ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี
“5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม
จากตอนที่แล้ว ที่ได้ยกรายงานสถานทูตต่างประเทศที่มีต่อพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยมีสาระสำคัญว่า ทางฝ่ายฝรั่งเศสเห็นว่า การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้นถือเป็น “การรัฐประหาร” ส่วนทางฝ่ายอังกฤษเห็นว่า ไม่ใช่ และเห็นด้วยกับ “การยุบสภาฯ” ครั้งนั้น นั่นคือ ทางอังกฤษเห็นว่าเป็นการยุบสภาฯ ส่วนในแถลงการณ์ของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและในพระราชกฤษฎีกาใช้คำว่า ปิดประชุมสภาฯ และผู้เขียนได้ทิ้งคำถามท้ายบทความไว้ว่า “ท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวข้างต้นไปแล้ว ท่านเห็นว่า ปรากฎการณ์ทางการเมืองวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นการทำรัฐประหารตามความเห็นของพันโทรูซ์ หรือไม่เป็นตามความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษ ?”
------------------
ต่อประเด็นการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 นี้ ม.ล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ได้ศึกษาไว้ใน “แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2520) ได้กล่าวไว้ว่า
“การปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานี้เป็นเหตุให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แต่ในแง่ที่ว่าจะเป็นการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการละเมิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จริงอยู่ แม้ในรัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทว่าถ้าคิดในแง่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบรัฐสภา หากเกิดกรณีที่มีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจนไม่สามารถจะรักษาสถานการณ์ไว้ได้ รัฐบาลอาจยุบสภาแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การกระทำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามิได้เป็นการกระทำที่จะละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ประการใด”
--------------
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า การที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯมิไม่ถือว่าเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญและเป็นการทำรัฐประหาร เพราะเป็นไปตามมาตรา 29 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีก็เป็นไปตามระบบรัฐสภาที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการปรับคณะรัฐมนตรี
ที่เหลือที่จะอาจจะเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญและเข้าข่ายการทำรัฐประหาร (เงียบ)
ประเด็นที่เหลือ คือ การกำหนดให้รอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งข้อความในข้อ 5 ในพระราชกฤษฎีกาฯจะสัมพันธ์กับหัวข้อและข้อความในแถลงการณ์ของรัฐบาล วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยหัวข้อคือ “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลในการปิดสภาผู้แทนราษฎรและรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา” โดยความในข้อ 5 กล่าวว่า “ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้รอการใช้บทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้เสีย ส่วนบทบัญญัติอื่นๆในรัฐธรรมนูญนั้นให้เป็นอันคงใช้อยู่ต่อไป”
ส่วนข้อความในแถลงการณ์ที่มีใจความเดียวกัน ได้แก่ ข้อความในย่อหน้าแรก: “รัฐบาลขอแถลงให้ประชาชนทราบเพื่อเป็นที่เข้าใจทั่วกันในเหตุผลอันสำคัญยิ่งซึ่งบังเกิดขึ้น กระทำให้เป็นความจำเป็นที่ต้องปิดสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา” และ ข้อความในย่อหน้าสุดท้าย: “รัฐบาลขอย้ำความข้อหนึ่งว่า พระราชกฤษฎีกานี้ให้รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา และเป็นการชั่วคราวเท่านั้น”
ข้อความ “รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา และเป็นการชั่วคราว” นี้เอง ที่ต่อมาเป็นที่รู้จักกันในวลีที่ว่า “งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา”
การงดหรือรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่ว่านี้ คือ มาตราอะไร ?
คำตอบ คือ มาตรา 6 และมาตรา 36
มาตรา 6 มีความว่า “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”
มาตรา 36 มีความว่า “บรรดาพระราชบัญญัติทั้งหลาย จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”
สาเหตุที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต้องกำหนดให้มีการรอการใช้มาตรา 6 หรืองดใช้มาตรา 6 ชั่วคราว เพราะความในข้อ 4 ในพระราชกฤษฎีกาฯขัดกับมาตรา 6
เพราะความในข้อ 4 ในพระราชกฤษฎีกาฯ กล่าวว่า “ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี” ซึ่งขัดกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญฯที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร” และมาตรา 36 ที่กำหนดไว้ว่า
บรรดาพระราชบัญญัติทั้งหลาย จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”
พูดง่ายๆคือ นัยสำคัญของความในข้อ 4 และข้อ 5 คือ การดึงอำนาจนิติบัญญัติมาไว้ที่ฝ่ายบริหารเป็นการชั่วคราวนั่นเอง
แต่การประกาศดึงอำนาจนิติบัญญัติโดยฝ่ายบริหารนี้ มิได้กระทำในขณะที่ยังมีการเปิดประชุมสภาฯอยู่ แต่กระทำหลังจากที่ปิดประชุมสภาฯแล้วหนึ่งวัน และการปิดประชุมสภาฯก็เป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรา 29 ที่กำหนดไว้ว่า
“สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆ ท่านว่ามีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้
อนึ่งในระหว่างเวลาเก้าสิบวัน จะโปรดเกล้าฯให้ปิดประชุมก็ได้”
การประชุมสภาฯสมัยดังกล่าวได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลาเกินเก้าสิบวันแล้วด้วย นั่นคือ ประชุมสภาฯครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2475 จนถึงวันปิดประชุมคือวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2476 การปิดประชุมสภาฯโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และมิได้เป็นการปิดประชุมก่อนระยะเวลาที่กำหนด
การตราพระราชกฤษฎีกาดึงอำนาจนิติบัญญัติในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯมาไว้ที่ฝ่ายบริหาร ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ผู้รับสนองพระบรมราชโองการทั้งสิบสี่คน อันได้แก่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่กราบบังคมทูลฯ พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯ มีอำนาจที่จะให้มีการ “รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา…เป็นการชั่วคราว” นั่นคือ รอการใช้มาตรา 6 เป็นการชั่วคราวหรือไม่ ? ซึ่งชั่วคราวที่ว่านี้ก็คือในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และมีอำนาจในการ “ดึงอำนาจนิติบัญญัติในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯมาไว้ที่ฝ่ายบริหาร” หรือไม่ ?
ในทางนิติศาสตร์ การดึงอำนาจนิติบัญญัติมาไว้ที่ฝ่ายบริหารเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องเป็นกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ดังที่ปรากฏในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ได้กำหนดไว้แล้วในมาตรา 29 ความว่า
“ถ้ามีการฉุกเฉินเกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการราษฎร (ต่อมาใช้คำว่า คณะรัฐมนตรี) จะเรียกประชุมสภาราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ และคณะกรรมการราษฎรเห็นสมควรจะต้องออกกฎหมาย เพื่อให้เหมาะแก่การฉุกเฉินนั้น ๆ ก็ทำได้ แต่จะต้องรีบนำกฎหมายนั้นขึ้นให้สภารับรอง”
ต่อประเด็นดังกล่าวนี้ ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมนันท์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนได้กล่าวไว้ว่า
“พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยและเป็นรัฐธรรมนูญที่เริ่มวางหลักการในการตราพระราชกำหนดในความหมายปัจจุบันเอาไว้ โดยกำหนดให้การ ‘ออกกฎหมาย’ พิเศษต้องมีองค์ประกอบดังนี้ คือ
ก) เกิดกรณีมีการฉุกเฉินเกิดขึ้น
ข) คณะกรรมการราษฎรไม่สามารถเรียกประชุมสภาราษฎรได้ทันท่วงทีได้ และ
ค) คณะกรรมการราษฎรเห็นสมควรจะต้องออกกฎหมายเพื่อให้เหมาะกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น
เมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 3 ประการ คณะกรรมการราษฎรซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้สามารถออกกฎหมาย (ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนสภาผู้แทนราษฎร/ผู้เขียน) เพื่อการฉุกเฉินนั้นได้ แต่จะต้องรีบนำกฎหมายนั้นให้สภารับรอง อย่างไรก็ดี กฎหมายเพื่อการฉุกเฉินตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะมี ‘ลักษณะ’ เป็นพระราชกำหนดตามความหมายปัจจุบัน แต่ก็มิได้มีชื่อเรียกว่าพระราชกำหนดแต่อย่างใด” [1]
ต่อมา รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ก็ได้มีการบัญญัติความในลักษณะเดียวกันกับมาตรา 29 ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ไว้ในมาตรา 52 ความว่า
“ในเหตุฉุกเฉินซึ่งจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ท่านให้นำพระราชกำหนดนั้นเสนอต่อสภาเพื่ออนุมัติ ถ้าสภาอนุมัติแล้ว พระราชกำหนดนั้นก็เป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้าสภาไม่อนุมัติไซร้ พระราชกำหนดนั้นเป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบถึงกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
คำอนุมัติและไม่อนุมัติของสภาที่กล่าวนี้ ท่านว่า ให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ”
ต่อมาตรา 52 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมนันท์ได้อธิบายไว้ว่า
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร มีการบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการตราพระราชกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ และมีความจำเป็นที่จะต้องตรากฎหมาย พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างหลักเกณฑ์เพิ่มขึ้นจากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ตรงที่ได้มีการกำหนดให้นำพระราชกำหนดกลับมาเสนอต่อสภาเพื่ออนุมัติและได้มีการบัญญัติถึงผลของการอนุมัติและไม่อนุมัติพระราชกำหนดเอาไว้ด้วย” [2]
ดังนั้น ถ้ากลับมาที่คำถามข้างต้นที่ว่า “ผู้รับสนองพระบรมราชโองการทั้งสิบสี่คน อันได้แก่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่กราบบังคมทูลฯ พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯ มีอำนาจที่จะให้มีการ “รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา…เป็นการชั่วคราว” นั่นคือ รอการใช้มาตรา 6 เป็นการชั่วคราวหรือไม่ ? ซึ่งชั่วคราวที่ว่านี้ก็คือ 81 วัน นั่นคือ ระหว่างช่วงที่มีการปิดประชุมสภาฯระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 (เพราะในตอนท้ายรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 ได้กำหนดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญไว้แล้วในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476) และมีอำนาจในการ “ดึงอำนาจนิติบัญญัติในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯมาไว้ที่ฝ่ายบริหาร” หรือไม่ ?
คำตอบตามหลักนิติศาสตร์ที่ปรากฏในมาตรา 29 ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และมาตรา 52 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และคำอธิบายของศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมนันท์ คือ คณะกรรมการราษฎร/คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารสามารถดึงอำนาจนิติบัญญัติมาไว้ที่ฝ่ายบริหารในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯ/ไม่สามารถเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ทันท่วงทีได้ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน
คำถามที่ตามมาคือ อะไรคือเหตุฉุกเฉิน ? และทำไมไม่สามารถเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ทันท่วงที ?
ต่อกรณีที่เป็นเหตุฉุกเฉิน รัฐบาลได้แถลงไว้ดังนี้
“รัฐบาลขอแถลงให้ประชาชนทราบเพื่อเป็นที่เข้าใจทั่วกันในเหตุผลอันสำคัญยิ่งซึ่งบังเกิดขึ้น กระทำให้เป็นความจำเป็นที่ต้องปิดสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้เกิดแตกแยกกันเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกันและไม่สามารถที่จะคล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสม์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม และเป็นที่เห็นได้ โดยแน่นอนทีเดียวว่า นโยบายเช่นนั้นจักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ
ในคณะรัฐมนตรีซึ่งมีรัฐมนตรีถึง 20 คน จะหวังให้มีความเห็นเหมือนกันไปทุกสิ่งทุกอย่างเสมอไปนั้นไม่ได้ ก็จริงอยู่ แต่ว่าถ้ารัฐบาลจักดำรงอยู่ในความสามารถบริหารราชการแผ่นดินโดยเรียบร้อยแล้ว เป็นความจำเป็นยิ่งที่รัฐมนตรีทุกคนจักต้องเป็นผู้ที่มีความเห็นไปในทางเดียวกันในนโยบายอันสำคัญๆ ความเป็นไปของคณะรัฐมนตรีในเวลานี้เป็นภาวะอันแสนสุดจะทนทานได้ ไม่ว่าจะเป็นอยู่หรือจะเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองใด และไม่ว่าจะมีรูปรัฐบาลเป็นอย่างไร
สมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎรในเวลานี้เล่า ก็ประกอบขึ้นด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ สภานี้มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ จนกว่าจะได้มีสภาใหม่โดยราษฎรเลือกตั้งสมาชิกขึ้นมา สภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นชั่วคราวเช่นนี้ หาควรไม่ที่จะเพียรวางนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงของเก่าอันมีอยู่ใช้อยู่ประดุจเป็นการพลิกแผ่นดิน ส่วนสภาในเวลานี้จะอ้างว่าไม่ได้ทำหรือยังไม่ได้ทำกฎหมายอันมีลักษณะไปในทางนั้นก็จริงอยู่ แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่ามีสมาชิกเป็นจำนวนมากคนมีความปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น และมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อรัฐมนตรีอันมีจำนวนข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี
ความแตกต่างกันในสภา ซึ่งมีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติกับคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ในทางบริหารดั่งนี้ เป็นที่น่าอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ โดยกระทำให้ราชการชักช้า เกิดความแตกแยกกันในรัฐบาล ก่อให้เกิดความหวาดเสียวและความไม่แน่นอนแก่ใจประชาชนทั่วไป
ฐานะแห่งความเป็นอยู่เช่นนี้ จะปล่อยให้คงเป็นต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ความปลอดภัยของประชาชนเป็นกฎหมายอันสูงสุดไม่ว่าในบ้านเมือง และโดยคติเช่นนั้นเท่านั้นที่บังคับให้รัฐบาลต้องปิดสภาและตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่
รัฐบาลขอย้ำความข้อหนึ่งว่า พระราชกฤษฎีกานี้ให้รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา และเป็นการชั่วคราวเท่านั้น
วันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2476”
คำถามที่ตามมาคือ ตามที่รัฐบาลแถลงการณ์มานั้นถือได้ว่าเป็น “เหตุฉุกเฉิน” หรือไม่ ?
การตอบคำถามนี้คงต้องอาศัยหลักรัฐศาสตร์ในการตอบ เพราะถ้าใช้ตามหลักนิติศาสตร์ ข้อความในมาตรา 29 และมาตรา 52 กล่าวเพียงว่า ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเท่านั้น มิได้วางเกณฑ์ไว้ว่า ในสถานการณ์ใด เงื่อนไขอะไรถึงจะเข้าข่ายเป็นเหตุฉุกเฉิน เมื่อรัฐบาลพิจารณาว่า “…ความเป็นไปของคณะรัฐมนตรีในเวลานี้เป็นภาวะอันแสนสุดจะทนทานได้ ไม่ว่าจะเป็นอยู่หรือจะเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองใด และไม่ว่าจะมีรูปรัฐบาลเป็นอย่างไร” และ “สมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎรในเวลานี้เล่า ก็ประกอบขึ้นด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ สภานี้มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ จนกว่าจะได้มีสภาใหม่โดยราษฎรเลือกตั้งสมาชิกขึ้นมา สภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นชั่วคราวเช่นนี้ หาควรไม่ที่จะเพียรวางนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงของเก่าอันมีอยู่ใช้อยู่ประดุจเป็นการพลิกแผ่นดิน ส่วนสภาในเวลานี้จะอ้างว่าไม่ได้ทำหรือยังไม่ได้ทำกฎหมายอันมีลักษณะไปในทางนั้นก็จริงอยู่ แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่ามีสมาชิกเป็นจำนวนมากคนมีความปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น และมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อรัฐมนตรีอันมีจำนวนข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี
ความแตกต่างกันในสภา ซึ่งมีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติกับคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ในทางบริหารดั่งนี้ เป็นที่น่าอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ โดยกระทำให้ราชการชักช้า เกิดความแตกแยกกันในรัฐบาล ก่อให้เกิดความหวาดเสียวและความไม่แน่นอนแก่ใจประชาชนทั่วไป” และ “ฐานะแห่งความเป็นอยู่เช่นนี้ จะปล่อยให้คงเป็นต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ความปลอดภัยของประชาชนเป็นกฎหมายอันสูงสุดไม่ว่าในบ้านเมือง และโดยคติเช่นนั้นเท่านั้นที่บังคับให้รัฐบาลต้องปิดสภาและตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่”
คำถามคือ สถานการณ์ดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ ? หากจริง จะถือว่าเป็นเหตุฉุกเฉินได้หรือไม่ ?
ถ้าเป็นเหตุฉุกเฉินจริง ก็ไม่ถือว่าเป็นการทำรัฐประหาร แต่ถ้าไม่ ก็ถือว่าเป็นการทำรัฐประหาร
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
[1] นันทวัฒน์ บรมนันท์, รายงานการวิจัยเรื่อง “การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตราพระราชกำหนด และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนดที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219”, เสนอต่อ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมษายน 2549, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: บริษัท พี. เพรส จำกัด: 2549), หน้า 14-15.
[2] นันทวัฒน์ บรมนันท์, รายงานการวิจัยเรื่อง “การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตราพระราชกำหนด และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนดที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219”, เสนอต่อ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมษายน 2549, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: บริษัท พี. เพรส จำกัด: 2549), หน้า 15-16.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา
"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"
'อนุทิน' ยันไม่ใส่ใจคำพูด 'ทักษิณ' โชว์ห้าวตะเพิดพรรคร่วมฯ ขอฟังแค่นายกฯอิ๊งค์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวผ่านรายการข่าวเที่ยง ทางไทยพีบีเอส ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในการสัมมนาพรรคเพื่อ
แกนนำคปท. จับตาท่าที 'อนุทิน-พีระพันธุ์' เอาอย่างไร หลัง 'ทักษิณ' พูดที่หัวหิน
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ(คปท.)โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า เอาอย่างไร
ไม่ต้องปิดบังอีกต่อไป! สื่ออาวุโส ชี้อำนาจเด็ดขาดนำมาซึ่งการฉ้อฉลแบบเบ็ดเสร็จ
นายเทพชัย หย่อง สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าไม่ต้องอ้อมค้อม ไปต้องปิดบังอีกต่อไป ใครใหญ่ที่สุดตอน
'วรงค์' สวน 'ทักษิณ' โคตรควาย! จะเอาแต่ผลประโยชน์ ไม่สนใจเสียดินแดนตามมา
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า #ควายหรือโคตรควาย
'ภูมิธรรม' ตีมึนไม่รู้ 'ทักษิณ' หมายถึงใคร
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดบนเวทีสัมม