ไฉนแนวรบที่ Severodonetsk จึงเป็น ‘จุดชี้เป็นชี้ตาย’ ของสงคราม?

หนึ่งในแนวรบที่สำคัญในแนวรบ Donbas ทางตะวันออกของยูเครนคือ Severodonetsk

ถึงขนาดที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีบอกว่าผลการสู้รบ ณ จุดนี้จะเป็นเรื่อง “ชี้เป็นชี้ตาย” สำหรับยูเครนเลยทีเดียว

ภาพที่เห็นคือควันที่ลอยเหนือเมือง Severodonetsk ในการสู้รบอย่างหนักระหว่างกองทหารยูเครนและรัสเซียที่ภูมิภาค Donbas ทางตะวันออกของยูเครน

เมืองนี้อยู่ในแคว้น Luhansk ซึ่งกินเนื้อที่เท่ากับครึ่งหนึ่งของภูมิภาค Donbas

ความจริงเมืองนี้เป็นเมืองเล็กๆ ที่ก่อนเกิดสงครามไม่ได้มีความหมายพิเศษอะไรเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ในบริเวณนั้น

ก่อนเปิดศึกรอบนี้ เมืองนี้ไม่ได้ติดอันดับใน 40 เมืองใหญ่ที่สุดของยูเครนด้วยซ้ำ

แต่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ที่นี่กลายเป็นแนวรบสำคัญของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

กองทหารรัสเซียเข้ายึดพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านก่อน

หลังจากนั้นทหารยูเครนและพลเรือนหลายร้อยคนถูกถล่มด้วยปืนใหญ่

ทหารรัสเซียเข้ายึดโรงงานอุตสาหกรรมเคมีที่ชื่อ Azot ทางทิศตะวันตก

และต่อมารัสเซียได้ทำลายสะพานสุดท้ายที่เชื่อม Severodonetsk กับเมือง Lysychansk ที่อยู่ใกล้เคียง

ประโยคที่ทำให้หลายคนตื่นตัวขึ้นมาจับตาการสู้รบในจุดนี้ เพราะประธานาธิบดีเซเลนสกีประกาศว่า

 “ในหลายๆ ด้าน ชะตากรรมของ Donbas กำลังถูกตัดสินที่นั่น”

หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ก็จะเห็นว่าเมืองนี้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นเวลา 2 ทศวรรษแล้ว

ในปี 2004 เมื่อการประท้วงในการเลือกตั้งที่รุนแรงปะทุขึ้นที่เมืองหลวงเคียฟ นักการเมืองท้องถิ่นใน Severodonetsk มีบทบาทสำคัญในการปลุกระดมให้แยกส่วนนี้ออกเป็นรัฐอิสระ ไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางของยูเครน

ตามมาด้วยคำขู่ว่าจะขอความช่วยเหลือทางทหารจากรัสเซียเพื่อสู้กับทหารยูเครนที่รัฐบาลกลางส่งมาปราบปราม

พอเกิดการประท้วงและตามมาด้วยเหตุการจลาจลเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดียูเครนที่สนับสนุนรัสเซียในปี 2014 รัสเซียก็ส่งทหารเข้ามายังภูมิภาคตะวันออกคือ Donbas

ณ เวลานั้นเองที่กองทหารที่สนับสนุนรัสเซียเข้ายึดครอง Severodonetsk ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมของปีนั้น

แต่ต่อมากองกำลังของยูเครนยึดคืนได้หลังจากมีการสู้รบกันอย่างดุเดือดอย่างต่อเนื่อง

นับแต่นั้นมา เมืองนี้ก็ยังคงอยู่ในมือของฝ่ายยูเครน

แต่ทางด้านเหนือของเมืองนี้เกิดมีเส้นแบ่งระหว่างกองกำลังรัสเซียและยูเครนในดอนบาสที่ตั้งป้อมกันมายาวนาน

เมื่อรัสเซียบุกยูเครนอีกครั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีนี้ หนึ่งในเป้าหมายของ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียหวังว่าจะปิดล้อมกองกำลังยูเครนใน Donbas

ทหารรัสเซียใช้ยุทธการเคลื่อนทัพแบบก้ามปูขนาดใหญ่ โดยเคลื่อนทัพขึ้นเหนือจากแนวชายฝั่งทะเลอาซอฟ และลงใต้จากคาร์คิฟ (เมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือ ใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ)

เป้าหมายของฝ่ายรัสเซียคือ ให้ทหารรัสเซียมาบรรจบกันที่เมืองดนิโปร

แต่แผนใหญ่ไม่อาจจะบรรลุเป้าหมายได้ เพราะทหารยูเครนตีโต้กลับมาอย่างดุเดือดเช่นกัน

ทหารรัสเซียจึงปรับแผน หันไปใช้ “ยุทธการก้ามปู” แทน

นั่นหมายถึงการเคลื่อนทัพไปทางใต้ ด้านหนึ่งเคลื่อนทัพจากเมืองอิซีอุม และอีกด้านทางเหนือจากเมืองโปปัสนา

เป้าหมายหลักคือการยึดครองดินแดนยูเครนที่มีที่ยื่นออกไปในดินแดนที่รัสเซียยึดครอง

Severodonetsk ตั้งอยู่ที่ขอบด้านตะวันออกของบริเวณที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ภาคพื้นดินนี้

ที่สำคัญคือ เป็นประตูสู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด Donetsk ซึ่งก็คืออีกส่วนหนึ่งของภูมิภาค Donbas

นักยุทธศาสตร์บอกว่า การเดินตามแผนนี้จะทำให้ปฏิบัติการของทหารรัสเซียง่ายขึ้น

เพราะกองกำลังยูเครนที่อยู่ลึกเข้าไปในพื้นที่ไม่อาจจะได้รับการคุ้มกันทางอากาศและปืนใหญ่

หากทำสำเร็จ ณ จุดนี้ ทหารรัสเซียก็จะสามารถเดินหน้าพิชิตเมือง Lysychansk ซึ่งก็จะเป็นการเปิดเส้นทางไปทางตะวันตกสู่ Slovyansk ซึ่งเป็นเมืองแรกที่ตกอยู่ใต้การยึดครองของรัสเซียในปี 2014 และเมือง Kramatorsk ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของยูเครน

เป้าหมายใหญ่ก็คือ การที่รัสเซียสามารถอ้างว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์ในสงครามที่ระบุไว้ในการ "ปลดปล่อย" Donbas

จึงไม่ต้องแปลกใจที่การสู้รบระหว่างทหารยูเครนกับรัสเซียเป็นไปอย่างร้อนแรงและยาวนาน

เพราะต่างฝ่ายต่างผลัดกันรุกและรับ

ไม่มีฝ่ายไหนสามารถประกาศว่าสามารถจะ “เผด็จศึก” อีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเด็ดขาด

ยิ่งเมื่อฝ่ายตะวันตกเร่งการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ๆ มาให้กับทหารยูเครนในช่วงนี้ก็ยิ่งทำให้รัสเซียต้องโหมการโจมตีที่หนักหน่วงขึ้น

เพื่อไม่ให้ทหารยูเครนสร้างความได้เปรียบในสนามรบ

เป็นที่มาของคำประกาศทั้งจากเซเลนสกีของยูเครน และนายกฯ อังกฤษ บอริส ยอห์นสัน ว่า

 “ปัจจัยสำคัญที่สุดขณะนี้สำหรับยูเครนคือเวลา...”

เพราะแม้จะมีอาวุธและเงินทองมาสนับสนุนจากตะวันตก แต่หากมาช้าเกินไป หรือหากทหารรัสเซียสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตะวันออกได้ เกมก็จะเปลี่ยน

และอำนาจต่อรองก็จะเป็นของฝ่ายรัสเซีย

แม้หากมีการเจรจาระหว่างปูตินกับเซเลนสกี แต่หากรัสเซียมีความได้เปรียบในสนามรบ “สันติภาพ” ที่จะได้มาก็เป็นไปตามเงื่อนไขของมอสโก

ซึ่งเท่ากับเป็นชัยชนะของปูตินอย่างเบ็ดเสร็จ

นายกฯ เยอรมนี Olaf Scholz เรียกสันติภาพแบบนี้ว่า “dictated peace”

หรือ “สันติภาพที่เผด็จการสั่งลงมา”

ซึ่งเท่ากับเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายตะวันตก

ซึ่งไม่อาจจะเป็นที่ยอมรับของนาโตและสหภาพยุโรปได้ด้วยประการทั้งปวง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว