เมื่อ G-7 เผยแผนสกัด ‘1 แถบ 1 เส้นทาง’ ของจีน

ดูภาพของผู้นำ Group of 7 หรือ G-7 ที่เยอรมนีแล้วก็เห็นว่าพยายามแสดงถึงความแน่นแฟ้นกลมเกลียวกันยิ่งนัก

แต่ลึกๆ แล้วคงจะมีความหวาดหวั่นเหมือนกันว่า ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย และสี จิ้นผิง ของจีน กำลังจับตามองเตรียมจะตอบโต้อย่างไร

เห็นผู้นำเยอรมนี, อังกฤษ, แคนาดา, ญี่ปุ่นและฝรั่งเศสที่กอดคอกันอย่างเริงร่าอยู่กลางรูปคงจะสัมผัสได้ถึงความพร้อมเพรียงที่จะประกาศจุดยืนสกัดกั้นรัสเซียอย่างเต็มที่

แต่พอประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนเรียกร้องให้ตะวันตกส่งความช่วยเหลือทุกอย่างมาอย่างรวดเร็วและร้อนแรง เพื่อเผด็จศึกให้เสร็จก่อนสิ้นปี

ก่อนที่ฤดูหนาวอันเหน็บหนาวจะมาเยือน

ก็คงพอจะประเมินได้ว่ายูเครนเริ่มจะหวั่นเกรงว่าจะไม่รอดหน้าหนาวนี้แน่ หากไม่สามารถ “ปิดเกม” กับรัสเซียได้ในเร็ววัน

คำแถลงของกลุ่ม G-7 ยืนยันว่าจะสนับสนุนยูเครนทุกๆ ด้านต่อไป “ไม่ว่าจะยาวนานเพียงใด” เป็นเพียงถ้อยคำที่ต้องรอการพิสูจน์

เพราะหากหน้าหนาวมาถึง รัฐบาลทางตะวันตกส่วนใหญ่จะรู้ซึ้งถึงความหนาวทางการเมืองในประเทศ เมื่อประชาชนจะเริ่มประท้วงเรื่องราคาพลังงานและอาหารการกินที่แพงขึ้น

หลายรัฐบาลอาจจะอยู่ไม่รอด เพราะเสียงต่อต้านของประชาชนด้วยซ้ำ

แต่แถลงการณ์ของ NATO ที่ผู้นำ 30 ประเทศประชุมกันที่สเปนก็จะสำทับว่าจะส่งความช่วยเหลือทางทหารให้กับยูเครนอย่างจริงจังและขึงขัง

อีกทั้งได้ประกาศให้ทหารนาโตกว่า 300,000 คน อยู่ในสถานะ “เตรียมพร้อมระดับสูง” เพื่อตั้งรับกับภัยคุกคามที่อาจจะเกิดจากการขยายวงของสงครามยูเครน

แต่ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ คำประกาศของ G-7 ที่จะตั้งกองทุนก้อนใหญ่เพื่อจะช่วยในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศต่างๆ

เป็นการแข่งขันอย่างเป็นทางการกับโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนโดยตรง

แถลงการณ์ของ G-7 มีการระบุถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน  เพื่อกำหนดเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงพลังงานสะอาดของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

นักวิเคราะห์มองทันทีว่าหากเกิดขึ้นจริง ประเทศที่จะได้ประโยชน์ในเอเชียน่าจะเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม

เพราะทั้ง 3 ประเทศนี้อาจได้รับเงินทุนสนับสนุนก้อนใหม่เพื่อเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด

ซึ่งตามคำแถลงนั้นความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะเชื่อมโยงกับความร่วมมือด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก

ผมเชื่อว่าทันใดนั้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็คงจะจับได้ว่านี่คือแผนของตะวันตกที่จะมาสกัด BRI ของจีน

จีนถามเสมอว่าทำไมไม่ “ร่วมมือ” และ “แข่งขัน” แทนการสร้าง “ความขัดแย้ง”

หมายถึง cooperation และ competition แทน conflict

นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นดูจะมีความกระตือรือร้นเรื่องโครงการที่จะมายัน BRI ของจีนเป็นพิเศษ

เขาบอกว่า "การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำให้เกิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง"

โครงการใหม่ที่ว่านี้มีชื่อเป็นทางการว่า G-7 Partnership for Global Infrastructure and Investment (PGII) ซึ่งประเทศสมาชิก G-7 ตั้งเป้าที่จะระดมเงินรวม 6 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2027

โดยใช้การประชุมสุดยอด G-7 ครั้งนี้เป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

เป็นการต่อยอดจากข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ "Build Back Better World" ที่ตกลงกันไว้ในการประชุมสุดยอด G-7 เมื่อปีที่แล้วที่ Carbis Bay ประเทศอังกฤษ

โดยที่เห็นพ้องกันว่าแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ของประเทศสมาชิกจะถูกตีความว่าอยู่ภายใต้ร่มเงาควบคู่ไปกับความคิดริเริ่มใหม่นี้

นี่คือแผนของผู้นำตะวันตกที่ต้องการโยง PGII กับค่านิยมประชาธิปไตยของความโปร่งใส การรวมเป็นหนึ่งเดียว และความยั่งยืน

โดยเน้นว่ามีเป้าหมายที่จะระดมเงินทุนจำนวนมหาศาลจากกลุ่มประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก

แล้วมันต่างกับ BRI ของจีนอย่างไรหรือ?

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ พยายามอธิบายว่า

 “สิ่งที่เราทำนั้นแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะมันอยู่บนพื้นฐานค่านิยมที่เรามีร่วมกันของบรรดาผู้ที่เป็นตัวแทนของประเทศและองค์กรที่ยืนอยู่ข้างหลังผม”

โดยเน้นว่าเป็นการสร้างขึ้นโดยใช้แนวทางปฏิบัติที่ได้มาตรฐานระดับโลก ได้แก่ ความโปร่งใส ความร่วมมือ การคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อม

เหมือนว่าไบเดนจะบอกว่าประเทศทั้งหลายควรจะมาร่วมมือกับตะวันตกมากกว่าจีน

ด้วยการยืนยันว่า "เรากำลังเสนอทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับประเทศต่างๆ                และสำหรับผู้คนทั่วโลกในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่ช่วยยกระดับชีวิตของพวกเขา ชีวิตของพวกเขา ทุกชีวิตของเรา และมอบผลประโยชน์ที่แท้จริงให้กับทุกคนของเรา ไม่ใช่แค่กลุ่ม G-7 คนของเราทุกคน”

สำหรับประเทศไทยควรจะต้องจับตาว่าใครจะได้ประโยชน์จากแนวทางของสหรัฐฯ และตะวันตกครั้งนี้

ที่เห็นชัดเจนว่า G-7 กำลังร่วมมือกับอินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนามในการเป็นหุ้นส่วนที่จะจัดหาเงินทุนเพื่อช่วยในการลดคาร์บอนและมุ่งสู่แหล่งพลังงานที่สะอาดขึ้น

 “ในความพยายามร่วมกับพันธมิตร G-7 เรากำลังดำเนินการเพื่อ JETP เพิ่มเติม [Just Energy Transition Partnerships] กับอินโดนีเซีย อินเดีย เซเนกัล และเวียดนาม” นายกรัฐมนตรี Olaf Scholz เป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

JETP มีที่มาจากข้อตกลงครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว โดยแอฟริกาใต้ สหภาพยุโรป และสมาชิก G-7 ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาในระหว่างการประชุมสภาพภูมิอากาศ COP26 ขององค์การสหประชาชาติ

มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความพยายามในการขจัดคาร์บอนในแอฟริกาในระยะยาว โดยมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงที่ครอบคลุมและเท่าเทียม ซึ่งพัฒนาโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ

โดยมีคำมั่นว่าจะระดมเงิน 8.5 พันล้านดอลลาร์ในขั้นต้น ในระยะเวลา 3-5 ปี

ธนาคารโลกระบุว่า อินเดียอยู่ในอันดับที่ 3 และอินโดนีเซียเป็นอันดับที่ 7 ของโลก สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมตามประเทศ

แม้ว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวจะต่ำกว่าประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันและประเทศอุตสาหกรรมมากก็ตาม

นายกฯ คิชิดะแจ้งว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นจะตั้งเป้าที่จะบรรลุมูลค่ากว่า 65,000 ล้านดอลลาร์ ในการช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานและการระดมเงินทุนของภาคเอกชน

ผมเชื่อว่าคนไทยคงจะสนใจว่าแล้วจะสร้างอะไรบ้าง?

นายกฯ ญี่ปุ่นบอกว่า สำหรับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก "เราจะทำงานเกี่ยวกับทางรถไฟและสนามบินที่เอื้อต่อความเชื่อมโยงในภูมิภาค หรือการพัฒนาท่าเรือเพื่อความมั่นคงทางทะเล และการเสริมกำลังความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์"

ย้อนกลับไปดูเอกสารของสหรัฐฯ ในเอกสารที่มีหัวข้อ "สร้างโลกที่ดีกว่า"               เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ทำเนียบขาวอ้างถึง "ความต้องการโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 40 ล้านล้านดอลลาร์ ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรุนแรงขึ้นจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19"

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียกล่าวในปี 2560 ว่าเอเชียกำลังพัฒนาจะต้องลงทุน 26 ล้านล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2573 หรือ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อผลักดันให้มีการเติบโต ขจัดความยากจน และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งหมดนี้มีอะไรซ่อนอยู่ในข้อเสนออีกหลายเรื่อง สมควรที่รัฐบาลไทยจะต้องไปเจาะล้วงมารายงานให้คนไทยได้รับทราบ...และวางยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับบรรยากาศแห่งการแข่งขันของยักษ์ใหญ่ในเวทีระหว่างประเทศขณะนี้ด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด