สองฝั่งของสงครามยูเครน ยังเดินหน้าฟาดฟันดุดัน

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวกับสงครามยูเครน (เข้าสู่วันที่ 117 วันนี้) บ่งบอกว่าโอกาสที่จะนั่งลงเจรจาเพื่อหาสูตรสันติภาพยังห่างไกลนัก

สัปดาห์ที่ผ่านมาเราเห็นผู้นำเยอรมนี, ฝรั่งเศส, อิตาลีและโรมาเนียไปเยือนกรุงเคียฟกันอย่างคึกคัก

นัดหมายไปพร้อมๆ กันเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของยุโรปในอันที่จะสนับสนุนให้ประธานาธิบดีเซเลนสกีปักหลักสู้กับรัสเซีย

หลังจากนั้นเพียงวันเดียว เราเห็นนายกฯ สหราชอาณาจักร บอริส ยอห์นสัน ทำเซอร์ไพรส์ด้วยการไปเยือนกรุงเคียฟเป็นครั้งที่ 2

และเสนอจะฝึกทหารยูเครน 10,000 นาย ในการทำสงครามกับรัสเซีย

ยอห์นสันบอกว่าโครงการฝึกทหารให้ยูเครนอย่างนี้จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ความเปลี่ยนแปลงของสมการสงคราม”

นั่นแปลว่าจะทำให้ยูเครนมีโอกาสชนะสงครามในสมรภูมิรบ

ก็ไม่ได้พูดถึงการหยุดยิงเพื่อนำไปสู่การเจรจาสงบศึกอีกเหมือนกัน

ในจังหวะเดียวกันนั้น ประธานกรรมาธิการสหภาพยุโรป Ursula von der Leyen มายูเครนเพื่อประกาศว่า บัดนี้สมาชิกของอียูได้มีมติว่าได้ยกสถานภาพของยูเครนเป็น “candidate” ของการสมัครเป็นสมาชิกอียูแล้ว

นั่นหมายถึงการเริ่มต้นของกระบวนการการอนุมัติให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ

ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศที่แสดงความสนใจจะสมัครเป็นสมาชิกเท่านั้น แต่ได้เข้ามานั่งในห้องรอคิวสัมภาษณ์เพื่อรับอย่างเป็นทางการแล้ว

ในเวลาเดียวกันนั้น ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ก็ขึ้นเวทีใหญ่ St Petersburg International Economic Forum (SPIEF) ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กปราศรัยครั้งสำคัญ

โดยเน้นว่ารัสเซียตัดสินใจเปิด “ปฏิบัติการพิเศษ” ในยูเครน เพราะเป็นความชอบธรรมของประเทศที่มีอธิปไตยของตนในการที่จะปกป้องความมั่นคงของตน

เพราะปูตินอ้างว่านาโตและโลกตะวันตกมีเจตนาจะใช้ยูเครนเป็นเครื่องมือในการบ่อนทำลายความมั่นคงของรัสเซีย

มองจากแง่ของปูติน นี่ไม่ใช่การ “รุกราน” ยูเครนเพื่อขยายดินแดน หากแต่เป็นการ “ทวงคืนดินแดน” ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในอดีต

อีกทั้งปูตินย้ำว่า แม้รัสเซียจะมีอาวุธนิวเคลียร์ ก็จะไม่ใช้มันเพื่อสร้างความไร้เสถียรภาพให้กับโลก

แต่หากความมั่นคงของรัสเซียถูกคุกคาม มอสโกก็สงวนสิทธิ์ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน

แปลว่าปูตินไม่ได้ปิดทางที่จะใช้อาวุธทำลายล้างรุนแรงเพื่อ “ปกป้องอธิปไตย” ของตน

เหมือนที่เซเลนสกีอ้างว่าที่ต้องสู้กับรัสเซีย และเรียกร้องให้โลกตะวันตกส่งอาวุธมาเพิ่มตลอดนั้นก็เป็นการ “ปกป้องอธิปไตย” ของตนเช่นกัน

ผมสนใจประโยคหนึ่งของปูตินที่บอกว่า เขาไม่ต่อต้านการที่ยูเครนจะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เพราะไม่ใช่องค์กรทางทหาร

เท่ากับเป็นการเปิดไฟเขียวให้ยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียู แต่ยังคัดค้านเต็มประตูนาโตจะดึงยูเครนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างภาพรวม

ก้าวย่างที่สำคัญคือ คณะกรรมการพิจารณาสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป (EU - European Union) ได้สรุปว่าควรเสนอให้ยูเครนเข้าสู่กระบวนการเป็นสมาชิกของ EU โดยให้ได้รับสถานภาพผู้สมัคร (candidate status)

คาดกันว่าจะนำเสนอกันในที่ประชุมสุดยอดของ EU ในสัปดาห์นี้

หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการลงมติให้ยูเครนเข้าสู่การเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ

สอดคล้องกับที่เซเลนสกีกับผู้นำของเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ที่เดินทางไปพบ ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพในทางการเมืองร่วมกัน

พยายามจะปิดร่องรอยของความขัดแย้งในเรื่องนี้ที่เคยมีมาก่อน

ปกติแล้วการรับประเทศไหนเข้าเป็นสมาชิก EU นั้นต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 5 ปี เพราะมีขั้นตอนมากมายหลายชั้น

ที่สำคัญคือ ประเทศไหนจะขอเข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีการปฏิรูปและแก้กฎหมายหลายฉบับเพื่อให้เข้ามาตรฐานของสหภาพยุโรป

กรณียูเครนมีการใช้ “ทางลัด” เพราะวิกฤตที่เกิดจากสงครามในยูเครน

และการเรียกร้องอย่างต่อเนื่องของผู้นำยูเครนเอง

เซเลนสกีย้ำเสมอว่า ถ้ายุโรปจริงใจที่จะช่วยยูเครนสู้รัสเซียก็อย่าได้รอช้า ต้องรีบรับเข้าไปเป็นสมาชิก เพราะยูเครนกำลังต่อสู้เพื่อยุโรปทั้งมวล มิได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตกับทรัพย์สินเพื่อตัวเองเท่านั้น

จำนวนสมาชิกของ EU นั้น เพิ่มขึ้นเป็นขั้นตอน เริ่มจาก 6 ประเทศ (เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมันตะวันตก อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์) มาเป็น 27 ประเทศทุกวันนี้

แม้ว่าอังกฤษจะลาออกไปแล้วภายใต้นโยบาย Brexit อันโด่งดัง แต่ก็ยังมีการเชื่อมโยงกันทางด้านต่างๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้

EU ต่างกับ NATO (North Atlantic Treaty Organization) ตรงที่ไม่ใช่องค์กรทางทหาร

หากแต่เน้นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกัน

หรือที่ใช้ในภาษาทางการของเขาว่า Common Foreign & Security Policy - CFSP

เมื่อปูตินก็ยังแยกระหว่าง EU กับ NATO ก็น่าสนใจในแนวทางการแก้วิกฤตในอนาคตสำหรับยุโรปกับรัสเซียอาจจะมาในรูปของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

และลดดีกรีความตึงเครียดทางทหารผ่าน NATO

เพราะปัจจัยเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ก็ยังคงสำคัญที่สุดสำหรับทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ในปัจจุบัน

แต่วันนี้สถานการณ์ยังชุลมุนและวุ่นวายเกินกว่าที่ตัวละครสำคัญๆ ในสงครามจะมานั่งถกถึงทางออกที่จะตอบสนอง “ความกังวล” ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

แต่ในท้ายที่สุด สงครามย่อมจะยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุดไม่ได้

แต่การเจรจาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายในข้อพิพาทนี้ยอมรับว่าตนไม่ได้อยู่ในฐานะเหนือกว่าฝ่ายตรงกันข้ามมากขึ้น ถึงขั้นที่จะ “เผด็จศึก” ได้

แต่กว่าถึงจุดนั้น ยูเครนจะเหลืออะไรให้เจรจา?

นั่นคือคำถามที่ยังไร้คำตอบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้