อวุกนะ-พระพุทธรูปหินแห่งความเพียร

ในบรรดาผู้เดินทางท่องเที่ยวศรีลังกา สิกิริยา-พระราชวังบนก้อนหินยักษ์เป็นหนึ่งในจุดหมายอย่างไม่ต้องสงสัย แต่หากนักท่องเที่ยวท่านใดมีต้นทางจากอนุราธปุระแล้วล่ะก็ แนะนำว่าอย่าเพิ่งเร่งรีบมุ่งหน้าไปยังสิกิริยา เพราะ “อวุกนะ” พระพุทธรูปองค์โตแกะสลักจากหินอายุเกือบ 1,600 ปี ตั้งอยู่ระหว่างต้นทางและปลายทาง รอให้ท่านแวะไปกราบสักการะ

การเดินทางจากอนุราธปุระไปสิกิริยาถนนมุ่งไปในทิศทางตะวันออกเฉียงใต้ มีเส้นทางให้เลือกประมาณ 3 เส้น ระยะทางตั้งแต่ 75-110 กิโลเมตร

หากต้องการใช้เวลาให้สั้นที่สุดเราจะไม่ผ่านอวุกนะ คนที่ตั้งใจจะไปอวุกนะจึงใช้ถนนคนละเส้นตั้งแต่เริ่มออกจากอนุราธปุระ โดยมีระยะทางประมาณ 55 กิโลเมตร และจากอวุกนะไปยังสิกิริยา ต้องเดินทางอีกประมาณ 55 กิโลเมตร การแวะที่พูดถึงนี้หากกล่าวในแง่ระยะทางจึงเป็นการอ้อม


ถนนเส้นที่คุณน้าวสันตรา คนขับตุ๊กๆ ของผมเลือกใช้คือถนน A28 เป็นถนนเส้นหลักเชื่อมเมืองอนุราธปุระกับเมืองปาเดนิยะ ออกจากอนุราธปุระมาได้ 25 กิโลเมตร แกเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกใหญ่เมืองตัมบุตเตกามะ เข้าสู่ถนน Andarawewa-Balaluwewa Rd. ถนนเส้นนี้เป็นถนนลาดยาง 2 เลนสวนกัน สองข้างทางร่มรื่นและเขียวขจี มีหลายช่วงที่กิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่จากทั้งสองฝั่งถนนทำมุมโน้มตัวเข้าหากันกลายเป็นอุโมงค์ต้นไม้ยาวคราวละหลายกิโลเมตร

ถนน Andarawewa-Balaluwewa Rd. ระหว่างเดินทางไปกราบสักการะพระพุทธรูปหินอวุกนะ


ถึงหมู่บ้านอวุกนะ เมืองเคคิราวา จังหวัดนอร์ทเซ็นทรัล น้าวสันตราเลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 500 เมตร แกจอดให้ผมลง ชี้ไปยังทางเดินขึ้นเนิน บอกว่า “เดินขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วจะถึงวัดอวุกนะ ผมจะรออยู่แถวนี้”
ทางเดินขึ้นเป็นถนนซีเมนต์ทำไว้ค่อนข้างดี เดินราวๆ 200 เมตรก็ถึงปากทางเข้าวัด ซื้อตั๋ว 1,000 รูปี เขียนว่า “เป็นค่าเข้าและค่าถ่ายรูป วัดอวุกนะราชมหาวิหาร” ภาษาอังกฤษใช้ Aukana และบางครั้งในเอกสารอื่นเขียน Avukana

พระพุทธรูปหินอวุกนะ วัดอวุกนะราชมหาวิหาร จังหวัดนอร์ทเซ็นทรัล


ผมเดินจากจุดจำหน่ายตั๋วเข้าไปอีกหน่อยก็มีลุงคนหนึ่งกวักมือเรียกให้เข้าไปหา แกแนะนำตัวว่าเป็นเด็กวัด ขอให้ผมถอดรองเท้าและถุงเท้า มีลุงอีกคนหนึ่งเดินลงมาจากเนินเล็กๆ บนเนินนั้นมีศาลของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู แกคงเป็นผู้ดูแลวัดฮินดูบนเนินนั้น แกนุ่งผ้าสีแดง ไม่ใส่เสื้อ ปากเยิ้มน้ำหมาก พูดภาษาท้องถิ่นอย่างเดียว ลงท้ายด้วยคำว่า “มะจัง” ทุกคำ ซึ่งคำว่ามะจังนี้แปลได้ประมาณ “ไอ้หนุ่ม”, “ไอ้หนู” หรือ “ไอ้เพื่อน”


คุณลุงเด็กวัดเดินนำผมไปยังพระพุทธรูปอวุกนะ ซึ่งต้องเดินลงบันไดหินประมาณ 2 เมตรจึงจะเป็นระดับเดียวกับฐานของพระพุทธรูป เนื่องจากพื้นที่รอบข้างถูกตะกอนดินทับถมผ่านกาลเวลานานกว่า 1 สหัสวรรษครึ่งที่บริเวณหน้าพระพุทธรูปแกบรรยายถึงประวัติการสร้างว่าเมื่อเกือบ 1,600 ปีก่อน มีศิลปินผู้หนึ่งใช้เพียงสิ่ว ค้อนตอกสิ่ว และกระดาษขัด แกะสลักหินแกรนิตก้อนใหญ่ โดยทำงานในตอนเช้าและตอนเย็นเท่านั้น นั่นคือแกะสลักก่อนไปทำงานประจำ และแกะสลักหลังกลับจากทำงานประจำ ซึ่งงานประจำของศิลปินท่านนี้คือการดูแลอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ “กาละวีวา” (Kala Wewa)

พระพุทธรูปอวุกนะ แกะสลักจากหินแกรนิตอายุเกือบ 1,600 ปี


การแกะสลักหินใช้เวลา 7 ปีจึงแล้วเสร็จเป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยสูง 43 ฟุต (13.1 เมตร) รวมฐานดอกบัวสูง 47.10 ฟุต (14.35 เมตร) พระพุทธรูปได้สัดส่วนและสมดุล พระนาสิกตั้งฉากกับระหว่างพระบาททั้ง 2 ข้าง จีวรเรียงจีบเป็นริ้วสวยงามเหมือนใช้มือวาด


พระพุทธรูปไม่ได้ถูกแกะสลักแยกออกจากหินก้อนใหญ่เสียทีเดียว ยังคงมีส่วนกลางหลังของพระพุทธรูปติดเชื่อมอยู่กับหินก้อนใหญ่เป็นเส้นตรงจากบนลงล่าง แต่ถ้ามองเผินๆ ก็มองไม่ออก
มีพี่ผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวพุทธศรีลังกาเดินทางมากับครอบครัวเข้ามาทักทายผม และอธิบายเสริมว่าในสมัยการรุกรานของอาณาจักรโจฬะจากทางใต้ของอินเดีย ทำให้องค์ประกอบอื่นๆ ที่รายรอบพระพุทธรูปถูกทำลายลงไป โดยเฉพาะวิหารหรือศาลที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ปัจจุบันเหลือเพียงโครงสร้างหินและอิฐ แต่ก็ยังถือว่าดูดีอยู่มาก


ผมอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจาก sundayobserver.lk นักเขียนชาวศรีลังกาชื่อ “มหิล วิเจสิงเห” เขียนเล่าไว้ว่าแรกเริ่มเดิมทีพระเจ้าธัตถุเสนะ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1006-1022) ได้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขึ้นชื่อว่า “กาละวีวา” พระองค์ต้องการให้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ พระพุทธรูปแกะสลักจากหินก้อนใหญ่จึงถูกกำหนดให้สร้างขึ้นที่ “ศาสเสรุวะ” ห่างไปจากพระพุทธรูปอวุกนะในปัจจุบัน 15 กิโลเมตรทางทิศตะวันออก


อย่างไรก็ตาม เมื่อสร้างไปได้สักระยะ พระเจ้าธัตถุเสนะทรงมีความไม่มั่นใจเกี่ยวกับความมั่นคงของหินก้อนนั้น จึงได้เปลี่ยนสถานที่เป็นหินในหมู่บ้านอวุกนะซึ่งตั้งอยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำมากกว่า ทว่าผู้แกะสลักคนเดิมยังคงทำงานกับหินก้อนเดิมต่อไป และส่งลูกศิษย์มาแกะสลักหินที่อวุกนะแทน


สุดท้ายจึงได้มีพระพุทธรูปยืนลักษณะโดยรวมคล้ายกันถึงสององค์ เป็นงานพุทธศิลป์สมัยคันธาระของกรีกและอมราวดีของอินเดีย แต่ต้องยอมรับว่าองค์อวุกนะนั้นงดงามกว่า ทั้งความสูงขององค์อวุกนะก็สูงกว่าเล็กน้อย โดยมีมวยผมเหนือพระเศียรอันเป็นรูปแบบของคันธาระ ขณะที่องค์ศาสเสระนั้นไม่มีมวยผม


พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้อยู่ในปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายงอข้อศอกขึ้นประคองชายจีวร พระหัตถ์ขวายกงอข้อศอกขึ้นเช่นกัน ฝ่าพระหัตถ์หันไปทางซ้าย เป็นปางประทานอภัยที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Asisa Mudra ปางย่อยของปางประทานอภัย ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะใช้ภาษาไทยอย่างไร


อีกตำนานการสร้างถูกกล่าวไว้ในวิกิพีเดียฉบับภาษาอังกฤษ ว่าเกิดจากการแข่งขันระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์ โดยผู้เป็นอาจารย์แกะพระพุทธรูปอวุกนะ ส่วนลูกศิษย์แกะศาสเสรุวะ ใครแกะเสร็จก่อนจะต้องตีระฆังบอกให้อีกฝ่ายทราบเพราะอยู่ห่างกันถึง 15 กิโลเมตร ผู้เป็นอาจารย์ทำสำเร็จก่อน เป็นเหตุให้พระพุทธรูปศาสเสรุวะเสร็จไม่สมบูรณ์ และด้วยเหตุความคล้ายคลึงของพระพุทธรูปทั้งสององค์ ทำให้นักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยให้น้ำหนักไปทางตำนานเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีผู้ที่เชื่อว่าพระพุทธรูปศาสเสรุวะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ หรือประมาณ 400 ปีก่อนการสร้างพระพุทธรูปอวุกนะ


ผมเดินไปทางเบื้องซ้ายของพระพุทธรูป หันหน้ากลับออกมาเพื่อถ่ายภาพต้นโพธิ์บนเนินด้านหน้าพระพุทธรูป ลุงเด็กวัดนึกว่าผมถ่ายเซลฟีกับพระพุทธรูป แกทำท่าห้าม ผมต้องรีบอธิบายให้แกเข้าใจ เรื่องแบบนี้ชาวพุทธศรีลังกาถือมาก ห้ามถ่ายรูปโดยหันหลัง (ก้น) ไปทางพระพุทธรูปและพระเจดีย์โดยเด็ดขาด ทั้งเซลฟีและแบบมีคนถ่ายให้
ลุงเด็กวัดขอตัวเดินกลับศาลาที่แกนั่งอยู่ก่อนหน้านี้ ผมถ่ายรูปอยู่อีกครู่ก็นึกขึ้นได้ว่าลุงวสันตรารออยู่ หากใช้เวลานานไปก็อาจจะถึงปลายทางมืดค่ำ ลุงเด็กวัดเรียกให้ผมล้างเท้า มีถังน้ำพร้อมขันพลาสติกอยู่ตรงชายคา ล้างเสร็จลุงแกเรียกให้ไปเช็ดเท้าด้วยผ้าเช็ดเท้าที่ถูกใช้ซ้ำๆ วันแล้ววันเล่า คนแล้วคนเล่า ผมก็เช็ดตามไปอีกคน เช็ดเสร็จผมก็เดินไปหยิบรองเท้า ใส่ถุงเท้า ใส่รองเท้า แล้วก็ยกมือไหว้ลาลุง แกพูดขึ้นว่า “ทิป” ผมก็ร้อง “อ๋อ โอเคครับ” แล้วล้วงใบละ 100 รูปียื่นให้ แกกล่าวขอบใจ


ลุงเด็กวัดฮินดูที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ลุกขึ้น กวักมือเรียกให้ผมเดินตามไปที่ศาสนสถานของแก ผมพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า “ไม่มีเวลาแล้วครับ ตุ๊กๆ รออยู่ ต้องเดินทางไปสิกิริยาต่อ” ลุงเด็กวัดพุทธแปลให้ลุงเด็กวัดฮินดูฟัง ฝ่ายหลังพูดอะไรขึ้นบางอย่าง สื่อสารมายังผม ลงท้ายด้วยมะจัง คงประมาณว่า “ไม่เป็นไรมะจัง” หรือไม่ก็ “ใจดำจังเลยมะจัง”
ตรงสำนักงานขายตั๋วผมขอเจ้าหน้าที่เข้าห้องน้ำ คนหนึ่งเดินนำทางเข้าไปในอาคาร ค่อยๆ เปิดไฟแต่ละห้องจนกระทั่งถึงห้องน้ำ ผมทำธุระเสร็จเดินออกมากล่าวขอบคุณ “สตุตตี” แก่พี่เจ้าหน้าที่ เขาก็กล่าวตอบว่า “อาริกาโตะ”


ลุงวสันตราขับตุ๊กๆ ของแกโดยอ้อมเพิ่มอีกราว 10 กิโลเมตรเพื่อผ่านอ่างเก็บน้ำกาละวีวา เวลานี้กำลังมีการเปิดประตูน้ำคงเพราะเป็นฤดูฝนที่น้ำในอ่างมีปริมาณค่อนข้างมาก น้ำทะลักส่งเสียงดังและไหลแรง ไหลบ่าออกมามากจนสูงเกือบเท่าระดับสะพานถนนที่ใช้ข้ามลำธารเบื้องล่างในยามปกติ เมื่อน้ำมากก็ทำให้ผู้คนออกมาดูกันเป็นจำนวนมาก ผู้ใช้รถใช้ถนนก็หยุดชมปรากฏการณ์ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั่วคราว น้าวสันตราก็จอดให้ผมลงดู ผมดูอยู่สองสามนาทีก็กลับขึ้นตุ๊กๆ


ขับออกมาไม่ไกล วัดฮินดูริมถนนกำลังมีพิธีการบางอย่าง น้าวสันตราจอดตุ๊กๆ ล้วงใบละ 20 รูปีจากกระเป๋าเสื้อเดินเข้าวัดไปทำบุญ ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมนึกว่าแกนับถือพุทธ พอสอดส่ายสายตาไปที่บริเวณหน้ารถของแก ก็เห็นวัตถุเคารพขนาดเล็กของศาสนาฮินดูจำนวนหนึ่ง


น่าคิด นี่คือผู้ที่ทำหน้าที่กึ่งไกด์พาผมทัวร์ไปทั่วอนุราธปุระ เมืองที่มีโบราณสถานและโบราณวัตถุทางพุทธศาสนามากที่สุดในศรีลังกา ซึ่งแกทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม แนะให้ผมดูจุดเล็กจุดน้อยที่นักท่องเที่ยวทั่วไปไม่รู้หรืออาจมองข้าม


เรามาถึงแยกดัมบุลลา ใกล้ตัวเมืองดัมบุลลา ห่างจากสิกิริยาที่หมายของผมประมาณ 20 กิโลเมตร น้าวสันตราถามผมว่าจองที่พักที่สิกิริยาหรือยัง ไม่เช่นนั้นแกก็จะแนะนำให้พักที่ดัมบุลลา เพราะมีตัวเลือกมากกว่า ถูกกว่าและสะดวกสบายกว่า แต่ผมจองที่พักในสิกิริยาไว้แล้วตั้งแต่ตอนนั่งรถไฟมาจากจาฟฟ์นา แกจึงจำเป็นต้องขับต่อไปจนถึงสิกิริยา ซึ่งสิกิริยามีสถานะเป็นแค่ตำบลเล็กๆ มีเพียงภูเขา ป่าและทุ่งนา


กว่าเราจะถึงสิกิริยาฟ้าก็มืดพอดี ที่พักของผมอยู่เลยย่านชุมชนและเลยพระราชวังบนก้อนหินไปอีก เรียกได้ว่าหนีผู้คนไปปลีกวิเวกเสียค่อนข้างไกล ผมจองเกสต์เฮาส์แห่งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าพรุ่งนี้เช้าสามารถเดินไปขึ้นภูเขาหินอีกลูก ชื่อว่า “ปิดูรังกาลา” เพื่อที่จะมอง “สิกิริยา” ได้อย่างเหมาะเหม็ง ถ่ายภาพได้สวยกว่าถ่ายจากจุดอื่น


คุณลุงเจ้าของ Sigiri Queens Rest ออกมารับ ผมจ่ายเงิน 6,500 รูปีให้ลุงวสันตรา แกยังไม่ปล่อยให้ผมหลุดมือไปง่ายๆ ย้ำอีกรอบว่าจะไปแคนดีวันไหนให้โทร.หา แกจะจัดรถไปส่ง เข้าใจว่าคงมีพรรคพวกหรือพันธมิตรทางธุรกิจอยู่ในย่านนี้ ผมโทร.หาแกก็จริง แต่โทร.ตอนถึงแคนดีแล้วในอีก 2 วันต่อมา เพราะที่สิกิริยาหาสัญญาณโทรศัพท์ได้ยากเย็น


อีกหนที่ผมเป็นแขกคนเดียวของที่พัก ลุงนิฮาลเจ้าของเกสต์เฮาส์มีเวลคัมดริงก์เป็นน้ำมะนาวโซดา ดื่มเสร็จแกก็แจ้งว่าเปิดบ้านต้นไม้เตรียมไว้รอเรียบร้อยแล้ว ความจริงแล้วไม่ใช่บ้านที่อยู่บนต้นไม้ แต่เป็นบ้านที่ใต้ถุนสูงเท่าต้นไม้ ปลูกติดกับต้นไม้และมีต้นไม้โผล่ขึ้นมาหน้าระเบียง หลังที่ผมพักอยู่ติดกับร้านอาหารของเกสต์เฮาส์


แกถามถึงอาหารค่ำ ผมต้องการแน่นอนอยู่แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้จะกินที่ไหน มีตัวเลือกคือแกงกะหรี่และบะหมี่ผัด ผมเลือกอย่างหลัง พร้อมทั้งสั่งเบียร์ 1 ขวด ขึ้นบันไดหลายชั้นไปเก็บของบนบ้านพัก พื้นห้องเป็นไม้แผ่นบางๆ ย่ำแล้วรู้สึกยวบยาบ แต่ไม่ถึงกับกังวลว่าจะยุบลงมา ตอนที่ผมดื่มเวลคัมดริงก์เห็นภรรยาของลุงนิฮาลขึ้นมากวาดห้อง แกคงรีบมากจนไม่ได้ตรวจดูผ้าคลุมเตียงที่มีฝุ่น รวมถึงมุ้งที่ห้อยอยู่เหนือเตียงมีขี้จิ้งจกอยู่เต็มไปหมด


ผมอาบน้ำแล้วลงมากินมื้อค่ำตอน 1 ทุ่มตรง ลุงนิฮาลไม่สามารถหาเบียร์ให้ได้ ร้านของแกน่าจะจดทะเบียนขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เพราะมีขวดวิสกี้ รัม เตกิลา และวอดก้า รวมถึงน้ำหวานสีต่างๆ สำหรับทำค็อกเทลวางอยู่บนชั้นวางในร้านอาหารหลายขวด แต่ล้วนเป็นขวดเปล่า ช่วง 1 เดือนกว่าที่ผ่านมาหลังจากศรีลังกาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวรอบใหม่ คงยังไม่มีแขกมาพักเลยก็เป็นได้ แกจึงไม่ได้เตรียมเครื่องดองของเมาไว้แม้แต่อย่างเดียว ตอนรับปากผมว่าจะหาเบียร์มาให้นั้น คือต้องไปซื้อต่อมาจากร้านอาหารอื่นในละแวกนี้ที่มีใบอนุญาตเช่นกัน ส่วนร้านจำหน่ายเหล้าเบียร์ถูกกฎหมายจำพวกที่ลงท้ายด้วย Wine Store ที่ใกล้ที่สุดอยู่ในเมืองดัมบุลลา ซึ่งห่างออกไป 20 กิโลเมตร


แกแนะนำให้รู้จักกับลูกชายของแกชื่อ “มาโนช” อายุประมาณ 25 ปี อีกสถานะหนึ่งของมาโนชคือผู้จัดการเกสต์เฮาส์ ภรรยาของมาโนชนำบะหมี่ผัดแบบศรีลังกามาเสิร์ฟ จานใหญ่ขนาดกินได้ 3 คน พร้อมกับสลัดผัก ไอศกรีมในถ้วย และผลไม้ตัดแต่งอีก 1 จาน บะหมี่ผัดรสชาติค่อนข้างจืด แต่ผมก็กินจนหมด และหมดทุกอย่าง


มาโนชออกตัวกรณี Wifi ใช้การไม่ได้ว่าวันนี้ฝนตกลงมาเป็นเวลานาน ทำให้หินยักษ์ 2 ก้อน คือสิกิริยาและปิดูรังกาลาบัง หรือเบนสัญญาณไปหมดจนมาไม่ถึงเกสต์เฮาส์ เขาอยากทราบเวลาที่ผมจะกินอาหารเช้า ผมระบุ 7 โมงครึ่ง ไม่ถือว่าเช้าเกินไป เพราะเวลาไทยคือ 9 โมง


ฝนโปรยลงมาอีกรอบ ทำให้ผมต้องรีบเดินขึ้นบ้านต้นไม้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐมนตรี...ที่ไม่ใช่รัฐมนตรง

ในอดีตก่อนกาลนานมาแล้ว รัฐมนตรีของไทยเรา จะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่ “ตรง” กับบทบาทและหน้าที่ สามารถกำกับนโยบายและบริหารงานกระทรวงที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี

จงรับกรรม-จงรับกรรม-จงรับกรรม!!!

อาจด้วยเหตุเพราะความเดือดพล่านของโลกทั้งโลก...ไม่ว่าในแง่อุณหภูมิอากาศ หรือในหมู่มวลมนุษย์ ที่ใกล้จะล้างผลาญกันในระดับสงครามโลก-สงครามนิวเคลียร์ ยิ่งเข้าไปทุกที

รับแผน 'ทหารพราน' กลับที่ตั้ง

ต้องร้องเพลงรอกันไปอีก 2-3 วัน กว่าจะได้รู้บทสรุปความขัดแย้งภายใน "กรมปทุมวัน" อันเป็นที่มาของคำสั่ง นายกฯ เศรษฐา ให้ บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

จะดีจะชั่ว...อยู่ที่ตัวคนเลือก

คนเรานั้น แม้จะเลือกเกิดไม่ได้ว่าเราจะเกิดที่ไหน เกิดเป็นลูกใคร จะได้เป็นลูกเศรษฐีหรือลูกคนจน แต่เมื่อเราเติบโตรู้ความ ได้รับการอบรมบ่มนิสัย ได้รับการศึกษา

จากสงครามเวียดนามถึงสงครามอิสราเอล-ฮามาส

ช่วงที่นักศึกษา ปัญญาชน คนหนุ่ม-คนสาวชาวอเมริกัน...เขาลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน คัดค้าน สงครามเวียดนาม ในช่วงระยะนั้น อันตัวข้าพเจ้าเอง ก็กำลังอยู่ในวัยหนุ่ม