เมื่อเวียดนามประกาศตั้ง Silicon Valley ของตัวเอง

เพื่อนบ้านเราที่ผู้คนจับตาว่ากำลังเดินหน้าสร้างเศรษฐกิจรูปแบบใหม่อย่างคึกคักนอกจากอินโดฯ, สิงคโปร์, มาเลเซียแล้วก็คือเวียดนามอย่างที่ทราบกันโดยทั่ว

คนไทยจำนวนหนึ่งบอกว่าไทยเราไม่ต้องไปแข่งกับใคร เอาแค่แข่งกับตัวเองให้ได้ก็พอ

แต่มองไปข้างหน้า 10-20 ปี คำถามใหญ่อยู่ที่ว่าประเทศไทยเราจะไปยืนอยู่ตรงไหน

วันนี้ เราอาจจะยังเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของอาเซียน แต่หากศึกษาทิศทางของเพื่อนบ้านเราอย่างละเอียดและต่อเนื่องจะเห็นว่าเขาล้วนมีแผนการสร้างชาติในรูปแบบที่จะไม่ยอมถูกทิ้งท้ายไว้ทั้งสิ้น

วันก่อนผมเขียนถึงวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของอินโดนีเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจโก วีโดโดในหลาย ๆ เรื่องแล้วก็ต้องไม่ลืมมองไปเพื่อนบ้านเวียดนามของเรา

ที่เขาปรับแก้กติกาคร่ำครึทั้งหลายเพื่อเปิดทางเชิญชวนให้ต่างชาติมาลงทุนกันอย่างคึกคัก

ผู้นำเขาออกไปเชิญชวนต่างชาติมาลงทุน ไม่ได้นั่งรอให้มีใครมายื่นใบสมัคร  และยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในขั้นตอนราชการของเราที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

หลายคนอาจจะบอกว่าใคร ๆ ก็ชอบประเทศไทย ใคร ๆ ก็อยากจะมาเมืองไทยเพราะอบอุ่นเป็นกันเองดี

แต่วันนี้เพียงแค่ความเป็นมิตรและรอยยิ้มของคนไทยไม่น่าจะเพียงพอที่จะนำพาประเทศไปสู่จุดยืนที่มี “ความสามารถในการแข่งขัน” ที่สู้กับคนอื่นได้อีกต่อไป

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของเวียดยามที่ระดมพลังทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

ข่าวบอกว่าเวียดนามมีแผนปฏิบัติการ (ต่างกับแผนบนกระดาษและการตั้งคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่า) ที่จะสร้าง Silicon Valley ของตัวเอง

นั่นหมายความว่าเขาต้องการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกมาร่วมสร้างบ้านสร้างเมืองในอีก 10-20 ข้างหน้า

เป้าหมายที่วางไว้ในอนาคตต้องเริ่มวันนี้...เพราะผู้นำจะต้องไม่มองเฉพาะช่วงเวลาที่ตัวเองอยู่ในอำนาจเท่านั้น หากแต่จะต้องปูพื้นฐานะสำหรับคนรุ่นต่อไปที่จะต่อยอดจากปัจจุบัน

และต้องพร้อมที่จะ “ล้มเหลว” เพื่อเรียนรู้และนำไปสู่การแก้ไขและปรับปรุงให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทุกขณะ

แนวทางสร้าง Silicon Valley ของเวียดนามน่าสนใจตรงที่ผู้ออกหน้าคือเอกชนโดยมีรัฐบาลหนุนเต็มที่

คำประกาศนี้มาจากกลุ่มบริษัท Vingroup ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของเวียดนาม

แผนการของเขาบอกว่าเวียดนามเตรียมตั้ง Silicon Valley (ซิลิคอนแวลลีย์) ของตัวเองเพราะนั่นคือทิศทางที่มีความสำคัญสำหรับการพัฒนาชาติ

คนที่เปิดเผยคือ Nguyen Viet Quang ซึ่งมีตำแหน่งเป็นซีอีโอของเครือข่ายธุรกิจลำดับต้น ๆ ของประเทศแห่งนี้

เขาแถลงข่าวเรื่องนี้หลังการประชุมระดับประเทศว่าด้วยการพัฒนาตลาดแรงงานของเวียดนาม

ในการประชุมครั้งนี้มีนายกรัฐมนตรี Pham Minh Chinh เป็นประธาน

แปลว่าได้รับไฟเขียวอย่างเต็มที่จากภาครัฐที่จะเดินหน้าในเรื่องการพัฒนา “ตลาดแรงงาน” ของประเทศ

คำว่า “ตลาดแรงงาน” นั้นหมายถึง “ทุนมนุษย์” หรือ human capital ไม่ใช่การสร้างแรงงานสำหรับอุตสาหกรรมเก่า ๆ ที่กำลังกลายเป็น “อาทิตย์อัสดง”

ซึ่งต้องถูกกำจัดออกไปโดยด่วนเพื่อเปิดทางให้ธุรกิจยุคใหม่มาแทนที่ให้ทันการ

แต่การจะสร้าง “ทุนมนุษย์” ด้วยตนเองนั้นอาจจะต้องกินเวลายาวนานพอสมควร

ดังนั้น ในระยะสั้นจะต้องเปิดกว้างสำหรับการเชิญชวนคนเก่งที่สุดของโลกมาทำงานให้กับประเทศของตนเอง

ด้วยการสร้างแรงจูงใจและระบบนิเวศหรือ ecosystem ที่สอดคล้องกับความเป็นอยู่และความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่เก่งและมีทักษะที่สำคัญต่อเวียดนามด้วย

ผมอ่านแผนของเขาแล้วก็เห็นว่าเขามีก้าวย่างที่ชัดเจนพอสมควรทีเดียว

เขาบอกว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า Vingroup จะเปิดศูนย์ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเข้าไว้ด้วยกันในบริเวณจังหวัด Khan Hoa

ซึ่งจะเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ในทุก ๆ สาขามาร่วมทำวิจัยเชิงลึกด้านเทคโนโลยีไปด้วยกัน

ผู้บริหารสูงสุดของ Vingroup บอกว่าเป้าหมายหลักคือการสนับสนุนให้มันสมองรุ่นใหม่เหล่านี้มาช่วยพัฒนาเวียดนามไปด้วยกัน

คำว่า Silicon Valley ต้องไม่ใช่เพียงแค่แผนการที่ฟังหรูและน่าประทับใจในแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติเท่านั้น

หากแต่จะต้องมีแผนงานที่มีก้าวเดินที่ชัดเจนและพร้อมจะปรับและเปลี่ยนเมื่อสถานการณ์แปรผัน

เพราะโลกวันนี้คือโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเขย่าสิ่งที่เป็นอยู่ซึ่งไม่ตอบโจทย์ของสถานการณ์ปัจจุบัน

ตามข่าวชิ้นนี้ แผนนี้บอกว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า Vingroup คาดว่าจะจ้างพนักงานราว 150,000 คน

ซึ่งจะรวมถึงแรงงานไร้ทักษะไปจนถึงแรงงานระดับอาวุโสในสาขาวิจัย เทคโนโลยี การค้าและบริการ

จากนั้นในอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะสร้างบ้านให้สังคมอยู่โดยเริ่มทำโครงการทางตอนเหนือของจังหวัด Quang Ninh และทางกลางตอนใต้ของจังหวัด Khanh Hoa รวมทั้งเมืองศูนย์กลางพาณิชย์ทางใต้คือโฮจิมินห์ซิตี้ด้วย

เวียดนามเดินหน้าเรื่องสร้างฐานผลิตรถไฟฟ้ามาระยะหนึ่งแล้ว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เพิ่งเปิดโรงงานแบตเตอรี่แห่งใหม่ที่จังหวัด Ha Tinh และขยายการผลิตโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าไปยังทางตอนเหนือของจังหวัด Hai Phong

โครงการนี้คาดว่าจะใช้คนมากถึง 80,000-100,000 คน

แต่ต้องเป็นคนที่ฝึกปรือให้มีทักษะใหม่ ๆ ที่มีอนาคตเป็นสำคัญ

เห็นชัดว่าเป้าหมายหลักของเขาคือการสร้าง “ทุนมนุษย์” ที่เหมาะสำหรับอนาคตอย่างจริงจัง

คำว่าสร้าง New Skill, Reskill และ Upskill จึงไม่ใช่เพียงแค่นโยบายหากแต่มีแผนปฏิบัติจริงจังที่มีเป้าหมายชัดเจน

เพราะว่าในท้ายที่สุดแล้ว การสร้างชาติก็เริ่มที่การสร้างคน และต้องเป็นการสร้างคนที่มีคุณภาพและมีเป้าหมายร่วมกันทั้งประเทศด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีนกังวลโครงการท่าเรือในพม่า ขณะที่การสู้รบในยะไข่ยังเดือด

สมรภูมิที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในพม่าวันนี้คือรัฐยะไข่ที่กองทัพอาระกันสามารถเอาชนะทหารรัฐบาลพม่าในหลายแนวรบ ขณะที่ยังมีความซับซ้อนของการเมืองท้องถิ่นและโยงไปถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจของจีนด้วย

ปูตินปลดรัฐมนตรีกลาโหม: ปรับยุทธศาสตร์สงครามใหม่?

ข่าวที่สร้างความแปลกใจไม่น้อยสำหรับคนที่ติดตามเรื่องราวของรัสเซียกับสงครามยูเครนมากว่า 2 ปี คือการที่ปูตินเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหมและเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ

เมื่อกัมพูชากับเวียดนามขัดแย้งเรื่อง ‘คลองฟูนันเตโช’ ไทยยืนตรงไหน?

ความขัดแย้งระหว่างกัมพูชากับเวียดนามว่าด้วยโครงการสร้างคลอง “ฟูนันเตโช” ในกัมพูชาที่สนับสนุนโดยทุนจีนกำลังทำให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงไทยต้องจับตาดูเพื่อไม่ให้ลามเป็นความขัดแย้งของภูมิภาค

บทพิสูจน์นายกฯคนใหม่ สิงคโปร์: ฝีมือสำคัญกว่าบารมี

การผลัดใบของผู้นำสิงคโปร์เริ่มแล้วสัปดาห์นี้...เป็นที่จับตาของคนทั้งโลกว่าเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ที่สร้างเศรษฐกิจจาก “โลกที่ 3 สู่โลกที่ 1” นี้จะตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้อย่างไร