ยุบสภาจะได้อะไร

ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ครับ

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเลือกตั้งชัดเจนไปแล้วว่า จะเป็นวันอาทิตย์ที่้ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖ หากสภาอยู่ครบวาระ

ที่เหลือในตอนนี้คือกฎหมาย ๒ ฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และว่าด้วยพรรคการเมือง

ประกาศใช้เมื่อไหร่ ก็พร้อมการเลือกตั้งกัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

มาดูกันหน่อยครับว่ากฎหมาย ๒ ฉบับนี้ อยู่ที่ไหนแล้ว

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องตีความแล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ขั้นตอนหลังจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะให้ผู้ร้องส่งหลักฐานและเอกสารที่ไปสนับสนุนเหตุผลภายใน ๑๕ วัน

จากนั้นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมเพื่อพิจารณา หากเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอแล้วก็จะยุติการรับฟังพยานหลักฐาน

จึงจะนัดฟังคำวินิจฉัยอีก ๑๕ วัน

รวมแล้วใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน

คาดว่าสามารถประกาศใช้ช่วงปลายเดือนตุลาคม

ใครที่เอากฎหมายลูก ๒ ฉบับนี้ ไปผูกโยงกับการยุบสภา เช่นจะให้ยุบสภาทันทีหลังการประกาศใช้ ก็ขอให้ใจเย็นๆ ครับ

การยุบสภาปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน อาจเป็นผลดีกับพรรคการเมืองบางพรรคที่กระเหี้ยนกระหือรือจะไปเลือกตั้ง แต่อาจส่งผลเสียต่อประเทศมหาศาล

การเลือกตั้งหลังยุบสภา รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าให้เลือกตั้งใหม่ภายใน ๔๕-๖๐ วัน

อย่างที่ทราบกันครับ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๕ ในวันที่ ๑๘-๑๙ พฤศจิกายน

มันใช่หรือไม่กับการเป็นเจ้าภาพจัดเอเปกไปหาเสียงเลือกตั้งกันไป

วันที่ ๓๐ กันยายน ไม่ว่า "ลุงตู่" จะได้ไปต่อหรือไม่ การยุบสภาก่อนการประชุมเอเปกไม่ใช่ทางออก เพราะจะสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมามากมาย

ฉะนั้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ประเทศไทยต้องมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ในการทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก

ถ้าไม่เต็มไทยจะกลายเป็นตัวตลกของโลกได้ครับ

เอเปกสำคัญอย่างไร?

การเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนา ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในหลายมิติ

ไทยจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ได้ยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล

เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากเขตเศรษฐกิจอื่นๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี

การเป็นเจ้าภาพการประชุมของไทยท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-๑๙ ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว

เป็นการฟื้นฟูการเดินทางและทำธุรกิจแบบพบหน้า

และยังเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงความพร้อมว่าไทยสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดได้ โดยยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้พร้อมกัน

การเจรจาทวิภาคีกับประเทศต่างๆ

ผู้นำชาติมหาอำนาจ สหรัฐ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น มากันพร้อมเพรียง นี่จึงเป็นโอกาสของไทยในเวทีโลก หากเรามีผู้นำประเทศที่ดูกระท่อนกระแท่น  

อาจมีแต่เสียมากกว่าได้

ฉะนั้น จำเป็นครับ ประเทศไทยในช่วงการประชุมเอเปก ต้องไม่อยู่ภายใต้รัฐบาลรักษาการ

รัฐบาลรักษาการทำอะไรได้บ้าง?

นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปนั้่น รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่จำกัดมาก ต่างจากรัฐบาลปกติแทบจะสิ้นเชิง

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๙ บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๖๗ (๒) และต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา ๑๖๘ ซึ่งก็คือรัฐบาลที่รักษาการหลังการยุบสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

 (๑) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

 (๒) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

 (๓) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

 (๔) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด     

การเจรจาความกับต่างประเทศหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ บางกรณีรัฐบาลรักษาการทำไม่ได้เพราะสุ่มเสี่ยงจะขัดรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้นใครที่บอกว่าหลังกฎหมายลูก ๒ ฉบับบังคับใช้ ให้รีบยุบสภา เลือกตั้งทันที ก็ดูไว้เป็นแนวทางว่าจะเอากันแบบนั้นจริงหรือไม่

เรื่้องของบ้านเมือง จะเอาความสะใจมาเป็นที่ตั้งไม่ได้

เพราะเคยสร้างความฉิบหายมาแล้ว

ดูกรณีการล้มการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๒ ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา เป็นตัวอย่าง

ไม่ได้อะไรติดมือเลย นอกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาถึงวันนี้

ในสายตาต่างชาติยิ่งเสียหายหนักกว่า พอจะลืมเหตุการณ์ดังกล่าวกันได้ ใช้เวลาอยู่หลายปี เพราะปีถัดมา ไทยเข้าสู่ยุคเผาบ้านเผาเมืองอย่างแท้จริง

ก็ไม่ทราบว่า ประชุมเอเปกคราวนี้ จะมีผู้นำประเทศไหนยังรู้สึกขยาดกับวีรกรรมเก่าของมวลชนการเมืองในประเทศไทยอยู่หรือไม่

ก็สรุปรวม ก่อนเอเปก ไม่มีการยุบสภาแน่นอน

หากวันที่ ๓๐ กันยายน มีเหตุให้ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็มีเวลาเพียงพอที่จะเลือก และตั้งรัฐบาลใหม่

และจบการแถลงนโยบายได้ก่อนจัดประชุมเอเปกแน่นอน แม้จะกระชั้นชิดก็ตามที

แต่หากไม่ทัน พูดได้คำเดียวครับ สาหัส.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง