‘บอง บอง’ : คบหาจีน แต่ไม่ห่างจากอเมริกา

พอฟิลิปปินส์ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ก็แสดงความยินดีด้วยอย่างฉับพลัน

สะท้อนว่านโยบายต่างประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ “บอง บอง” มาร์กอส จูเนียร์ จะต้อง “รักษาระยะห่างอันเหมาะสม” กับมหาอำนาจทั้งในเอเชียและในเวทีระหว่างประเทศ

เป็นแนวทางที่หลายๆ ประเทศพยายามจะถือเป็นหลักปฏิบัติเพื่อไม่ให้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับให้ต้องถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการต่อต้านอีกฝ่ายหนึ่ง

พอผลการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ออกมาเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ผู้นำสหรัฐฯ และจีนต่างก็ออกข่าวแสดงความยินดีกับมาร์กอส จูเนียร์ อย่างฉับพลัน

เพราะทั้ง 2 มหาอำนาจกำลังแย่งชิงอิทธิพลเหนือประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนนี่เอง

ทำเนียบขาวที่วอชิงตันออกแถลงการณ์ว่า “ประธานาธิบดีไบเดนเน้นย้ำว่าท่านกระตือรือร้นที่จะได้ร่วมงานกับประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพันธมิตรสหรัฐ-ฟิลิปปินส์ต่อไป ในขณะที่ขยายความร่วมมือทวิภาคีในประเด็นต่างๆ รวมถึงการต่อสู้กับโควิด-19 การแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมในวงกว้าง ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเคารพสิทธิมนุษยชน”

ในขณะเดียวกัน เอกอัครราชทูตจีนประจำฟิลิปปินส์ Huang Xilian แจ้งว่าได้ส่งข้อความแสดงความยินดีจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ถึงมาร์กอส จูเนียร์ แล้ว

ทูตจีนบอกว่า "ไม่ต้องสงสัยเลย" ว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีจีน-ฟิลิปปินส์ "จะแข็งแกร่งขึ้น" ภายใต้การบริหารของมาร์กอส

“เราตั้งตารอที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ชุดต่อไปเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมให้สูงขึ้นไปอีก และนำผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมมาสู่ประชาชนใน 2 ประเทศของเรา” ทูตกล่าวในโพสต์บนเฟซบุ๊ก

ฟิลิปปินส์และปักกิ่งมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องสิทธิ์เหนือเกาะแก่งในทะเลจีนใต้

แต่ประธานาธิบดีดูเตร์เตที่จะก้าวลงจากตำแหน่งวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ได้พยายามกระชับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น โดยแลกกับเงินลงทุนและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากจีน

เป็นนโยบายที่ฝ่ายบริหารของมาร์กอสคาดว่าจะสานงานต่อ เพราะยิ่งในภาวะที่ต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดด้วยแล้ว เม็ดเงินลงทุนและการค้ากับจีนก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

แนวทางของมาร์กอส จูเนียร์ น่าจะเข้ากรอบที่ผู้เชี่ยวชาญที่เกาะติดท่าทีของเขาในการสานสัมพันธ์กับจีนให้แน่นแฟ้นขึ้น โดยไม่เสียแรงหนุนจากสหรัฐฯ ที่มีอยู่ไป

หรือที่เรียกว่าเป็นการ “คบหาจีนอย่างสนิทสนิม ขณะเดียวกันก็เก็บอเมริกาไว้ใกล้ตัว”

จะเทน้ำหนักไปทางใดทางหนึ่งไม่ได้เลย

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพของประเทศ

มาร์กอส ‘บองบอง’ เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยจะไม่กลับไปพูดถึงประเด็นคำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ.2019 โดยศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก

เป็นคำพิพากษาซึ่งปฏิเสธคำอ้างอธิปไตยของจีนเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ หลังกรุงมะนิลายื่นเรื่องฟ้องต่อศาลดังกล่าวเพื่อแย้งคำอ้างของกรุงปักกิ่ง

แต่สังเกตได้ว่าช่วงหาเสียงนั้น “บอง บอง” ไม่ค่อยพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับจีนมากนัก

ซึ่งไปคนละทางกับดูเตร์เตที่ชูธงหนุนจีนมาตั้งแต่เมื่อรับตำแหน่งในปี ค.ศ.2016

ก่อนหน้านั้นสายสัมพันธ์ฟิลิปปินส์-จีนเริ่มเสื่อมถอยลง และรัฐบาลที่กรุงมะนิลาหันไปหากรุงวอชิงตันเพื่อขอแรงสนับสนุนสำหรับเตรียมพร้อมหากเกิดกรณีความขัดแย้งทางทะเลกับกรุงปักกิ่ง

นักวิเคราะห์มองว่าผู้นำฟิลิปปินส์คนใหม่นี้ตระหนักว่าจีนยังเป็น “ขาใหญ่” ของภูมิภาคนี้

และผลประโยชน์ของประเทศที่แท้จริงอยู่ที่จะไม่ทำตนเป็นปรปักษ์กับทั้งวอชิงตันและปักกิ่ง

คำถามใหญ่ก็คือว่า ประเด็นพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนจะมีทางออกอะไรที่ดีกว่าที่ผ่านมา

ถึงวันนี้ก็ยังมีกรณีที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากันตลอดเวลา

เรือตรวจการณ์ชายฝั่งของจีนและเรือประมงของจีนก็ยังมาป้วนเปี้ยนบริเวณของทะเลจีนใต้ที่ฟิลิปปินส์ยืนยันว่าอยู่ภายใต้อธิปไตยของตน

เป็นเสมือนการทดสอบว่าฟิลิปปินส์กับจีนที่ทำท่าว่าจะคบหาใกล้ชิดกันมากขึ้นภายใต้ดูเตร์เตนั้นจะช่วยกันแก้ปัญหาคาราคาซังได้หรือไม่

จนเกิดเหตุการณ์บางครั้งที่ทำให้ดูเตร์เตต้องแสดงความไม่พอใจต่อจีน เพื่อไม่ให้ประชาชนคนฟิลิปปินส์รู้สึกว่าผู้นำของตนยอมอ่อนข้อต่อปักกิ่งมากเกินไป

ดังนั้นพอ “บอง บอง” ขึ้นบริหารประเทศก็คงจะต้องมีการปรับแนวทางการประสานงานระหว่าง 2 ประเทศด้วยการยกระดับมาตรการด้านความมั่นคงตามแนวชายฝั่งเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งใหม่ๆ ขึ้นมาอีก

ขณะที่ มาร์กอส จูเนียร์ คงจะต้องปรึกษาหารือกับเพื่อนๆ ในอาเซียนที่ต่างก็พยายามจะสร้าง “ความสมดุล” ในการคบหากับสหรัฐฯ และจีน

ทั้งในระดับทวิภาคีกับในฐานะอาเซียนกับจีนและสหรัฐฯ ที่นับวันก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ

ยิ่งพอเกิดสงครามยูเครนก็ยิ่งทำให้ความยุ่งเหยิงในความสัมพันธ์เชิงซ้อนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ, จีนและรัสเซียก็ยิ่งเพิ่มดีกรีขึ้นมาเช่นกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex