ข้อพึงสังเกตเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 (ตอนที่ 2)

 

ข้อสังเกตประการต่อมาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 คือ นอกจาก นายปรีดี พนมยงค์ใช้สถานะการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ริเริ่มให้มีการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 เพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ได้แถลงต่อคณะรัฐมนตรีถึงเหตุผลให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ได้เสนอญัตติด่วนต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาจำนวน 27 นาย ประกอบด้วย   

1. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ

2. พระยาอรรถารีย์นิพนธ์

3. นายดิเรก ชัยนาม                         

4. นายพิชาญ บุญยงค์                             

5. พล. ท. หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต

6. หลวงจำรูญเนติศาสตร์

7. พล. ต. อ. อดุล อดุลเดชจรัส

8. พระยามานวราชเสวี

9. พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร

10. นายเดือน บุนนาค

11. พล. ร. ท. สินธุ์ กมลนาวิน

12. นายทวี บุญยเกตุ

13. นายฟื้น สุพรรณสาร

14. นายเลียง ไชยกาล                             

15. พระยาวิทุรธรรมพิเนตุ

16. นายผล แสนสระดี

17. นายสุวิชช พันธเศรษ

18. นายโชติ คุ้มพันธ์

19. นายเขมชาติ บุญยรัตนพันธ์

20. นายชิต เวชประสิทธิ์                 

21. ร.ท. ประจวบ มหาขันธ์

22. ขุนสุคนธ์วิทยศึกษาการ

23. นายทองเปลว ชลภูมิ

24. นายแก้ว สิงคเชนทร์

25. ร.ท. อู๊ด นิตยสุทธิ์

26. นายใหญ่ ศวิตชาติ

27. นายเฉลา เตลานนท์ [1]           

เมื่อถึงวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่อานันทมหิดลเสด็จกลับประเทศไทยในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดี พนมยงค์จึงได้พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดี พนมยงค์ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส โดยผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช  [2]

ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2488 นั้น   ม.รว. เสนีย์ ปราโมชดำรงตำแหน่รักษาการนายกรัฐมนตรี  เพราะม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่หนึ่งเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488โดยพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นมาใหม่ภายใน 90 วันนับแต่วันยุบสภา ซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปได้เกิดขึ้นในวันที่ 6  มกราคม พ.ศ. 2489

หลังการเลือกตั้งทั่วไป นายควง อภัยวงศ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2489  และภายใต้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติแต่งตั้งคณะกรรมมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 15 นายเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489  โดยมีรายนามดังต่อไปนี้

1. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

2. นายดิเรก ชัยนาม

3. นายเดือน บุนนาค

4. นายเตียง ศิริขันธ์

5. นายทองอินทร์ ภูมิพัฒน์

6. นายปริญญา จุฑามาตย์ 

7. นายปรีดี พนมยงค์

8. นายพิชาญ บุญยงค์

9. พระยามานวราชเสวี

10. นายเอื้อน พานิชวิทย์

11. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร

12. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ

13. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

14. นายอินทร สิงเนตร

15. พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ [3]           

ที่ประชุมกรรมาธิการได้เลือกนายปรีดี พนมยงค์ เป็นประธาน [4]

จะพบว่านับจากปี พ.ศ. 2476  จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2489 นายปรีดี พนมยงค์ได้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ (ไม่นับตำแหน่งรัฐมนตรี)

พ.ศ. 2476 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง                              

พ.ศ. 2484 (พ้นจากสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2488 ได้ริเริ่มให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ                     

พ.ศ. 2488 (ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม) รัฐบุรุษอาวุโส  (พ้นจากการเป็นรัฐบุรุษอาวุโสวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488)

พ.ศ. 2489 (ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์) รัฐบุรุษอาวุโส และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตนได้ริเริ่มในครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ต่อมา วันที่ 18 มีนาคม 2489 นายควง อภัยวงศ์ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องจาก  รัฐบาลของเขาได้แพ้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชน ที่รัฐบาลปฏิเสธที่จะผ่านให้เป็นกฎหมาย แต่ทางสภากลับมีมติรับร่างพระราชบัญญัติฯด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 65 ต่อ 63 [5] 

ต่อมา ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 นายจำรัส สุวรรณชีพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองได้ขอลาออกจากการเป็นสมาชิก [6] โดยนายจำรัส ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองมาตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2487 [7] เพื่อเปิดทางให้มีการแต่งตั้งนายปรีดี พนมยงค์เป็นสมาชิกสภาประเภทที่สอง เพื่อทำให้นายปรีดี พนมยงค์มีคุณสมบัติที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 กำหนดว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร [8]

ต่อมา ประธานสภาผู้แทนราษฎร (พระยามานวราชเสวี [ปลอด ณ สงขลา) ได้เสนอชื่อนายปรีดี พนมยงค์เป็นนายกรัฐมนตรี และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 โดยมีนายปรีดี พนมยงค์เป็นนายกรัฐมนตรี [9]  และวันที่ 25 มีนาคม  นายปรีดี พนมยงค์จึงได้ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เขาเป็นประธานฯมาตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 เพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไว้วางใจหลังจากที่คณะรัฐมนตรีของเขาได้แถลงนโยบายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489

หลังจากที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 15 วัน ก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

อันเป็นรัฐธรรมนูญที่เขาเป็นผู้ริเริ่มในครั้งที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยปกติแล้ว ตามหลักสากลของระบอบรัฐสภาทั่วไป เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายกรัฐมนตรีจะต้องประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสภาฯชุดใหม่ภายใต้เงื่อนไขใหม่ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่นายปรีดี พนมยงค์กลับไม่ยุบสภาผู้แทนราษฎร !       

ไม่ยุบได้อย่างไร ?  ผลพวงจากการที่เขาไม่ยุบสภาผู้แทนราษฎรคืออะไร ?

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


[1] สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ, ครั้งที่ 4/2488,” 19 กรกฎาคม 2488 อ้างใน ดำรงค์ อิ่มวิเศษ, การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 และการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2530,  หน้า 56.

[2] https://pridi.or.th/th/content/2022/12/1351

[3] สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ, ครั้งที่ 9/2489,” 28 กุมภาพันธ์ 2489  อ้างใน ดำรงค์ อิ่มวิเศษ, การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 และการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2530,  หน้า 98.

[4] https://pridi.or.th/th/about/pridi/timeline

[5] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14/วันที่ 18 มีนาคม 2489 https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/73233  และดู “24 มีนาคม พ.ศ. 2489” ในฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า

[6] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15/ วันที่ 21 มีนาคม 2489 https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/73234

[7] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9/วันที่ 17 สิงหาคม 2487 

https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/73321

[8] ดู “24 มีนาคม พ.ศ. 2489” ในฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า

[9] https://www.soc.go.th/?page_id=5821

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 9)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'ธนกร' เชื่อครม.ใหม่เดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนทันที ปัญหาประเทศรอไม่ได้

นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่มีการปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตนเชื่อว่า รัฐมนตรีทุกคนมีศักยภาพและประสบการณ์ในการทำงาน

'อุ๊งอิ๊ง' ดูไว้! นักการเมืองต้องรักษาสัจจะเหมือน 'อภิสิทธิ์' เคยหาเสียงไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์

เมื่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร กล่าวในงานอีเวนต์ ”10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10“ ว่า พรรคเพื่อไทยตัดสินใจถูกตั้งรัฐบาลผสม

'จักรพงษ์' ปัดเลื่อนชั้นขึ้นนั่ง รมต. จากสายตรงเศรษฐา ยันไร้ปัญหากับปานปรีย์

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเข้าถ่ายรูปติดบัตรประจำตัวถึงกรณีที่ถูกมองว่าเป็นการพาร์ทชั้นจากเดิมที่อยู่ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่า ไม่ได้พาร์ทชั้นหรอก

'สุชาติ' ลั่นทำงานเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง ไม่ซีเรียสเป็น รมช.พาณิชย์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ ถึงการได้กลับเข้าทำเนียบรัฐบาลในรอบ 7 เดือน ว่า ได้กลับเข้ามาทำงานให้ประเทศชาติบ้านเมืองเหมือนเดิม

ทำเนียบคึกคัก! รัฐมนตรีใหม่ถ่ายภาพทำบัตร ก่อนเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ฯ

รัฐมนตรีใหม่ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ได้เดินทางเข้าทำเนียบฯเพื่อถ่ายภาพทำประวัติ และทำบัตรประจำตัวรัฐมนตรี ที่ห้องสีเหลือง ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคั