสอบรอบคอบมาแล้ว เป็นความเสี่ยงที่สามารถคำนวณได้ ซึ่งสัมพันธ์กับการแสวงหาความรู้และข้อมูลข่าวสารอีกทอดหนึ่ง แล้วไม่ใช่ความเสี่ยงสำเร็จรูป เพียงครั้งเดียวจะแจ๊กพ็อต  แต่เป็นความเสี่ยงที่ต้องผ่านการขัดเกลาอย่างดีจากประสบการณ์”  ซึ่งวิธีคิดเรื่องการเสี่ยงของเขานี้ ใครที่ศึกษาทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า rational choice theory ย่อมเข้าใจดี 

ส่วนคนที่ไม่คุ้นชิน ขออธิบายดังนี้ เช่น  คนที่วางเป้าหมายว่า อยากรวยเร็วรวยลัด และคิดอย่าง rational choice theory ได้  เขาคนนั้นก็จะคิดหาวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นอย่าง “ลงทุน ลงแรง ลงเวลาน้อยที่สุด เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายอย่างรวดเร็ว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ”   

แน่นอนว่า วิธีการปล้น การโกง การฉ้อฉลต่างๆย่อมจะนำมาซึ่งความรวยเร็วรวยลัด  ถ้าคนที่คิดอย่าง rational choice theory สามารถคิดหาวิธีปล้น โกง ฉ้อฉลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เขาก็จะลงมือปล้น โกง ฉ้อฉลตามแผนที่เขา “ระมัดระวังตรวจสอบรอบคอบมาแล้ว” และการเสี่ยงที่ต้อง “สามารถคำนวณได้”  คำนวณได้ที่ว่านี้ก็เช่น การปล้นจะต้องใช้เวลาเท่าไรก่อนที่ตำรวจจะมาถึง ?  เจ้าของร้านมีปืนไหม ?  คนงานในร้านมีกี่คน ?  ฯลฯ                                                 

ดังนั้น การเสี่ยงที่คำนวณได้ จึง “สัมพันธ์กับการแสวงหาความรู้และข้อมูลข่าวสาร”  และแน่นอนว่า จะต้องคิดภาพอนาคตที่เป็นไปได้ในลักษณะต่างๆเพื่อเตรียมแผนสองแผนสามไว้รองรับ ถ้าผ่านกระบวนการดังกล่าวนี้มาแล้ว ก็จะถือว่า ความเสี่ยงนี้ “เป็นความเสี่ยงที่ต้องผ่านการขัดเกลาอย่างดีจากประสบการณ์”

จากวิธีคิดข้างต้น จอมยุทธศาสตร์สามารถนำพาให้พรรคการเมืองของเขาไม่ว่าจะต้องตั้งใหม่เปลี่ยนชื่อไปต่างๆชนะการเลือกตั้งมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2544-2554  ทั้งได้ ส.ส. มากที่สุดจนถึงได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎร จัดตั้งรัฐบาลได้ทุกครั้ง  แต่เราก็สามารถสังเกตเห็นความเสี่ยงของเขา ไม่ว่าจะเป็นการเสี่ยงโดยใช้คนอื่นอย่างคุณสมัคร สุนทรเวช หรือน้องเขยจนถึงน้องสาวให้เป็นนายกรัฐมนตรี                                  

และในปี พ.ศ. 2562 ที่เกมการต่อสู้ลำบากมากขึ้นเพราะเป็นระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวและแถมยังให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกด้วย  คราวนั้น เขาจึงเสี่ยงสูงโดยใช้ของใหญ่อย่างทูลกระหม่อมไปล้างรายชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีพรรคต่างๆของเขา โดยให้ทูลกระหม่อมลงพรรคไทยรักษาชาติ โดยหวังให้ ส.ว. ต้องคิดหนักในการจะลงคะแนนให้ใครเป็นายกรัฐมนตรี         

นี่ถือเป็นการเสี่ยงสูงที่ผลตอบแทนสูง และแถมถ้าเสียก็เสียน้อย  

ที่ว่าเสียน้อยหรือไม่เสียเลย หากในความรู้สึกของจอมยุทธ์หรือคนประเภทที่วันๆคิดแต่มองคนเป็นหมากในเกมของเขา เขาจะไม่รู้สึกรู้สากับความเสียที่เกิดขึ้นกับคนอื่น (ดูรายละเอียดการวิเคราะห์เรื่องนี้ในตอนก่อน)   

แม้ว่าแผนการชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลของเขาจะล้มเหลว ทั้งๆที่เป็นพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดในสภาฯ แต่เขาก็สามารถสร้างความปั่นป่วนในการเมืองและสังคมได้มากพอสมควร และถ้าไม่มีพระราชโองการลงมา แผนของเขาก็คงสำเร็จ แต่ของเสียหรือคนที่เสียก็คือ บรรดาคนที่อยู่ในรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

พระราชโองการทำให้แผนของเขาพัง รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติที่กลายเป็นของเสียถูกตัดสิทธิทางการเมือง นอกเหนือไปจากบรรดาคนที่อยู่ในรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย  แม้นว่าจะดูคล้ายมีแต่เสียกับเสีย แต่เขาก็สามารถสร้างปัญหาให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ปัญหาที่ว่านี้คือ ทำให้คนสามารถคิดไปได้ว่าไม่เป็นกลาง เลือกข้าง ทั้งๆที่การประกาศพระราชโองการนั้นก็เพื่อยืนยันความอยู่เหนือการเมืองของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์

ในการเลือกตั้งปีนี้ พ.ศ. 2566  ปัญหาของจอมยุทธ์อยู่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้ ส.ว. มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ด้วย  และผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคือ ผู้ที่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมแล้ว 376 เสียง   การมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. นี้เองที่ทำให้พรรคการเมืองต่างๆพยายามวิ่งเข้าหาพรรคที่มีลุงตู่ ลุงป้อม เพราะต้องการร่วมรัฐบาล ดังที่เกิดขึ้นหลังเลือกตั้งปี 2562 และในการเลือกตั้งปีนี้ ก็มีทีท่าจะเป็นเช่นนั้น

ดังนั้น แผนของจอมยุทธ์คือ ทำอย่างไรให้พรรคของเขาได้ ส.ส. เกินครึ่งสภา และหากได้เกินครึ่งมามากๆ ขนาดได้ ส.ส. ถึง 300 (สามร้อย) อย่างที่คุณอุ๊งอิ๊งกล่าวเป็นภาษาไทยในการสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ  พรรคก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียง ส.ว. เลย เอาแค่เสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ก็น่าจะทำให้ได้ 376 ไม่ยาก แต่ถ้าได้เกิน 250 หน่อยๆ ส.ว. ก็แย่แล้ว เพราะจะหาเหตุผลอะไรมาไม่ลงคะแนนให้นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

มีข้อน่าสังเกตเรื่องคุณอุ๊งอิ๊งพูดไทยบางคำในการสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ถ้ากลับไปดูคลิปให้ดีๆ จะพบว่า ตอนแรกเธอใช้ three hundred แต่ไม่ถึงอึดใจ เธอใช้ สามร้อย  จะโดยตั้งใจหรือไม่นั้น สุดจะทราบ คนที่ไม่ชอบเธออยู่แล้ว ก็ไม่ชอบต่อไป  ส่วนคนที่ชอบเธอก็จะเห็นใจเธอ  แต่ที่แน่ๆคือ คลิปของเธอแพร่ไปไวรัล และคนจำติดหูคำว่า สามร้อย สอ วอ และ รัฐบาล                                 

การต่อสู้ในศึกเลือกตั้งคราวนี้ จอมยุทธ์มาพร้อมกับวิธิคิดเดิม “ไม่ fighting a losing war” และเอาของใหม่ที่ใหญ่กว่าไปล้างของเสียซึ่งเล็กกว่า โดยการให้ลูกสาวของเขาเข้ามามีบทบาทนำในพรรค  การให้ลูกสาวมามีบทบาทนำ เป็นการยืนยันต่อฐานเสียงแฟนคลับว่า พรรคยังเป็นจอมยุทธ์อยู่ และจอมยุทธ์จะอยู่เบื้องหลังการกำหนดนโยบายต่างๆเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า

ขณะเดียวกันก็ยังดูทีท่าอยู่ว่า จะให้ลูกสาวอยู่ในรายชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามแผนได้ ส.ส. ทะลุเป้า เราก็อาจจะได้เห็นคุณอุ๊งอิ๊งเป็นนายกรัฐมนตรี  ซึ่งจอมยุทธ์ก็จะภูมิใจในยุทธศาสตร์ของตนมาก ที่สามารถทำให้คนของตนเป็นนายกรัฐมนตรีได้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จนถึง พ.ศ. 2566 ยกเว้นปี 2562 เท่านั้น  และเป็นการตบหน้านักการเมืองระดับหัวหน้าพรรคคนอื่นๆด้วย  เพราะนักการเมืองระดับหัวหน้าพรรคเหล่านั้นพยายามเท่าไรก็ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้  ไม่สามารถสู้ลูกสาวจอมยุทธ์ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สู้แผนยุทธศาสตร์ของจอมยุทธ์ไม่ได้

และถ้าคุณอุ๊งอิ๊งไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีปีนี้  แต่ชื่อติดตลาดการเมืองไปแล้ว ก็ถือว่าให้ฝึกปรือไปเรื่อยๆ คราวนี้ยังไม่พร้อม คราวหน้าก็พร้อมอยู่ดี

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีการปล่อยชื่อ ศาสตราจารย์ ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย ออกมาในทำนองว่าอาจเป็นไปได้ว่า ท่านจะเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย  อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีเมื่อไร เราจะเห็นวิธิต่อสู้แบบ “ไม่ fighting a losing war” และการเสี่ยงสูงโดยการ “เอาของใหม่ที่ใหญ่กว่าไปล้างของเสียซึ่งเล็กกว่า”  ชัดเจนขึ้น

ล่าสุด หลายคนอาจดีใจที่เกิดความแตกกันระหว่างคุณจตุพร ตู่ พรหมพันธุ์ กับ จอมยุทธ์ แบบไม่เผาผี โดยคุณตู่เปิดโปงลากไส้การใช้คน การเททั้งคนและผู้คนอย่างไม่มีเยื่อใย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับคนที่มีวิธีคิดแบบ rational choice  ขนาดโจโฉยังฆ่าพ่อครัวที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีของเขาได้เพื่อสังเวยแผนชนะศึกของเขา 

การลากไส้เปิดโปงเป็นไปอย่างถึงพริกถึงขิง ย้อนเหตุการณ์กลับไปที่การชุมนุมปี 2553 ที่แม้นว่า จะล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้ แต่ก็ทำให้อภิสิทธิ์ถูกตีตราว่าเป็นนายกฯมือเปื้อนเลือด และแพ้เลือกตั้งในปี 2554  โดยเลือดที่ว่านี้ก็คือ เลือดพี่น้องเสื้อแดง และปริศนาการถูกลอบยิงของ เสธ. แดง ขัตติยะ สวัสดิผล

การลากไส้ดำเนินมาได้ด้วยดีในสายตาคนเกลียดจอมยุทธ์  แต่มีสิ่งที่น่าสงสัยเกิดขี้น หากพิจารณาการโจมตีจอมยุทธ์ของคุณตู่ จตุพร ที่เริ่มจาก

-วันที่ 26 ม.ค. 2566  คุณตู่ออกมากล่าวว่า หากทักษิณจะกลับเมืองไทย โดยอาศัยการออกกฎหมาย หรือให้เพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐ และไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ความฉิบหายหายนะจะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง เหมือนตอนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่พระถนอมกลับเมืองไทย และนักศึกษาชุมนุมต่อต้านจนนำไปสู่โศกนาฎกรรมและการทำรัฐประหาร  (แต่ผู้เขียนเสริมว่า ในกรณีของจอมยุทธ์ จะหนักกว่า เพราะจะมีมวลชนสองฝั่งออกมาปะทะกัน) และคุณตู่แนะนำให้จอมยุทธ์กลับเมืองไทยโดยกลับมาติดคุก           

-แต่ล่าสุด วันที่ 13 ก.พ. 2566 ในการเฟสบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน “ตีมึน” โดยสื่อสารว่า เดิมพันกันเลย ให้พรรคเพื่อไทย แถลงมา ถ้าทักษิณ ไม่กลับก่อนการเลือกตั้ง ก็ไม่ต้องไปเลือกเพื่อไทย“เมื่อประกาศจะกลับบ้าน แต่ไม่รู้กลับวันไหน แต่เป็นคำประกาศที่กลายเป็นปัญหาการชุบชีวิตให้พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว ดังนั้น เอากันแบบแฟร์ๆ ไม่ต้องสลับซับซ้อน ทักษิณ ออกคลับเฮาส์ครั้งหน้าให้ประกาศว่า จะกลับก่อนการเลือกตั้ง ถ้าวันเลือกตั้งแล้วยังไม่กลับ พี่น้องประชาชนไม่ต้องเลือกเพื่อไทย ส่วนผลลัพธ์จะเกิดอะไรขึ้น จะพังขนาดไหนก็แล้วแต่ เพื่อให้เป็นสัจจะวาจาสักครั้ง” นายจตุพร กล่าว  อีกทั้ง ระบุว่า หรือหากจะกลับหลังเลือกตั้ง ต้องแถลงมาด้วยว่า วันไหน หากไม่กลับ เมื่อเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ก็ให้ประชาชนออกมาไล่รัฐบาลได้เลย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องเดิมพันกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา เพื่อแลกกับเสียงแลนด์สไลด์       

การกล่าวเช่นนี้ดูเป็นเงื่อนไขที่บีบให้จอมยุทธ์ต้องเลือกที่จะเป็นคนจริงหรือคนลวง  ถ้าเลือกเป็นคนจริง คือ กลับมาก่อนเลือกตั้ง หรือ  ประกาศว่าหลังเลือกตั้งจะกลับวันที่เท่าไรแน่       

แต่ไม่ว่าจะกลับก่อนหรือหลัง ผลที่คาดหวังคือ แลนสไลด์ ที่ไม่น่าจะใช่หวังแค่ได้ ส.ส. มากที่สุด แต่หมายถึงได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯ  และเมื่อเกินครึ่งสภาฯ คราวนี้ ปัญหาก็จะไปตกอยู่ที่การบีบ ส.ว. ให้ตกเทคะแนนให้แคนดิเดทของพรรค มิฉะนั้นแล้ว อาจจะเจอประชาชนลงถนน             

ถ้ากลับก่อนเลือกตั้ง และยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยยอมติดคุก ก็ถือว่าแน่ เป็นคนจริง และเชื่อว่าแลนสไลด์  เมื่อพรรคเป็นรัฐบาล อำนาจต่อรองในคดีความก็ย่อมสูงตามมา อาจติดคุกไม่นาน แต่คงนิรโทษหรืออภัยโทษแค่คนๆเดียวไม่ได้  บรรดาแกนนำทุกฝากฝั่งที่ยังมีคดีความติดตัวอยู่ก็ต้องได้รับนิรโทษหรืออภัยโทษไปด้วย     

ใครบ้าง ที่จะได้ประโยชน์ไปด้วย ? ก็ลองคิดดูเอาเอง

ส่วนตัวเลือกที่จะให้ประกาศชัดเจนก่อนเลือกตั้งว่าจะกลับมาวันไหนแน่หลังเลือกตั้ง  ก็ส่งผลให้ได้คะแนนเสียงมากขึ้นอยู่ดี แต่อาจจะไม่มากเท่ากับ “ลงทุน” กลับมาติดคุกก่อนเลือกตั้ง  แต่หากได้ ส.ส. เพิ่มมากจนถึงเกินครึ่งสภาฯ  สามารถบีบ ส.ว. จำนวนหนึ่งให้ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี จนจัดตั้งรัฐบาลได้  แม้จอมยุทธ์ไม่ได้กลับมาจริงๆตามที่สัญญาไว้  ก็ไม่แน่ใจว่าประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทยจะออกไปไล่รัฐบาลของตัวเองตามที่คุณตู่ กำหนดเงื่อนไขไว้   

การเคลื่อนทางการเมืองของคุณตู่ช่วงนี้ จะโดยความตั้งใจหรือไม่นั้น สุดที่จะทราบได้ แต่ที่ผมเห็นเป็นอะไรอื่นไม่ได้ นอกจากการสร้างกระแสให้เพื่อไทยได้แลนสไลด์เกิน 250 หรือมากกว่านั้น       

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร