การทูตภารตะเหนือชั้น ใครๆ ก็อยากคบอินเดีย!

มีคนถามผมว่าทำไมอินเดียจึงสามารถซื้อน้ำมันรัสเซียราคาถูกในช่วงสงครามยูเครน

ขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นมิตรกับสหรัฐฯ

และยังมีจุดยืนเหมือนจีนต่อรัสเซียในกรณีสงครามยูเครนด้วย

นี่คือ “การทูตเจ๋งๆ แบบอินเดีย” ใช่หรือไม่

เป็นความจริงที่ว่า ศึกรัสเซีย-ยูเครน ทำให้หลายประเทศถูกบีบให้เลือกข้าง

แต่ทำไมอินเดียกลับอยู่รอดปลอดภัย และมายืนอยู่ตรงจุดที่ยังซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซียโดยไม่ถูกสหรัฐอเมริกาเล่นงาน

และจีนซึ่งปกติจะมีความระแวงอินเดียมาตลอด กลับมองอินเดียในฐานะเป็นมิตรในกรณีนี้

ตอนสงครามยูเครนระเบิดใหม่ๆ ท่าทีของวอชิงตันต่ออินเดียแข็งกร้าวไม่น้อย

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถึงกับบอกว่าท่าทีของอินเดียในประเด็นนี้ “ค่อนข้างจะสั่นไหว”

เพราะอินเดียยังคบค้ากับรัสเซีย ไม่ลงมติร่วมประณาม และไม่ร่วมแซงก์ชันรัสเซีย

แต่จู่ๆ ทั้งสหรัฐและอังกฤษก็เสียงอ่อนลงอย่างน่าสังเกต

เห็นได้จากที่ไบเดนคุยกับนายกฯ นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ในการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

ที่มีบรรยากาศเป็นมิตรและแสดงความชื่นชมต่อกันอย่างอบอุ่น

หลังจากนั้นนายกฯ อังกฤษ บอริส จอห์นสัน ก็เดินทางมาพบนายโมดีที่นิวเดลี

พูดจากันถึงเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้า ตบหลังตบไหล่กันอย่างสนิทสนม

ส่วนประเด็นที่เห็นต่างเรื่องรัสเซียกับสงครามยูเครนนั้นไม่มีการกล่าวขวัญอย่างเป็นทางการ

ต้องถือว่าโมดีเล่นเกมการทูตได้เหนือชั้น

อินเดียยังคงซื้อน้ำมันจากรัสเซีย และประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียก็เสนอลดราคาให้เป็นพิเศษอีกด้วย

สถิติทางการบอกว่า เอาเฉพาะช่วงไม่กี่เดือนของปี 2022 อินเดียก็สั่งซื้อน้ำมันเท่ากับทั้งปี 2021

ถือว่าเป็นการแสดงความใกล้ชิดทางด้านการค้าด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง

ท่าทีของอินเดียในเวทีระหว่างประเทศนั้น ผู้นำอินเดียยืนยันว่าอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศ

จึงตัดสินใจไม่ออกเสียงในการประชุมสหประชาชาติที่มีการโหวตให้รัสเซียพ้นจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

อินเดียรู้ว่ามหาอำนาจทั้งหลายต้องการจะเป็นเพื่อนกับตนด้วยเหตุผลของแต่ละคน

เช่น สหรัฐต้องการจะคบอินเดียไว้เพื่อจะต้านทานการผงาดขึ้นมาของจีน

อเมริกาตั้งกลุ่มจตุภาคี หรือ Quad ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ, อินเดีย, ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย

เพื่อคานอิทธิพลของจีนในเอเชีย

อินเดียก็ไม่ต้องการเห็นปักกิ่งผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจ

ดังนั้น เมื่ออเมริกามาชวนให้ร่วมวงนี้ อินเดียก็พร้อมจะเข้ากลุ่ม

จีนไม่พอใจนัก แต่ก็เกรงใจเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่นี้ และต้องเคารพในการตัดสินใจของอินเดีย

เพราะจีนก็ย่อมจะอ้างสิทธิในการตัดสินใจจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศเช่นกัน

อินเดียและสหรัฐมีความกังวลเหมือนกันกรณีจีน

เพราะปักกิ่งเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารอย่างต่อเนื่อง และขยายการอ้างสิทธิเป็นเจ้าของผืนดินและน่านน้ำทางทะเลในทะเลจีนใต้

อีกทั้งยังเพิ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจต่อเพื่อนบ้านที่เล็กกว่า

แผนการต้านจีนของสหรัฐก็ต้องอาศัยความร่วมมือของอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลียที่มาในรูปของ Quad

อินเดียมีประเด็นพิพาทกับจีนมายาวนาน

ทหารของทั้ง 2 ฝ่ายเคยเผชิญหน้าและปะทะกันจนบาดเจ็บล้มตายไปหลายสิบชีวิตที่พรมแดนหิมาลัยในช่วง 2-3 ปีมานี้

สิ่งที่ไม่รอดพ้นสายตาของวอชิงตันคือ อินเดียต้องพึ่งพาอาวุธจากรัสเซียมาเสริมเขี้ยวให้กองทัพ รวมถึงทหารที่ประจำอยู่ในพื้นที่หิมาลัย

นายลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหมสหรัฐ มาเยือนอินเดียและส่งเสียงเตือนว่า จีนกำลังเปลี่ยนโฉมภูมิภาคและระบบการเมืองระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่

ด้วยเหตุนี้อเมริกากับอินเดียจึงต้องแยกระหว่างความเห็นตรงกันเรื่องร่วมมือสกัดการขยายตัวของจีน

และขณะเดียวกันก็ยอมรับจุดยืนที่แตกต่างกันกรณีรัสเซียในยูเครน

เมื่อเป็นเช่นนี้ พอจะเข้าใจหรือยังว่าทำไมสหรัฐจึงยังคงวิพากษ์วิจารณ์จีนที่ไม่ประณามรัสเซียบุกยูเครน

แต่กลับนิ่งเฉยกับการที่อินเดียไม่ได้ว่าอะไรในเรื่องนี้

จีนกับอินเดียมีจุดยืนเหมือนและต่างกันทางยุทธศาสตร์

ทั้ง 2 มีความสัมพันธ์ด้านยุทธศาสตร์กับรัสเซีย

และวางตัวอย่างระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เสียเพื่อนมอสโก แต่ก็อ้างหลักการอธิปไตยและความสำคัญของการเจรจาเพื่อสงบศึก

มีการประเมินว่าอาวุธมากกว่า 50% ของกองทัพอินเดียมาจากรัสเซีย

จีนวิพากษ์วิจารณ์การแซงก์ชันของชาติตะวันตกและตำหนิสหรัฐและนาโตกับความขัดแย้ง

ปักกิ่งยืนจุดเดียวกับมอสโกที่ชี้นิ้วกล่าวหานาโตว่าเป็นผู้จุดไฟของวิกฤตด้วยการขยายอิทธิพลมาจากปีกตะวันออกที่ประชิดติดรัสเซีย

สื่อทางการจีนนำเอาข่าวทางการรัสเซียมาขยายผลต่ออย่างต่อเนื่อง

แต่อินเดียไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์นาโต และไม่ตอกย้ำจุดยืนที่แตกต่างกับสหรัฐฯ

วงการทูตบอกว่าโมดีเคยต่อสายคุยกับเซเลนสกี ผู้นำยูเครน แต่ผู้นำจีนยังไม่ได้ทำเช่นนั้น

นอกจากนี้ อินเดียยังวิพากษ์วิจารณ์อาชญากรรมสงครามในยูเครนที่แรงกว่าจีน

ย้อนกลับไปช่วงสงครามเย็น อินเดียอยู่ข้าง “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” หรือ Non-Aligned Movement (NAM)

แต่อินเดียเริ่มเอนเอียงไปทางโซเวียตช่วงที่สหรัฐส่งอาวุธให้ปากีสถาน เพื่อนบ้านที่เป็นคู่ปรับตลอดกาล

เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อินเดียพึ่งพาอาวุธจากรัสเซียมาจนถึงทุกวันนี้

ปี 2018 อินเดียสั่งซื้ออาวุธรัสเซียราว 5,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ

เสี่ยงกับการผิดกฎหมายของสหรัฐที่มีผลให้เพิ่มการลงโทษรัสเซียและเกาหลีเหนือมาแล้ว

แต่รัสเซียกับอินเดียก็ไม่สนใจ

ทำให้เห็นภาพว่า ใครๆ ก็กำลังเอาใจอินดีย

รัสเซียก็ขายน้ำมันให้ในราคาส่วนลดพิเศษ

ส่วน นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.ต่างประเทศรัสเซีย ก็แถลงชื่นชมอินเดียที่ “ไม่มองมุมเดียวในศึกยูเครน”

ขณะเดียวกันตั้งแต่โมดีชนะการเลือกต้ังในปี 2014 การค้าระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

การค้าระหว่างอินเดีย-สหรัฐ สูงเกินปีละ 110,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับรัสเซียที่มีเพียง 8,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ไม่กี่ปีที่ผ่านมาอินเดียยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้ออุปกรณ์ทางการทหารของสหรัฐ

ในการพบปะกับนายไบเดนครั้งล่าสุด โมดีได้รับคำร้องขอจากผู้นำสหรัฐว่าอินเดียไม่ควรเพิ่มการซื้อน้ำมันจากรัสเซียอีก

ไบเดนเสนอช่วยหาแหล่งน้ำมันอื่นให้แทน

แต่อินเดียซึ่งต้องนำเข้าน้ำมันถึง 80% ก็มีทางพูดเลี่ยงไปให้มีผลกระทบต่อตนน้อยที่สุด

อินเดียบอกสหรัฐฯ ว่าซื้อน้ำมันจากรัสเซียแค่เกิน 3% ของความต้องการอยู่แล้ว

มิหนำซ้ำยังชี้ให้เห็นว่า ประเทศยุโรปต่างๆ นั่นแหละที่ยังซื้อพลังงานจากรัสเซีย

จึงมีผู้เชี่ยวชาญเรียกว่า “นี่คือการทูตอินเดียแบบเหนือเมฆ” จริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex