สงครามยูเครน กับระเบียบโลกใหม่ (2)

สงครามยูเครนจะทำให้ “ระเบียบโลก” ถูกเขย่าอย่างหนัก...ที่คนไทยควรจะต้องตระหนักและปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่หนักหน่วงและรุนแรงมากขึ้น 

ผมตั้งวงคุยเรื่องนี้กับ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และปัจจุบันเป็นประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งเอเชีย (Asian Peace and Reconciliation Council – APRC) เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์โลกวันนี้ 

ในคอลัมน์เมื่อวาน ดร.สุรเกียรติ์เท้าความว่า ความจริงระเบียบโลกเริ่มจะปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว

เมื่อจีนตั้งธนาคาร Asian Infrastrucutre Investment Bank (AIIB) เพื่อให้กู้ไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเสริม BRI ก็เสมือนหนึ่งเป็นการมองข้ามธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียไปในตัว 

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ประกาศเสนอแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า Global Security Initiative หรือ “ความริเริ่มว่าด้วยความมั่นคงของโลกใหม่” 

 โดยเน้นไปที่หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน เคารพในอธิปไตยของประเทศอื่น 

แม้จะไม่ได้ระบุชื่อว่าประเทศใดกำลังละเมิดหลักการเหล่านี้ ก็ “เติมคำในช่องว่าง” ได้เกือบหมด 

ในเวทีการสัมมนา “โปเอ๋า” ประจำปีที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพเมื่อเร็วๆ นี้ สี จิ้นผิง ปราศรัยเน้นเรื่องเอเชีย 

โดยขอให้เอเชียมีความสามัคคี พร้อมเพรียงกัน อย่าแตกแยกกันเพื่อเอเชียจะได้เป็นผู้กำหนดแนวทางของสันติภาพ (setter for peace) 

เท่ากับเป็นการเน้นว่าเอเชียควรจะเป็นผู้นำโลกเข้าสู่สันติภาพ 

 “ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการส่งสัญญาณให้กับรัสเซีย และอีกส่วนหนึ่งก็อาจจะส่งสัญญาณไปทางตะวันตกที่ต้องการจะสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมา...” ดร.สุรเกียรติ์บอก 

เท่ากับจีนมีความริเริ่มใหม่ๆ ที่ไม่ติดยึดอยู่กับระเบียบโลกเก่า          เป็น “บทใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”  

นั่นเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดสงครามยูเครนด้วยซ้ำ 

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็เริ่มขยับ...ยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ตั้ง QUAD หรือ “จตุภาคี” (สหรัฐฯ, อินเดีย, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย) 

เหตุผลที่ตั้งกลไกใหม่นี้คืออะไร? ทั้ง 4 ประเทศอาจจะพูดไม่ค่อยตรงกันนัก แต่เป้าหมายที่แท้จริงก็เพื่อต้านจีนนั่นแหละ 

 “สหรัฐฯ ไม่มีสตางค์ก็ไปบอกให้ญี่ปุ่นจับมือกับอินเดียไปประมูลแข่งกับจีนในการสร้างท่าเรือ, รถไฟและทางหลวง ชนะบ้างแพ้บ้างในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา...” 

ในประเทศไทยเราก็เห็นปรากฏการณ์ที่แยกความคิดเห็นฝ่ายที่เห็นว่าการร่วมมือกับจีนเรื่องการสร้างทางรถไฟเป็นสิ่งที่ดีกับฝ่ายที่มีความระแวงเจตนาที่แท้จริงของจีน และเห็นว่าญี่ปุ่นอาจจะดีกว่า 

อีกทั้งมีแนวความเห็นที่คิดว่าน่าจะคบหาสหรัฐฯ ดีกว่าจีน 

ดร.สุรเกียรติ์บอกว่า “ปัญหาก็คือว่าเวลาสหรัฐฯ มีความริเริ่มอะไรใหม่นั้น มักจะไม่ค่อยมีเนื้อหาที่เป็นรายละเอียดอยู่ข้างใน ...จับต้องไม่ค่อยได้...” 

สำหรับจีน หากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่อะไรออกมา ก็จะมีแนวความคิดที่เป็นนโยบาย ตามมาด้วยแผนปฏิบัติการ หรือ Action Plan                      

และนอกจากแผนปฏิบัติการแล้วก็มีเงินตามมาด้วย ก็ทำให้ขับเคลื่อนได้เร็ว 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ขับเคลื่อนเช่นกัน โดยใช้แนวทางในประเทศคือ Build Back Better World (3BW) คือการเอาเงินมาทำโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาต่าง ๆ เช่น เอสเอ็มอีมาใช้ในเวทีระหว่างประเทศ 

 “สิงคโปร์ก็กระโดดเข้าหาเลย...โดยขอดูไส้ในว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ดูซิว่า 3BW นั้นมีอะไรบ้าง เขาจะขอร่วมหมด...แต่ผมก็ยังไม่รู้ว่าสิงคโปร์หาเจอหรือยัง....” ดร.สุรเกียรติ์เล่าให้ฟัง 

อีกด้านหนึ่งก็มีประเด็นเรื่อง CPTPP ที่มีคนคอยเฝ้าดูว่าไบเดนจะให้อเมริกากลับมาร่วมหรือไม่ 

ไม่ทันไร จีนก็ขอสมัครเข้า CPTPP (ซึ่งก็กำลังถูกไต้หวันและญี่ปุ่นดึงขาอยู่ ไม่ยอมให้เข้าง่ายๆ) 

จีนสั่งผู้ว่าฯ ทุกมณฑลให้ปรับระเบียบการค้าของตนทั้งหมดเสมือนหนึ่งได้เข้า CPTPP แล้ว...หากจะต้องแก้ไขระเบียบข้อบังคับอย่างไรก็ให้แก้เลย 

 “อเมริกามาใหม่ครับ ให้รัฐมนตรีพาณิชย์ (Gina M. Raimondo) ไปเยี่ยมมาเลเซียและสิงคโปร์เมื่อปลายปีที่แล้วเพื่อแจ้งว่าอเมริกาไม่เข้า CPTPP แต่เสนอแนวทางใหม่คือ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) หรือ “กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก” 

ต่อยอดจากแนวคิดเดิม Indo-Pacific ที่ Free and Open (เสรีและเปิดกว้าง) 

สิงคโปร์ก็ขอดูรายละเอียดในข้อเสนอนี้...ซึ่งไม่ใช่เรื่องการค้าเสรี แต่เป็นเรื่อง supply chain (ห่วงโซ่อุปทาน) และช่วย SMEs กับโครงสร้างพื้นฐาน 

คือการเอาเกือบทุกเรื่องที่อาเซียนสนใจ 

ผมถามว่าแล้วเจอ “เนื้อหาสาระ” ของข้อเสนอใหม่นี้หรือยัง 

ดร.สุรเกียรติ์บอกว่า “มันมีหลักการของเนื้อ แต่ยังไม่เจอเนื้อ” 

ที่น่าสนใจในกรณีของสิงคโปร์คือ “ถ้าจีนมีอะไรใหม่ เขากระโดดใส่เลย และถ้าอเมริกามีอะไรใหม่ เขาก็กระโดดใส่เลยเหมือนกัน” 

มีคนถามเสมอว่าไทยควรจะเลือกใครระหว่างสหรัฐฯ กับจีน 

 “ผมจะตอบเสมอว่าเราไม่เลือกใคร เราทำกับทั้งคู่ ก็มีคนถามว่าเราทำกับทั้งคู่ได้หรือ ผมตอบว่าอะไรที่จีนทำแล้วเป็นประโยชน์กับเรา เราก็ทำกับจีน

และเราก็อธิบายกับอเมริกาว่าที่เราทำกับจีนในเรื่องนั้นก็เพราะมันเป็นประโยชน์กับเรามากกว่าของอเมริกา...” ดร.สุรเกียรติ์บอก 

และในกรณีข้อเสนอ 3BW หรือ Indo-Pacific Economic Framework ของสหรัฐฯ นั้น ถ้าอันไหนเป็นประโยชน์ต่อเรา เราก็ทำกับเขา เราก็อธิบายกับจีนได้ว่าที่เราทำกับอเมริกาในเรื่องนั้นก็เพราะมันเป็นประโยชน์กับไทยมากกว่า. 

(พรุ่งนี้ : ทิศทางวันข้างหน้าเป็นอย่างไร?) 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน

ปูติน-คิม: ยิ่งโลกยุ่ง สองสหายยิ่งแน่นแฟ้น

ยิ่งนับวันเกาหลีเหนือก็ยิ่งขยับใกล้รัสเซียมากขึ้น...หลักฐานอาวุธจากเปียงยางไปปรากฏในสมรภูมิยูเครนตอกย้ำว่า “คิม จองอึน” กับ “วลาดิมีร์ ปูติน” กำลังสานสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นทุกวัน