ศรีลังกา : ‘หายนะของประเทศรออยู่ข้างหน้า’

วิกฤตศรีลังกายังหนักหน่วงรุนแรง...เมื่อเศรษฐกิจล่มสลาย ประชาชนไร้ที่พึ่ง ซ้ำเติมด้วยวิกฤตข้าวของแพงเพราะสงครามยูเครน

จากวิกฤตปากท้องสู่วิกฤตการเมือง

ประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ นายกฯ ยื้อต่อไปไม่ไหว ยอมลาออก

แต่ผู้นำคนใหม่ก็ยอมรับว่า 'ความยากลำบากที่สุดรออยู่'

รานิล วิกรมสิงเห  (Ranil Wickremesinghe) อดีตนายกรัฐมนตรีศรีลังกา กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหลังจากการลาออกของ มหินทรา ราชปักษา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน

ไม่มีอะไรรับรองได้ว่าผู้นำคนใหม่จะแก้วิกฤตของบ้านเมืองได้ แต่ก็เป็นที่ยอมรับว่าการบริหารโดย “ตระกูลราชปักษา” ทีมเดิมน่าจะหมดสภาพแล้วจริงๆ

แต่คนที่แต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ก็ยังเป็นคนในตระกูล “ราชปักษา” อยู่ดี

ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา แต่งตั้งวิกรมสิงเหเป็นนายกรัฐมนตรี แทนน้องชายมหินทรา ราชปักษา

มหินทรายอมก้าวลงจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม หลังการประท้วงที่ในเมืองหลวงโคลัมโบสะท้อนอารมณ์โกรธแค้นของประชาชนทั่วทุกระแหง

การชุมนุมที่เริ่มด้วยความสงบกลับกลายเป็นการนองเลือด เพราะทหารถูกส่งลง “รักษาความสงบ” ในภาวะที่บ้านเมืองเกือบไร้ขื่อแป

เกิดการปะทะกันต่อเนื่องกันหลายวัน มีผู้เสียชีวิต 9 คน และบาดเจ็บกว่า 200 คน

ปัญหาของศรีลังกาที่เผชิญคือ “Perfect Storm” อันหมายถึงวิกฤตรุนแรงจากทุกสารทิศ

ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้ภาครัฐมหาศาล

เงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลงเรื่อยๆ

ตามมาด้วยปัญหาขาดแคลนสินค้าจำเป็นต่างๆ ถึงขั้นขาดแคลนเชื้อเพลิง ไม่เฉพาะสำหรับชาวบ้าน แต่รวมถึงที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชนและระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ด้วย

พอรับตำแหน่งท่ามกลางความวุ่นวายสับสนทั้งประเทศ นายกฯ วิกรมสิงเหออกโทรทัศน์ยอมรับความจริงที่เจ็บปวดกับประชาชนว่า

ประเทศถังแตกจริง ๆ

ในไม่กี่วันข้างหน้า ศรีลังกาต้องการเงินฉุกเฉิน 75 ล้านดอลลาร์ (2,550 ล้านบาท)

ไม่ใช่เพียงเพราะรัฐบาลขาดเงินบริหารประเทศ แต่ต้องการเงินเร่งด่วนเพื่อใช้ในการซื้อสินค้าจำเป็น รวมทั้งเชื้อเพลิงและยารักษาโรคให้ประชาชน

ที่ทำให้ผู้คนแตกตื่นกันพอสมควรก็คือ การที่ผู้นำคนใหม่ยอมรับว่า กระทรวงการคลังของศรีลังกาวันนี้ไม่สามารถหาเงินมาได้แม้เพียง 1 ล้านดอลลาร์

เพราะไปกู้ใครก็ไม่มีเครดิตพอ ต้องอ้อนวอนองค์กรระหว่างประเทศและพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่พร้อมจะควักกระเป๋าส่งเงินมาให้ก่อน ส่วนจะจ่ายคืนอย่างไรค่อยว่ากันอีกที

นายกฯ วิกรมสิงเห กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ศรีลังกามีเชื้อเพลิงเหลือพอใช้อีกเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น และอาจจำเป็นต้องมีการตัดไฟฟ้าเพิ่มเป็นวันละ 15 ชม.

หนึ่งในแผนที่จะหาเงินเข้าคลังนั้น นายกฯ คนใหม่บอกว่า จะขายสายการบินศรีลังกาให้เป็นของเอกชน

แต่เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติในการชดใช้ค่าเรือขนส่งเชื้อเพลิงที่ทอดสมอรออยู่ในเขตน่านน้ำของศรีลังกา

เรียกว่าไม่มีเงินแม้จะจ่ายค่าขนส่งให้กับบริษัทเรือเพื่อเอาเชื้อเพลิงลงมาใช้

ประชาชนคนศรีลังกาไม่เคยได้รับรู้ว่ารัฐบาลก่อนได้ทิ้งปัญหาหนักหนาไว้อย่างไร

นายกฯ คนใหม่จะปิดบังความจริงไม่ได้อีกต่อไป จึงยอมรับต่อสาธารณะว่าตอนนี้ศรีลังกาไม่มีน้ำมันสำรองเหลือแล้ว

รัฐบาลต้องหาเงินตราต่างประเทศให้ได้วันละ 75 ล้านเหรียญฯ เพื่อมาซื้อน้ำมันใช้วันต่อวัน

ถือว่าเป็นสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจขั้นเลวร้ายที่สุดของศรีลังกา

ทั้งๆ ที่เคยได้รับฉายาว่าเป็น “ไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย”

แต่วันนี้กลายเป็นประเทศยืนอยู่ขอบเหวแห่งการล้มละลาย

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลช็อกคนทั้งประเทศด้วยการประกาศว่ามีน้ำมันคงเหลือเพื่อใช้ในประเทศได้วันเดียวเท่านั้น        

แต่มีเรือบรรทุกน้ำมันจอดรออยู่นอกท่าเรือโคลัมโบอีก 3 ลำ

รัฐบาลกระเป๋าฉีก ต้องวิ่งเต้นหาเงินสำรองต่างประเทศมาจ่ายค่าขนส่งเพื่อจะนำมาใช้ประทังชีวิตของประเทศได้ทีละวัน

พอออกประกาศเช่นนั้น ประชาชนชาวศรีลังกาในเมืองหลวงก็วิ่งกันจ้าละหวั่น

เกิดภาพความโกลาหลที่ผู้คนแย่งกันออกมาเติมน้ำมันตามปั๊มน้ำมันคิวยาวเหยียด

สื่อรายงานว่า บางคนไม่เป็นอันกินอันนอน ตื่นแต่เช้าเพื่อออกมาต่อคิวแต่เช้าตรู่

บางคนต้องรอนานถึง 7 ชั่วโมงเพื่อจะได้เติมน้ำมัน

ภาพที่น่ารันทดคือ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือก ต้องหันกลับไปใช้รถลากแบบโบราณเพื่อรอต่อคิวรับบริการน้ำมัน

พอขาดแคลนน้ำ ผู้ได้รับผลกระทบก็ไม่ได้จำกัดแค่ผู้ใช้รถยนต์เท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบขนส่งในประเทศ

นั่นแปลว่าการเดินทางและขนส่งสินค้าและข้าวของอาจจะต้องหยุดชะงัก

ที่หนักหนาสาหัสกว่านั้นคือ ภาคการเกษตรที่เป็นเส้นเลือดสำคัญของประเทศระดับรากหญ้าล่างก็ถูกกระหน่ำอย่างหนักเช่นกัน

เริ่มด้วยการขาดเชื้อเพลิงที่ใช้ในเครื่องจักรการเกษตร

ตามมาด้วยค่าขนส่งผลผลิตที่แพงขึ้นอย่างมาก

เกษตรกรส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้วก็หมดสภาพ

และค่าครองชีพก็พุ่งสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว

มิหนำซ้ำ รัฐบาลศรีลังกายังออกมาสำทับว่าสถานการณ์ที่เห็นอยู่นี้ยังไม่ใช่จุดเลวร้ายที่สุด

ความวุ่นวายที่อาจจะเรียกว่าเข้าข่าย “หายนะ” กำลังจะตามมาในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้

นักวิเคราะห์เห็นพ้องกันว่า ความเป็น “รัฐล้มเหลว” ของศรีลังกาวันนี้มีสาเหตุมาจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดในเกือบทุกมิติ

รากเหง้าของปัญหามาจากการที่อำนาจรัฐตกอยู่ในมือครอบครัว ‘ราชปักษา’ มานานหลายปี

เป็นแนวทางการบริหารที่เน้นการทำนโยบายประชานิยม และทุ่มเม็ดเงินลงทุนในโครงการก่อสร้างที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

และปีศาจร้ายก็คือปัญหาคอร์รัปชัน

ซ้ำเติมด้วยการระบาดของ Covid-19 ที่กลายเป็นตัวเร่งให้เห็นความหายนะทางเศรษฐกิจและสังคม

ใครสรุปบทเรียนราคาแสนแพงและเจ็บปวดสุดๆ ของศรีลังกาได้ควรจะนำมาเป็น “คู่มือแห่งการสร้างรัฐล้มเหลว” สำหรับทุกประเทศได้เลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้