อย่างไรคือนโยบาย ‘สมดุล’ ของไทยในภาวะโลกปั่นป่วน?

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไปวอชิงตันเพื่อร่วมประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำอาเซียนกับสหรัฐฯ วันที่ 12-13 พฤษภาคมนี้

เป็นจังหวะเดียวกับที่สงครามยูเครนยังดำเนินต่อเนื่อง

ทำให้เกิดประเด็นว่าผู้นำอาเซียน (รวมถึงไทย) จะถูกสหรัฐฯ นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเผชิญหน้ากับรัสเซียหรือไม่

จะเป็นการ “ชักศึกเข้าบ้าน” หรือไม่

ไทยจะมีนโยบาย “ถ่วงดุลมหาอำนาจ” อย่างไรในสถานการณ์ที่เปราะบาง

และหลังสงครามยูเครน (ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่าจะจบลงเมื่อใด และฝ่ายใดจะอยู่ในฐานะได้เปรียบเสียเปรียบต่อกัน) “ระเบียบโลกใหม่” จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร

รัฐบาลไทยกำลังถูกมองว่าโอนเอียงเข้าสหรัฐฯ มาก จนทำให้จีนมีความไม่พอใจต่อแนวทางของไทยจริงหรือไม่

ในภาวะที่อาเซียนดูเหมือนจะมีความแตกแยกทั้งในประเด็นเรื่องจีน, สหรัฐฯ และแม้แต่กรณีเมียนมา ไทยเรามีการปรับยุทธศาสตร์ทั้งด้านการทูต, การเมืองและความมั่นคงอย่างไร

ล้วนเป็นเรื่องที่ควรจะได้รับความสนใจ และต้องได้รับการถกแถลงในมวลหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง, รอบด้านและอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและตรวจสอบได้

วันก่อนผมได้อ่านคำแถลงของโฆษกกระทรวงต่างประเทศในบางประเด็นเหล่านี้

จึงขอนำมาเล่าต่อเพื่อประกอบกับการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ของคนไทยกันเองดังนี้

เมื่อ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบข้อซักถามผู้สื่อข่าวต่อกรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าการเยือนไทยระหว่าง ๑-๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็นการชักจูงไทยเข้าร่วมต่อต้านจีนและรัสเซีย และการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๒ ของนายกรัฐมนตรีว่าเป็นไปตามแนวคิด "NATO 2" ดังนี้

๑.การยกระดับสถานะความสัมพันธ์จาก “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” สะท้อนความแน่นแฟ้นและความก้าวหน้าของความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งครบรอบ ๑๓๕ ปีในปีนี้ 

๒.นอกจากนี้ ผู้นำไทยและญี่ปุ่นได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันภายใน ๕ ปี โดยส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ของไทย

๓.ทั้ง 2 ฝ่ายหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาทิ สถานการณ์ในเมียนมา ยูเครน ทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก คาบสมุทรเกาหลี การปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และความสนับสนุนของญี่ปุ่นต่อการจัดประชุมเอเปกของไทย โดยไม่ได้มีการพูดถึงการต่อต้านจีนหรือรัสเซีย หรือปูพื้นฐานให้ไทยเป็นสมาชิกของยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านจีนแต่ประการใด

๔.การเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๒ ของนายกรัฐมนตรีไทย ระหว่าง ๑๒-๑๓ พฤษภาคมนี้ ที่กรุงวอชิงตัน มีวัตถุประสงค์ฉลอง ๔๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ โดยผู้นำอาเซียนและประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะร่วมกันกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างกันท่ามกลางความท้าทายต่างๆ เพื่อฟื้นฟูการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคหลังโควิด-๑๙ ทั้งนี้ ระหว่างการเยือนนายกรัฐมนตรีไทยจะพบภาคเอกชนรายใหญ่ของสหรัฐฯ เพื่อหารือส่งเสริมการลงทุนและการทำธุรกิจในไทยและพบชุมชนไทยในสหรัฐฯ ด้วย

๔.ไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สมดุล ส่งเสริมบทบาทความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาคมาโดยตลอด ซึ่งหลายประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia : TAC) ของอาเซียนที่ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค โดยการระงับข้อพิพาทอย่างสันติ สนธิสัญญา TAC มีอัครภาคีรวมทั้งสิ้น ๔๐ ประเทศ รวมถึงสมาชิกถาวรแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้ง ๕ ประเทศด้วย

ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างไทยและญี่ปุ่น และความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ไทยมีกับประเทศอื่นๆ นั้น เป็นความร่วมมือทวิภาคี ที่มีการหารือมาหลายปีแล้ว และญี่ปุ่นก็มีกับหลายประเทศในภูมิภาคแล้ว ไม่ได้มีลักษณะเป็นความร่วมมือทางทหารที่มีเป้าประสงค์ในการป้องกันร่วมกัน (collective defence) ซึ่งถือว่าการรุกรานประเทศหนึ่งเป็นการรุกรานทุกประเทศที่เป็นภาคีในสนธิสัญญาดังเช่นสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) แต่อย่างใด

๕.จากข้อเท็จจริงข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่า วาทกรรมเรื่องการจัดตั้ง "NATO 2" เป็นเพียงการตีความตามจินตนาการของบางบุคคล โดยไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงแต่อย่างใด

หัวใจของเรื่องคงอยู่ที่ประโยคที่ว่า “ไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สมดุล”

คำว่า “สมดุล” ในภาวะที่โลกกำลังเข้าสู่ความขัดแย้งที่แยกขั้วอย่างชัดเจนเพราะสงครามยูเครนนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายและละเอียดอ่อน

อีกทั้งยังต้องเข้าใจและตามให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของดุลแห่งอำนาจที่กำลังเกิดขึ้นตลอดเวลา

เพราะการเมืองระหว่างประเทศวันนี้ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ หากแต่มีพลวัตที่ปรับและขยับตัวอยู่ตลอดเวลา

หน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศคือ การทำให้นโยบาย “สมดุล” ที่ว่านี้ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในแง่การชี้แจงอธิบาย และในทางปฏิบัติที่คนไทยทั่วไปสามารถเข้าใจและรับรู้ได้ด้วย

นั่นย่อมหมายถึงการที่รัฐบาลไทยต้องทำให้คำว่า “นโยบายต่างประเทศ” ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการทูตของกระทรวงต่างประเทศ หากแต่ต้องหมายรวมถึงความมั่นคง, การค้า, การลงทุน, วัฒนธรรม, การท่องเที่ยว และที่เรียกว่า soft power ให้เป็นนโยบายเดียวกันด้วย

ความสำคัญอยู่ที่การที่ไทยสามารถกำหนด “ผลประโยชน์ของประเทศไทย” ณ เวลาใดเวลาหนึ่งและต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งได้ถูกต้องแม่นยำเพียงใด

มิใช่เพียงแค่อ้างคำว่า “เป็นกลาง” โดยไม่สามารถประเมินสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลาให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย