BREAK THE STEREOTYPES!!!

ป่านนี้ แฟนคอลัมน์คงรู้ว่าผมมีลูกสองคน คนโตเป็นผู้หญิง อยู่ ป.2 ส่วนคนเล็กเป็นผู้ชาย อยู่อนุบาล 3 ทั้งคู่เรียนโรงเรียนเดียวกันในย่านรังสิต

     ในแต่ละสัปดาห์จะมีหนึ่งวัน (วันศุกร์) ให้นักเรียนทุกคนใส่ชุดอะไรก็ได้ตามใจชอบ เพราะวันอื่นจะใส่ชุดนักเรียนบ้าง หรือจะใส่ชุดพละบ้าง แต่สำหรับวันที่ปล่อยตามใจชอบนักเรียนทุกคนมีสิทธิ์เลือกใส่อะไรก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ตามประสาเด็ก จะใส่เสื้อยืดกางเกงขายาว หรือกางเกงขาสั้น ก็แล้วแต่ครับ

     แต่สำหรับวันศุกร์ที่ผ่านมา ในชั้นอนุบาลยกให้เป็น Dress Up Day: Break the Stereotypes! หลักๆ ก็คือ ให้เด็กผู้หญิงแต่งตัวเป็นผู้ชาย และให้เด็กผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิง ไม่ใช่เพื่อท้าทาย ไม่ใช่เพื่อให้ถูกล้อ หรือไม่ใช่เพื่อหาเรื่อง แต่ทางโรงเรียนกำลังสอนให้นักเรียนระดับอนุบาลเข้าใจโลกมากขึ้น โดยให้เด็กนักเรียนเห็นด้วยตาตัวเองว่าไม่มีอะไรตายตัวในสังคม หรือโลกแห่งความจริง

     บางครั้งผมจะแกล้งถามลูกชายผมว่า เป็นนักบัลเลต์ดีไหม? เขาจะตอบทุกครั้งว่า เขาไม่ใช่ผู้หญิง บัลเลต์มีไว้สำหรับผู้หญิงอย่างเดียว แต่ผมบอกเขาทุกครั้งว่าไม่ใช่นะ มีผู้ชายหลายคนเป็นนักบัลเลต์ แต่เนื่องจากเขายังไม่เคยเห็น แล้วเขาเห็นพี่สาวเรียนบัลเลต์ กับเพื่อนๆ ที่มีแต่ผู้หญิงเรียนด้วยกัน และแถมอีก เห็นชุดบัลเลต์มีแต่สีชมพูกับสีหวานๆ ซะส่วนใหญ่

     เช่นเดียวกับพยาบาล ทั้งลูกชายและลูกสาวผม คิดว่าพยาบาลต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งผมก็จะบอกเขาอีกว่ามันไม่ใช่เสมอไป แต่เข้าใจเขาได้ครับ เพราะทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาลเขาเห็นแต่พยาบาลผู้หญิงล้วนๆ

     ในวัน Dress Up Day: Break the Stereotypes! ที่พึ่งผ่านมา วัตถุประสงค์คือ ให้เด็กนักเรียนชั้นอนุบาลทุกคน ให้ออกจากวังวนประเภท พยาบาลต้องเป็นผู้หญิง และผู้ชายเป็นนักบัลเลต์ไม่ได้ ด้วยการแต่งตัวฉีกแนวออกจากที่แต่งตัวทุกๆ วัน ทางโรงเรียนพยายามให้เด็กนักเรียนชั้นอนุบาลซึมซับเรื่องราวโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รักษาสิ่งแวดล้อม รักษาประเพณีดั้งเดิมของไทย บวกกับเข้าใจโลกภายนอกด้วย แต่สิ่งที่ผมชอบที่สุด ณ เวลานี้คือ การสอนให้เด็กชั้นอนุบาลเข้าใจถึงสิทธิเท่าเทียมกันของทั้งความเป็นมนุษย์ และทั้งทางเพศด้วย

     เมื่อเช้าวันศุกร์ ลูกชายผมหยิบเสื้อสีชมพูที่มีฟลามิงโก้อยู่ข้างหน้าของพี่สาวมาใส่ พร้อมกับกระโปรงสวมทับกางเกงขาสั้นที่เขาใส่อยู่แล้ว ครั้งแรกที่เห็นผมยอมรับว่า ถึงแม้ผมเป็นคนเปิดใจกว้าง ลึกๆ แล้วผมกลัวเขาจะถูกแซวจากเพื่อนๆ หรือถูกแกล้งจาก คนอื่นๆ ที่ไม่อยู่ชั้นอนุบาล ที่ไม่รู้ว่ามีโจทย์ตรงนี้

     แต่ด้วยความมุ่งมั่นของเขา ด้วยความยินดีจะร่วมกิจกรรมนี้ เขาทำให้ผมมั่นใจในตัวเขามากขึ้น เขาไม่ได้ทำตัวเหมือนรังเกียจใส่สีที่เป็นผู้หญิง แล้วเขาก็ไม่ได้รังเกียจอะไรที่จะใส่กระโปรงเก่าของพี่สาวด้วย ซึ่งทำให้ผมภาคภูมิใจในตัวเขา แต่ยอมรับครับ ถ้าเป็นวันอื่นแล้วเขาอยากแต่งตัวแบบนี้ขึ้นมา กว่าผมจะยอมรับได้ก็ต้องใช้เวลานิดนึง แต่ผมเชื่อว่าในที่สุด เมื่อลูกมีความสุข ผมก็จะมีความสุข

     ผมไม่ได้เป็นคนมองโลกสวย หรืออยู่ในโลกแห่งความฝัน ผมเข้าใจดีว่า วัน Dress Up Day: Break the Stereotypes! คงไม่สามารถจัดได้ในโรงเรียนหลายแห่ง เพราะสิ่งแวดล้อมและสังคมไม่สามารถรับได้ หรืออาจไม่เห็นคุณค่ากับสิ่งตรงนี้ เพราะเน้นเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า เรื่องนี้ไม่มีคำว่าผิดถูก และไม่มีคำว่าดีหรือไม่ดี เอาเป็นว่าเป็นที่เข้าใจกัน

     แฟนคอลัมน์อาจสงสัยว่า ทำไมทางโรงเรียนลูกผมต้องมีวัน Dress Up Day: Break the Stereotypes! ด้วย ทางโรงเรียนหาเรื่องหรือไม่ หรือมันเหมาะไหมที่จะสอนเด็กอนุบาลเรื่องแบบนี้

     พอผมไปอ่านโจทย์และที่มาที่ไปของวันดังกล่าว ทางโรงเรียน (หรืออย่างน้อย ทางชั้นอนุบาลห้องลูกชายผม) อยากให้เด็กนักเรียนเริ่มเข้าใจและเริ่มรับรู้ คือเรื่องราวของ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่เป็นแผนการให้ทุกประเทศในโลกนี้ปฏิบัติภายในปี 2030

     อย่างที่พวกเราทราบกันอยู่ SDGs เป็นแผนการที่ผ่านสหประชาชาติ ให้ทุกประเทศร่วมมือกัน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร ไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไร หรือมาจากทวีปอะไร วัตถุประสงค์ของ SDGs คือทำเพื่อโลกของเรา ซึ่งทั้งหมดจะมีเป้าอยู่ 17 จุด ซึ่งแต่ละจุดเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคนบนโลกใบนี้ ผมเข้าใจเวลาใครพูดถึงสหประชาชาติ และพูดถึงมติของสหประชาชาติ หลายคนมักนึกถึงเรื่องไกลตัว คำพูดหวานๆ และสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ ถ้าคิดเช่นนั้นก็ไม่ผิดครับ เพราะหลายต่อหลายเรื่อง ของสหประชาชาติก็เป็นเช่นนั้น

     และผมก็เข้าใจอีกว่า สำหรับใครที่ร่วมการประชุมระดับนานาชาติบ่อย จะไม่มีการประชุมครั้งใดที่จะไม่มีใครสักคนหนึ่งพูดถึง SDGs และทุกครั้งที่พูดถึง SDGs กว่าครึ่งหนึ่งของห้องจะมองที่เพดาน และอีกครึ่งหนึ่งจะมองโทรศัพท์ตัวเอง เพราะจะมีการอ้างอิง SDGs จนล้นและน่าเบื่อ

     แต่ในการเอาเรื่อง SDGs มาให้เด็กรุ่นนี้ซึมซับและเข้าใจ ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะสอนให้เขารู้ว่าสิ่งตรงนี้เป็นวิถีชีวิตใหม่ และในฐานะที่รุ่นเขาจะเป็นรุ่นที่ต้องดูแลโลกต่อไปแทนพวกเรา ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีเยี่ยม เพราะถ้าจะให้คนรุ่นเราๆ ใส่ใจและสนใจ SDGs กันทุกคนเป็นไปได้ยากมากครับ

     สิ่งที่โรงเรียนลูกผมพยายามให้เด็กๆ เข้าใจ จากวันศุกร์ที่ผ่านมา คือเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ซึ่งเป็น Goal 5: Gender Equality ผมไม่รู้ว่าผู้ปกครองคนอื่นจะคิดอย่างไร แต่ผมว่าการให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้คือต้องสัมผัสด้วยตัวเอง และให้เขาเข้าใจด้วยตัวเอง บางคนอาจบอกว่าให้ผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิงเป็นสิ่งไม่เหมาะสม ผมอยากถามกลับไปว่า เรื่องคำว่า “เหมาะสม” นั้นมีความหมายชัดเจนไหม? ความเหมาะสมของผมอาจไม่เหมาะสมสำหรับคุณก็ได้ และความเหมาะสมสำหรับคุณอาจไม่เหมาะสมสำหรับผมก็ได้

     สิ่งที่ผมจะเสียใจที่สุดคือ หลังจากลูกชายผมตั้งใจร่วมกิจกรรมนี้กับเพื่อนๆ ในห้อง ผมกลัวว่าจะมีเด็กรุ่นอื่นที่ไม่รู้ว่ามีโจทย์นี้มาแซวเขา มาแกล้งเขา หรือ bully เขา ที่ผมจะรู้สึกเสียใจไม่ใช่ว่าเขาจะถูกกลั่นแกล้ง (เพราะผมสอนเขาตลอดเวลาว่า ถ้าเลยจุดคุยกันดีๆ เมื่อไร ก็ให้เท้ากับหมัดตัวเองคุยแทน) แต่ที่ผมจะรู้สึกเสียใจคือ ความตั้งใจร่วมกิจกรรม กับโจทย์ที่เขาไม่เคยทำมาก่อนอาจสูญหายไป ผมหวังว่าสปิริตของเขาจะไม่ถูกดับจากพวกไม่หวังดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Sending a Message หรือ The Calm Before the Storm?

เมื่อสัปดาห์ก่อน ช่วงเวลาที่พวกเราสนุกและพักผ่อนกันเต็มที่ช่วงสงกรานต์นั้น มีเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันเกิดได้ทุกเมื่อ และในที่สุดก็เกิดขึ้นจริงๆ ครับ

หลานชายคุณปู่

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ ช่วงเขียนคอลัมน์นี้ ผมยังอยู่ที่บ้านเฮา เจออากาศทั้งร้อนมากและร้อนธรรมดา เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องการขับรถขึ้นมาบ้านเฮากับลูกสาว

หลานคุณปู่

คอลัมน์สัปดาห์นี้กับสัปดาห์หน้า น่าจะเป็นคอลัมน์เบาๆ ครับ ผมเชื่อว่าแฟนๆ ครึ่งหนึ่งน่าจะหนีร้อนในไทยไปสูดอากาศเย็น (กว่า) ที่อื่น ส่วนใครที่ไม่ไปไหน คงไม่อยากอ่านเรื่องหนักๆ

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 2)

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องราวแก๊งที่ผมสัมผัสและรู้จักสมัยอยู่สหรัฐ สำหรับใครที่ชอบฟังเพลงแนว Gangster Rap ก็คงจะคุ้นเคยกับสิ่งที่ผมเขียนไป แต่สำหรับหลายท่านที่เติบโตคนละยุคคนละสมัยอาจไม่คุ้นเลย

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 1)

ผมมีความรู้สึกว่า ช่วงนี้มีข่าวประเภทแก๊งมีอิทธิพลในประเภทประเทศเอลซัลวาดอร์ โคลอมเบีย และเม็กซิโก มีผลต่อเสถียรภาพการเมืองระดับชาติประเทศเขา

To Shortchange กับ To Feel Shortchanged

จากการเรียกร้องของสาวๆ (สวยๆ) ไทยโพสต์ ผมขออนุญาตสวมหมวกฟุดฟิดฟอไฟวันหนึ่ง เพื่อพูดคุยและอธิบายสไตล์ของผม ถึงคำที่ปรากฏในช่วงต้นสัปดาห์จากนิตยสาร Time ครับ