ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๓๒): การสละราชสมบัติ

 

ในหนังสือ “เอกสารการเมือง-การปกครองไทย” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๘   ชัยอนันต์ สมุทวนิช และ ขัตติยา กรรณสูตรได้รวบรวมเอกสารสำคัญในการเมืองการปกครองไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๗๗  เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารชั้นต้นที่ถูกใช้อ้างอิงในการเขียนงานวิจัย หนังสือ ตำราต่างๆที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยในช่วงเวลาดังกล่าว

เรื่องสุดท้ายในหนังสือ คือ เรื่องที่ ๑๒ ว่าด้วยการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์ขัตติยาได้ค้นคว้าและนำเอกสารสำคัญมาตีพิมพ์ไว้ นั่นคือ เอกสารพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนการสละราชสมบัติและคำสนองพระราชบันทึกของคณะรัฐบาล 

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอพระราชบันทึกข้อ ๑  ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ “สนองพระราชบันทึก” ที่ฝ่ายรัฐบาลทำหนังสือทูลเกล้าฯตอบพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ “พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๑” และ “สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความข้อ ๑” ที่รัฐบาลได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯตอบ และ “พระราชบันทึก ข้อ ๒” (ที่ทรงตอบกลับ)

ในตอนนี้ จะได้นำเสนอ “สนองพระราชบันทึก” หรือข้อโต้แย้งของฝ่ายรัฐบาลที่มีต่อ “พระราชบันทึก ข้อ ๒” และ “พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๒” และ “สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความในข้อที่ ๒”  (รัฐบาลตอบ)                                   

สนองพระราชบันทึก (ข้อ ๒)         

“๒. ตามที่ทรงมีพระราชดำริจะให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา ๓๙ และทรงกล่าวถึงวิธีต่างๆนั้น เห็นว่าวิธีอย่างประเทศสวิส ซึ่งให้มีการลงคะแนนทั้งประเทศ (plebiscite) นั้นจะนำมาใช้ในประเทศสยามในเวลานี้ยังไม่ถนัด เพราะการศึกษาของเรายังไม่แพร่หลาย และราษฎรยังไม่สันทัดเคยชินต่อการปกครองระบอบนี้ จึงควรงดวิธีนี้ไว้ก่อน

ส่วนวิธีที่ให้สภาฯลงมติมีเสียงข้างมาก ๒ ใน ๓ หรือ ๓ ใน ๔ จึงจะลบล้างเสียงคัดค้านของประมุขได้นั้น ในเรื่องนี้เป็นเรื่องของสภาฯ ส่วนทางรัฐบาลนั้นเห็นว่า ในทางปฏิบัติที่เป็นมาแล้วสำหรับพระราชบัญญัติที่ทรงคัดค้านนั้น บรรดาสมาชิกที่เป็นรัฐมนตรีและเลขานุการรัฐมนตรีทั้งหมด ตลอดจนผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ บางคนที่ไปประชุมก็นิ่งไม่ลงมติ (abstention) เสีย ดั่งจะเห็นได้จากผลแห่งการลงมติ คือ                       

ก. โวตพระราชบัญญัติอากรมรดก สมาชิกมาประชุม ๑๓๖ (ประเภทที่หนึ่ง ๗๖ นาย ประเภทที่สอง ๖๐ นาย) นิ่งไม่ออกเสียง ๑๒ เสียง ให้ออกเป็นพระราชบัญญัติ ๘๙ ผู้ที่เห็นไม่ควรออกพระราชบัญญัติ ๓๕

ข. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายอาชญา สมาชิกมาประชุม ๑๔๐ (ประเภทที่หนึ่ง ๗๔ ประเภทที่สอง ๖๖ นาย)  นิ่งไม่ออกเสียง ๑๒ เสียง ที่ออก ๑๑๑ ผู้ที่ออกเสียงให้ออกเป็นพระราชบัญญัติ ๗๕ ผู้ที่เห็นไม่ควรออกเป็นพระราชบัญญัติ ๓๖

เมื่อตามผลแห่งการปฏิบัติที่แล้วมาได้เป็นดังที่ได้กราบบังคมทูลมาแล้ว จึงเห็นว่า การที่จะแก้ไขไปในทำนองนั้นก็จะไม่ได้ประโยชน์เท่าใดนัก ผลที่จะพึงได้รับจากการแก้ไม่คุ้มกับที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์

ยังคงเหลืออยู่อีกวิธีหนึ่งตามที่ได้ทรงรับสั่ง คือ วิธียุบสภาฯ ให้เลือกตั้งกันขึ้นมาใหม่  ซึ่งเป็นวิธีที่อาจกระทำได้โดยไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ  คือ โดยอาศัยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๕ (มาตรา ๓๕: “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกมาใหม่ ในพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาเช่นนี้ ต้องมีกำหนดให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายในเก้าสิบวัน”)  ในเรื่องนี้ ก็ได้พิจารณาตามพระราชกระแสสำหรับร่างพระราชบัญญัติที่ได้ทรงคัดค้านก่อนๆแล้ว แต่เห็นว่า การที่จะยุบสภาฯนั้น ยังไม่สมควร เพราะความจำเป็นยังไม่ปรากฏ และจะทำให้เป็นการเปลืองพระราชทรัพย์โดยใช่เหตุ เพราะร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ นั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลอาจทำความพอพระราชหฤทัยให้ตามข้อที่ทรงคัดค้านนั้นได้  แต่ในกาลต่อไปเพื่อที่จะไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ  โดยโปรดให้ใช้วิธียุบสภาฯ เนื่องด้วยพระราชบัญญัติที่ทรง veto ก็ย่อมจะทรงทำได้ โดยโปรดเกล้าฯแจ้งพระราชประสงค์ในการยุบสภาฯ มาในพระราชหัตถเลขาที่ทรงคัดค้านนั้นด้วย

เมื่อมีวิธีการที่จะกระทำได้โดยมิต้องแก้รัฐธรรมนูญเช่นนี้แล้ว จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแก้มาตรา ๓๙ แห่งรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อยังความถาวรให้เกิดแก่รัฐธรรมนูญนี้จริงๆ เพราะเมื่อสิ้นระยะเวลาเฉพาะกาลแล้ว รัฐธรรมนูญที่ได้พระราชทานก็จะเป็นหลักถาวรยิ่งขึ้น”

------------

ต่อไปคือ             

พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๒

“ตราบใดที่ยังคงให้สมาชิกประเภทที่ ๒ มีอยู่ ตามความเห็นของข้าพเจ้า วิธีการซึ่งเหมาะที่สุดในอันที่จะลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับคำทักท้วงของพระมหากษัตริย์นั้นมีอยู่เพียงวิธีเดียว  กล่าวคือ ควรให้มีเสียงข้างมากที่ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนเศษสามส่วนสี่ ถ้าหากใช้วิธียุบ (สภา) แล้ว ก็จักต้องให้เป็นไปเองและจักต้องเพิ่มความในรัฐธรรมนูญไว้ว่า ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงทักท้วงพระราชบัญญัติฉบับใดลงมา สภาฯผู้แทนราษฎรเป็นอันต้องยุบไปเองในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ต้องเป็นไปโดยมิต้องอาศัยความยินยอมของรัฐมนตรีผู้หนึ่งผู้ใดในอันที่จะรับสนองพระบรมราชโองการ

ข้าพเจ้าได้เคยขอให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่ยินยอม และก็คงเป็นเช่นนี้แทบทุกคราวไป

ถ้านำวิธีนี้มาใช้แล้ว สมาชิกประเภทที่ ๒ ก็ควรที่จะเลือกตั้งกันใหม่เหมือนกัน

การที่ข้าพเจ้าขอมาดั่งนี้ ก็เพื่อที่จะรักษาหลักไว้ มิใช่เพื่อที่จะให้การทักท้วงพระราชบัญญัติของข้าพเจ้าเป็นผลทุกคราวไป ถ้าข้าพเจ้าแน่ใจได้ว่า นโยบายอันใดเป็นความประสงค์อันแท้จริงของราษฎรส่วนมากแล้ว ข้าพเจ้าก็จะไม่ขัดขวางนโยบายอันนั้นเลย”

-----------

ต่อไปคือ

สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความในข้อที่ ๒ (รัฐบาลตอบ)                         

“การที่จะให้สภาผู้แทนราษฎรต้องยุบไปเองโดยเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงทักท้วงพระราชบัญญัติฉบับใดลงมานั้น เห็นว่า ตามระบอบรัฐธรรมนูญทำเช่นนั้นไม่ได้ ส่วนที่ได้เคยทรงขอให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลไม่ยินยอมนั้น ข้อนี้ก็ได้กราบบังคมทูลไปแล้วในครั้งก่อนว่ารัฐบาลยังไม่เห็นเป็นการสมควร จึงมิได้ยุบ           

ตามที่รัฐบาลได้ตอบพระราชบันทึกไปนั้น ก็ได้พยายามหาหนทางที่จะให้เป็นไปโดยไม่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

-------------

ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะได้นำ “พระราชบันทึก ข้อ ๓” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงตอบรัฐบาลมานำเสนอแด่ท่านผู้อ่าน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 10)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 22: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 9)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490