จับตา ‘โจโกวี’ แห่งอินโดฯ บินไปเจอปูตินและเซเลนสกี

ถ้าเป็นไปตามแผนจริง ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียจะเป็นผู้นำเอเชียคนแรกที่สร้างประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศในภาวะสงครามยูเครนเลยทีเดียว

นั่นคือจะไปเยี่ยมคู่กรณีสงครามถึงบ้าน

เพราะข่าวบอกว่าประธานาธิบดี Joko Widodo หรือ “โจโกวี” เตรียมจะเดินสายไปเยือนกรุงมอสโคของรัสเซียและกรุงเคียฟของยูเครนในสัปดาห์ที่จะถึงนี้

เพื่อปรึกษาหารือในการที่อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอด G-20 ในเดือนพฤศจิกายนนี้

เป็นช่วงใกล้กันกับที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอด APEC เหมือนกัน

ผมเชื่อว่านายก ฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย ก็มีปัญหาคล้ายกับผู้นำอินโดนีเซีย

นั่นคือหากสงครามยูเครนลากยาวไปถึงสิ้นไป จะทำอย่างไรกับคำเชิญที่จะไปถึงผู้นำโลกที่เป็นคู่ขัดแย้งกันอยู่ขณะนี้

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ใช้วิธีการกดดันขอไม่ให้อินโดฯ เชิญปูตินแห่งรัสเซียไปร่วมประชุม G-20

แต่โจโกวีเห็นว่าไม่ควรจะถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากำหนดว่าเจ้าภาพควรจะเชิญใครหรือไม่เชิญใคร

เพราะหน้าที่เจ้าภาพคือการประสานให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันหาทางแก้ปัญหา

และการประชุม G-20 เป็นเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจสังคม

ไม่ควรให้สงครามยูเครนกลายเป็นอุปสรรคของการพบปะหารือของผู้นำระดับโลก

ว่าแล้ว โจโกวีก็ออกข่าวว่าได้เชิญปูตินมาร่วมด้วยแล้ว และท่านผู้นำรัสเซียก็ออกข่าวผ่านช่องทางของตัวเองว่ามีความประสงค์จะมาร่วมประชุมที่บาหลีของอินโดฯ ในปลายปีนี้ด้วย

โจโกวีรู้ว่าการออกข่าวว่าเชิญปูตินมาร่วมด้วยนั้นมีความเสี่ยงสำหรับเจ้าภาพ

เพราะมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ กับยุโรปตะวันตกอาจจะ “คว่ำบาตร” การประชุมนี้ โดยประกาศไม่มีร่วมถ้าหากปูตินมา

โจโกวีทำอย่างไร?

ในฐานะเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรกว่า 270 ล้านคน จะให้ถูกมองว่าถูกสหรัฐฯ กดดันจนทำอะไรไม่ถูกไม่ได้

จึงออกข่าวว่านอกจากจะเชิญปูตินแล้วก็จะเชิญประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนมาด้วย

เพื่อแสดงความเป็นเจ้าภาพที่ไม่รังเกียจฝ่ายใดในความขัดแย้งนี้

แต่ผู้นำอินโดฯ ไม่ยอมให้เรื่องราวก็ยังคาราคาซังอยู่อย่างนี้ไปจนถึงสิ้นปี

โจโกวีตัดสินใจจะแสดงความเป็นผู้นำทางด้านการทูตนานาชาติด้วยการ “เดินสาย” ไปทุกจุดเพื่อจะได้ป่าวประกาศจุดยืนของอินโดฯ

เป็นการเดินเกมการทูตเชิงรุก ไม่ยอมตั้งรับอยู่ที่บ้าน คอยให้มหาอำนาจมากดดันรอบด้าน

จึงเป็นที่มาของข่าวว่าโจโกวีจะบินไปยังยูเครนและรัสเซียเพื่อพบกับผู้นำของแต่ละประเทศในปลายเดือนนี้

นี่ไม่ใช่แค่ข่าวลือหรือข่าวปล่อย แต่มาจากรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย Retno Marsudi ที่ยืนยันกับนักข่าวว่าประธานาธิบดีอินโดฯ จะไปเยือนกรุงเคียฟเพื่อพบกับประธานาธิบดี Volodymyr Zelenskyy ของยูเครนและมอสโกเพื่อพบกับประธานาธิบดีรัสเซีย Vladimir Putin

แต่โจโกวีไม่ได้อยู่ดีๆ ก็บินไปหาคู่กรณีสงครามเฉยๆ

เขารู้ว่าจะต้องปรึกษาหารือกับผู้นำทางโลกตะวันตกเสียก่อนเพื่อไม่ให้ใครในค่าย NATO และ EU หรือสหภาพยูโรปต้องเกิดข้อสงสัยว่าอินโดฯ กำลังจะเล่นเกมอะไร

ด้วยเหตุนี้ก่อนจะบินไปหาคู่ต่อสู้ในสงคราม โจโกวีก็เข้าร่วมประชุม Group of Seven หรือ G-7 ที่เยอรมนีเสียก่อน

การประชุมของ G-7 มีขึ้นในช่วงวันที่ 26-27 มิถุนายนนี้

ส่วนการประชุมสุดยอดของ NATO ที่มาดริด ประเทศสเปน, จะตามมาวันที่ 29-30 มิถุนายน

โจโกวีคงมาพบปะกับผู้นำด้านตะวันตกเพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะบินไปหาปูตินและเซเลนสกี

 “ประธานาธิบดี Jokowi จะเป็นผู้นำเอเชียคนแรกของเอเชียที่ไปเยือนทั้ง 2 ประเทศท่ามกลางความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่” รัฐมนตรีต่างประเทศมาร์ซูดีกล่าวในการบรรยายสรุปผ่านสื่อออนไลน์วันก่อน

เธอบอกว่า “แม้ว่าสถานการณ์จะยากและปัญหาก็ซับซ้อน…ประธานาธิบดี Jokowi ได้ตัดสินใจที่จะพยายามมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และไม่ยอมอยู่เฉย”

รัฐมนตรีต่างประเทศบอกด้วยว่า โจโกวีจะให้ความสำคัญกับการจัดการบริหารวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมและด้านอาหารระหว่างการเยือนพร้อมๆ กับการเรียกร้องสันติภาพด้วย

ในจังหวะเวลาเดียวกันนั้น สำนักข่าว Tass ของรัสเซียอ้างแหล่งข่าวของทำเนียบประธานาธิบดี หรือเครมลิน ยืนยันว่าประธานาธิบดีอินโดนีเซียจะไปเยือนมอสโกในวันที่ 30 มิถุนายน

 “นี่จะเป็นการเยือนที่สำคัญมาก เรากำลังเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้” แหล่งข่าวกล่าว

พร้อมเสริมว่า รัสเซียจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G-20 ที่บาหลี “อย่างแน่นอน”

ผมสนใจเกมการทูตของโจโกวีเป็นพิเศษ เพราะเท่ากับว่าวิกฤตระดับโลกครั้งนี้เปิดทางให้ผู้นำของเอเชียอย่างเขาสามารถพลิกสถานการณ์ให้มีบทบาทที่ไม่เคยมีโอกาสได้เล่นมาก่อน

แต่เมื่อดูเหมือนว่าตัวละครหลักในวิกฤตครั้งนี้จะเข้าสู่ “ทางตัน” เพราะไม่มีใครยอมใคร และต่างฝ่ายต่างมีเงื่อนไขที่ยอมอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้

ผู้นำจากอาเซียนอย่างอินโดนีเซียก็ย่อมจะมีสิทธิ์สวมบทบาทของ “ผู้ไกล่เกลี่ย” ได้อย่างแนบเนียนเช่นกัน

จึงสมควรที่ไทยกับอินโดนีเซียในฐานะเจ้าภาพประชุมสุดยอด G-20 และ APEC ในปลายปีนี้จะประสานกิจกรรมทางการทูตร่วมกันเพื่อทำหน้าที่เป็น “สะพาน” และ “ผู้อำนวยความสะดวก” เพื่อคลี่คลายวิกฤตระดับโลกคราวนี้

สำเร็จหรือไม่เพียงใดไม่สำคัญเท่ากับว่าเราต้องแปรวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสให้จงได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พม่าจะเดินตามรอยเกาหลีเหนือ? ทำไมจึงมีนักวิเคราะห์บางสายตั้งคำถามนี้?

เพราะมีข่าวหลายกระแสที่บ่งบอกไปในทิศทางที่ว่า ผู้นำทหารพม่ากำลังมองคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเป็น “แม่แบบ” ของการสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศที่พยายามจะกดดันให้ต้องยอมเสียงเรียกร้องให้กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย