การประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๕๑)

 

หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ”  รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร           

ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์

ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477  ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ  เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

หลังจากมีการอภิปรายไปพอสมควร เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัง กล่าวว่า “ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลตามที่สมเด็จกรมพระนริศฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสละราชสมบัติ/ผู้เขียน) ได้ทรงสืบสวนแล้ว ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลาฯ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์แล้ว กับมีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล นั้นเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล ตามที่ได้แจกไปให้ท่านแล้ว”

หลังจากที่มีการอภิปรายไปสักพัก นายกรัฐมนตรี (พระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) ได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาฯว่า “ที่รัฐบาลเสนอพระองค์แรก คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สภาฯนี้จะรับหรือไม่รับ” 

หลังจากมีการอภิปรายต่อไปสักพัก ต่อมานายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าอยากจะทราบด้วยว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนี้มีพระชนม์เท่าไร และมีคุณสมบัติอย่างไร ขอทราบ” 

เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัง ตอบว่า “๑๐ พรรษา  คุณสมบัติก็เรียนอยู่สวิทเซอร์แลนด์ เวลานี้ก็ ๑๑ ขวบ ก็มีเท่าที่ทรงเล่าเรียนนี้แหละ”

จากนั้นไม่นาน ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า

“ก่อนจะเลือก ข้าพเจ้าขออภิปรายเพื่อเหตุผลสำหรับประเทศชาติสักหน่อย  วาระนี้ เราต้องเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การที่พระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติและต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่ ในที่นี้ ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะขออภิปรายถึงหลักการทั่วไปในการที่เราจะเลือกพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชสมบัติ เป็นประมุขของชาติต่อไป 

ว่าโดยหลักการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเลือกผู้แทนตำบล ผู้แทนราษฎรหรือคณะรัฐมนตรี ทั่วโลกย่อมวางกฎเกณฑ์แห่งคุณสมบัติประจำบุคคลเป็นสาระสำคัญอย่างยอดเยี่ยม  หลักเกณฑ์เหล่านี้ย่อมตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ  บุคคลและคณะบุคคลดังกล่าวมาแล้วนั้นสำคัญเพียงไร  การเลือกพระมหากษัตริย์ก็สำคัญยิ่งกว่าหลายร้อยหลายพันเท่า  เพราะเมื่อเลือกตั้งขึ้นแล้ว จะถอดถอนพระองค์ลงจากเสวตรฉัตรไม่ได้เลยเป็นอันขาด   นอกจากความสมัครพระราชหฤทัยของพระองค์เอง เพราะฉะนั้น ถ้าสภาฯนี้เลือกเจ้านายที่ไม่สมควรขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์  ทั้งรัฐบาลและสภาฯ ตลอดจนประชาราษฎรทั้งหลายจะต้องหวานอมขมกลืม  รับแต่ความขมขื่นนั้นตลอดชั่วระยะกาล  หากเราเลือกเจ้านายที่บกพร่องด้วยคุณสมบัติแล้ว เราพอจะหลับตาแลเห็นเหตุการณ์อันร้ายแรงในอนาคตโดยประวัติศาสตร์ที่แล้วๆมาทั้งในและนอกประเทศ  จะนำเราไปสู่จุดที่หมายในลักษณะการที่คล้ายคลึงกัน

ถ้าแหละจะมีผู้เถียงว่า พระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชกับสมัยปริมิตตาญาสิทธิราช (พระราชอำนาจจำกัด/ผู้เขียน) ทรงพระราชอำนาจไม่เหมือนกัน  แต่ข้าพเจ้าขอร้องให้จำไว้ว่า ถึงแม้พระมหากษัตริย์จะทรงไร้พระราชอำนาจโดยพฤตินัย แต่พระองค์ไร้พระราชอิทธิพลไม่ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ รัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร มีวัตถุประสงค์ตรงกันในอันที่จะจรรโลงสยามรัฐสีมาอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองตามกาลสมัย บุคคลและคณะบุคคลทั้งสามนี้จะต้องมีความคิดเห็นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นส่วนมาก ยิ่งในปัจจุบันนี้ ประเทศของเราอุประมาดังว่าเรือที่ลอยอยู่ในกลางมหาสมุทร ความสงบราบคาบภายในลำเรือยังไม่เป็นที่ไว้วางใจได้แน่นัก  มิหน้ำซ้ำถูกกระทบกระเทือนกระแสคลื่นอันเป็นอำนาจภายนอกอีก  ถ้านายเรือ ช่างกล และกลาสี ไม่ร่วมสมานฉันท์กันแล้ว ก็เป็นที่พึงวิตกว่า รัฐนาวาสยามจะไปไม่ตลอดรอดฝั่ง  เพื่อให้บรรลุผลสมประโยชน์ดังเจตนาที่ได้กล่าวแล้ว การเลือกตั้งพระมหากษัตริย์ ก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ   

กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงกว่ากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗  สภาผู้แทนราษฎรจะเลือกเจ้านายพระองค์ใดก็ได้ (เน้นโดยผู้เขียน)  ถ้าเมื่อเจ้านายพระองค์นั้นทรงคุณสมบัติดังนี้คือ

๑. ทรงเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญ         

๒. ทรงเป็นผู้มีวิทยาคุณ รอบรู้ประวัติศาสตร์ในการปกครองมนุษยชาติ                       

๓. ทรงมีความรู้ในวิชาทหารบกหรือทหารเรืออย่างน้อยในตำแหน่งสัญญาบัตร

๔. ทรงมีพระอุปนิสัยรักใคร่ราษฎร และเป็นที่นิยมนับถือของประชาชนทั่วไป

๕. ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว

ในข้อ ๑ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกสรรเจ้านายที่ทรงนิยมรักการปกครองระบอบนี้ เพราะการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญจะต้องจิรังกาลไปชั่วฟ้าดินสลาย เราจะต้องพยายามอย่างยิ่งมิให้มีการปฏิวัติกันกลับไปกลับมาอย่างเช่นในประเทศฝรั่งเศสเมื่อครั้งกระโน้น หรือประเทศอังกฤษสมัยโบราณ ประเทศเรามีจำนวนพลเมืองน้อย หากมีการปฏิวัติกันบ่อยครั้ง จำนวนพลเมืองก็จะร่อยหรอลง และอาจเป็นเหตุให้ถูกแทรกแซงจากอำนาจภายนอกถึงแก่เสียความอิสรภาพก็ได้

ในข้อ ๒ ข้อนี้เป็นหลักประกันในข้อ ๑ เพราะความรอบรู้ในวิชาประวัติศาสตร์ย่อมกระทำให้พระองค์ทรงระลึกเสมอ หากพระองค์ฝ่าฝืนประวัติศาสตร์ไป ผลร้ายจะตกแก่พระองค์และประเทศชาติ กษัตริย์ที่ไม่รอบรู้ในวิชาประวัติศาสตร์ ก็เสมือนคนที่ไม่ได้เป็นนายแพทย์ ย่อมไม่รู้จักเชื้อโรค และไม่อาจทราบถึงพิษของเชื้อโรคนั้นๆ ความไม่รอบรู้จะนำพระองค์ให้ทรงเป็นผู้กล้าหาญทั้งในทางที่ถูกและในทางที่ผิด ความไม่รู้ก็เป็นภัยแก่ชาติเช่นเดียวกัน                                       

ข้อ ๓ เพราะเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพสยามตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่พระองค์จะต้องทรงรอบรู้ในวิชารบ คำว่ารอบรู้นั้น ต้องหมายว่าได้ร่ำเรียนมาสำเร็จจริงๆ ไม่ใช่มียศเป็นนายทหารพิเศษเท่านั้น               

ในข้อ ๔ เป็นประการที่สำคัญที่สุดในความวัฒนาถาวรของชาติ และความมั่นคงของราชบัลลังก์ พระมหากษัตริย์จะต้องทรงเป็นผู้เห็นความทุกข์ยากของราษฎร และทรงเผื่อแผ่อารีรักในปวงประชาชาติ หากพระองค์ไร้คุณสมบัติดังกล่าวแล้ว พงศาวดารของเราจะบอกเราให้รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นภายหน้า ขอจงระลึกไว้ว่า ชาติของเราพึงปฏิวัติการปกครองครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่การปฏิวัติองค์พระมหากษัตริย์นั้นเกือบนับครั้งไม่ถ้วน  และปฏิวัติครั้งไรก็เกิดนองเลือดทุกครั้ง  ความจงรักภักดีระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรจะต้องกลมกลืนสัมพันธ์ประดุจลูกโซ่  ในสมัยที่การศึกษาของเรายังไม่เจริญ  บาปบุญคุณโทษทั้งหลายทั้งปวงแทนที่จะตกอยู่แก่รัฐบาล ราษฎรกลับโยนให้ไปตกอยู่แก่พระมหากษัตริย์  เพราะฉะนั้นด้วยการศึกษาของเรายังไม่ก้าวหน้าพอ เราก็จะต้องเลือกสรรพระเจ้าแผ่นดินให้เหมาะสมกับความนิยมชมชอบของราษฎรด้วย                       

ในข้อ ๕ ไม่หมายถึงว่า เราจะเลือกเจ้านายที่ทรงพระชรา แต่เป็นอันแน่ว่า เราจะไม่เลือกกษัตริย์เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ พระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ก้าวล่วงขาดความเป็นผู้เยาว์ ไม่ว่าประเทศนี้หรือในประเทศไหน ไม่เคยปรากฏว่า ได้นำความราบรื่นมาสู่ชาติประเทศเลย ขอให้พิเคราะห์ดูพระเจ้าชานตุงของจีน พระเจ้าไมเกิ้ลแห่งรูเมเนีย และพระยอดฟ้า ราชโอรสของท้าวศรีสุดาจันทร์แห่งสยามว่า กษัตริย์เด็กเหล่านี้ได้ประสบเหตุการณ์อย่างร้ายแรงประการใดบ้าง 

อีกประการหนึ่ง อย่าลืมเป็นอันขาดว่า ถ้าเรามีกษัตริย์ที่ไม่บรรลุนิติภาวะ ราษฎรจะหาว่าเราแต่งตั้งกษัตริย์ขึ้นโดยเอาไว้เป็นเครื่องมือ ในอันที่จะอำนวนความสะดวกต่างๆ ถึงแม้ว่า พระมหากษัตริย์ผู้เยาว์จะมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ดี แต่ใครเล่าจะเป็นผู้รับประกันว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น จะไม่ทำการขัดขวางรัฐประศาสโนบายของรัฐบาลหรือนโยบายของสภาผู้แทนราษฎร ในที่สุด เราควรวางกฎเกณฑ์ว่า ต้องเลือกเจ้านายที่สามารถประกอบพระราชกรณียกิจได้อย่างทันสมัย ไม่ใช่ล่วงสมัย และยังไม่ถึงสมัย ขอท่านสมาชิกทั้งหลายจงเคารพต่อเหตุผลยิ่งกว่าอื่นใดทั้งหมด”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า