สักการะพระเขี้ยวแก้ว

“ผู้ใดครองพระเขี้ยวแก้ว ผู้นั้นได้สิทธิ์ครองราชบัลลังก์” ชาวศรีลังกาถือคตินี้สืบต่อกันมาช้านาน แต่หากจะกล่าวใหม่ว่า “ผู้ใดครองราชบัลลังก์ ผู้นั้นได้สิทธิ์ครองพระเขี้ยวแก้ว” ดูจะตรงตามความเป็นจริงมากกว่า

พระเขมาเถรีได้รับพระเขี้ยวเบื้องขวาด้านล่างของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่เมืองกุสินารา จากนั้นภิกษุณีผู้เป็นอัครเสวิกาเบื้องขวาท่านนี้ได้นำพระเขี้ยวแก้วไปมอบแด่พระเจ้าพรหมทัต แห่งอาณาจักรกลิงคะ เพื่อทำการปกปักรักษา

กาลล่วงมา 8 ร้อยกว่าปี ถึงสมัยพระเจ้าคูหะสิวะ ขณะกำลังทำสงครามป้องกันการถูกแย่งชิงพระเขี้ยวแก้ว พระองค์ได้มีพระบัญชาให้เจ้าหญิงเหมมาลาและเจ้าชายทันตกุมาร พระสวามี แอบอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วออกจากพระนครเพื่อเดินทางมายังเกาะลังกา ด้วยเหตุที่ว่าพระเจ้าคูหะสิวะเกรงจะต้านการรุกรานไม่อยู่ ในขณะเดียวกันพระองค์ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้ามหาเสนา พระมหากษัตริย์กรุงอนุราธปุระ ทั้งทรงหยั่งรู้ว่าในศรีลังกาพระเขี้ยวแก้วจะปลอดภัยจากพวกนอกรีต


เจ้าหญิงเหมมาลาปลอมพระองค์และซ่อนพระเขี้ยวแก้วในมวยผม เดินทางถึงกรุงอนุราธปุระพร้อมด้วยพระสวามีในสมัยการครองราชย์ช่วงต้นของพระเจ้าสิริเมฆวรรณะ (ครองราชย์ พ.ศ.847-875) พระราชโอรสของพระเจ้ามหาเสนา พระเขี้ยวแก้วได้รับการอัญเชิญประดิษฐานในพระราชวังพระทันตธาตุ หรือหอพระเขี้ยวแก้วแห่งอนุราธปุระ และเมื่อมีการย้ายเมืองหลวงพระเขี้ยวแก้วก็ถูกอัญเชิญไปยังราชธานีแห่งใหม่ทุกครั้ง จนกระทั่งมาถึงกรุงกัณฏี หรือแคนดี เมื่อ 4 ร้อยกว่าปีก่อน


วัดพระเขี้ยวแก้วแห่งแคนดี หรือในภาษาสิงหลเรียกว่า “ศรี ดาลาดา มาลิกาวา” ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบแคนดีทางด้านทิศเหนือ อยู่ในเขตพระราชวัง สร้างขึ้นตั้งแต่สมัย “พระเจ้าวิมาลาธรรมสุริยะที่ 1” พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรแคนดี (ครองราชย์ พ.ศ.2133–2147) ทว่ารูปลักษณ์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันสร้างในสมัยพระเจ้าวีระนเรนทรสิงหะ กษัตริย์สายเลือดสิงหลองค์สุดท้ายของศรีลังกา หลังจากนั้นอีก 4 พระองค์ล้วนเป็นกษัตริย์เชื้อสายทมิฬจนกระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอย่างเด็ดขาดในปี พ.ศ.2358


ผมเดินหาร้านกาแฟเพื่อกินกาแฟแก้วที่สองของวันในช่วงสายๆ ด้วยแก้วแรกที่เกสต์เฮาส์พร้อมอาหารเช้านั้นเป็นกาแฟต้มรสชาติค่อนข้างจืด กาเฟอีนยังไม่ได้ดีกรี เดินหาตามลายแทงในแผนที่กูเกิลไปยังร้าน Hide Away Cafe ยังไม่เปิด เดินไปที่ร้าน Cafe Secret Alley วันนี้คือวันจันทร์ร้านปิด สุดท้ายต้องเข้าไปกินในบาร์ของโรงแรมควีนส์ ได้ดับเบิลเอสเปรสโซมาพร้อมบันและมัฟฟินในตะกร้าจำนวนนับสิบชิ้น ชมพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมของโรงแรมควีนส์ซึ่งมีประวัติน่าสนใจมาก (จะนำมาเล่าในตอนต่อไป) แล้วก็เดินออกจากโรงแรมทางปีกฝั่งทิศตะวันออก ข้ามถนนไปยังประตูทางเข้าวัดพระเขี้ยวแก้ว


ขณะต่อคิวตรวจพาสปอร์ต มีลุงชาวศรีลังกาคนหนึ่งมาจับแขนแล้วถามเป็นภาษาอังกฤษว่า “คนไทยใช่มั้ย มาๆ มากับลุง” พอผมผ่านเครื่องตรวจสัมภาระและประตูสแกนสิ่งของต้องห้ามมาได้ ผมก็อยู่ในปกครองของลุงแกทันที หน้าตาท่าทางดูแล้วไม่มีพิษภัยหรือเล่ห์กลใดๆ จนถึงขั้นต้องกังวล


แกชื่อ “กัมมาต” อายุ 75 ปี เป็นไกด์ที่มีเทคนิคการหาลูกค้าแปลกๆ เช่นแบบที่ผมกำลังประสบอยู่ แกชี้ไปตรงไหนก็อธิบายสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว อย่างชี้ไปที่ธงฉัพพรรณรังสี ซึ่งเป็นธงพุทธศาสนาสากลอันมีต้นกำเนิดในศรีลังกา แกก็อธิบายความหมายของแต่ละสีได้อย่างคล่องแคล่วแม่นยำ


จากซุ้มประตูทางเข้า เดินไปอีกประมาณ 300 เมตรกว่าจะถึงจุดจำหน่ายตั๋ว ระหว่างทางแกเล่นทายปัญหาเชาว์ฆ่าเวลา เช่น ถามว่า “ประโยคใดในภาษาอังกฤษมีตัวอักษรอยู่ครบทั้ง 26 ตัว” ผมตอบไม่ได้ แกเฉลย “The quick brown fox jumps over the lazy dog” ยังมีอีกหลายข้อ ผมจำได้อีกหนึ่ง นั่นคือ “A handle of a cup lines in which side?” แกคงกะจะให้ตอบ Left side หรือ Right side ผมตอบ Outside แกเฉลยว่าถูก แล้วลั่นหัวเราะ


ตั๋วเข้าวัดพระเขี้ยวแก้วของผมราคา 1,000 รูปี ขณะที่ฝรั่งจากชาติตะวันตกต้องจ่ายกันคนละ 1,500 รูปี ลุงกัมมาตบอกว่าสำหรับประเทศพุทธศาสนาอย่างไทยแลนด์คิดแค่ 1,000 รูปี แต่ผมอ่านข้อความหน้าห้องขายตั๋วเขียนไว้ว่าราคา 1,000 รูปีสำหรับชาวอนุทวีปอินเดียและชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ผู้เข้าเยี่ยมชมวัดพระเขี้ยวแก้วทุกคนต้องถอดรองเท้าฝากไว้ในที่ฝาก ผมยื่นรองเท้าผ้าใบให้เจ้าหน้าที่หลังเคาน์เตอร์ เขานำไปวางในชั้นวางด้านหลัง แล้วขอให้ผมปลดเป้ลงจากหลัง รับเป้ไปวางเบียดๆ ในช่องเดียวกับรองเท้า ด้านลุงกัมมาตคว้าตั๋วไปจากมือผมแล้วเดินนำหน้าเข้าสู่ประตูวัด (ประตูสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ)


แกพาผมไปตามจุดสำคัญต่างๆ ของวัด เจ้าหน้าที่ของวัดหลายคนกล่าวทักทายแก ก่อนจะพาผมเดินจาก Handun Kunama หรือหอประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วไปยังอาคารพระราชวังเก่า ซึ่งมีห้องหนึ่งจัดแสดงพญาคชสาร “ราชา” ที่ถูกสตัฟฟ์ไว้ (ราชาเป็นช้างที่เคยแห่พระเขี้ยวแก้วในเทศกาล “เอสาละ เปราเหะระ” นาน 50 ปี และเป็นช้างเชือกหลักในพิธีอยู่ถึง 37 ปี) เจ้าหน้าที่คนหนึ่งพูดกับผมจากริมระเบียงพิพิธภัณฑ์วัดพระเขี้ยวแก้วว่า “อย่าเชื่อลุงแกนะ ไม่ว่าแกจะพูดอะไร แกชอบหลอกนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นประจำ”


พอเดินกลับจากชม “ช้างราชา” ใกล้จะถึงหน้าพิพิธภัณฑ์อันตั้งอยู่ติดกับหอพระเขี้ยวแก้ว ลุงกัมมาตขอให้ผมหยุด คงเพราะไม่อยากให้เจ้าหน้าที่คนเดิมเห็น แกพูดขึ้นว่า “ลุงขอค่าบริการหน่อย” ผมถามราคา แกตอบว่า “เท่าไหร่ก็ได้?” ผมยังไม่ได้แลกเงิน มีธนบัตรละ 500 รูปีอยู่ 1 ใบ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 100 บาท ที่เหลือเป็นใบละ 20 รูปีอีกไม่กี่ใบ แกรับแบงค์ 500 รูปีแล้วถามว่า “มีแค่นี้หรือ?” แกดูเศร้าๆ แต่สุดท้ายก็พูดขึ้นว่า “โอเค โชคดี เจอกันใหม่”


ผมรู้สึกไม่สบายใจ แต่ก็ช่วยไม่ได้ ผมมีเงินแค่นั้น และทัวร์ของแกกินเวลาแค่ประมาณครึ่งชั่วโมง อีกทั้งผมไม่ได้เป็นผู้เรียกใช้บริการตั้งแต่แรก คิดได้ดังนั้นแล้วก็เดินเข้าพิพิธภัณฑ์วัดพระเขี้ยวแก้ว อาคารหลังนี้เคยเป็นพระราชวัง (หลังใหม่) มาก่อน เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ พอจะคาดการณ์ได้ตั้งแต่ก่อนเข้าวัด ผมจึงหยิบปากกาออกมาจากเป้และฉีกกระดาษจากสมุดบันทึกมา 1 แผ่นเก็บไว้ในกระเป๋ากางเกง ตอนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ก็จดบันทึกไว้เท่าที่กระดาษมีพื้นที่


ภายในชั้นที่ 1 ของพิพิธภัณฑ์ บริเวณผนังรอบห้องแสดงภาพถ่ายความเสียหายของวัดพระเขี้ยวแก้วหลังจากเหตุการณ์ขบวนการปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลมบุกโจมตีเมื่อ พ.ศ.2541 ความเสียหายเกิดกับตัวพระราชวังด้านนอก ซึ่งถือว่ารุนแรงไม่น้อย นอกจากภาพถ่ายแล้วยังมีภาพจิตรกรรมบนกำแพงพระราชวังที่ถูกทำลายกลายเป็นเศษอิฐเศษปูนชิ้นเล็กชิ้นน้อยและได้นำกลับมาติดกาวปะติดปะต่อกัน จัดแสดงอยู่ในกรอบภาพหลายภาพ
ภายในห้องโถง มีแบบแปลนของพระราชวังเดิม ประวัติการเดินทางของพระเขี้ยวแก้วตั้งแต่เมื่อสมัยอยู่ในอนุทวีปอินเดียจนถึงปัจจุบัน มีจารึกโบราณจัดแสดงประกอบ มีภาพถ่ายพระเขี้ยวแก้ว ภาพถ่ายพิธี “เอสาละ เปราเหระ” หรือการแห่ฉลองพระเขี้ยวแก้ว ตัวอย่างฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์ในสมัยก่อน รูปปั้นของ Diyawadana Nilame หรือไวยาวัจกรของวัดพระเขี้ยวแก้วที่ผ่านมาครบทุกท่าน (เริ่มมีไวยาวัจกรดูแลวัดเบ็ดเสร็จหลังจากอังกฤษเข้ายึดครองอย่างสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ.2358) มีธงทองเหลือง ร่มทองเหลือง และกลองแบบต่างๆ


ห้องชั้นที่ 2 จัดแสดงพระพุทธรูปและพระพุทธบาทอยู่ตรงกลางห้อง ฝั่งขวามือคือคัมภีร์ใบลาน งาช้างจากพม่าซึ่งเป็นช้างที่ใช้ในพิธีแห่พระเขี้ยวแก้วนาน 12 ปี งาช้างแกะสลักเป็นรูปต่างๆ เครื่องใช้ไม้สอยเก่าแก่ เหรียญโบราณ ธงราชธานีแคนดี และธงสำหรับทำสงคราม


ปลายห้องฝั่งซ้ายมีรอยพระพุทธบาทผ้าไหมทองคำประดับบนแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 2 คูณ 1เมตร รอบๆ แท่นประดับตกแต่งเป็นเขาพระสุเมรุ รอยพระพุทธบาทนี้นำมาจากกรุงศรีอยุธยาโดยพระอุบาลีเถระ นอกจากนี้ยังมีสิ่งของจากประเทศไทยอีกหลายชิ้นที่มีความสำคัญและใช้ในพิธีแห่พระเขี้ยวแก้ว ปลายห้องฝั่งขวาจัดแสดงตะเกียงโบราณแบบต่างๆ และบานประตูจำนวนหนึ่งซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกระเบิดโจมตีโดยขบวนการปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลม


เจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์คนหนึ่งกวักมือเรียกผม แกเปิดหน้าต่างให้ถ่ายรูปหลังคาของหอพระเขี้ยวแก้ว พอรู้ว่าผมเป็นคนไทยก็ล้วงเหรียญ 10 บาทไทยออกมาเต็มกำมือ แกขอแลกเป็นเงินรูปี เข้าใจว่าคงขอเหรียญจากนักท่องเที่ยวชาวไทย บอกว่าขอไว้เป็นที่ระลึก แต่มีแผนที่จะสะสมเพื่อนำมาแลกเป็นเงินรูปี ผมบอกแกว่าตอนนี้ไม่มีเงินรูปีในกระเป๋า มีแต่เงินบาท เรียกเสียงหัวเราะเจื่อนๆ ออกมาจากทั้งสองฝ่าย


ผมออกจากวัดเพื่อไปกินมื้อกลางวัน กลับที่พัก แล้วตอนเย็นก็กลับมาที่วัดพระเขี้ยวแก้วอีกครั้งเพื่อกราบสักการะพระเขี้ยวแก้วในพิธีรอบ 18.30-19.30 น. (ปกติมีวันละ 3 รอบ อีก 2 รอบ ได้แก่เวลาตี 5 ครึ่ง–7 โมง และ 9 โมงครึ่ง–11 โมง) ตั๋วที่ซื้อไว้ใช้ได้ในวันเดียวกัน


มีเวลาเหลือก่อนพิธีเริ่ม ผมเดินเข้าพิพิธภัณฑ์อีกรอบ เจ้าหน้าที่คนใหม่ หน้าตายังหนุ่มชื่อ “คามาล” เปิดหน้าต่างให้ถ่ายรูปยอดหลังคาของหอพระเขี้ยวแก้วโดยไม่มีตาข่ายลวดของหน้าต่างขวางกั้นเหมือนเมื่อตอนกลางวัน อีกทั้งเห็นหลวงพ่อโตบนเนินเขาห่างออกไปราว 2–3 กิโลเมตรที่ประดับไฟสว่างงดงามมาก


พอกลับลงไปจากอาคารพิพิธภัณฑ์ก็ได้ยินเสียงกลองและแตรประโคมอันเป็นสัญญาณว่ากำลังจะเปิดให้สาธุชนเข้าสักการะพระเขี้ยวแก้ว กลองและแตรบรรเลงอยู่บริเวณชั้นหนึ่งของหอพระเขี้ยวแก้ว ส่วนห้องที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วอยู่ชั้น 2
ชาวศรีลังกานำดอกไม้ที่แยกมาเป็นดอกล้วนๆ วางบนแท่นที่ถูกจัดเตรียมไว้ นักท่องเที่ยวงัดกล้องถ่ายรูปขึ้นมาเตรียมถ่ายพระเขี้ยวแก้ว เมื่อได้เวลาเจ้าหน้าที่วัดก็เปิดประตู เผยให้เห็นผอบทองคำ 7 ชั้นลักษณะเหมือนพระเจดีย์ อยู่ในห้องกระจกกันกระสุน


ผู้ศรัทธาเดินแถวต่อคิวเข้าไปไหว้พระเขี้ยวแก้วจากหน้าประตูที่เพิ่งเปิดออก คงเพราะพื้นที่ตรงนี้แคบและคนต่อคิวเยอะจึงไม่เหมาะที่จะก้มลงกราบกับพื้น ด้านในของประตูห้องพระเขี้ยวแก้วมีพานขนาดใหญ่รองรับดอกไม้ พอถึงคิวของผมก็หันไปถามเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งว่าวางเงินทำบุญในพานได้ไหม แกพยักหน้า


ผมไหว้สักการะแล้ววางเงินทำบุญ มองไปยังพระเขี้ยวแก้ว ถึงไม่เห็นพระเขี้ยวแก้ว แต่พระเขี้ยวแก้วก็อยู่ในผอบทองคำที่มองเห็น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐมนตรี...ที่ไม่ใช่รัฐมนตรง

ในอดีตก่อนกาลนานมาแล้ว รัฐมนตรีของไทยเรา จะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่ “ตรง” กับบทบาทและหน้าที่ สามารถกำกับนโยบายและบริหารงานกระทรวงที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี

จงรับกรรม-จงรับกรรม-จงรับกรรม!!!

อาจด้วยเหตุเพราะความเดือดพล่านของโลกทั้งโลก...ไม่ว่าในแง่อุณหภูมิอากาศ หรือในหมู่มวลมนุษย์ ที่ใกล้จะล้างผลาญกันในระดับสงครามโลก-สงครามนิวเคลียร์ ยิ่งเข้าไปทุกที

รับแผน 'ทหารพราน' กลับที่ตั้ง

ต้องร้องเพลงรอกันไปอีก 2-3 วัน กว่าจะได้รู้บทสรุปความขัดแย้งภายใน "กรมปทุมวัน" อันเป็นที่มาของคำสั่ง นายกฯ เศรษฐา ให้ บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

จะดีจะชั่ว...อยู่ที่ตัวคนเลือก

คนเรานั้น แม้จะเลือกเกิดไม่ได้ว่าเราจะเกิดที่ไหน เกิดเป็นลูกใคร จะได้เป็นลูกเศรษฐีหรือลูกคนจน แต่เมื่อเราเติบโตรู้ความ ได้รับการอบรมบ่มนิสัย ได้รับการศึกษา

จากสงครามเวียดนามถึงสงครามอิสราเอล-ฮามาส

ช่วงที่นักศึกษา ปัญญาชน คนหนุ่ม-คนสาวชาวอเมริกัน...เขาลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน คัดค้าน สงครามเวียดนาม ในช่วงระยะนั้น อันตัวข้าพเจ้าเอง ก็กำลังอยู่ในวัยหนุ่ม