เมื่อยักษ์ใหญ่ทะเลาะกัน ในเวทีเจรจาอาเซียน...

อาเซียนกำลังปวดหัวหลายเรื่อง

ล่าสุดก็เรื่องไต้หวันที่จีนกับสหรัฐฯ ฟาดฟันกันอย่างดุเดือด              และจีนซ้อมรบด้วยกระสุนจริงรอบๆ เกาะไต้หวัน

วาระการประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงพนมเปญเมื่อสัปดาห์ก่อนก็เจอกับปัญหาหนักอกเรื่องใกล้ตัวอีก เช่น พม่า

ไม่ต้องเอ่ยถึงสงครามยูเครนที่กลายเป็นเรื่องร้อนระดับโลกที่โยงมาถึงอาเซียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

อีกทั้งยังมีตัวละครหลักของความขัดแย้งเหล่านี้มาร่วมพบปะพูดจากันที่เมืองหลวงของกัมพูชาอีกด้วย

ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย

เจ้าภาพก็ต้องเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศปรัก สุคน ที่ต้องใช้ภาษาการทูตอธิบายว่า

 “การหารือเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาและมีชีวิตชีวา แต่อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อเหล่านี้ยังคงร้อนแรง”

แต่นักการทูตอาเซียนที่นั่งประชุมด้วยตลอดเวลายอมรับว่าบรรยากาศการประชุมที่มีรัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีข้อพิพาทกันนั้น “ตึงเครียดมาก”

แอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกการตอบสนองของจีนต่อการเยือนของเพโลซีว่า “ไร้เหตุไร้ผล, เกินกว่าเหตุและยั่วยุ”

 “ความจริงก็คือการมาเยือนนั้นเป็นไปอย่างสันติ ไม่มีเหตุผลสำหรับการตอบสนองทางทหารที่รุนแรง ไม่ได้สัดส่วน และทวีความรุนแรงนี้” บลิงเกนพูดที่กรุงพนมเปญนอกรอบการประชุม

มีหรือที่จีนจะนิ่งเฉย

รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ เรียกสหรัฐฯ ว่าเป็น “ตัวสร้างปัญหาที่ใหญ่ที่สุด” สำหรับเสถียรภาพในภูมิภาคระหว่างการประชุมกับอาเซียน

จะเรียกว่าเป็นการ “ทะเลาะวิวาท” กันเลยก็ไม่ผิดนัก

และบรรยากาศเครียดๆ ดังว่านี้แหละที่ได้สร้าง “ความตื่นตระหนก” ในระดับหนึ่งให้กับอาเซียนเลยทีเดียว

การเขียนแถลงการณ์ของอาเซียนที่ต้องรักษาดุลถ่วงอันเหมาะควรจึงเป็นเรื่องที่ยากเย็นยิ่ง

 “หลายประเทศแสดงความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาเมื่อเร็วๆ นี้ [ในช่องแคบไต้หวัน] ที่อาจทำให้ภูมิภาคนี้ไม่มั่นคง และนำไปสู่การคำนวณที่ผิดพลาดและผลที่คาดเดาไม่ได้ในหมู่มหาอำนาจ” รองนายกฯ ปรัก ของกัมพูชา บอกนักข่าว

ความตึงเครียดข้ามช่องแคบไต้หวันที่มาทับซ้อนกับปัญหาอื่นๆ ที่ถาโถมเข้ามาใส่ภูมิภาคนี้ทำให้การแสวงหาความเป็นเอกภาพของสมาชิกอาเซียนยิ่งยากเย็นขึ้นอีกเป็นทวีคูณ

วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อในเมียนมาก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่มีการถกแถลงกันอย่างดุเดือด

เพราะการที่รัฐบาลทหารพม่าประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย 4 คนนั้นสร้างความลำบากใจให้กับสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ยิ่งนัก

แถลงการณ์ของอาเซียนจึงยอมรับถึงปัญหาทั้งสิ้นทิ้งปวงนี้

และยอมรับว่า “ขาดความก้าวหน้า” ในการดำเนินการตามแผนสันติภาพฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในพม่า

นักข่าวอ้างคำพูดของปรัก สุคน บ่นเสียงดังๆ ว่า

 “แม้แต่ซูเปอร์แมนก็ยังไม่สามารถจะแก้ปัญหาของพม่าได้...”

รายงานของกลุ่มเฝ้าระวัง ระบุว่า รัฐบาลทหารพม่าได้ไล่ล่าและคร่าชีวิตผู้ต่อต้านการรัฐประหารไปแล้วกว่า 2,100 คน และไม่มีทีท่าว่าจะมีความพร้อมที่จะนั่งลงเจรจาเพื่อความสมานฉันท์กับฝ่ายตรงกันข้ามกลุ่มต่างๆ แต่ประการใด

อาเซียนทำได้เพียงไม่เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่ามาร่วมประชุมครั้งนี้เท่านั้น

จากนี้ก็จะกลายเป็นภาระของระดับผู้นำอาเซียนที่ต้องประชุมกันประจำปีในเดือนพฤศจิกายนว่าจะเอาอย่างไรกับพม่า

โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่ารัฐบาลทหารพม่าภายใต้การนำของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย จะต้องดำเนินการให้มีความคืบหน้าที่ "จับต้องได้" และ "มองเห็นได้" ในประเด็นที่เกี่ยวกับฉันทามติ 5 ประเด็นของอาเซียน

รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย Saifuddin Abdullah บอกว่าผู้นำอาเซียน "จะต้องกล้าตั้งคำถามที่ยาก" ในเดือนพฤศจิกายน

รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะลดบทบาทของพม่า (หรือถึงขั้นให้ออกจากสมาชิกภาพ) ของอาเซียนหากรัฐบาลทหารพม่ายังดื้อดึงที่จะเดินตามแนวทางของตัวเองโดยไม่สนใจที่จะ “ไว้หน้า” อาเซียนด้วยการแสดงผลงานในด้านต่างๆ เหล่านี้

ให้เห็นว่าอาเซียนยังมี “น้ำยา” และไม่ใช่ “เสือกระดาษ” อย่างที่เคยมีนักวิจารณ์กล่าวมาตลอด

ประเด็นทะเลจีนใต้ก็เป็นหัวข้อที่สำคัญในการประชุมรอบนี้

คุณปรัก สุคน แจ้งว่า รัฐมนตรีต่างยืนยันถึงความสำคัญของการรักษาเสรีภาพในการเดินเรือและการบินในย่านนี้

เขาบอกว่า “เราสามารถพูดได้ว่าในปีนี้ การอภิปราย [เกี่ยวกับทะเลจีนใต้] ไม่ได้ตึงเครียดเหมือนครั้งก่อน”

เหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะเรื่องอื่นๆ ร้อนแรงกว่าเรื่องนี้

เช่น เรื่องสงครามต่อเนื่องในยูเครน และสถานการณ์ความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลีก็ร้อนรุ่มกว่าเป็นไหนๆ

เพราะเมื่อเดือนที่แล้ว คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือขู่ว่าจะระดมอาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การซ้อมรบตามปกติของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้

และผู้นำที่เปียงยางยังประกาศยืนอยู่ข้างรัสเซียในสงครามยูเครน และเป็นพวกเดียวกับจีนในกรณีไต้หวัน

ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกาหลีเหนือก็เป็นตัวแปรสำคัญในภูมิภาคนี้

โลกยิ่งเดือด อาเซียนยิ่งร้อน

ในหลายๆ ประเด็นสมาชิกอาเซียนเองก็ยืนอยู่คนละฝั่ง

ในหลายๆ กรณีคำว่า “ฉันทามติ” หรือ “วิถีอาเซียน” ที่ตั้งอยู่บนหลักการที่ต้องเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์ในทุกเรื่องก็ถูกท้าทายหนักขึ้นตลอดเวลา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทำไมยูเครนเรียกร้องอยากได้ขีปนาวุธ Taurus ของเยอรมนี?

ทำไมขีปนาวุธระบบ Taurus ของเยอรมนีจึงได้รับการกล่าวขวัญอย่างกว้างขวาง...โดยเฉพาะที่ยูเครนขอให้ส่งไปให้เพื่อรบกับรัสเซียเป็นพิเศษ?

เมื่อจีนกับอเมริกาทำ สงคราม TikTok!

สงคราม TikTok ระหว่างสหรัฐฯกับจีนเดือดขึ้นมาอย่างรุนแรงเมื่อสภาผู้แทนราษฎรที่วอชิงตันลงมติด้วยคะแนนท่วมท้นที่จะแบน apps อันโด่งดังระดับโลก

คดีปราบฉ้อฉลเอกชนระดับชาติ ที่เวียดนามดังเปรี้ยงปร้าง!

จีนกับเวียดนามมีแนวทางตรงกันอย่างหนึ่งในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจ นั่นคือการปราบคอร์รัปชั่นในแวดวงการเมือง, ราชการและแม้ในภาคเอกชน