"ค่ากลั่น-ค่ากลอกกลิ้ง"

ผมเป็นโรคพิลึก "ร่างกายขาดเค็ม"!

เลยต้องไปนอนกินเกลือเม็ดที่โรงพยาบาลซะ ๓ คืน!

นอกจากหมอกับพยาบาลแล้ว โทรทัศน์กับเพดาน ๒ อย่างเท่านั้นที่ได้เห็น

ที่หายเร็ว ก็คงเพราะเห็นคุณ "กรณ์ จาติกวณิช" เป็นพระเอกหนังข่าว "ค่าการกลั่น" ยึดจอทุกคืนนั่นแหละ เป็นสารเร่ง "ความเค็ม" ให้ผมหายวัน-หายคืน

คุณกรณ์ พรรคกล้า พูดมาก็หลายเรื่อง ไม่ดัง

มาดังทะลุฟ้าก็เรื่องน้ำมันแพง ตอนที่คุณกรณ์ออกมาซัดโครม ว่า

"คนไทยโดนปล้นค่าน้ำมัน จากราคากลั่นสูงเกินจริง ลิตรละ ๘.๕ บาท"!

ถูกใจตลาดล่าง-ตลาดบนมาก โดยเฉพาะตลาดการเมืองซีกค้าน และพวกจ้องล้มรัฐบาล

คุณกรณ์จะพูดแบบจริงผสมเทียม หรือแบบตัดตอนพูด คนฟังเชื่อหมดแหละ

เพราะคุณกรณ์มีต้นทุนเป็นอดีตรัฐมนตรีคลัง อีกอย่างเรื่องต้นทุนน้ำมัน เรื่องค่าการกลั่น มันเป็นเรื่องสุดวิสัยที่ชาวบ้านทั่วไปจะเข้าใจ

ต้องระดับเทพอย่างคุณกรณ์ "อ่านงบรู้-ดูงบเป็น" คนฟังจึงเชื่อ ถึงไม่เชื่อก็ไม่กล้าปฏิเสธ เพราะตัวเองไม่มีภูมิที่จะไปจับได้-ไล่ทัน

ผมเองก็เถอะ ฟังไป ก็..เหรอ...เหรอ...มันขนาดนั้นเชียวเหรอ คุณกรณ์?

กลับมาเมื่อบ่าย มาไล่อ่านเฟซ พบที่คุณ "ไชยวัฒน์ สุระวิชัย" วิศวะจุฬาฯ รุ่น ๑๔ ตุลา.

ส่งเรื่องที่คุณ "สมภพ พอดี" โพสต์เฟซมาให้อ่าน นับเป็นวัคซีน "แก้โง่" ผมในเรื่อง "คนไทยโดนปล้นค่าน้ำมัน" ตามที่คุณกรณ์แสดงวาทกรรมไว้ได้เป็นอย่างดี

จะยกมาให้อ่านนะครับ เผื่อมีคนโง่อย่างผมหลงเหลืออยู่ จะได้ตาสว่างเรื่องน้่ำมัน-เรื่องการกลั่น

คุณสมภพโพสต์ไว้ ๒ ตอน สนุกมาก เอาตอนแรกก่อน เพราะยาว

Chaiwat Suravichai

ข้อเท็จจริงเรื่องราคาน้ำมัน และโรงกลั่น กำไรขั้นต้นของโรงกลั่นนํ้ามัน (Refinery Gross Profit)

โดย : สมภพ พอดี 

หมายเหตุ -

สิ่งที่จะได้อ่านต่อไปคือ สิ่งที่สื่อและคนไทยจำนวนหนึ่งเรียกว่า "ค่าการกลั่น" ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง และฟังดูโง่ ไร้การศึกษา

ในเมื่อมีคนขอให้อธิบายแบบละเอียดๆ ง่ายๆ (จริงๆ แล้วก็ไม่ยากอะไร) ก็จะลองดูซักตั้งละกัน เพราะว่าว่าง

ส่วนคนที่ทำและอ่านบัญชี และ P&L เป็น ก็ช่วยอดทนนิดนึงละกัน เพราะเน้นง่ายก่อน

เอาละนะ.........

กำไรขั้นต้นของโรงกลั่น ก็ตรงตามชื่อเลย คือ "กำไรจากการซื้อนํ้ามันดิบมากลั่นให้เป็นนํ้ามันเบนซินและดีเซล" ที่เราซื้อมาเติมรถ เป็นเคโรซีนสำหรับเติมเรือบิน เป็นนํ้ามันเตาสำหรับเติมเตาเผาในโรงงาน

วิธีคำนวณ "กำไรขั้นต้น" ของโรงกลั่นแบบง่ายที่สุดคือ

-เอาเงินที่ได้จากการขายนํ้ามันที่กลั่นได้ตั้ง

แล้วลบด้วย

-ต้นทุนนํ้ามันดิบที่ซื้อมากลั่น

ลบด้วย

-ต้นทุนโดยตรงที่ต้องใช้ในการกลั่นนํ้ามัน เช่น

ค่าพลังงาน

ค่าไฟฟ้า

ค่านํ้าประปาหรือบาดาล

ค่ากำจัดนํ้าเสียของเสีย

ค่าวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ในการกลั่น

ค่าจ้างพนักงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกลั่นนํ้ามัน

 (หรือค่าอะไรก็ตามแต่ที่ไม่ต้องจ่าย หากปิดโรงกลั่นเอาไว้เฉยๆ)

-พอได้กำไรขั้นต้นแล้ว หากเอาต้นทุนคงที่อื่นๆ เช่น

ค่าเสื่อมของโรงกลั่นและเครื่องจักรอุปกรณ์

ค่าจ้างผู้บริหารและพนักงานที่ไม่เกี่ยวกับการกลั่นนํ้ามันโดยตรง

ค่ารอยัลตี้เทคโนโลยีกระบวนการกลั่น

ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เอามาลงทุนสร้างโรงกลั่น 

ฯลฯ

มาลบออกไป ก็จะเป็นกำไรสุทธิ

ดังนั้น "กำไรขั้นต้น" ของโรงกลั่น จึงถูกกำหนดด้วย "รายได้จากการขายนํ้ามันที่กลั่นได้" ซึ่งก็คือ

"ปริมาณ" คูณด้วย "ราคาขาย" ซึ่งขึ้นๆ ลงๆ ตามตลาดโลก และ "ต้นทุนค่านํ้ามันดิบ" ซึ่งขึ้นๆ ลงๆ ตามตลาดโลกเช่นกัน

และต้นทุนอื่นๆ ซึ่งขึ้นๆ ลงๆ ตามการใช้กำลังการกลั่น ถ้ากลั่นมาก ต้นทุนต่อหน่วยจะตํ่ากว่าเสมอ

คราวนี้จะยากขึ้นไปอีกนิดนึง.......

โรงกลั่นนํ้ามันสองโรง แม้จะซื้อนํ้ามันดิบชนิดเดียวกันราคาเดียวกันเป๊ะมาใช้กลั่น แทบจะไม่มีโอกาสที่จะมีกำไรขั้นต้นเท่ากันเลย เพราะ

1.Yield หรือปริมาณและชนิดของนํ้ามันที่กลั่นได้ต่างกัน เนื่องจากใช้กระบวนการกลั่นต่างกัน ประสิทธิภาพการกลั่นต่างกัน

เช่น นํ้ามันดิบ 100 บาร์เรลเท่ากัน โรงแรกได้เบนซิน 40 บาร์เรล กับดีเซล 30 บาร์เรล

โรงที่สองได้เบนซิน 35 บาร์เรล กับดีเซล 35 บาร์เรล ดังนั้น จึงได้ "รายได้" จากการขายนํ้ามันที่ "กลั่นได้ต่างกัน"

2.ต้นทุนโดยตรงที่ต้องใช้ในการกลั่นนํ้ามัน เนื่องจากใช้กระบวนการกลั่นต่างกัน ประสิทธิภาพการกลั่นต่างกัน ดังนั้น ต้นทุนการกลั่นรวมจึงต่างกันไปด้วย

3.เมื่อเอา 1.ลบด้วย 2.กำไรขั้นต้นของโรงกลั่นนํ้ามันทั้งสองโรงนี้จะไม่เท่ากัน นอกจากจะฟลุก ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

จากตรงนี้จะยากขึ้นอีกนิดนึง ..........

โรงกลั่นนํ้ามันเดียวกัน ใช้น้ำมันดิบชนิดเดียวกัน จำนวนเท่ากัน มากลั่นต่างเวลากัน ก็จะได้กำไรขั้นต้นต่างกันด้วยเพราะ

1.ราคานํ้ามันดิบ ณ เวลาที่ต่างกัน อาจจะเท่าหรือไม่เท่ากัน มีโอกาสไม่เท่ากันมากกว่า

2.ราคาน้ำมันที่กลั่นได้ ณ เวลาที่ต่างกัน อาจจะเท่าหรือไม่เท่ากัน มีโอกาสไม่เท่ากันมากกว่า

3.เมื่อเอา 1.ลบด้วย 2.กำไรขั้นต้นของโรงกลั่นนํ้ามันโรงเดียวกันนี้ จะไม่เท่ากัน นอกจากจะฟลุก ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

จากตรงนี้ จะยากขึ้นไปอีกหน่อย.....

ในโลกของความเป็นจริง โรงกลั่นนํ้ามันไม่ได้ซื้อนํ้ามันดิบชนิดเดียวมากลั่น เขาใช้นํ้ามันดิบหลากหลาย เพราะเขาต้องปรับให้ได้ Yield ที่ต้องการ

บางครั้งต้องการดีเซลมาก ก็ใช้นํ้ามันดิบชนิดหนึ่งมากหน่อย บางครั้งต้องการเบนซินมาก ก็ใช้อีกชนิดหนึ่งมากหน่อย

จากตรงนี้ จะยากขึ้นอีกนิดนึง.........

ในโลกของความเป็นจริง นํ้ามันดิบที่โรงกลั่นซื้อจะมีสองแบบ ถึงแม้จะเป็นชนิดเดียวกันก็ตาม คือ ส่วนใหญ่ซื้อตามสัญญา เพื่อให้แน่ใจว่ามีนํ้ามันดิบ

-ส่วนนี้เป็นการซื้อล่วงหน้า ราคาขึ้นลงปกติตามสถานการณ์ดีมานด์ ซัพพลาย และ

-ส่วนน้อยซื้อแบบ spot เพื่อหาโอกาสลดต้นทุนจากความผิดปกติของราคาเมื่อมีโอกาส และสัดส่วนของนํ้ามันทั้งสองแบบในสต๊อกและที่เข้าโรงกลั่นในแต่ละวัน สัปดาห์ และเดือน จะผันแปรตลอด

ดังนั้น จากสองย่อหน้าใหญ่ๆ ที่ผ่านมา ต้นทุนค่านํ้ามันดิบของโรงกลั่นนํ้ามันโรงเดียวกัน ในแต่ละวัน อาทิตย์ และเดือน จะไม่คงที่

ซึ่งเป็นผลให้กำไรขั้นต้นของโรงกลั่นโรงนั้น ในแต่ละวัน อาทิตย์ เดือน จะไม่คงที่ด้วยเช่นกัน

จากตรงนี้ไป จะยากขึ้นเยอะ ใครหมดแรงแล้ว แนะให้พักก่อน แล้วพรุ่งนี้ค่อยมาอ่านต่อ

ราคานํ้ามันดิบที่โรงกลั่นซื้อมากลั่น คนขายเขาไม่ได้ขายเป็นเงินบาท

ดังนั้น ต้นทุนนํ้ามันดิบจากคนขายรายเดียวกัน ที่เป็นเงินฝรั่งจำนวนเท่ากัน เมื่อแปลงเป็นเงินบาท อาจจะไม่เท่ากัน เพราะอัตราแลกเปลี่ยนที่ขึ้นๆ ลงๆ ในแต่ละวัน

ไม่ว่าจะใช้บัญชีต้นทุนแบบ FIFO (เอานํ้ามันดิบที่มาก่อนใช้ก่อน) หรือ LIFO เอานํ้ามันดิบที่มาทีหลังใช้ก่อน) หรือใช้ค่าเฉลี่ยไม่ว่าจะกี่วันก็ตาม

นอกจากนี้ โรงกลั่นโรงเดียวกัน ที่เอานํ้ามันดิบชนิดเดียวกัน แต่ปริมาณต่างกันมากลั่น ก็จะมีต้นทุนการกลั่นต่อหน่วยต่างกันด้วย

ถ้ากลั่นที่ 100% ของกำลังการกลั่น จะถูกกว่า ที่ 90% หรือ 80% หรือ 70% โดยผลต่างของต้นทุนจะไม่เป็น linear คือเมื่อกลั่นน้อย ต้นทุนจะพุ่งขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะโรงกลั่นถูกออกแบบมาให้ optimum ที่ 100%

เพื่อให้ยากขึ้นไปอีก......

ในโลกจริง โรงกลั่นนํ้ามันต้องมีการหยุดประจำปีเพื่อบำรุงรักษา หลีกเลี่ยงไม่ได้ โรงกลั่นในไทยเขาคุยกันเพื่อพยายามเลี่ยงไม่ปิดตรงกัน

เมื่อเปิดดำเนินการหลังจากปิดบำรุงรักษา โรงกลั่นแต่ละโรงจะใช้เวลาสั้นยาวต่างกันเพื่อเร่งให้กลั่นที่ 100% จำนวนวันที่สูญเสียไปก็คือต้นทุนการกลั่น ซึ่งไม่เท่ากัน

เพราะปิดไม่ตรงกัน สั้นยาวไม่เท่ากัน ซึ่งจะไปมีผลต่อกำไรขั้นต้นของแต่ละโรงกลั่นไม่เท่ากันอีกด้วย

ที่จริงแล้วยังมีอีก แต่เท่านี้ก็เยอะมากแล้วสำหรับความรู้รอบตัวที่เอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แล้วคนเขียนก็ชักตาลาย ก็เลยขอสรุปละกัน

ถึงตรงนี้ หากเข้าใจที่เล่ามาทั้งหมด ก็จะรู้แล้วว่า

1.การพูดว่า ต้องกำหนด "กำไรขั้นต้น" ของโรงกลั่น ฟังดูเท่ดี แต่ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ

นอกจากจะไปการันตีกำไรสุทธิให้กับโรงกลั่นนํ้ามัน ซึ่งยังไม่มีใครในระบบสุริยะทำ

2."กำไรขั้นต้น" ของโรงกลั่นนํ้ามัน "เพิ่มขึ้น-ลดลง" ตามสถานการณ์ของธุรกิจ, ตามดีมานด์ ซัพพลายของนํ้ามันดิบและนํ้ามันสำเร็จรูป

ตามความแม่นยำของการคาดการราคานํ้ามันดิบ, ตามการใช้กำลังการกลั่น, ตามความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน, ตามความสามารถบริหารจัดการเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

3.ในเวลาเดียวกัน ในประเทศเดียวกัน กำไรขั้นต้นของโรงกลั่นนํ้ามัน มีโอกาสที่จะ "ต่างกัน" มากกว่า "เท่ากัน"

การเอาตัวเลขแต่ละวันหรือเดือนมาดูและเปรียบเทียบกัน ไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากสนุกดี หากไม่มีอะไรทำ

หากสงสัยว่า "โรงกลั่นนํ้ามันปล้น" หรือเอาเปรียบ ต้องเอาค่าเฉลี่ยของกำไรขั้นต้น "อย่างน้อยห้าปี" ตามวัฏจักรของเศรษฐกิจมาเปรียบเทียบกับ "กำไรขั้นต้น" ของโรงกลั่นนํ้ามันในประเทศอื่นๆ ด้วย

ถึงตรงนี้ ใครเข้าใจทั้งหมด ผมขอชื่นชม เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ไม่สามารถเล่าให้ง่ายๆ อย่างที่ตั้งใจและโม้เอาไว้แต่แรกได้

หนหน้าถ้าเล่าเรื่องราคาก๊าซจะพยายามใหม่ละกัน

....................................

คนไม่รู้อย่างผม การ "ฟังความ ๒ ด้าน" ดีที่สุด ท่านอ่านแล้ว ก็ลองเอาไปชั่งดูกับที่คุณกรณ์พูด "ก่อนเชื่อ" ก็แล้วกัน

ยังมีหลายตอนที่คุณสมภพ "ให้ความรู้" ไว้

ขออนุญาตจิกจากเฟซมาใช้ในโอกาสต่อไปด้วยนะครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐา "นายกฯ ฮูดินี"

"ชีวิตที่มีหมานำ" ก็อย่างนี้แหละครับ "หัวหน้าคอก" เมื่อพักคุก ก็ไปขลุกเชียงใหม่

'เมษา....พระมาเตือน'

เรา...."ประเทศไทย"! "ชาติ-พระศาสนา-พระมหากษัตริย์" เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม

'เศรษฐา' พา 'ธ.ก.ส.ซวย'

ใครๆ เขาถูกหวยแล้วรวย แต่ ธ.ก.ส.ถูกหวย "กู้มาแจก" ของเศรษฐาตั้ง ๑.๗๒ แสนล้านบาท