สงครามยูเครนกับ ระเบียบโลกใหม่ (1)

สงครามยูเครนเป็นเหตุการณ์ที่จะปรับเปลี่ยน “ระเบียบโลก” ที่มีความสำคัญยิ่ง

วันนี้มันกลายเป็น “Hybrid War” หรือ “สงครามไฮบริด” ที่มีครบทุกมิติที่ไม่เคยมีมาก่อน

ไม่ว่าจะเป็นสงครามในสมรภูมิแบบดั้งเดิม หรือสงครามเศรษฐกิจ ผสมกับสงครามไซเบอร์ บวกกับสงครามข่าวสารและจิตวิทยาและสงครามภูมิรัฐศาสตร์

ไม่มีใครสามารถทำนายได้ว่าสงครามนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร หรือจะจบลงอย่างไร

และหากกลายเป็นสงครามยืดเยื้อจะมีความหมายต่อดุลแห่งอำนาจโลกอย่างไร

“ผมอาจจะบอกได้ว่าตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ไม่มีช่วงไหนที่จะอันตรายเท่ากับช่วงนี้ไปถึงปลายปีนี้...ผมคิดว่าประเทศไทยจะต้องเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเช่นนี้อย่างมาก...”

ประโยคนี้มาจากผู้ที่มีประสบการณ์และเป็นนักสังเกตการณ์สถานการณ์โลกอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง

นั่นคือ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และปัจจุบันเป็นประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งเอเชีย (Asian Peace and Reconciliation Council – APRC)

ในความเห็นของ ดร.สุรเกียรติ์นั้น ความจริงระเบียบโลกไม่ได้เพิ่งเปลี่ยน...มันเริ่มเปลี่ยนมานานพอสมควรแล้ว

เริ่มตั้งแต่จีนผงาด มีเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก

ตามมาด้วยฝ่ายขวาจัดในยุโรปที่ทวีกำลังสูงขึ้น

นำไปสู่การไม่ยอมรับ “Globalization” หรือ “โลกาภิวัตน์” ที่เรียกว่า “De-globalisation”

นั่นคือช่วงเวลาที่โลกเปลี่ยนไปค่อนข้างจะมาก

มีการศึกษาของธนาคารโลกว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมานั้น ชนชั้นกลางในอเมริกาและยุโรปจนลง

และบังเอิญชนชั้นกลางในสหรัฐฯ และยุโรปนั้น ชนชั้นกลางเป็นฐานของพรรคการเมืองที่สำคัญ

ส่วนหนึ่งก็โยงกับ Brexit เมื่อสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

ตามมาด้วยนโยบาย America First ของโดนัลด์ ทรัมป์ ในอเมริกา

ขณะเดียวกันประเทศที่โยงกับโลกาภิวัตน์ เช่น จีน, อินเดีย, อาเซียน 10 ประเทศ ก็ยังยืนยันว่าโลกจะต้องเดินหน้าเรื่องโลกาภิวัตน์ต่อไป

มิฉะนั้นเศรษฐกิจจะถดถอย จะอยู่กันไม่ได้

และเมื่อมีสงครามการค้าและสงครามการเงิน กับสงครามทางด้านเทคโนโลยี

พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในระบบ Bretten Woods (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้เกิดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และธนาคารโลก หรือ World Bank) เพราะมีระบบใหม่ที่จีนสามารถผลักดันให้ใช้เงินหยวนเป็นส่วนหนึ่งของเงินกองทุนสำรองระหว่างประเทศได้

ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภูมิสถาปัตย์ทางการเงินของโลก

อเมริกาสมัยทรัมป์ และต่อมาถึงสมัยไบเดนก็เกิด decoupling (การแบ่งขั้ว) ทางด้านการค้าและเทคโนโลยีระหว่างอเมริกากับจีน

 “ระเบียบโลกทางด้านการเงินและการค้า” ก็เริ่มปรับตัวอย่างเห็นได้ชัดมาประมาณ 10 ปีแล้ว

องค์การการค้าโลก หรือ WTO ซึ่งเคยโด่งดั่ง มีสมาชิกร้อยกว่าประเทศเพื่อเปิดเสรีทางการค้าก็ติดขัด เดินหน้าไม่ได้

โลกก็หันไปสู่ระบบพหุภาคี

อาเซียนก็มาดูเรื่องเปิดเขตการค้าเสรี และขยายไปบวกจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, อินเดีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ที่เรียกว่า RCEP ซึ่งมีทั้งหมด 15 ประเทศ รออินเดียเข้ามาร่วมทีหลัง

จึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลงจาก WTO เป็นการเปิดเสรีระดับภูมิภาค

 ตามมาด้วยแนวคิด TPP ซึ่งพอถึงสมัยทรัมป์ก็ไม่เล่นด้วย จน 11 ประเทศที่เหลือมาปรับเป็น CPTPP

จึงเห็นแนวโน้มว่าระเบียบโลกจากระดับโลกถูกปรับมาเป็นระดับภูมิภาค

ให้ความสำคัญกับการทำอะไรในภูมิภาคเป็นหลัก แล้วจึงยื่นมือไปหาภูมิภาคอื่นต่อไป

ดังนั้นระบบพหุภาคีภายใต้กรอบของสหประชาชาติถูก bypass (มองข้ามไป)

ส่วนระบบสหประชาชาตินั้น แม้จะทำอะไรได้ แต่ก็ไม่มีผลบังคับ

มติของคณะมนตรีความมั่นคงมีผลบังคับ แต่ทำอะไรไม่ค่อยได้

2 องค์กรใหญ่ก็ถือว่าอ่อนแอไปมาก

ตั้งแต่ก่อตั้งสหประชาชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อำนาจวีโตของ 5 ประเทศมหาอำนาจในคณะมนตรีความมั่นคง (สหรัฐฯ, จีน, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย)  รัสเซียวีโตไป 120 กว่าครั้ง สหรัฐฯ วีโตไป 80 กว่าครั้ง จีน, อังกฤษ, ฝรั่งเศสใช้สิทธิ์วีโตประเทศละ 20-30 ครั้ง

 “กลายเป็นกลไกที่พิกลพิการ หรืออัมพาต...”

แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถแก้กฎบัตรสหประชาชาติได้ และไม่สามารถเอาเรื่องวีโตออกไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็มีการใช้วิธี bypass หรือมองข้ามระบบสหประชาชาติไป

กลายเป็นว่าประเทศพี่เบิ้มและมหาอำนาจทั้งหลายก็แข่งกันใน “ความคิดริเริ่ม” ใหม่ๆ เอง

ซึ่งมาในรูปกึ่งเศรษฐกิจกึ่งความมั่นคง เช่น กรณี On Belt One Road หรือ Belt-Road Initiative (BRI) ของจีน ซึ่งเชื่อมจีนไปถึงยุโรป 60-70 ประเทศ โดยไม่ผ่านสหประชาชาติแต่อย่างใดเลย

นอกนั้นก็ยังมี Gulf Cooperation ที่เอาไหหลำ, กวางตุ้งเป็นแกนและเชื่อมกับอาเซียน

 “ตอนนี้สิงคโปร์กระโดดไปร่วมแล้ว...เชื่อมไหหลำกับสิงคโปร์ตรง เพราะเขาเห็นว่าเส้นทางที่จะเชื่อมจากจีนตอนใต้, ผ่านลาวมาไทยนั้นก็ยังเชื่อมไม่ครบในฝั่งไทย...”

สิงคโปร์ทำ 2 อย่าง คือไม่เพียงแต่ physical connectivity หรือเชื่อมโยงทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงทางดิจิตอลด้วย

คือการเชื่อมสิงคโปร์กับเทียนซินโดยข้ามไทยเราไป

เมื่อจีนไม่แน่ใจว่าไทยจะเอาอย่างไรเรื่องเชื่อมต่อทางรถไฟกับลาวผ่านไทยไปลงมาเลเซียและสิงคโปร์

เขาจึงใช้วิธีต่อลาวเข้ากัมพูชาแล้วออกเมืองท่าที่สีหนุวิลล์ ซึ่งจีนจะมาลงทุนอีก 5-6 หมื่นล้านบาท

นั่นแปลว่า “ระเบียงทางบก” ก็จะเปลี่ยนไป

ระบบเศรษฐกิจทางทะเลก็เชื่อมจากจีนมาที่สิงคโปร์.

(พรุ่งนี้ : โลกจะเปลี่ยนต่อไปอย่างไร?)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน

ปูติน-คิม: ยิ่งโลกยุ่ง สองสหายยิ่งแน่นแฟ้น

ยิ่งนับวันเกาหลีเหนือก็ยิ่งขยับใกล้รัสเซียมากขึ้น...หลักฐานอาวุธจากเปียงยางไปปรากฏในสมรภูมิยูเครนตอกย้ำว่า “คิม จองอึน” กับ “วลาดิมีร์ ปูติน” กำลังสานสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นทุกวัน

เมื่อบริษัทมะกันถอนตัวจาก แหล่งก๊าซ‘ยาดานา’พม่า

ผลข้างเคียงจากสงครามกลางเมืองพม่าต่อไทยคือการบริหารแหล่งก๊าซยาดานา (Yadana) ที่ผู้ถือหุ้นสหรัฐฯ คือเชฟรอน เพิ่งประกาศถอนหุ้นออกไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา