อเมริกาตั้ง China House ได้ จีนก็ตั้ง America House ได้เช่นกัน

ขณะที่สงครามยูเครนยังร้อนแรงอยู่ขณะนี้ สหรัฐฯ ก็ยังมองจีนเป็น “คู่ต่อสู้” อันดับ 1 ของโลกอยู่ดี

เป็นที่มาของการที่สหรัฐฯ เพิ่งเปิดตัว China House ซึ่งกลายเป็นกลไกใหม่ล่าสุดของวอชิงตันที่จะจับตาเฝ้ามองทุกความเคลื่อนไหวของจีน

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศเปิดตัว “ไชน่าเฮาส์” โดยอ้างว่าต้องเกาะติดจีน เนื่องจากปักกิ่งยังคง “แผ่ขยายอิทธิพลของตนไปทั่วโลกอยู่ในเวลานี้”

ไม่ต้องสงสัยว่ากลไกใหม่ของสหรัฐฯ ในการเฝ้าดูความเป็นไปของจีนนี้มีชื่อว่า โครงการ China House (ไชน่าเฮาส์) นั้นสะท้อนถึงความกังวลของกรุงวอชิงตันเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน พูดไว้เมื่อเดือนก่อนว่า วิวัฒนาการของจีนอันเป็น

 “ความท้าทายระยะยาวที่ร้ายแรงที่สุดต่อความสงบเรียบร้อยภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบ”

เป็นภาษาทางการเมืองที่ยิ่งวันยิ่งจะดุเดือดมากขึ้น

แม้ว่าวันก่อน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะบอกว่า อีกไม่กี่วันจะยกหูถึงผู้นำจีน สี จิ้นผิง เพื่อจะแจ้งให้ทราบว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีมติที่จะยกเลิกมาตรการภาษีศุลกากรต่อสินค้าของจีนที่ยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เคยประกาศใช้ในยุค “สงครามการค้า” กับจีน

แต่นั่นเป็นเพียงท่าทีผ่อนปรนบางด้านที่ไม่ได้แปลว่าท่าทีของวอชิงตันจะแสดงถึง “ความไว้วางใจ” ต่อจีนเพิ่มขึ้นแต่อย่างไร

หากมองให้ลึกจะเห็นว่า รัฐบาลอเมริกายังมองจีนเป็นคู่แข่งเบอร์ 1 อยู่ดี

แม้จะเห็นภาพของการที่จับรัสเซียวางเป็น “อันดับต้นๆ” ของการสกัดอิทธิพลจากค่ายตรงกันข้าม เพราะสงครามยูเครนก็ตาม

แต่ถ้าถามว่าโครงการ China House นั้นมันคืออะไรกันแน่ คำตอบก็คือยังไม่มีใครรู้แน่ชัดนัก

โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เปิดชื่อของแผนการใหม่นี้ยังไม่ยอมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของโครงการ China House

บอกเพียงว่าเป็นการเปิดตัวกลไกใหม่ที่มาในรูปของ “ทีมงานจากทั่วทั้งกระทรวงต่างประเทศที่จะทำงานประสานกัน และนำเสนอนโยบายของกระทรวงในทุกเรื่องและทุกภูมิภาค”

ความหมายก็คือ ความพยายามในการเร่งยกระดับความพยายามบูรณาการความเชี่ยวชาญและทรัพยากรเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนให้มาอยู่กับศูนย์กลางการประสานงานด้านนโยบายใหม่แห่งนี้

ปฏิกิริยาจากปักกิ่งย่อมจะต้องตั้งข้อสังเกตว่า ท่าทีอย่างนี้จากอเมริกาย่อมเป็นการเพิ่มความตึงเครียดในความสัมพันธ์อย่างปฏิเสธไม่ได้

หลิว เพิ่งหยู โฆษกของสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงวอชิงตัน ส่งอีเมลถึงวีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางแจ้งว่า

 “กุญแจที่จะทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ หลุดพ้นจากสภาพการณ์ในปัจจุบันก็คือ การที่ฝั่งสหรัฐฯ ละทิ้งความบ้าคลั่งที่จะเล่นเกมผลรวมศูนย์ (zero-sum game) เลิกครอบงำตัวเองด้วยความพยายามที่จะตีวงและควบคุมจีน และหยุดบ่อนทำลายความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ เสียที”

โฆษก หลิว ยัง สำทับด้วยว่า

 “เราเข้าใจสิ่งที่รัฐมนตรี (แอนโทนี) บลิงเคน พูดว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการความขัดแย้งหรือสงครามเย็นครั้งใหม่กับจีน และสหรัฐฯ ไม่ได้พยายามปิดกั้นจีนจากการขึ้นมามีบทบาทเป็นประเทศมหาอำนาจ หรือยับยั้งจีนไม่ให้ขยายเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้ง ต้องการจะอยู่ร่วมกับจีนโดยสันติสุข และเราจะเฝ้าดูสิ่งที่สหรัฐฯ จะทำจากนี้”

อเมริกามองความคึกคักของจีนในการทูตระหว่างประเทศนี้ว่า เป็นการเพิ่มระดับการแข่งขันกับวอชิงตัน

ในช่วงหลังนี้รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ เพิ่งออกเดินสายไปประเทศเล็กๆ ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ 10 วัน หลังกรุงปักกิ่งลงนามข้อตกลงด้านความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอนเมื่อเดือนก่อนหน้านั้น

จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมอเมริกาจึงหันความสนใจมาให้ประเทศหมู่เกาะต่างๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นการเร่งด่วน

เป้าหมายคือต้องเพื่อสกัดกั้นการรุกคืบของจีนทั้งในมิติการเมือง, การทูต, เศรษฐกิจและความมั่นคง

ความจริงการที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะตั้งหน่วยงานเพื่อ “บูรณาการ” การทำงานข่าวกรองและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของจีนนั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับแวดวงการทูตระหว่างประเทศ

เพราะเป็นที่รับรู้กันมายาวนานว่า หน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ นั้นให้ความสำคัญอันดับต้นๆ กับความเคลื่อนไหวของจีนในทุกรูปแบบอยู่แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม, ต่างประเทศ, พาณิชย์, หรือสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ, CIA ต่างก็ล้วนมีหน้าที่เก็บข้อมูล, หาข่าวและเจาะล้วงข้อมูลเชิงลึกของจีนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

อีกทั้งยังมีหน่วยงานในทำเนียบขาวที่ประสานกับกลไกของกระทรวงทบวงกรมทั้งหลายในการประเมินกิจกรรมของจีนเพื่อวางยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเผชิญหน้ากับจีน

ดังนั้นผมจึงมองว่าการประกาศตั้ง China House ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ นั้นเป็นเพียงการตอกย้ำถึงท่าทีของสหรัฐฯ ที่ต้องการจะส่งสัญญาณไปทั่วโลกว่าอเมริกาต้องการจะกดดันให้ประเทศต่างๆ หันมาคบกับอเมริกามากกว่าจีน

ซึ่งแน่นอนว่าปักกิ่งก็คงจะไม่ยอมถอยง่ายๆ

รัฐบาลจีนเองก็มีกลไกรัฐที่ประกบกิจกรรมของสหรัฐฯ ในทุกรูปแบบเพื่อใช้ในการปรับปรุงยุทธศาสตร์ของจีนให้ทันกับท่าทีและลีลาของสหรัฐฯ เช่นกัน

อเมริกาเคยมี The American Dream

สี จิ้นผิง ก็มี The Chinese Dream

วันนี้วอชิงตันมี China House

ทำไมปักกิ่งจะประกาศตั้ง America House ไม่ได้?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน

ปูติน-คิม: ยิ่งโลกยุ่ง สองสหายยิ่งแน่นแฟ้น

ยิ่งนับวันเกาหลีเหนือก็ยิ่งขยับใกล้รัสเซียมากขึ้น...หลักฐานอาวุธจากเปียงยางไปปรากฏในสมรภูมิยูเครนตอกย้ำว่า “คิม จองอึน” กับ “วลาดิมีร์ ปูติน” กำลังสานสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นทุกวัน

เมื่อบริษัทมะกันถอนตัวจาก แหล่งก๊าซ‘ยาดานา’พม่า

ผลข้างเคียงจากสงครามกลางเมืองพม่าต่อไทยคือการบริหารแหล่งก๊าซยาดานา (Yadana) ที่ผู้ถือหุ้นสหรัฐฯ คือเชฟรอน เพิ่งประกาศถอนหุ้นออกไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา