มอลโดวา : เป้าหมายต่อไปของรัสเซีย?

ประเทศที่กำลังตกเป็นเป้ารายต่อไปของรัสเซียอาจจะเป็น Moldova

เป็นเหตุให้สหภาพยุโรปยื่นมือมาเสนอความช่วยเหลือ

เพราะรัสเซียได้ประกาศว่าดินแดน Tranistria ซึ่งประกาศแยกตัวออกจากมอลโดวาจะได้รับการคุ้มครองจากมอสโก

เพราะคนเชื้อสายรัสเซียที่นั่นถูกข่มขู่คุกคามโดยรัฐบาลมอลโดวาที่มีผู้นำรัฐบาลสนับสนุนตะวันตกมากกว่ารัสเซีย

ไมอา ซานดู ประธานาธิบดีของประเทศนี้ยอมรับว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้

มอลโดวาเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 15 สาธารณรัฐของอดีตสหภาพโซเวียต

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายและมอลโดวาได้เอกราช รัสเซียได้สนับสนุนกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในทรานส์นีสเตรีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูมิภาคที่พูดภาษารัสเซีย

ประเทศนี้เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดของยุโรป

เมื่อวันที่ 22 เมษายน รัสตัม มินเนคาเยฟ นายพลชาวรัสเซีย ประกาศว่าทหารรัสเซียที่ควบคุมยูเครนอยู่วันนี้จะเปิดเส้นทางสู่ทรานส์นีสเตรีย

โดยอ้างว่าคนที่พูดภาษารัสเซียกำลังถูกกดขี่

เป็นเสียงเตือนภัยอันตรายดังขึ้นในเมืองคีชีเนา เมืองหลวงของมอลโดวาทันที

“นี่เป็นคำพูดที่น่ากังวล” ประธานาธิบดีแซนดูให้สัมภาษณ์ The Economist “หลังจากที่เราได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครน”

อีก 3 วันต่อมาความกังวลที่ว่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดการระเบิดขึ้นที่ตึกทำการของกระทรวงความมั่นคงของรัฐที่ควบคุมโดยรัสเซียในเมืองติราสโปล เมืองหลวงที่ประกาศตนเองของพวกแบ่งแยกดินแดน

วันรุ่งขึ้น เสาอากาศอีก 2 จุดในเมืองนั้นถูกระเบิดทิ้ง

เป็นเสาอากาศที่ใช้ในการส่งสัญญาณวิทยุของรัสเซียในเมือง Maiac ที่อยู่ใกล้กันนั้น

ไม่มีใครอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นักวิเคราะห์ตะวันตกอ้างว่า รัสเซียมีประวัติของการ “สร้างสถานการณ์” หรือที่เรียกว่า “False Flag” ("ชักธงปลอม") ที่เป็นการจัดฉากเพื่ออ้างเป็นสาเหตุในการก่อเหตุโจมตีทางทหารได้

ประธานาธิบดียูเครนชี้นิ้วกล่าวว่า นั่นคือฝีมือของมอสโก

หน่วยข่าวกรองทางทหารของยูเครน ซึ่งปฏิบัติงานในทรานส์นีสเตรียอ้างว่า ได้พบแผ่นพับจำนวนมากที่กระตุ้นให้ผู้พูดภาษารัสเซียที่นั่นลุกขึ้นก่อเหตุ

ประเทศมอลโดวาตกอยู่ในฐานะที่มีความเสี่ยงไม่น้อย

เหตุเพราะไม่เคยสมัครเข้าร่วม NATO ไม่เหมือนกับยูเครนหรือจอร์เจียที่เคยประกาศตนว่าสนใจจะเข้าร่วมพันธมิตรทางทหารของยุโรปตะวันตก

ส่วนอดีตสมาชิกของสาธารณรัฐโซเวียตอย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย เป็นสมาชิก NATO อยู่แล้ว

แต่หากมอลโดวาแสดงความสนใจจะสมัครเข้าร่วม NATO ตอนนี้อาจถูกมองว่าเป็นการยั่วยุ เพราะเป็นช่วงจังหวะที่สงครามยูเครนยังร้อนระอุ

มีความหวั่นเกรงกันที่นี่ว่าหากมอลโดวาแสดงท่าทีที่มอสโกเห็นว่าเป็นปรปักษ์ ก็จะเป็นเสมือนกระตุกหนวดเสือทันที

“ทันทีที่เรายกประเด็นนี้ขึ้นมา ระเบิดก็อาจเริ่มตกลงมารอบบ้านเราทันที” คือปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของที่นี่

ความจริงมีสัญญาณเตือนทำนองนี้มาจากรัสเซียตั้งแต่ฤดูร้อน

และในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ เสียงเตือนจากรัสเซียก็คมชัดขึ้นทุกที

โดยทางการแล้ว มอลโดวามีสถานภาพรักษา “ความเป็นกลาง” ซึ่งเขียนระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 1994

เป็นการเขียนเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเล็กๆ อย่างมอลโดวาถูกลากเข้าสู่ความขัดแย้งที่ตนไม่ต้องการจะเข้าไปมีส่วนด้วย

แต่ในสถานการณ์ที่เห็นอยู่วันนี้  NATO ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำอะไรได้มากนักที่จะป้องกันไม่ให้รัสเซียดึงมอลโดวาเข้าสู่วงจรของความขัดแย้งนี้

ประธานาธิบดีซานดูบอกว่า “เรากำลังพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ประเทศเราอยู่นอกความขัดแย้งนี้ แต่ความเป็นกลางก็ไม่ได้ให้การคุ้มกันเราได้ 100%”

จะว่าไปแล้วประเทศเล็กๆ อย่างมอลโดวาก็ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้มากมายนัก

เพราะกองทัพก็เล็กนิดเดียว

กองทัพของประเทศไม่มีเครื่องบินรบหรือเฮลิคอปเตอร์

รถถังที่พอจะมีไม่กี่คันอยู่ก็เป็นแค่ใช้จัดแสดงเป็นของโบราณที่เป็นเพียงเครื่องรำลึกในฐานะอนุสรณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้นเอง

ไม่มีพิษสงในการสู้รบตบมือกับใคร

ตราบถึงวันนี้ การบุกใหญ่จากรัสเซียยังดูเหมือนห่างไกล

รัสเซียมีกองทหารรักษาการขนาดเล็กใน Transnistria หากมอสโกจะเสริมทัพของตนให้ใหญ่โตขึ้นกว่านี้ก็จำเป็นต้องเคลื่อนทัพจากยูเครนไปทางทิศตะวันตกเกือบ 200 กม. จากแนวหน้าในปัจจุบัน

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีอันตรายในรูปแบบอื่นๆ เสียเลยทีเดียว

เช่น ทหารรัสเซียประมาณ 1,500 นาย (ส่วนใหญ่เป็นทหารทรานส์นีสเตรียนที่มีหนังสือเดินทางของรัสเซีย) ประจำการอยู่ใน "ดินแดนแยกตัว" แห่งนี้อาจก่อเหตุร้ายในส่วนที่เหลือของมอลโดวา

หรืออาจโจมตียูเครนจากทางตะวันตก

แต่ทั้ง 2 เรื่องก็เกิดขึ้นไม่ได้ง่ายนัก เพราะกองกำลังที่ว่านี้ยังมีเครื่องมือและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่ถือว่าดีนัก

แต่หากทหารรัสเซียจะรุกคืบเข้ามอลโกวาจากตะวันออกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก

ที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามรุกมาแถบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่รัสเซียก็ยังไม่สามารถยึด Mykolaiv ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางขอบตะวันตกของดินแดนยูเครนที่ปัจจุบันดูเหมือนรัสเซียจะควบคุมอยู่ 

แต่ภัยคุกคามที่เร่งด่วนกว่าอะไรอื่น คือความขัดแย้งทางสังคมและเศรษฐกิจที่ออกแบบโดยรัสเซีย

นั่นอาจทำให้มอลโดวาตกอยู่ในความโกลาหลและวุ่นวายพอที่จะทำให้เกิดภาวะวิกฤตได้

แซนดูเป็นอดีตที่ปรึกษาธนาคารโลกและต่อต้านการทุจริตที่ทุ่มเทจนเป็นที่ยอมรับของคนในประเทศ

พอเธอได้รับเลือกตั้งในปี 2020 ก็เท่ากับประชาชนแสดงการต่อต้านรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการของเครมลิน

เพราะคู่แข่งที่เธอล้มสำเร็จคือ Igor Dodon ซึ่งมีนโยบายต่อต้านชาติตะวันตกและสนับสนุนรัสเซียอย่างแข็งขัน

ก่อนหน้านั้นเขาได้ไล่ออกแซนดูจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเธอเปิดโปงปัญหาคอร์รัปชัน

ตอนนี้เขากลายเป็นผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา

รัสเซียมีอิทธิพลเหนือมอลโดวาอยู่ 2 ทาง

ประการแรก มอสโกคือผู้ขายก๊าซเกือบทั้งหมดที่มอลโดวาต้องพึ่งพาเพื่อทำความอุ่นในหน้าหนาวเหน็บ และเพื่อป้อนอุตสาหกรรมเล็กๆ ที่มีอยู่

ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ราคาก๊าซกระโดดขึ้น 380%

อีกทางหนึ่งท่อส่งก๊าซหลักเข้ามอลโดวาต้องวิ่งผ่าน Transnistria

นั่นคือจุดเปราะบางอีกจุดหนึ่งที่ทำให้มอลโดวาต้องเกรงใจรัสเซียเป็นพิเศษ

ประการที่สอง ดูเหมือนจะร้ายแรงกว่าข้อแรก คือประมาณ 80% ของไฟฟ้าของมอลโดวามาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในทรานนีสส์เตรีย ซึ่งขับเคลื่อนด้วยก๊าซของรัสเซียเช่นกัน

บริษัทพลังงานซึ่งมีชาวรัสเซียเป็นเจ้าของได้ราคาขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง

อีกทั้งยังปฏิเสธที่จะทำสัญญาระยะยาวกับมอลโดวา

ทำให้รัฐบาลต้องเจรจาเพื่อต่ออายุไปเรื่อยๆ

ความจริงไฟเกือบจะดับลงแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม หากรัฐบาลไม่สามารถต่อรองเพื่อต่อสัญญากับทรานนีสส์เตรียไปอีก 1 เดือน

ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดีแซนดูจึงต้องร้องขอสหภาพยุโรปเพื่อความช่วยเหลือฉุกเฉินเป็นจำนวนเงิน 300 ล้านยูโร (ประมาณ 10,000 ล้านบาท) เพื่อแก้ขัดปัญหาความยากจนไปถึงสิ้นปี

มอลโดวาจะมีความมั่นคงด้านพลังงานมากขึ้นเมื่อมีการสร้างสายไฟใหม่เชื่อมต่อกับโรมาเนีย

แต่กว่าจะทำได้ต้องรออีก 2-3 ปี

ฝ่ายค้านของมอลโดวาที่โปรรัสเซียมีแผนจะใช้ประโยชน์จากวิกฤตนี้

แซนดูบอกว่ากองกำลังทางการเมืองของรัสเซียในมอลโดวาได้พูดถึงการประท้วงครั้งใหญ่แล้ว และได้เรียกร้องให้รัฐบาลก้าวลงจากตำแหน่งและจัดการเลือกตั้งรัฐสภา

แน่นอนว่าเมื่อเกิดปัญหาปากท้อง ฝ่ายค้านก็จะต้องโทษรัฐบาล

ความคาดหวังที่จะได้รับการสนับสนุนทางทหารโดยตรงจาก NATO ไม่น่าจะเป็นไปได้ในขณะนี้

แต่ 1 สัปดาห์หลังจากรัสเซียบุกยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มอลโดวาขอสมัครเข้าร่วมสหภาพยุโรป

แต่กว่าจะได้เป็นสมาชิกจริงๆ คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี

วันนี้ประเทศนี้จึงอยู่ด้วยความหวาดระแวงและระมัดระวังอย่างสุดฤทธิ์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน

ปูติน-คิม: ยิ่งโลกยุ่ง สองสหายยิ่งแน่นแฟ้น

ยิ่งนับวันเกาหลีเหนือก็ยิ่งขยับใกล้รัสเซียมากขึ้น...หลักฐานอาวุธจากเปียงยางไปปรากฏในสมรภูมิยูเครนตอกย้ำว่า “คิม จองอึน” กับ “วลาดิมีร์ ปูติน” กำลังสานสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นทุกวัน

เมื่อบริษัทมะกันถอนตัวจาก แหล่งก๊าซ‘ยาดานา’พม่า

ผลข้างเคียงจากสงครามกลางเมืองพม่าต่อไทยคือการบริหารแหล่งก๊าซยาดานา (Yadana) ที่ผู้ถือหุ้นสหรัฐฯ คือเชฟรอน เพิ่งประกาศถอนหุ้นออกไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา